7/19/2554

คุณเป็นคน...ประเภทไหน ??

เป็นคนประเภทไหน?...ถามแบบนี้คงคิดว่ากำลังจะกวนอารมณ์ให้ขุ่นกันหรือเปล่า ไม่ใช่หรอกนะคะ เพราะวันนี้นึกถึงนักจิตวิทยาคนนี้ที่หลายคนยกย่องให้เขาได้เป็นบิดาให้วงการจิตวิทยาเลยทีเดียว ซิกมุน ฟรอยด์ค่ะ (Sigmund Freud)...
      
       ถ้าจะมองถึงงานที่เด่นที่สุดของฟรอยด์ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการวิเคราะห์คนจากเรื่องเพศ นะคะแน่นอนว่าในสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ ฟรอยด์ก็ถูกโจมตีในทฤษฎีของเขาอย่างรุนแรงทีเดียว
       หากเราจะย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลนักปรัชญาของโลกนาม โซคราติสเคยกล่าวไว้ว่า จงรู้จักตัวเอง”....นั่น นับเป็นการเปิดมุมมองในการพิจารณาตัวเองของมนุษย์แต่ให้มองผ่านแว่นที่มีแต่ความดีงาม
      
       ครั้นมาถึงยุคสมัยของซิกมุน ฟรอยด์ เขาได้เปิดด้านมืดที่พาเราๆ ท่านๆ ไปพบกับด้านอัปลักษณ์ของจิต เป็นด้านที่คนส่วนใหญ่ไม่พึงปรารถนาจะพบเจอ ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่เกิด พฤติกรรมของคนเรานั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้เรามีพฤติกรรม คือสัญชาตญาณทางเพศ และการเก็บกดอารมณ์ทางเพศในวัยเด็กจะส่งผลต่อความผิดปกติทางจิตใจของมนุษย์เราเมื่อเติบโตขึ้น....
      
       ซิกมุน ซาโลมอน ฟรอยด์ เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคน ปี 1856 และเป็นชาวออสเตรียเชื้อสายยิว และเสียชีวิตในปี 1939 ด้วยอายุ 83 ปี เขามาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนา ส่วนตัวของเขาเองเป็นคนรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ช่วงวัยรุ่นเขามีความโดดเด่นในการเรียนกฎหมายและเรียงความ ฟรอยด์เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบผลงานของเกอร์เต้ และชอบทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน
      
       แต่กลับสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก กระทั่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งเวียนนาในสาขาวิทยาศาสตร์ และไปเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์กระทั่งสำเร็จและได้ทำงานที่สถาบันวิจัยสรีรศาสตร์ เพื่อศึกษาวิชาประสาทวิทยา ที่นั่นเขามีผลงานวิจัยออกมามากมายกระทั่งได้รับคัดเลือกให้ไปดูงานที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้คำแนะนำของ ชอง มาแตง ชาร์โกต์ ผู้เป็นแพทย์สาขาประสาทวิทยาชื่อดัง โดยเฉพาะโรคฮีสทีเรีย Hysteria
      
       ที่นี่เองที่ทำให้ฟรอยด์ค้นพบว่า จิตใจมีอำนาจเหนือร่างกาย เนื่องจากเขาพบว่าผู้ป่วยบางรายเป็นอัมพาตเพราะจิตใจสั่งให้เป็น ดังนั้น เขาจึงเริ่มต้นการรักษาตามแบบฉบับของตัวเอง ด้วยการให้ผู้ป่วยถูกสะกดจิตเข้าสู่ภวังค์ จากนั้นจึงค่อยให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามหาวิธีให้คนป่วยเข้าใจถึงเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อลดความขัดแย้งในใจของตัวเอง...
      
       ฟรอยด์เคยเขียนไว้ในหนังสือ Interpretation of Dreams ว่า ...ในความฝันคนเราสามารถประนอมข้อขัดแย้งของตัวเองและเปิดโอกาสให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหลายอุบัติขึ้นมาได้ รวมทั้งไม่ใส่ใจต่อข้อเท็จจริงที่เรารู้อยู่ในชีวิตประจำวันและเปิดเผยให้เราได้เห็นว่า ตัวเรานั้นด้านชาต่อจริยะและศีลธรรมมากน้อยเพียงใด...
      
       อีกหนึ่งทฤษฎีของซิกมุน ฟรอยด์ที่กลายเป็นบทเรียนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็คือเรื่องของจิตใต้สำนึกที่เขาได้แบ่งบุคลลิกภาพของคนออกเป็น 3 ประการคือ.. Id, Ego และ Superego
      
       โครงสร้างทั้งสามบุคลิกนั้นว่าด้วย เบื้องต้นหรืออิดId ซึ่งเป็นพลังอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เช่น รัก โลภ โกรธ หลง หรือเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณดิบของคนเรานั่นเอง ซึ่งหากว่าคนเรามีอิด มากเกินไปอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้
      
       ในขณะที่ซุปเปอร์อีโก จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการเรียนรู้ค่านิยมต่างๆ เช่น ความดี ความชั่ว มโนธรรม ซึ่งเป็นพลังในส่วนดีของจิตมนุษย์ที่จะคอยหักล้างกับพลังอิด
      
       เพราะในระหว่างความสุดขั้วของอิดและซุปเปอร์อีโกนั้น จะมี อีโกอยู่ระหว่างกลางคอยทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนเราแสดงสัญชาตญาณดิบออกมามากเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้คนเราแสดงออกซึ่งมโนธรรมเพียงอย่างเดียวเช่นกัน....
      
       นอกจากทฤษฎีดังกล่าวแล้ว ฟรอยด์ยังโดดเด่นในด้านการวิเคราะห์ความฝัน เพราะเขาได้ค้นพบทฤษฎีและวิธีแปลความฝันในเชิงจิตวิทยา เขาเคยพูดไว้ว่า ความฝันคือถนนสายตรงสู่จิตไร้สำนึก ฝันจึงเป็นทั้งตัวปรารถนาและตัวระบาย ความขัดแย้งความคับข้องใจทั้งปวง
      
       มีคำพูดหนึ่งที่กระทบใจดิฉันมาก ซึ่งซิกมุน ฟรอยด์ได้เคยกล่าวไว้ก็คือ ประโยคที่ว่า ขณะที่มนุษย์เราคิดว่า รู้จักจิตใจตัวเองอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ...ทั้งยังคิดว่าตัวเองเป็นนายของจิตที่เปี่ยมไปด้วยมโนธรรมอย่างที่สุด...แท้จริงแล้ว ยังมีด้านมืดที่เต็มไปด้วยความขุ่นขลักที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตของเรา...โดยที่เราต่างก็ไม่รู้ตัว....
      
       ใช่ค่ะ บางครั้งตะกอนที่มันนอนก้นอยู่ในใจของใครหลายคน เจ้าของใจนั้นก็ไม่อาจจะรู้ได้ จนกระทั่งมีใครสักคนที่กวนตะกอนนั้นให้ขุ่นขึ้นมา คล้ายเป็นสัญญาณให้เราสังวรว่า แท้จริงแล้ว เราก็เป็นเพียงมนุษย์ที่มีรักโลภ โกรธ หลง ขึ้นอยู่ว่า ในแต่ละช่วงของจังหวะชีวิต เราจะให้สัญชาตญาณไหน บังคับความคิดของเราที่แสดงออกในสาธารณะ ....และ เราอยากจะเป็นคนแบบไหน ในสายตาของคนอื่นๆ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น