7/19/2554

เราเกลียดชังกันแค่ไหน?!....

ดิฉันกำลังหยิบภาพยนตร์เรื่อง hotel Rwanda ขึ้นมาดูอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ต้องชะงักแล้วหันกลับมาติดตามภาพเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองที่อาศัยอยู่ คืนวันพฤหัสที่ 22 เมษายนบริเวณถนนสีลมของคนกรุงเทพฯ ภาพความรุนแรง คนบาดเจ็บล้มตาย มีให้เราเห็นเจนตาในภาพยนตร์ บางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อมันเป็นเหตุการณ์จริงเช่นนี้ ผู้ชมทีวีจะเผลอคิดว่ามันเป็นเรื่องสมมติหรือไม่

ดังเช่นตอนหนึ่งของภาพยนตร์ hotel Rwanda ที่ตัวเอกของเรื่องกำลังกล่าวขอบคุณช่างภาพข่าวต่างชาติที่นำภาพความโหดร้ายเผยแพร่สู่คนชาติอื่นเพื่อให้ชาติต่างๆเหล่านั้นจะได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่...คำตอบที่เขาได้รับจากช่างภาพผู้นั้นกลับเป็นใบหน้าที่แฝงไว้ด้วยความละอายพร้อมคำตอบว่า เมื่อภาพนั้นเผยแพร่ออกไปผู้ชมก็อาจจะบอกแค่...คุณพระช่วย น่ากลัวเหลือเกิน แล้วพวกเขาก็กินมื้อค่ำกันต่อไป...


หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงพอจำฉากเปิดเรื่องได้บ้าง ภาพจอดำที่มีเพียงเสียงพูดของใครสักคนหนึ่งทึ่อุปมาได้ว่าเป็นชาวฮูตูที่เกลียดชังชาวทุทซี่อย่างถึงที่สุดขนาดว่าหากใครถามว่าเหตุใดจึงเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามนักก็จะได้รับคำตอบว่า “ไปตายซะ” เพราะผู้เล่านั้นเชื่อเหลือเกินว่า ชาวทุทซี่ร่วมมือกับ ใครสักคนเพื่อดินแดนอาณานิคม และเขาก็เชื่อว่า พวกมันแย่งดินแดนฮูตูของเขาไปและทำให้เขาอ่อนแอและตอนนี้ทุทซี่กลับมาแล้วและจงเกลียดชังมันดุงดั่งแมลงสาบ รวันดาเป็นดินแดนของฮูตู ทุทซี่เป็นเพียงผู้อาศัยที่เป็นกบฏและผู้บุกรุก ดังนั้น ฮูตูจึงมีความชอบธรรมที่จะทำลายมันให้ย่อยยับและกวาดล้างพวกมันให้หมด....พร้อมเสียงประกาศ จงระวังเพื่อนบ้านของคุณ!

สงครามกลางเมืองที่รวันดาเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 6 เมษายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปี1994 ค่ะ เหตุการณ์ที่ว่านี้เป็นเรื่องของชนพื้นเมืองชาวทุทซี่ (tutsi) และชนพื้นเมืองชาวฮูตู (hutu)  ถูกสังหารหมู่ไปประมาณล้านกว่าคนในประเทศรวันดา โดยกลุ่มผู้กระทำการสังหารหมู่คือ กลุ่มอินเตราฮัมเวinterahamwe  หรือทหารบ้านหัวรุนแรงชาวฮูตู และกลุ่มอิมปูซูมูกัมบิ impuzamugambi โดย สองกลุ่มนี้เป็นผู้สังหารหมู่คนส่วนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว

สาธารณรัฐรวันดา repunlic of Rwanda เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลค่ะ แต่กลับอยู่คิดกับทะเลสาบเกรต เลค ทางตะวันออกของประเทศ รวันดาเป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน มีอาณาเขตติดต่อกับยูกันดาทางเหนือ และบุรุนดีทางตอนใต้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้รับสมญาจากเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างเบลเยี่ยม ว่า เป็นดินแดนแห่งเขาพันลูก pays des mille collines นอกจากนี้รวันดายังถือเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในแอฟริกาและเหตุการณ์ที่ทำให้รวันดาโด่งดังในระดับสากลก็คือสงครามกลางเมืองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี่ล่ะค่ะ

เรื่องที่บ่มเพาะความเกลียดชังนั้นของคนทั้งสองเผ่าพันธุ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองค่ะ  รวันดาเป็นดินแดนที่มีเผ่าฮูตูเป็นชนพื้นเมืองและเผ่าทุทซี่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากเอธิโอเปียซึ่งรวันดาขณะนั้นตกเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยม ในระหว่างการปกครองรวันดา เบลเยี่ยมกลับไปให้อำนาจทางเมืองและสังคมแก่เผ่าทุทซี่มากกว่าฮูตู ถึงขนาดกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรในบัตรประชาชน อีกทั้งเมื่อรัฐบาลทุทซี่บริหารประเทศก็กดขี่ฮูตูให้เดือนร้อน ยากแค้น จนกระทั่งก่อการปฏิวัติเพื่อต่อต้านอำนาจของเบลเยี่ยมและเผ่าทุทซี่ และครั้งนั้น ฮูตูประสบชัยชนะ และทุทซี่จำนวนมากต้องลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่อูกันดาและตั้งกลุ่มกองกำลังแนวหน้ารักชาติรวันดา RPF ขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจชาวเผ่าฮูตู

ย้อนเหตุการณ์นี้กันสักหน่อยนะคะ แรกเริ่มสหประชาชาติได้เริ่มต้นภารกิจให้การช่วยเหลือรวันดาในเดือนตุลาคมปี1993 เพื่อช่วยลดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลรวันดา กับกลุ่มกบฎ
ข้อตกลงสันติภาพอะรูซา Arusha accords หรือ Arusha peace Agreement ได้ถูกลงนามเมื่อ
วันที่ 4 สิงหาคมปี 1993 และสหประชาติได้ประกาศให้ภารกิจที่ว่านี้สิ้นสุดลงในปี 1996

ก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองที่ว่านี้ สหประชาชาติไม่อนุญาตให้ UNAMIR  เข้าทำการแทรกแซงหรือใช้กำลังในระยะเวลาที่เร็วหรือมีประสิทธิภาพพอที่จะยับยั้งการสังหารหมู่ในรวันดา สิ่งที่พวกเขาทำได้เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงตรงหน้าคือยิงหมาที่มาแทะศพ!  นโยบายของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีข้อจำกัดทางกระบวนการและขั้นตอนหลายอย่าง จึงเป็นเหตุให้สหประชาชาติล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากประธานธิบดีของรัฐบาลฮูตูที่เลือกเจรจาสันติภาพกับชาวรวันดาเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างเผ่าถูกลอบสังหาร กล่าวกันว่าอาจมีสาเหตุมาจากทางเลือกของประธานาธิบดีผู้นี้ไม่ถูกใจคนใหญ่คนโตในรัฐบาล และหลังจากนั้นเมืองคิกาลิในรวันดาก็ชุ่มโชกไปด้วยคาวเลือดและร่างไร้วิญญาณ

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ยุติได้เมื่อกลุ่มกบฏชาวทุทซี่ภายใต้ชื่อ แนวร่วมผู้รักชาติชาวรวันดา Rwandan Patriotic Front –RPF ผู้ก่อตั้งคือพอล คากาเม ได้ล้มล้างรัฐบาลฮูตูและเข้ายึดอำนาจ หลังจากนั้นชาวฮูตูผู้พ่ายก็พากันอพยพหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไซเรียหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน เพื่อหลบหนีและหวาดกลัวการกวาดล้างของทุทซี่

เรื่องไม่ได้จบแค่นั้นค่ะ เพราะความเกลียดชังยังบ่มเพาะในใจผู้คนไม่ว่าฝ่ายไหนชนะหรือแพ้ พวกเขารอวันแก้แค้นจึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามคองโกอีกสองครั้งและปะทุเป็นสงครามกลางเมืองที่ประเทศบุรุนดีครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2005

รวันดาเองแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วถึงสามรอบ แต่ความเคียดแค้นชิงชังยังฝังตัวอยู่ มีการดำเนินการจับกุมผู้บงการสังหารโหดในครั้งนั้นกระทั่งปัจจุบันก็ยังสืบคดีกันไม่จบมีการประกาศให้ชาวรวันดา 1 ล้านคนต้องขึ้นศาลทีละคนเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้  ชาวทุทซี่หลายคนยังมีความเชื่อว่าตัวเองจะปลอดภัยเมื่อปราบฮูตูให้ราบคาบ อีกทั้งเศรษฐกิจและสังคมของรวันดาก็ประสบปัญหาอย่างหนักถึงขนาดถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดอันดับ 3 ของโลก

ย้อนกลับมาดูแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ ก็ได้แต่สะท้อนใจ ภาพเหตุการณ์หลายๆเรื่อง ช่างคล้ายกับภาพยนตร์หรือแม้กระทั่งข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศรวันดาเสียจริง ความเคียดแค้นชิงชังที่พวกเรากำลังบ่มเพาะ ขึ้นมาอย่างช้าๆ จะก่อให้เกิดความรุนแรงที่มากกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือไม่... ความเฉยชาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ละเลยต่อการป้องกันความสงบของชาติ ...เรากำลังใกล้จะถึงจุดเดือดนั้นหรือหรือว่าเรากำลังจะตายด้านกับทุกสิ่ง?!”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น