7/19/2554

คาร์ล มาร์กซ์ ซ้ายไม่เคยตายจริงหรือ....

       จะเรียกบุรุษผู้นี้ว่าอะไรดีคะ เพราะเขาเป็นทั้ง นักปราชญ์ นักเศรษฐศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักวิเคราะห์วรรณคดี รวมทั้งนักปฏิวัติและ ผู้ประกาศแนวคิด สังคมนิยม (Socialism) และทฤษฎีการปฏิวัติระหว่างชนชั้น ที่สั่นสะเทือนโลกเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ อีกทั้งเขายังเป็นคนสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มกรรมกรนานาชาติ (International Workingmen’s Association) บุคคลที่เรากำลังจะกล่าวถึงเขาต่อไปนี้ก็คือ
       คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ์ ( karl Heinrich Marx)ค่ะ
      
       เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมืองเทรียร์แคว้นปรัสเซียที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1818 และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 65ปี ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1883 สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดคือปริญญาเอกด้านปรัชญาจากเยอรมัน แล้วมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะถูกเนรเทศออกจากเยอรมันไปอยู่ที่ฝรั่งเศสเนื่องจากเขามักจะเสนอแนวคิดชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคนอยู่เสมอ
      
       ที่ฝรั่งเศสนี่เองที่เขาได้เขียนบทความ ปัญหาชาวยิว(On the Jewish Question) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปลดปล่อยทางการเมือง และที่นี่เองที่ทำให้เขาได้พบกับฟรีดริช เองเกล ผู้ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานไปตลอดชีวิตของเขา
      
       เองเกลทำให้มาร์กซ์หันมาสนใจสถานการณ์ของชนชั้นแรงงานและแนะนำให้มาร์กซ์สนใจเศรษฐศาสตร์ และเมื่ออายุมากขึ้น เขาทั้งคู่ได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) และนอกจากนั้นมาร์กซ์ยังเขียน ความอับจนของปรัชญา (The poverty of philosophy) ซึ่งบทความทั้งสองนี้เองที่เป็นตัววางรากฐานให้กับคำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ที่ถือเป็นผลงานที่โด่งดังของคนทั้งสอง
      
       แนวคิดหลักของคาร์ล มาร์กซ์ วางอยู่บนความเข้าใจเรื่องแรงงาน เขากล่าวไว้ว่า มนุษย์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบข้าง และเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า การใช้แรงงานและพลังในการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า กำลังแรงงานสำหรับเขาแล้ว มาร์กซ์เชื่อว่า การใช้แรงงานนี้นอกจากจะเป็นความสามารถโดยธรรมชาติของกิจกรรมต่างๆแล้ว แรงงานยังเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความคิดและจิตนาการของมนุษย์อีกด้วย
      
       นอกจากนี้ คาร์ล มาร์กซ์ ไม่เชื่อว่าสังคมจะมีกระบวนการจัดระเบียบให้เกิดความสมดุลภายในสังคมด้วยตัวของมันเองได้ และเขายังมองว่าสังคมมีความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดการทำลายตัวมันเอง มาร์กซ์ เชื่อว่า สังคมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของประวัติศาสตร์ที่กำหนดโดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ สังคมศักดินจะเปลี่ยนเป็นสังคมทุนนิยมและถึงที่สุดแล้วสังคมทุนนิยมก็จะกลายเป็นสังคมนิยม...
      
       มาร์กซ์สรุปว่า ปรัชญาคือมันสมองและชนชั้นกรรมาชีพคือหัวใจของการปลดปล่อยมนุษย์ ปรัชญาคือการคิดวิเคราะห์ไปหารากเหง้าของปัญหา ส่วนชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นคู่กรณีโดยตรงกับนายทุนที่กดขี่ จึงเป็นหัวใจของการปฏิวัติทางชนชั้นและการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากระบบที่กดขี่นั้น
      
       แนวความคิดทางด้านสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ ถูกตีความออกมาเป็นสองด้านเสมอค่ะ ทางซีกผู้นำทางโลกตะวันออกอย่างเหมา เจอ ตุง สตาร์ลินหรือ คิม อิล ซุง ต่างก็ออกมาบอกว่าทฤษฎีของมาร์กซ์นั้นศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ใครก็ถกเถียงไม่ได้ อีกทั้งความคิดของมาร์กซ์ก็กลายเป็นเครื่องสนับสนุนอำนาจเผด็จการกดขี่ประชาชนของกลุ่มผู้นำกลุ่มนี้ ชนิดที่มาร์กซ์เองคงนึกไม่ถึง
      
       ส่วนนักคิดฝ่ายทุนนิยมตะวันตก ก็มักจะวาดภาพมาร์กซ์ให้กลายเป็นคนเลว ที่มุ่งทำลายศีลธรรม วัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวง และทฤษฎีของมาร์กซ์นี้จะนำพาโลกไปสู่กลียุค
      
       แม้ว่าคาร์ล มาร์กซ์ จะเป็นคนที่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดกับการแสวงหาวิชาความรู้และแนวคิดต่างๆแล้ว เขายังทุ่มเทความคิดเพื่อรับใช้ชนชั้นกรรมาชีพด้วยความซื่อสัตย์อีกด้วย เพราะเขาเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นคือผู้สร้างสรรค์ผลผลิตอย่างอาหารต่างๆให้คนอื่นกิน ผลิตทุกสิ่งทุกอย่างให้ผู้อื่นได้ใช้
      
       แต่กระนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของคาร์ล มาร์กซ์ ช่างกลับตาลปัตรกับวิธีคิดของเขาอย่างสิ้นเชิง เพราะเขามีชีวิตในระดับชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง มีภรรยาเป็นธิดาเจ้านายตระกูลสูง พักอาศัยอยู่ในย่านผู้ดี มีรสนิยมดื่มเหล้าและบรั่นดีราคาแพง ลูกๆของเขาก็ได้เรียนโรงเรียนชั้นดี และอยู่ในสังคมชั้นสูงอีกด้วย
      
       แนวคิดเรื่องคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ์นั้นถูกนำไปตีความและใช้กันอย่างแพร่หลาย และที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือเขาไม่สนับสนุนระบบทุนนิยม เพราะเขาเชื่อว่าวงจรการเจริญเติบโตแบบทุนนิยมที่สามารถเติบโตแล้วทรุด และเติบโตใหม่ได้นั้น จะก่อให้เกิดภาวะวิกฤตที่เลวร้ายขึ้นไปเรื่อยๆ และแน่นอนมันจะก่อให้เกิดระบบการผลิตแบบใหม่ที่ทนทานต่อวิกฤติการณ์มากกว่าที่ผ่านๆ มา และเขายังเชื่อว่า การเจรจาอย่างสันตินั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การปฏิวัติอย่างรุนแรงของมวลชนขนาดใหญ่ที่มีการจัดการที่ดีต่างหาก ทีเขาคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น
      
       ผู้สนับสนุนแนวคิดของมาร์กซ์ยังเชื่อว่า การวิเคราะห์เกี่ยวกับสินค้าหรือการบริโภคแบบทุนนิยมของมาร์กซ์ยังคงเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ และความแปลกแยกก็ยังเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ พวกเขาเชื่อว่า ระบบทุนนิยมที่มาร์กซ์เฝ้าคัดค้านนั้น ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นอย่างเป็นเอกเทศหรือแยกกันไปตามแต่ละประเทศ หากแต่กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดมาร์กซิสมองว่า ระบบทุนนิยมกำลังอยู่ในระหว่างก่อตัวและกำลังขยายช่องว่างระหว่างคนมั่งมีและคนยากจนให้ถ่างห่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนดังเช่นหลายประเทศในปัจจุบันนี้กำลังประสบอยู่.....
      
       คาร์ล มาร์กซ์ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษและเสียชีวิตที่นั่น... แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปนานแล้ว และแนวคิดระบบสังคมนิยมที่มีผู้อื่นหยิบยืมไปใช้ปกครองผู้คนในแต่ละแห่งที่กระทั่งล้มเหลวกันมาหลายประเทศแล้วก็ตาม...ทฤษฎีต่างๆของบุรุษผู้นี้ ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้วิธีของเขาเสมอ...และก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแนวคิดที่ว่านี้จะเป็นได้แต่เพียงสังคมในอุดมคติเท่านั้น.....
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น