7/25/2554

เรื่องเล่าไร้สาระของผู้หญิงคนหนึ่ง


เดือนมีนาคมมีวันที่ดิฉันชื่นชอบอยู่วันหนึ่ง ก็คือวันสตรีสากลค่ะ...วันที่ยกย่องผู้หญิงให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับบุรุษเพศ มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว หลายคนอาจเบ้ปาก ยังจะเรียกร้องอะไรกันอีกในยุคที่ทุกอย่างดูคล้ายจะเท่าเทียมกัน...

แต่ก็นั่นล่ะค่ะ เรายังเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายจากครอบครัว เรายังเห็นเด็กผู้หญิงถูกลวนลามทางเพศ และเรายังเห็นอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้เขียนเพื่อเรียกร้องอะไรมากไปกว่า อยากให้โลกนี้มีความเสมอภาคและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ต่อกันค่ะ...

ไหนๆ ก็เป็นวันสตรีสากลตามธรรมเนียมดิฉันก็มักจะมีเรื่องเล่าของผู้หญิงมานำเสนอ ครั้งนี้นึกไปถึงเรื่องเล่าไร้สาระอย่างสิ้นเชิงของเด็กหญิงผู้นี้ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง อลิสในแดนมหัศจรรย์

 นิทานเรื่องนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ดิฉันประทับใจตั้งแต่วัยเด็กภาพวาดในนิทานที่ อลิสเดี๋ยวตัวเล็ก เดี๋ยวตัวใหญ่ แล้วยังจะอุ้มเด็กที่สุดท้ายกลายเป็นหมู อีกทั้งภาพการตีคลีอันแปลกประหลาด ต่างๆ เหล่านี้ยังจำได้เสมอมาค่ะ

อิทธิพลของนิทานเรื่องอลิสในแดนมหัศจรรย์ส่งผลต่อวงการศิลปะแขนงต่างๆพอดูทีเดียวนะคะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ ดนตรี หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์อย่างเช่น

คูซามะ ยาโยอิ ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เธอเคยทำผลงานชุด alice in wonderland happening, ที่ central park ,new York เมื่อปี 1968 ผลงานชุดนี้เป็นที่กล่าวขานมากระทั่งปัจจุบันเพราะเธอสร้างสรรค์อลิสขึ้นมาเพื่อต่อต้านสงครามค่ะ  ในบทเพลงเองศิลปินอย่าง อลิส คูเปอร์ ร๊อคเกอร์ชาวอเมริกัน ก็เคยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่านี้ผลิตเป็นผลงานเพลงที่ชื่อ beautiful flyaway มาแล้วนะคะ

และแม้กระทั่งการนำเรื่องเล่าอลิสในแดนมหัศจรรย์มาทำเป็นภาพยนตร์ก็เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 1903 โดยผู้กำกับนาม เซซิล เฮปเวิร์ธ โดยครั้งแรกนี้เป็นหนังเงียบค่ะ หลังจากนั้นอลิสก็ถูกนำมาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกหลายต่อครั้งกระทั่งณ วันนี้

เชื่อไหมคะว่า อลิสในแดนมหัศจรรย์มีอายุกว่าร้อยปีแล้วค่ะ ผู้แต่งเรื่องนี้คือ
ชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน (Rev. Charles Lutwidge Dodgson) หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อนี้แต่ถ้าเอ่ยถึงนามปากกาของเขาที่ชื่อ ลูอิส แคร์รอล(Lewis Carroll) ก็คงพอจำกันได้นะคะ ชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 18321898  เป็นลูกชายคนที่ 3 ในพี่น้อง 11 คนของครอบครัวนักบวชชาวอังกฤษ ตัวเขาเองเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางตรรกวิทยา และยังมีความสามารถในการถ่ายภาพระดับมืออาชีพอีกด้วยค่ะ

นิทานเรื่องอลิสในแดนมหัศจรรย์มีถึง 4 รูปแบบด้วยกัน ครั้งแรกเขาเล่าเรื่องนี้ระหว่างการพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนกับครอบครัวของเพื่อนที่มีลูกสาวสามคน พวกเขาล่องเรือเล่นในแม่น้ำ ระหว่างนั้นเอง
อลิสลูกสาวคนกลางก็ร้องขอให้ ชาร์ลเล่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมาให้พวกเธอฟัง เพียงแค่อึดใจ ชาร์ลก็เริ่มต้นเล่าเรื่องของเด็กหญิงอลิสวัย 10 ปี 

 บางเวลาชาร์ลหยุดเล่าเพื่อกระเซ้า คอยให้เด็กๆรบเร้าให้เล่าต่อไป บางเวลาเขาก็นึกมันไม่ออกว่าเรื่องจะดำเนินไปเช่นไร แต่สุดท้าย เรื่องราวของเด็กหญิงอลิสก็จบลงระหว่างการล่องเรือในวัน ที่ 4 มิถุนายนปี 1862 เด็กหญิงอลิสในวันนั้นขอร้องให้ชาร์ลบันทึกมันลงในกระดาษด้วยลายมือ เขาใช้เวลาคัดลอกและปรับปรุงจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา นื่ถือเป็นรูปแบบแรกของอลิสในแดนมหัศจรรย์

 ต้นฉบับลายมือแรกมีชื่อว่า alice ‘s adventures underground ถูกทำลายไปเมื่อปี 1864 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  เนื่อง จากชาร์ลได้เขียนมันขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งและมอบต้นฉบับลายมือรวมทั้งภาพวาด ประกอบที่เขาวาดมันขึ้นมาถึง 37 ภาพให้กับเด็กหญิงอลิสเป็นของขวัญวันคริสตมาส ด้วยถ้อยคำที่จารึกไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า ของขวัญวันคริสตมาสแด่เด็กน้อยในความทรงจำของฤดูร้อนนั้น นี่จึงถือเป็นรูปแบบที่สอง


หลัง จากนั้นชาร์ลก็อวดเรื่องนี้กับเพื่อนๆ หนึ่งในนั้นคือ จอร์จ แมคโดนัล ผู้ซึ่งกระตุ้นให้เขาพิมพ์มันออกมา ชาร์ลได้แก้ไขและลำดับเรื่องใหม่ให้มีความยาวมากขึ้นและนี่ถือเป็นอลิสในแดน มหัศจรรย์รูปแบบที่ 3 ที่ได้รับความสนใจและจัดพิมพ์โดย macmillan and Co. in London ในวันที่ 4 มิถุนายน1865
การพิมพ์ครั้งนั้นมีหนังสือที่ใช้ได้เพียง 15 ฉบับ เนื่องจากภาพประกอบที่วาดโดย เซอร์ จอห์น เทนนีล (Sir John Tenniel) พิมพ์ออกมาแล้วกระดาษไม่ได้คุณภาพ หนังสือส่วนใหญ่จึงถูกเรียกคืนและนำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งออกแพร่หลายทั่ว ไปในเดือนพฤศจิกายนปี 1866 ด้วย รูปแบบที่ไม่ตายตัวและงานเขียนที่แปลกประหลาดทำให้ชาร์ลมีชื่อเสียงมากกว่า การเขียนหนังสือทฤษฎีไปเสียแล้ว เขาเลือกใช้นามปากกาของตัวเองว่า Lewis Carroll ในงานเขียนทุกเล่มนับแต่นั้น

ต่อ มาเรื่องเล่าของอลิสมีการปรับปรุงเค้าโครงเรื่องใหม่เพื่อเป็นนิทานสำหรับ เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 0 5 ปี มีภาพประกอบ 20 ภาพฝีมือของเทนนีล เช่นเดิม แน่นอนมันถูกจัดทำโดย macmillon และ ตีพิมพ์ในปี 1889 แต่ก่อนจะมีรูปแบบสำหรับเด็กนั้น ในเดือนมีนาคมปี 1885 อลิส ลินเดล เจ้าของหนังสือนิทานลายมือเล่มแรกอลิสในแดนมหัศจรรย์ก็ยินยอมให้ macmillon ตีพิมพ์ต้นฉบับลายมือของชาร์ลเป็นจำนวนถึง 5,000 ก๊อปปี้ ในวันที่ 22 ธันวาคม 1886

เรื่อง เล่าที่สนุกสนานไร้สาระในวัยเด็กของอลิสกลายเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงทำให้ ชาร์ลเขียนหนังสือออกมาถึง 10 เล่ม บางเรื่องเขาเขียนนิทานสำหรับเด็ก บางเรื่องเขายังเขียนเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญคือคณิตศาสตร์และตรรกวิทยา

ในปี 1871 ชาร์ล ได้ตีพิมพ์หนังสือ alice’s further adventures ในภาค through the looking – glass และ What Alice found thereนอกจากนี้ยังมีนิทานเรื่อง Hunting the snark และเรื่อง sylvie and Bruno ตามมาอีกด้วย  เคย มีนักวิจารณ์วรรณกรรมกล่าวไว้ว่าเรื่องเล่าไร้สาระของชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน เรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นในสมัยวิกตอเรียน เนื้อหาของมันเต็มไปด้วยการเสียดสีเย้ยหยันการเมืองและการใช้ชีวิตของคน อังกฤษในยุควิกตอเรีย ที่อังกฤษเริ่มเปลี่ยนความนิยมวรรณกรรมแนวโรแมนติกมาเป็นแนวสัจนิยม ซึ่งนักเขียนยุคนั้นได้พรรณนาถึงสภาพสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่จริงใจ เต็มไปด้วยพวกมือถือสากปากถือศีล  เป็นยุคจอมปลอมและฟุ้งเฟ้อไร้สาระ จนทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งถวิลหาความฝันแบบเด็กๆ ธรรมชาติและความบริสุทธิ์ใจของเพื่อนร่วมโลก  

แม้ เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม เรื่องเล่าของหญิงสาวนามอลิสที่เผลอวิ่งเข้าไปในโพรงกระต่ายครั้งนั้น ยังเป็นสิ่งที่ดิฉันเชื่อว่าหลายคนคงอยากจะทำบ้าง เผื่อว่าโพรงกระต่ายที่หลุดเข้าไปอาจมีอะไรที่น่าอยู่และปราศจากความขัดแย้ง และสงครามก็เป็นได้.
·         ขอบคุณ http://www.bedtime-story.com/bedtime-story

ทะเลสาบสีรุ้ง

 Telaga warna Dieng หรือ Rainbow lake ทะเลสาบสายรุ้ง....
ตั้งอยู่ที่เดียงพลาโต  แถบถิ่นใกล้เคียงกับยอรจ์ จาร์กาตา
ที่นี่มีตำนานรักที่สุดท้ายก็จบลงด้วยความเศร้าเช่นเคย

ครั้งที่ไปเยือน โชคไม่ดีหรืออย่างไร ไม่อาจตัดสิน ทะเลสาบแห่งนี้ ถูกหมอกปกคลุมจนไม่อาจเห็นสีของรุ้งในทะเลสาบแห่งนั้นได้....คงเปรียบคล้ายความรักของชายหนุ่มหญิงสาวที่เป็นตำนานของทะเลสาบแห่งนี้ ที่ฉันเลือกที่จะเชื่อ...มากกว่าตำนานเรื่องอื่นๆ ที่เอาเข้าจริง มีมากมายหลายตำนานเหลือเกิน...

....ด้วย ว่ากาลครั้งหนึ่ง ณ ทะเลสาบแห่งนี้มีหญิงสาวจากแดนไกลพี่น้อง 7 คนจะมาลงเล่นน้ำอย่างสม่ำเสมอ และที่นี่ คล้ายเป็นดินแดนต้องห้ามที่คนเข้าไปไม่ถึง...แต่แล้ววันหนึ่งก็มีชายหนุ่ม ที่หาญกล้า อยากพิสูจน์ว่า ทีนี่มีสิ่งใดกันแน่...เขาจึงฝ่าฝืนกฏของสังคม...แอบย่องเข้าไป และพบสาวงามทั้ง 7 ลงเล่นน้ำอยู่....

เขา ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้หยิบเสื้อผ้าของหญิงสาวที่จะเป็นเนื้อคู่ของตนขึ้นมา... จากนั้น เขาก็หยิบเสื้อผ้าของหนึ่งในหญิงสาวทั้งเจ็ดไว้ได้... และด้วยกลิ่น ที่ผิดไปจากเดิมจึงทำให้หญิงสาวทั้ง 7 ล่วงรู้ว่ามีคนแปลกหน้าบุกรุกเข้าในสระแห่งนี้ จึงรีบแต่งตัวและหนีหายไป คงเหลือแต่...หญิงผู้ซึ่งชายหนุ่มคนนั้นอธิษฐานขอเป็นเนื้อคู่...


ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกันทันที ที่ได้สบตา....

จากนั้นก็ไปครองคู่กัน เช่นชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไป...โดยหญิงสาวมีข้อแม้ ต่อสามีของตัวเองว่า ทุกครั้งที่นางลงมือทำครัว โปรดอย่าเข้ามาและอย่าเปิดฝาหม้อข้าวหม้อแกงใดๆ ด้วยตนเอง....

ทั้งสองครองรักกันมาได้อย่างราบรื่นเป็นเวลา กว่าสองปี แล้วอยู่มาวันหนึ่งด้วยความอยากรู้อยากเห็นของสามี จึงแอบเปิดฝาหม้อในครัว....เมื่อฟังถึงตอนนี้ ฉันเองก็ลุ้นว่า ต้องเห็นอะไร หรือไม่ก็หักมุมแน่ๆ... เปล่าเลย... สามีไม่เห็นอะไร...ยังคงเห็นข้าวเต็มหม้อ อาหารเต็มโต๊ะเหมือนเช่นตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่.... เขาเริ่มสังเกตเห็นสีหน้าของภรรยาตัวเองที่เศร้าหมองลงไปทุกวัน

กระทั่งเวลาผ่านไปหลายวัน ข้าวและอาหารเริ่มพร่องลงไปจากสำรับ กระทั่งมาถึงวันสุดท้าย ข้างใต้หม้อข้าวนั้นคือ เสื้อผ้าชุดแรกของฝ่ายหญิงนั่นเอง.... นางต้องไป.... ต้องกลับไปยังที่ ที่นางจากมา.....
ผู้สามีรู้ตัวว่าทำผิดไปถนัดใจ ครั้นจะแก้ไขความผิดพลาดครั้งนี้ ก็สายเกินไปสำหรับทุกอย่างแล้ว... ด้วยว่า เขา ไม่รักษาสัจจะที่เคยให้ไว้กับภรรยาตัวเอง.....


ทั้งคู่จากกันด้วยความรัก...เศร้าโศก... ชายหนุ่มพยายามทุกวิถีทางที่จะได้นางอันเป็นที่รักของตัวเองคืนมา..เฝ้าวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล...กระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับคำตอบจากฟ้า ว่า ในคราที่ทะเลสาบที่เขาและเธอพบกันครั้งแรก เป็นสีรุ้ง...เวลานั้น เขาทั้งคู่จะได้พบกัน... หากหมดสีแห่งรุ้ง...พวกเขาก็ต้องพลัดพรากจากกันอีก จนกว่า รุ้งนั้นจะกลับมา...


arahmaiani # performance art

7/19/2554

ไฮกุ...มาซึโอะ บาโช

ใครที่ชื่นชอบบทกวีไฮกุ คงรู้จักกวีญี่ปุ่นคนนี้เป็นอย่างดี.... มะสึโอะ บาโช ( matsuo basho) กวีผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นยุคหลายร้อยปีก่อน... หนังสือ The Narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi เป็นหนึ่งในบทกวีที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องผ่านตาตั้งแต่ชั้นมัธยม
      
       มะสึโอะ บาโช เกิดในราวปี 1644 ที่เมืองอิงะ Iga ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ ในครอบครัวตระกูลซามูไร ทุกวันนี้ที่พำนักของเขามักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดหรือเรือนตายของบาโช และยังมีอีกหลายคนที่ใคร่จะเดินตามเส้นทางสายบทกวีของเขา บนความยาวกว่า 2000 กิโลเมตร...
      
       มีการเล่าขานต่อกันมาว่า สิ่งที่ทำให้บาโชกลายมาเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะเขาได้มีโอกาสซึมซับและหลงใหลในวรรณกรรมจากบุตรของขุนนางที่เขาเคยทำงานรับใช้อยู่
      
       และเขายังได้ศึกษากวีนิพนธ์จากคิงิน กวีชาวเกียวโตผู้มีชื่อเสียง ขณะที่บาโชเองก็ได้สัมผัสกับบทกวีจีนและหลักปรัชญาของลัทธิเต๋ามาตั้งแต่เยาว์วัย และนั่นคือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาในกาลต่อมา
      
       เมื่ออายุปลายยี่สิบ บาโชย้ายไปอยู่ที่เอโดะ ปัจจุบันคือ โตเกียว เมืองใหม่ที่ขณะนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้าที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู และโอกาสทองทางวรรณกรรมสำหรับบาโช หลายปีต่อมาเขารวมกลุ่มกับผู้สนใจวรรณกรรมมีประกอบได้ด้วยลูกศิษย์และผู้อุปถัมภ์ ตั้งสถาบันที่ทุกวันนี้รู้จักในนามโรงเรียนบาโช ขึ้นมา
      
       ในปี 1680 ลูกศิษย์คนหนึ่งของบาโช สร้างบ้านหลังน้อยริมแม่น้ำซุมิดะให้ และเขาได้นามปากกา บาโช มาจากชื่อของต้นกล้วยที่เขาชื่นชอบในการปลูกมันไว้ที่บ้าน บันทึกหลายฉบับระบุว่า ในช่วงนั้นเขาเกิดความรู้สึกสับสนในจิตวิญญาณ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังมากขึ้นเมื่อเกิดอัคคีภัยเผาทำลายเอโดะวอดไปเกือบทั้งเมืองเมื่อปี 1682
      
       มาถึงปี 1684 บาโชใช้เวลาหลายเดือนเดินทางจากเอโดะมุ่งไปทางตะวันตก ซึ่งปรากฏในบันทึกการเดินทางชิ้นแรกคือ บันทึกโครงกระดูกที่ถูกดินฟ้ากระหน่ำตี Journal of a Weather Beaten Skeleton
      
       สมัยนั้นนักเดินทางต้องเดินเท้าและไม่มีที่พักที่อำนาวยความสะดวกเชข่นปัจจุบัน รอนแรมร่อนเร่ดุจผู้พเนจร แต่กระนั้นเขาก็เดินทางอีกครั้งหนึ่งในระหว่างปี 1687 – 1688 ซึ่งอยู่ใน บันทึกคะชิมะและต้นฉบับในย่าม Kashima Journal and Manuscript in a knapsack ผลงานทั้งสองเขียนด้วยบทกวีที่บาโชเป็นผู้แต่ง
      
       ในช่วงปีนั้นเอง บาโชรู้สึกว่าโลกใบนี้มันหนักหนาเกินไป เขาเหนื่อยหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง และเขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่า เขา สัมผัสได้ถึงสายลมของชีวิตหลังความตายที่ปะทะใบหน้า....
      
       บาโชเริ่มต้นวางแผนที่จะเดินทางไปตามสถานที่ ที่มีความสำคัญทางวรรณคดี ศาสนา หรือประวัติศาสตร์การทหาร ที่ซึ่งเขาปรารถนาจะเห็นมันก่อนตาย เขาตั้งใจจะออกเดินทางในฤดูหนาว แต่คนรอบข้างต่างก็เป็นห่วงสุขภาพของเขาได้แต่ประวิงเวลาให้เขาเริ่มเดินทางเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ...
      
       และในที่สุด เขาก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 24 มีนาคม ปี 1689 พร้อมกับโซะระ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ โดยมีเพียงกระเป๋าสะพายหลัง เครื่องเขียนและเสื้อผ้า เขากลายเป็น เฮียวฮะกุซะ หรือ ผู้ท่องไปโดยไร้จุดหมาย อีกครั้ง ผ่านทั้งที่สูงและที่ราบ ผ่านหมู่บ้าน เทือกเขาทางเหนือของเมืองเอโดะ และเลาะเลียบทะเลญี่ปุ่น การรอนแรมในครั้งนี้ กลายเป็นผลงานชิ้นเอกของบาโช
      
       มันกลายเป็นบันทึกการเดินทางด้วยจิตวิญญาณของเขา คล้ายการสละแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เขาละทิ้งสมบัติทางโลกและปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบัญชาของธรรมชาติน ด้วยการร่อนเร่และยังชีพด้วยการสอนหนังสือไปตามรายทางที่เดินทางผ่าน
      
       หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ เส้นทางสายเล็กๆ ไปสู่ทางเหนือ The narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi ที่เขียนขึ้นมาหลังจากการเดินทางที่เขาเริ่มต้นการเดินทางที่เอโดะหรือโตเกียว เพื่อไปยัง โทโฮะกุ และ โฮะกุริกุ ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับมาในปี 1691
      
       บาโชเสียชีวิตด้วยความเจ็บไข้ในฤดูใบไม้ผลิในปี 1694 ที่โอซาก้า ภายในบ้านของลูกศิษย์คนที่เขาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ก่อน สิ้นใจ เขายังมิวายรจนาไฮกุ ไว้อีกหนึ่งบท ดังนี้
      
       ในการเดินทางฉันป่วย
       ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
       ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง
      
       On travel I am sick
       My dream is running around
       A field covered with dried grasses
      
            

กุหลาบ..กับความรัก

       คิดอยู่นานค่ะ ด้วยว่าสัปดาห์นี้อยู่ช่วงเทศกาลวันแห่งความรักพอดิบพอดี... แรกเลยคิดจะเขียนถึงศิลปินหญิงคนหนึ่งที่แต่งเพลงรักและขับร้องได้ไพเราะหลายต่อหลายเพลง แต่...คิดไปคิดมา กลับเขียนไม่ออก...
      
       หันซ้ายหันขวา ถามถึงวันแห่งความรักซึ่งก็เคยเล่าประวัติของวันวาเลนไทน์นี้ไปเมื่อหลายปีก่อน ครั้นจะเล่าอีกสักครั้งก็กระไรอยู่... ทั้งที่จริงตำนานของวันนี้ก็มีมากมายหลากหลายเรื่องราว...
      
       สิ่งที่คนรักมอบให้กันในวันนี้... ชอคโกแลตก็เคยเล่าไปแล้วอีก... หันมามองที่กุหลาบ ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรมคนใหม่ก็ประกาศปราม ไม่ให้คนไทยมอบให้กัน โดยรณรงค์ให้มอบดอกมะลิแทน... ทั้งที่กุหลาบนั้น ก็มีความหมายในตัวมันเองมากมาย....
      
       นับตั้งแต่กุหลาบเป็นดอกไม้อายุนับล้านปี จากหลักฐานที่พบฟอสซิลอายุกว่า 35 ล้านปี สามารถทำให้เรายืนยันได้ว่า กุหลาบถือเป็นหนึ่งในไม้พันธุ์ดั้งเดิมของโลกที่มีอายุยืนยาวมากระทั่งปัจจุบัน..แต่ ถามว่า ใช่กุหลาบเดิมที่ออกลูกออกหลานมาจนถึงวันนี้หรือเปล่านั้น...ไม่มีผู้ยืนยันค่ะ... ทราบกันแต่เพียงสายพันธุ์ของกุหลาบบนโลกใบนี้มีมากกว่า 150 สายพันธุ์...
      
       กุหลาบถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยงาม เรื่องของความรัก หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แทนสงครามและการเมือง
      
       ระหว่างศตวรรษที่ 15 กุหลาบเคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายต่อต้านการปกครองของจักรภพอังกฤษ สองฟากฝ่ายต่างมีสีของกุหลาบที่ต่างกัน ขาว กับแดง ผลของการกระทำครั้งนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทั่งกลายเป็น สงครามกุหลาบ....
      
       สัญลักษณ์รูปกุหลาบแดงในมือ ถือเป็นตัวแทนของระบบสังคมนิยมพรรคแรงงานในประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับพรรคแรงงานของประเทศฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส สวีเดน และอีกหลายประเทศบนโลกใบนี้....
      
       เมื่อครั้งฮิตเลอร์เรืองอำนาจ สัญลักษณ์กุหลาบขาวก็เป็นตัวแทนของชาวเยอรมันที่ต่อต้านการกระทำเผด็จการเช่นว่านี้... กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มกุหลาบขาว (white rose) ที่ทำงานใต้ดินเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ในยุคนั้น....
      
       ความหมายของกุหลาบยังมีอีกเยอะค่ะ ไม่นับว่า กุหลาบได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งดอกไม้... ประโยชน์จากกุหลาบก็มีมากมาย ทั้งนำมาทำเครื่องหอม และยังสามารถนำมาปรุงเป็นยาได้อีกด้วย....
      
       ผู้หญิงสมัยก่อนมักจะชื่นชอบกุหลาบและใช้กลิ่นของมันประทินผิวเพื่อความหอมของตัวเองเสมอ... ยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 17 ในกลุ่มขุนนางและเชื้อพระวงศ์แถบโลกตะวันตก มองว่ากุหลายและน้ำมันสกัดจากกุหลาบนั้นเป็นเสมือนข้อต่อรองทางกฎหมาย พวกเขาใช้มันเป็นของมีค่าที่สามารถแลกเปลี่ยนและชำระค่าจ้างได้อย่างชอบธรรม
      
       ยิ่งถ้าย้อนไปในช่วงจักรวรรดิโรมันด้วยแล้ว กุหลาบถือเป็นไม้ดอกยอดนิยมทีเดียวค่ะ ขุนนางชั้นสูงสมัยนั้นต่างมีสวนกุหลาบใหญ่เพื่อแสดงรสนิยมและความมั่งคั่งกระทั่งโรมันล่มสลายความนิยมกุหลาบก็ถูกลดทอนลงไปด้วยค่ะ
      
       กุหลาบจึงถือเป็นไม้ดอกที่มีราคา มาแต่ไหนแต่ไรค่ะ.... ไม่เพียงแค่มันเป็นสื่อแทนใจของมนุษย์เท่านั้น แต่กุหลาบถือเป็นไม้ดอกที่ทำการค้าแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว และถือว่าเป็นไม้ตัดดอก ที่มีการซื้อขายเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว ตลาดประมูลไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดของโลก ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีการซื้อขายกันมากถึงพันล้านดอก
      
       ตำนานกุหลาบที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของความรักนั้น มีหลายเรื่องด้วยกันเช่นเรื่องของชายหญิงคู่แรกของโลก อาดัมกับอีวา...ที่ฝ่ายหญิงเผลอไผลไปจุมพิตดอกกุหลาบขาวในสวนเอเดน เป็นเหตุให้พระเจ้ากริ้ว จึงเนรเทศอีวาและอาดัมให้มายังโลกมนุษย์ และให้ต้องคำสาปว่าต้องหลงใหลในดอกไม้ชนิดนี้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์ พร้อมกับส่งดอกกุหลาบที่กลายเป็นสีแดง และความหอมรวมทั้งหนามแหลมคม มาให้มนุษย์ทุกผู้นามหลงใหลในกลิ่นและรูปของมัน.....และยังให้กุหลาบเป็นตัวแทนในการระลึกถึงการกระทำที่พลาดพลั้งของตัวเองและเพื่อให้มนุษย์ทุกผู้นามพึงระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้ยังมีความหวังและพวกเขาทั้งหลายสามารถถ่ายถอนตัวเองจากบาปได้....
      
       สีของกุหลาบก็สำคัญนะคะ... ส่วนใหญ่แล้วมักจะกล่าวอยู่เพียงกุหลาบขาวและกุหลาบแดง
      
       แน่นอนว่าสีขาวมักจะถูกแทนค่าด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ความสงบเงียบ ในแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษเอง ก็มีความเชื่อว่าหากมีเด็กเสียชีวิตพวกเขาจะวางกุหลาบขาวไว้บนหลุมศพ ขณะที่ชาวอเมริกันพื้นเมือง ก็เชื่อว่า กุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยและความสุข ในพิธีแต่งงาน...เจ้าสาวจะสวมมงกุฎกุหลาบขาวประดับในพิธีวิวาห์....แม้กระทั่งเทพีวีนัส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพีผู้คุมประพฤติของหญิงสาว ก็ยังให้ค่ากุหลาบขาวในภาคส่วนของศีลธรรม...
      
       ขณะที่กุหลาบแดงถูกทำให้กลายเป็นตัวแทนของความลุ่มหลง ตัณหา และราคะ บางตำนานเชื่อกันว่าหากใครตัดกุหลาบแดงแล้วกลีบหลุดร่วง จะหมายถึงลางร้ายที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ได้ค่ะ...
      
       เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับกุหลาบยังมีอีกมากนะคะ เช่น ที่กรุงโรม ยุคหนึ่งจะมีการนำกุหลาบป่ามาวางตรงหน้าห้องประชุมที่มีการถกเถียงหรืออภิปรายกันอยู่ และจะเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ประชุมว่า หากใครคนใดคนหนึ่ง กล่าวคำ sub rose ขึ้นมาก็หมายถึงต้องเก็บสิ่งที่พูดก่อนหน้านั้นเป็นความลับค่ะ....
      
       ของไทยเราเองก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับดอกกุหลาบไม่น้อยค่ะ ว่ากันว่า กุหลาบที่เก่าแก่ของไทยคือสายพันธุ์กุหลาบมอญ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เองท่านก็ทรงโปรดฯให้ปลูกสวนกุหลาบไว้ในพระบรมมหาราชวัง ยามท่านทรงพระสำราญก็มักจะเสด็จประทับ ณ พลับพลาที่ประทับ ยามค่ำคืนใต้แสงจันทร์ กลิ่นหอมจากสวนกุหลาบ ท่านทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงต่างๆไว้หลายเพลงทีเดียว
      
       หลายยุคหลายสมัย กุหลาบรับหน้าที่เป็นดอกไม้สื่อถึงความรักที่คนหนึ่งมีให้อีกคนหนึ่ง แม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนในซีกโลกตะวันตก ก็ตาม... แต่ การรักใคร อย่างบริสุทธิ์ใจ รักที่ไม่มีความเลวร้ายซ่อนอยู่เบื้องหลัง ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือคะ....
      
       เรื่องราวของความรัก ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มีทั้งดีและร้าย ขึ้นอยู่กับว่า เรา เลือกที่รักอย่างไร มากกว่า ในวันแห่งความรักปีนี้... ขออวยพรให้ทุกผู้นาม มีความรักและมอบความรักให้แก่คนรอบข้างอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจนะคะ.

ใช่เพียงแค่ ตุ๊กตาหมี!!

       เมื่อสักปลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงผ่านตาข่าวการประมูลตุ๊กตาหมีราคาเหยียบหมื่นในบ้านเรากันไปบ้างไม่มากก็น้อย ตุ๊กตาหมีนาม เทดดี้ แบร์ ที่หลายคนบนโลกใบนี้หลงใหลและอยากจะมีไว้ครอบครอง อย่างน้อยสักหนึ่งตัว
      
       ใครจะไปคาดคิดว่า ตุ๊กตาหมีแสนธรรมดาๆ ตัวหนึ่งจะมีเรื่องราว มีประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อราวปี ค.ศ.1902 ครั้งที่ประธานาธิบดีคนที่ 26 ธีร์โอดอร์ รูสเวลท์ Theodore Roosevelt ต้องเดินทางไปเจรจาแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐมิสซิสซิปปี้กับรัฐหลุย์ เซียน่า เจ้าภาพในครั้งนั้นให้การต้อนรับผู้นำด้วยการพาไปล่าหมีป่า แต่ครั้งนั้นกลับไม่พบหมีสักตัว บรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงพาคิดแผนนำลูกหมีมาให้ ผู้นำประเทศได้ยิง แต่... ปรากฎว่า ประธานาธิบดีรูสเวลท์ กลับปฏิเสธที่จะยิง ซ้ำยังอุทานออกมา ว่า Spare the bear...
      
       เหตุการณ์นี้ยังความประทับใจให้กับการ์ตูนนิสต์ชื่อดังยุคนั้น คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน Clifford Berruman เขาจึงวาดภาพที่ชื่อว่า Drawing the line in Mississippi และได้รับการตีพิมพ์ใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 1902 กลายเป็นที่กล่าวขานกันมาก จึงทำให้สามีภรรยามอร์ริสและโรส มิชทอม Morris and Rose Michtom ทำตุ๊กตาหมีผ้าขึ้นมาเพื่อยกย่องการกระทำครั้งนั้นของประธานาธิบดีของตัวเอง โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติว่า เทดดี้ แบร์ โดยนำชื่อเทดดี้ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของประธานาธิบดีมาตั้งเป็นชื่อตุ๊กตาหมี
      
       และนับแต่นั้นตุ๊กตาหมี เทดดี้แบร์ ก็กลายเป็นสินค้าขายดีติดอันดับในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดกลายเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงของประธานาธิบดีรูสเวลท์ จนทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้กลายเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งด้วย
      
       นี่เป็นเรื่องราวทางฟากฝั่งสหรัฐอเมริกา.... แต่เรื่องเล่าทางเยอรมันนั้น มีความเป็นมาที่ยาวกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของผู้ผลิตตุ๊กตาหมีขึ้นครั้งแรกของเยอรมัน เธอมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจและติดตามไม่น้อย
      
       มาร์กาเรต ชไตฟ์ Margarete Steiff หญิงชาวเยอรมันผู้เป็นเจ้าของบริษัทของเล่นที่มีคุณภาพและราคาที่สูง นาม Steiff ด้วยคำประกาศที่เธอยืนยันตั้งแต่แรกเริ่มของการประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้าก็คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆของเธอเท่านั้น...
      
       ผลิตภัณท์ของเธอล้วนแล้วแต่พิถีพิถันในการเลือกวัสดุ ส่วนประกอบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขนแพะชนิดละเอียด ที่พร้อมจะทักทอคุณภาพดี กระทั่งลูกตายังทำด้วยไม้หรือแก้ว พร้อมกับยัดไส้ด้วยเศษขี้เลื่อยอย่างดี ทุกขึ้นตอนการผลิตคือการเย็บด้วยมือทั้งสิ้น
      
       Margarete เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมปี 1847 ที่เมือง Giengen an der Brenz ประเทศเยอรมนี เธอมีพี่สาว 2 คนและน้องชายร่วมสายโลหิตอีก 1 คน ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเธอนั้นจัดว่าดี แต่ เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก เมื่อเธอมีอายุได้ 18 เดือน ก็เริ่มป่วยด้วยโปลิโอ และทำให้เธอไม่สามารถเดินได้นับตั้งแต่นั้นมา
      
       ตลอดชีวิตเธอต้องนั่งอยู่แต่บนเก้าอี้รถเข็น ด้วยเหตุนี้ทำให้มารดาของเธอเป็นห่วงเธอมากกว่าลูกคนไหนๆ แต่...มาร์กาเรต ไม่ต้องการให้ทุกคนมาห่วงเธอ เธอพยายามใช้ชีวิตเช่นคนปกติแม้ว่าเธอจะรู้ว่า อนาคตข้างหน้าเธอไม่อาจมีครอบครัวเช่นผู้หญิงคนอื่น แต่เธอก็ยังมีพลังใจในการใช้ชีวิตตลอดมา...
      
       เธอมักจะร้องขอให้ใครต่อใครพาเธอออกมาข้างนอกบ้าน เพื่อมีโอกาสมองเห็นสิ่งต่างๆ เช่นเด็กคนอื่นๆ เมื่อเธอเริ่มต้นเข้าโรงเรียน เธอก็ได้เพื่อนบ้านและพี่สาวที่เรียนอยู่ที่เดียวกัน ช่วยเหลือในการพาเธอไปโรงเรียนด้วย
      
       เธอพยายามเล่นกับเด็กอื่น เท่าที่สรีระของเธอจะอำนวย เธอมักจะคิดเกมส์ใหม่ๆ เพื่อเล่นกับเพื่อนๆ เสมอ...พร้อมๆ กับที่เธอเริ่มสนใจเย็บผ้าและถักโครเชท์
      
       ครั้นเธออายุได้ 17 ปี เธอเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า เธอไม่สามารถเดินได้เช่นคนอื่น และร่างกายของเธอก็ไม่แข็งแรงเหมือนหญิงทั่วไป เธอเริ่มเรียนตัดเย็บอย่างจริงจัง และเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกับพี่สองทั้งสองที่บ้าน ด้วยฝีมือที่ประณีตและการเอาใจใส่ต่อทุกฝีจักร ทำให้ใครต่อใครพากันยอมรับในฝีมือตัดเย็บของเธอ....
       
       แต่แล้ว... เธอก็ประสบปัญหาต่อมา...เมื่อแขนข้างขวาของเธอเริ่มใช้การไม่ได้ แต่..เธอก็ไม่ย่อท้อ เธอใช้แขนข้างที่เหลือหมุนล้อบนตัวจักรและหันมาเย็บเสื้อผ้าให้กับเด็กๆ แทน
      
       เมื่อพี่สาวทั้งสองของเธอแต่งงานออกเรือนไป มาร์กาเรตยุติกิจการเย็บผ้าระยะหนึ่ง เธอออกเดินทางไปรอบประเทศ พักอยู่ตามบ้านเพื่อน ก่อนที่เธอจะกลับมาตั้งต้นดูแลชีวิตด้วยตัวเอง...
      
       เธอได้น้องชายเข้ามาช่วยจัดระบบการทำงาน และเริ่มต้นทำธุรกิจ ตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกัน ด้วยการทำโรงงานขนาดเล็ก ตัดเย็บปัตติโค้ด(Petticoats) และ เสื้อผ้าเด็ก
      
       ดังเช่นชีวิตของใครหลายคน มีลงแล้ว ก็ย่อมมีขึ้น....ชีวิตของมาร์กาเรต ก็เช่นกัน หลังจากที่เธอตัดสินใจยืนด้วยตัวของตัวเองแล้ว ในปี 1880 เธอก็ไปค้นพบแบบการทำตุ๊กตาผ้ารูปช้างในนิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่ง เธอทดลองทำครั้งแรก 8 ตัว เพื่อเป็นของขวัญให้กับหลานๆ ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนในยุคนั้น มันกลายเป็นของเล่นยอดฮิตของเด็กๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย
      
       หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีคนมาขอให้เธอเย็บตุ๊กตาผ้าให้อีก กระทั่งมันกลายเป็นสินค้าขายดีของเธอไปแล้ว และเธอจึงเริ่มเปลี่ยนโรงงานเย็บผ้าของตัวเองให้กลายมาเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง แมว สุนัขและหมู...
      
       สินค้าของเธอเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น น้องชายของเธอพยายามนำสินค้าออกโชว์ในงานแสดงสินค้าที่ Stuttgart ในปี 1883 แน่นอนมันประสบผลสำเร็จตามที่คาดและทำรายได้ให้กับเธอและน้องชายอย่างงดงาม จนต้องย้ายโรงงานจากบ้านมาตั้งที่ใหม่
      
       และเมื่อหลานชายของเธอเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เข้ามาร่วมทำงานกับเธอ แต่มีเพียงคนเดียวที่สนิทสนมและร่วมคิดสร้างสรรค์กับเธอด้วย นั่นก็ Richard ในปี 1902 ริชาร์ด เริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของป้าตัวเอง เขามองเห็นช่องทางการทำตุ๊กตาหมีจากกระแสข่าวของประธานาธิบดีรูสเวลท์ พวกเขาจึงทดลองทำตุ๊กตาหมีขึ้นมา โดยตั้งชื่อครั้งแรกว่า PB แต่...ณ ประเทศเยอรมันกลับไม่ค่อยมีคนสนใจ ตุ๊กตาหมีชนิดนี้...
      
       การณ์กลับตาลปัตรเมื่อเขานำมันออกแสดงในงาน The World Exhibition ที่ St.Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา ตุ๊กตาหมี PB ขายได้ถึง 12,000 ตัว หลังจากก่อนหน้านี้มันถูกซื้อไปแล้วในการออกร้านครั้งหนึ่งโดยลูกค้าชาวอเมริกันถึง 3,000 ตัวภายในชั่วพริบตา
      
       ความนิยมในตุ๊กตาหมีของอเมริกาส่งผลให้สมาชิกโรงงานของมาร์กาเรตที่ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมีรายได้จากการเย็บตุ๊กตาหมีที่บัดนี้ ถูกตั้งชื่อใหม่ให้กลายเป็น เทดดี้แบร์ ตั้งแต่เมื่อปี 1906 และทำให้อีกปีต่อมา มาร์กาเรตขายตุ๊กตาหมีของเธอได้มากถึง 9 แสนกว่าตัว
      
       แน่นอนว่าผลิตภัณท์ตุ๊กตาผ้าของเธอนั้น ยังคงยึดมั่นหลักการเดิม คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆ ของเธอเท่านั้น มาร์กาเรตออกแบบตุ๊กตาทุกตัวของเธอด้วยตัวของเธอเอง เธอตรวจสอบคุณสินค้าทุกครั้งก่อนนำออกจากโรงงาน เธอทุ่มเทความรักให้กับตุ๊กตาทุกตัวของเธอ ซึ่งแน่นอน มันส่งผ่านไปถึงผู้รับที่นำตุ๊กตาเหล่านั้นกลับไปเป็นเจ้าของด้วย
      
       เธอเสียชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเองในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1909 ด้วยโรคปอดอักเสบ ในวัย 61 ปี ในวันที่เธอจากไปครอบครัวและคนงานเศร้าโศกเสียใจ แต่พวกเขาก็ยังดำเนินกิจการผลิตตุ๊กตาผ้าของมาร์กาเรตต่อมากระทั่งปัจจุบัน ด้วยยึดมั่นในอุดคติแต่ดั้งเดิม เพราะพวกเขากล่าวว่า บริษัทนี้ดำเนินต่อมาได้ด้วยจิตวิญญาณของมาร์กาเรตนั่นเอง.

มารี อังตัวแนต ราชินีใจบาปหรือเพียงเหยื่อของสังคม...

       
       เสียงโห่ร้องกึกก้องไปทั้งห้องฉายภาพยนตร์ Marie Antoinette ที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มเมื่อปี 2006 ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝีมือการกำกับของ Sophia Coppola ที่คาดการณ์ไว้แล้วว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับการตอบรับเช่นนี้ที่ประเทศฝรั่งเศส!!
      
       เพราะการเสนอมุมมองใหม่ถึงชีวิตของผู้หญิงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวและพยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ในโลกที่เธอเองก็ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ซ้ำยังไม่คาดฝันว่าจะได้เข้ามาสัมผัสมัน... ถูกนำมาฉายเป็นภาพของราชินีในราชสำนักฝรั่งเศสองค์นี้ มารี อังตัวเนต
      
       ....ราชินีใจบาป ภรรยาที่คบชู้สู่ชาย นางปีศาจ มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย นังผู้หญิงออสเตรีย...ต่างๆ เหล่านี้คือคำเรียกขาน พระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงองค์เล็กแห่งออสเตรียที่ต้องจากแผ่นดินเกิดของตัวเองมาเข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 14 ปี....
      
       มารี อังตัวเนตกลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก ที่รู้จักกันดีในโชคชะตาของพระนางที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกีโยติน ในปี 1793 ....
      
Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen
มาเรีย อันทัวเนีย โจเซฟฟ่า โยฮันน่า ฟอน ฮับสบวก - โลธริงเง่น    

 มารี อังตัวเนต โฌเซฟ โยฮฌานน์ วอน ฮับส์บวร์ก ลอแรนน์ ( Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen) อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 1755 พระนางเติบโตภายใต้การดูแลอย่างสบายๆ ง่ายๆ ไม่เข้มงวดเท่าราชินิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ตลอดเวลาพระนางได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ใดๆ เรียกได้ว่า แทบจะคล้ายกับวิถีชีวิตของสามัญชน....
      
       ด้วยวัยเพียง 13 ชันษา พระนางถูกกำหนดให้เตรียมพร้อมในการเข้าพิธีอภิเษกสมรส ด้วยการหัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับคีตกวีชื่อดัง รวมทั้งเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสด้วย และหลังจากนั้นในปี 1769 พระนางมารี ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส ทั้งนี้ก็เพื่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่แผ่นดินของพระนางเอง โดยวันแรกที่ก้าวข้ามแผ่นดินเกิด พระนางก็ถูกเรียกขานจากคนอีกฟากฝั่งทันทีว่า.... ผู้หญิงออสเตรีย....
      
       ทันทีที่ก้าวข้ามแผ่นดิน พระนางมารี ต้องประสบกับชะตากรรมที่ใครก็ไม่อยากเผชิญ การปรับตัวเข้ากับพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมแบบฝรั่งเศส การถูกปฏิเสธจากสวามีของตัวเองเป็นเวลาหลายปี ทำให้พระนางมีปฏิกิริยาในด้านตรงข้ามกับจารีตที่กุลสตรีชั้นสูงในราชสำนักควรจะเป็น
      
       หลังจากพระนางได้ขึ้นครองบัลลังค์คู่กับพระสวามีกลายเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสในปี 1774 แล้ว พระนางมารี อังตัวเนตก็ปฏิเสธขนบเดิมทุกประการ ที่ราชินิกุลควรจะเป็น ไม่ว่าการเป็นพระชายาที่ดี เป็นพระมารดาที่ดี และเป็นคาทอลิคที่ดี พระนางกลับทำในด้านตรงข้ามนั้นสิ้น!!
      
       พระนางกลายเป็นราชินีที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง เป็นหนึ่งในผู้ใฝ่อิสรภาพและเสรีภาพ มีความกระหายอยากในความสุขอย่างท่วมท้น และพระนางคือผู้นำแฟชั่นของยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ...ต่างๆ เหล่านี้ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระนางประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่อย่างสิ้นเชิง
      
       ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ประกอบกับความเป็น คนนอกไม่ใช่คนของแผ่นดินฝรั่งเศส พระนางจึงถูกต่อต้านมาตลอด แต่...พระนางก็ไม่เคยยี่หระกับคนรอบข้างเช่นนั้น โดยพระนางพยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีตามอำเภอใจของตน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมแต่ประการใด....
      
       กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนาง ได้รวมตัวกันมาตั้งแต่พระนางขึ้นสู่ราชบัลลังค์ มีการโจมตีด้วยข่าวคาว ของการคบชู้สู่ชายไม่ว่าจะกับหญิงหรือชาย พระนางถูกกล่าวหาทั้งสิ้น อีกทั้งมีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่าย เพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายหนุนหลังให้ออสเตรียแผ่นดินเกิดของตัวเอง
      
       เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระนางก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเหตุให้พระนางเดินทางมาถึงจุดจบแห่งชีวิตตัวเอง ซึ่งระหว่างที่ประชาชนฝรั่งเศสอดอยากยากแค้น ก็มีข่าวแพร่สะพัดตลอดเวลาว่า พระนางกลับถลุงเงินหลวงอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งใด
      
       เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1789 ขบวนประท้วงของสตรีเดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปังให้กับครอบครัวตัวเอง พระนางกลับกล่าววลีที่บาดลึกลงไปในใจของใครหลายคน ที่ขณะรายงานว่าประชาชนของแผ่นดินไม่มีขนมปังกิน พระนางกลับตอบไปว่า ให้พวกเขากินเค้กสิ’ ....ราวกับน้ำผึ้งหยดเดียว.....
      
       ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนลุกฮือติดอาวุธที่มีเพียงหอกและมีด บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารม้าตามอารักษ์ขา แต่ระหว่างทางก็ยังมีผู้เรียกร้องยื่นเชือกเส้นหนึ่งให้พระนางทอดพระเนตรว่า จะใช้แขวนคอพระนางกับเสาโคมในกรุงปารีส
      
       เรื่องราวชีวประวัติของพระนางมารีนั้น มีหลายหลากแง่มุม และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอย่างยากจะแยกจากกัน ประวัติชีวิตของพระนางถูกนำมาสร้างเป็นบทละคร เป็นภาพยนตร์และหนังสือหลากเล่มหลายนักเขียน และต่างมุมมอง
      
       แต่สำหรับตัวดิฉันเองแล้ว มองว่า มารี อังตัวเนตเป็นราชินีผู้มีความซับซ้อน ในยุคสมัยที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทางการเมือง แม้ว่าใครจะเรียกขานพระนางอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นราชินีผู้งดงาม และบอบบางราวกับฟองสบู่ นางผู้มีกลิ่นหอมหวน เต็มไปด้วยความสง่างาม ความสดใสของการมีชีวิต และผู้นำรสนิยมแบบฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 หรือแม้กระทั่งจะให้พระนางเป็นราชินีผู้เลวทราม ผู้หญิงชั่วช้า ผู้คบคิดกับต่างชาติเพื่อทำลายแผ่นดินฝรั่งเศสและกลายเป็นผู้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐ....
      
       บั้นปลายชีวิตพระนางมารี อังตัวเนตถูกลดฐานะลงมาเหลือเพียง แม่ม่าย capet และต้องโทษประหารชีวิต ด้วยเครื่องกีโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม 1793 ณ จัตุรัส revolution ณ กรุงปารีส ด้วยวัย 37 ปี เพียงชั่วข้ามคืนจากผมสีทองบลอนซ์ก็กลายเป็นสีขาวในบัดดล จากเด็กสาวผู้อ่อนด้อยประสบการณ์โลก กลายเป็นหญิงชั่วที่ปั่นป่วนขนบแห่งแวร์ซาย เพียงเพื่อหลีกหนีความเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวเอง ทำให้พระนางต้องพบจุดจบเช่นนี้ ในเวลา เที่ยงสิบห้านาที ศีรษะของพระนางก็หลุดออกจากบ่า ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของฝูงชน.........


เธอ...ผู้พลีกาย เพื่อแผ่นดิน

       
       ใบหน้าของโจน ออฟ อาร์ค มีแววแห่งความวิตกกังวลนานาประการ เป็นใบหน้าของผู้ที่กำลังแบกภาระอันใหญ่หลวงอยู่เฉพาะหน้า ไหนจะต้องห่วงในเรื่องสงคราม ไหนจะต้องกังวลใจต่อเพื่อนร่วมชาติของเธอ ที่ไม่พยายามเข้าใจเธอในแง่ดี คล้ายกับบุคคลที่ท้อแท้อย่างหมดหวัง แต่แม้กระนั้น เธอยังยึดมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งต้องกระทำต่อไปให้สำเร็จ....
      
       เธอเชิดหน้าอย่างอาจหาญ หลังที่ห่องุ้มลงอยู่เช่นนั้นแสดงถึงการคารวะในพระผู้เป็นเจ้า และคล้ายกับเธอกำลังอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในใจ เพื่อขอความคุ้มครอง ดวงจันทร์ที่ลอยเด่นกระจ่างณ เบื้องหลังราวกับจะเป็นลักษณะดวงจิตอันแกร่งกล้าของเธอ ที่พร้อมจะเสียสละให้แก่ประเทศชาติได้ทันที เมื่อถึงโอกาสนั้น.....
      
       คำกล่าวถึงภาพเขียนโจน ออฟ อาร์ค ที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำเคยบรรยายไว้เมื่อครั้งได้เห็นภาพเขียนฝีมือจิตรกรดังคนหนึ่ง บรรจงร่างภาพของโจน ออฟ อาร์ค ด้วยแบบฉบับเฉพาะตัวที่คล้ายเด็กวาดแต่เต็มไปด้วยการใช้สีและแฝงอารมณ์ที่มีความหมายอย่างลึกซึ้ง....
      
       เรื่องราวของหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งผู้ซึ่งกลายมาเป็นนักบุญในกาลต่อมา ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างก็สนใจนำมาเสนอลงบนแผ่นฟิล์มหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ปี 1900 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 1999
      
       มีผู้สันนิษฐานว่าโจน ออฟ อาร์คเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคมปี 1412 ในแถบที่ราบของแคว้นลอแรนซ์ ทางภาคตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวชาวนา ตระกูล ดาร์ก ในระหว่างสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส
      
       ชีวประวัติของเธอผู้นี้เป็นที่กล่าวขานไปหลากหลายแง่มุม บ้างก็ว่านางเป็นลุกชาวนาที่น่าสงสาร เมื่ออายุได้ 13 ปี เธอก็ได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าในโบสถ์ของหมู่บ้านดงเรอมี Domremy ซึ่งคือบ้านเกิดของเธอ...
      
       เสียงนั้นบอกให้เธอรับพลังวิเศษจากพระเจ้าไปขับไล่พวกอังกฤษออกจากแผ่นดินฝรั่งเศส และภารกิจถัดจากนั้นคือสถาปนารัชทายาทฝรั่งเศสให้ขึ้นครองราชย์ให้สำเร็จ และเสียงนั้นยังบอกเธอต่อไปด้วยว่าให้เธอเข้าพบกับเสียงได้บอกเธอไปหานายทหารชื่อ โรเบอร์ต เดอะ โบ ดริคอร์ท ผู้ซึ่งควบคุมเมืองแวนคูเลียส์ที่อยู่ใกล้ๆ
      
       ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะเย้ย โจนก็กลายเป็นนายทหารคนหนึ่งในกองทัพฝรั่งเศส เธอสวมชุดนักรบเฉกเดียวกับนายทหารคนอื่นๆ ขณะนั้น โจนมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น ท่ามกลางการขาดขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับกองทัพอังกฤษ เพราะบัลลังค์ฝรั่งเศสเวลานั้นอ่อนแอ
      
       แต่เพราะ เธอผู้นี้...โจน ออฟ อาร์ค สตรีผู้เต็มเปี่ยมด้วยความกล้าและเด็ดเดี่ยว เธอสามารถนำทัพบุกถล่มกองทัพอังกฤษอย่างดุเดือด ทำให้อังกฤษกลับเป็นฝ่ายเสียขวัญบ้าง ขนาดพ่ายแพ้ในสมรภูมิครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งทางการอังกฤษตั้งค่าหัวเธอเป็นเงินจำนวนมาก...
      
       โจน ทำตามเสียงแห่งสวรรค์สำเร็จ เธอนำพาทัพฝรั่งเศสกู้ชาติได้สำเร็จและสถาปนากษัตริย์พระองค์ใหม่พระเจ้าชาร์ล ที่ 7 แต่ผลของทุ่มเทชีวิตและจิตใจที่บริสุทธิ์ของเธอในครั้งนี้ เธอได้รับผลตอบแทนที่สาหัสเหลือเกิน...
       
       เสียงแห่งสวรรค์เตือนโจนว่าเธอจะถูกจับกุม และมันก็เป็นตามนั้นจริงๆ ในระหว่างการต่อสู้เธอตกเป็นเชลยของเบอร์กัน ดี พันธมิตรของอังกฤษ จากนั้นเธอก็ถูกขายให้อังกฤษ ด้วยการณ์นี้ทำให้เธอตระหนักว่า เธอไม่ได้รับความจริงใจจากกษัตริย์ฝรั่งเศสแต่อย่างใด ฝรั่งเศสในเวลานั้นเมินเฉยต่อการถูกจับกุมของเธอ...
      
       ซ้ำร้ายเมื่อเธอถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยวิธีที่แสนทรมาน เผาทั้งเป็นที่ประเทศอังกฤษ ฐานกระทำตนเป็นแม่มด กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นมีอำนาจพอที่จะยับยั้งโทษประหารได้ ก็กลับนิ่งเฉย โดยไม่มีการช่วยเหลือใด จากฝรั่งเศสให้กับเธอผู้นี้เลย ..เธอผู้ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อปกป้องแผ่นดินฝรั่งเศสและคนฝรั่งเศสให้ได้รับชัยชนะจากอังกฤษ.... แต่ ชะตาชีวิตของเธอ กลับต้องมาพบจุดจบเช่นนี้
      
       ด้วยข้อหาขัดต่อความเชื่อของพระศาสนา และด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้เวลานั้นโจนได้สู้ความด้วยตัวเธอเอง จากข้อกล่าวหาฉกรรจ์หลายกระทง ด้วยความเที่ยงธรรม ความกล้าหาญ และปรีชาญาณ พระสังฆราชแห่งเมืองบิวเวส์เป็นผู้ตัดสินคดี และได้ลงโทษเผาโจนทั้งเป็นที่หลักประหาร โดยข้อหาเธอมีความเชื่อขัดกับพระศาสนา
      
       ด้วยความหวาดหวั่น โจนเซ็นชื่อถอนคำพูดบางส่วน แต่ด้วยกำลังใจจากเสียงแห่งสวรรค์ เธอได้ยกเลิกการเซ็นชื่อนั้น ก่อนตาย โจนได้ให้อภัยศัตรูของเธอ และได้ขออภัยสำหรับความผิดพลาดที่เธอได้เคยทำ เธอได้ขอให้คนช่วยชูไม้กางเขน เพื่อเธอจะได้มองเห็นองค์พระเจ้าในวาระสุดท้ายของชีวิต ขณะที่เพลิงค่อยๆ ลามเลียตัวเธอ โจนได้เปล่งเสียง เพรียกพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งร่างของเธอมอดไหม้.....
      
       ยี่สิบห้าปีต่อมา ในปี 1456 ศาสนศาลได้ประกาศว่า การขึ้นศาลของโจนและการตัดสินลงโทษเธอ เป็นโมฆะเนื่องจากบิดเบือนความจริง และผิดกฎหมาย ทั่วประเทศฝรั่งเศสได้มีขบวนแห่ระลึกถึงวีรกรรมของโจน ในการกู้ชาติ ในปี 1909 นักบุญพระสันตะปาปาปิโอที่ 10 ได้แต่งตั้งโจนเป็นบุญราศี และในปี 1920 พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 15 ได้แต่งตั้งเธอเป็นนักบุญ และวันระลึกถึงเธอ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ซึ่งเป็นวันฉลองนามนักบุญของเธอ
      
       โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีที่กลายเป็นนักบุญผู้นี้ เป็นแบบอย่างที่ทำให้เราได้เห็นถึง ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างบริสุทธิ์ในดวงจิต ประกายไฟที่โชติช่วงในการกอบกู้วิญญาณของแผ่นดินและการกระทำตามประสงค์ของเสียงแห่งสวรรค์....เสียงที่มีไม่กี่คน ที่จะได้ยิน.....