7/19/2554

มารี อังตัวแนต ราชินีใจบาปหรือเพียงเหยื่อของสังคม...

       
       เสียงโห่ร้องกึกก้องไปทั้งห้องฉายภาพยนตร์ Marie Antoinette ที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มเมื่อปี 2006 ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝีมือการกำกับของ Sophia Coppola ที่คาดการณ์ไว้แล้วว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับการตอบรับเช่นนี้ที่ประเทศฝรั่งเศส!!
      
       เพราะการเสนอมุมมองใหม่ถึงชีวิตของผู้หญิงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวและพยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ในโลกที่เธอเองก็ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ซ้ำยังไม่คาดฝันว่าจะได้เข้ามาสัมผัสมัน... ถูกนำมาฉายเป็นภาพของราชินีในราชสำนักฝรั่งเศสองค์นี้ มารี อังตัวเนต
      
       ....ราชินีใจบาป ภรรยาที่คบชู้สู่ชาย นางปีศาจ มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย นังผู้หญิงออสเตรีย...ต่างๆ เหล่านี้คือคำเรียกขาน พระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงองค์เล็กแห่งออสเตรียที่ต้องจากแผ่นดินเกิดของตัวเองมาเข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 14 ปี....
      
       มารี อังตัวเนตกลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก ที่รู้จักกันดีในโชคชะตาของพระนางที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกีโยติน ในปี 1793 ....
      
Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen
มาเรีย อันทัวเนีย โจเซฟฟ่า โยฮันน่า ฟอน ฮับสบวก - โลธริงเง่น    

 มารี อังตัวเนต โฌเซฟ โยฮฌานน์ วอน ฮับส์บวร์ก ลอแรนน์ ( Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen) อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 1755 พระนางเติบโตภายใต้การดูแลอย่างสบายๆ ง่ายๆ ไม่เข้มงวดเท่าราชินิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ตลอดเวลาพระนางได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ใดๆ เรียกได้ว่า แทบจะคล้ายกับวิถีชีวิตของสามัญชน....
      
       ด้วยวัยเพียง 13 ชันษา พระนางถูกกำหนดให้เตรียมพร้อมในการเข้าพิธีอภิเษกสมรส ด้วยการหัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับคีตกวีชื่อดัง รวมทั้งเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสด้วย และหลังจากนั้นในปี 1769 พระนางมารี ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส ทั้งนี้ก็เพื่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่แผ่นดินของพระนางเอง โดยวันแรกที่ก้าวข้ามแผ่นดินเกิด พระนางก็ถูกเรียกขานจากคนอีกฟากฝั่งทันทีว่า.... ผู้หญิงออสเตรีย....
      
       ทันทีที่ก้าวข้ามแผ่นดิน พระนางมารี ต้องประสบกับชะตากรรมที่ใครก็ไม่อยากเผชิญ การปรับตัวเข้ากับพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมแบบฝรั่งเศส การถูกปฏิเสธจากสวามีของตัวเองเป็นเวลาหลายปี ทำให้พระนางมีปฏิกิริยาในด้านตรงข้ามกับจารีตที่กุลสตรีชั้นสูงในราชสำนักควรจะเป็น
      
       หลังจากพระนางได้ขึ้นครองบัลลังค์คู่กับพระสวามีกลายเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสในปี 1774 แล้ว พระนางมารี อังตัวเนตก็ปฏิเสธขนบเดิมทุกประการ ที่ราชินิกุลควรจะเป็น ไม่ว่าการเป็นพระชายาที่ดี เป็นพระมารดาที่ดี และเป็นคาทอลิคที่ดี พระนางกลับทำในด้านตรงข้ามนั้นสิ้น!!
      
       พระนางกลายเป็นราชินีที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง เป็นหนึ่งในผู้ใฝ่อิสรภาพและเสรีภาพ มีความกระหายอยากในความสุขอย่างท่วมท้น และพระนางคือผู้นำแฟชั่นของยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ...ต่างๆ เหล่านี้ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระนางประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่อย่างสิ้นเชิง
      
       ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ประกอบกับความเป็น คนนอกไม่ใช่คนของแผ่นดินฝรั่งเศส พระนางจึงถูกต่อต้านมาตลอด แต่...พระนางก็ไม่เคยยี่หระกับคนรอบข้างเช่นนั้น โดยพระนางพยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีตามอำเภอใจของตน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมแต่ประการใด....
      
       กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนาง ได้รวมตัวกันมาตั้งแต่พระนางขึ้นสู่ราชบัลลังค์ มีการโจมตีด้วยข่าวคาว ของการคบชู้สู่ชายไม่ว่าจะกับหญิงหรือชาย พระนางถูกกล่าวหาทั้งสิ้น อีกทั้งมีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่าย เพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายหนุนหลังให้ออสเตรียแผ่นดินเกิดของตัวเอง
      
       เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระนางก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเหตุให้พระนางเดินทางมาถึงจุดจบแห่งชีวิตตัวเอง ซึ่งระหว่างที่ประชาชนฝรั่งเศสอดอยากยากแค้น ก็มีข่าวแพร่สะพัดตลอดเวลาว่า พระนางกลับถลุงเงินหลวงอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งใด
      
       เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1789 ขบวนประท้วงของสตรีเดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปังให้กับครอบครัวตัวเอง พระนางกลับกล่าววลีที่บาดลึกลงไปในใจของใครหลายคน ที่ขณะรายงานว่าประชาชนของแผ่นดินไม่มีขนมปังกิน พระนางกลับตอบไปว่า ให้พวกเขากินเค้กสิ’ ....ราวกับน้ำผึ้งหยดเดียว.....
      
       ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนลุกฮือติดอาวุธที่มีเพียงหอกและมีด บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารม้าตามอารักษ์ขา แต่ระหว่างทางก็ยังมีผู้เรียกร้องยื่นเชือกเส้นหนึ่งให้พระนางทอดพระเนตรว่า จะใช้แขวนคอพระนางกับเสาโคมในกรุงปารีส
      
       เรื่องราวชีวประวัติของพระนางมารีนั้น มีหลายหลากแง่มุม และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอย่างยากจะแยกจากกัน ประวัติชีวิตของพระนางถูกนำมาสร้างเป็นบทละคร เป็นภาพยนตร์และหนังสือหลากเล่มหลายนักเขียน และต่างมุมมอง
      
       แต่สำหรับตัวดิฉันเองแล้ว มองว่า มารี อังตัวเนตเป็นราชินีผู้มีความซับซ้อน ในยุคสมัยที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทางการเมือง แม้ว่าใครจะเรียกขานพระนางอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นราชินีผู้งดงาม และบอบบางราวกับฟองสบู่ นางผู้มีกลิ่นหอมหวน เต็มไปด้วยความสง่างาม ความสดใสของการมีชีวิต และผู้นำรสนิยมแบบฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 หรือแม้กระทั่งจะให้พระนางเป็นราชินีผู้เลวทราม ผู้หญิงชั่วช้า ผู้คบคิดกับต่างชาติเพื่อทำลายแผ่นดินฝรั่งเศสและกลายเป็นผู้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐ....
      
       บั้นปลายชีวิตพระนางมารี อังตัวเนตถูกลดฐานะลงมาเหลือเพียง แม่ม่าย capet และต้องโทษประหารชีวิต ด้วยเครื่องกีโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม 1793 ณ จัตุรัส revolution ณ กรุงปารีส ด้วยวัย 37 ปี เพียงชั่วข้ามคืนจากผมสีทองบลอนซ์ก็กลายเป็นสีขาวในบัดดล จากเด็กสาวผู้อ่อนด้อยประสบการณ์โลก กลายเป็นหญิงชั่วที่ปั่นป่วนขนบแห่งแวร์ซาย เพียงเพื่อหลีกหนีความเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวเอง ทำให้พระนางต้องพบจุดจบเช่นนี้ ในเวลา เที่ยงสิบห้านาที ศีรษะของพระนางก็หลุดออกจากบ่า ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของฝูงชน.........


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น