7/19/2554

ครั้งเดียวก็เกินพอ...เอาส์ชวิทซ์

คำที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ เพิ่งจะประจักษ์แก่ดิฉันก็เมื่อครั้งที่ได้ไปเยือน พิพิธภัณท์ค่ายกักกันชาวยิว เอาส์ชวิทซ์ เบอร์เคเนาน์ (Auschwitz Birkenau)  ที่ประเทศโปแลนด์ นี่เองค่ะ

ที่นี่ได้รับการประกาศจากสหประชาชาติให้เป็นมรดกโลกทางด้านประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1979 และถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณท์โดยรัฐบาลโปแลนด์เมื่อปี 1947 หลังจากกองทัพแดงของรัสเซียบุกเข้ายึดและช่วยเหลือเชลยศึกชาวยิวที่ยังพอมีชีวิตรอดในวันที่ 27 มกราคม  1945  และถือเป็นค่ายกักกันของนาซีที่ใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่ถึง 191 เฮกเตอร์ (30.80ไร่) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ โดยจุดประสงค์แรกของการตั้งค่ายนี้ขึ้นมาในปี 1940 เพื่อเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมืองชาวโปลิช หลังจากที่กองทัพนาซีเคลื่อนพลเข้ามาครอบครองโปแลนด์ พร้อมการประกาศสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้สำเร็จ

ต่อมามีการขยายพื้นที่ออกไปให้ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งมีที่คุมขังอยู่ 3 แดน คือ เอาส์ชวิตซ์ 1 เอาส์ชวิตซ์ 2 และเบอร์เคเนาน์ และ เอาส์ชวิตซ์ 3และโคโนวิตซ์  นอกจากนั้นยังมีค่ายกักกันย่อยในเครือเดียวกันอีก 40 แห่ง

จากเริ่มต้นที่ใช้พื้นที่นี้ เพื่อคุมขังนักโทษการเมืองชาวโปลิชเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป กองทัพนาซีก็เริ่มทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่กักกันผู้คนจากทั่วทั้งยุโรปที่มีเชื้อชาติยิว ไม่ว่าจะเป็นคนจากโซเวียต ยูโกสลาเวีย ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมัน โรมาเนีย และแน่นอนชาวยิวจากโปแลนด์ และเปลี่ยนชื่อจาก Oswiecim มาเป็น Auschwitz ออกเสียงตามภาษาเยอรมัน

กระทั่งในปี 1942 เอาส์ชวิตซ์กลายเป็นสถานที่ทำลายล้างชาวยิวในยุโรปที่ใหญ่ที่สุด โดยการสังหารที่เลื่องลือกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็คือ การเข้าห้องรมแก๊สพิษ ทันทีที่เหยื่อเดินทางมาถึง โดยไม่มีการลงทะเบียนรายชื่อหรือนับจำนวนเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน
ซึ่งทุกวันนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ถึงจำนวนของเหยื่อที่ถูกสังหารโหดในครั้งนั้นว่า อยู่ในจำนวนใดที่แน่นอน...แต่ที่แน่ๆ...นับล้าน ล้านคนแน่นอน ค่ะ

ในหนังสือคู่มือนำชมเอาส์ชวิตซ์ ได้พูดถึงปี 1942 ว่า เอาส์ชวิตซ์กลายเป็นสถานที่สังหารหมู่ที่ใหญ่ที่สุด โดยเหยื่อกลุ่มแรกที่มาถึงนั้น เดินทางมาจากสโลวาเกีย และฝรั่งเศส หลังจากนั้นเป็นคนจากเบลเยี่ยมและฮอลแลนด์และในฤดูถัดมาก็เป็นคราวของชาวเยอรมันและนอร์เวย์ ลิทัวเนีย และสุดท้ายก็เป็นผู้คนจากทั่วทั้งทวีปยุโรป.....

จากหนังสือโหยหาสันติภาพ ฉบับภาษาไทยที่ถอดความจากบันทึกลับเรื่อง Five  Chimneys ที่เขียนโดยแพทย์หญิง โอลกา เลงเยล (Olga Lengyel) นั้น ทำให้เราย้อนรำลึกเหตุการณ์ต่างๆ ได้ราวกับเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสมัย แห่งความโหดร้ายนั้น

ความตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เล่าถึงความโหดร้ายของนาซี ที่เธอต้องสูญเสียลูกชายทั้งสองรวมทั้งพ่อและแม่ของตัวเอง ไปตั้งแต่แรกที่เดินทางมาถึงค่ายกักกันแห่งนี้... สิ่งเดียวที่ทำให้เธอมีความหวังจะมีชีวิตรอดต่อไปคือ หาสามีของตัวเองที่เป็นแพทย์เช่นเดียวกันให้พบและอยู่เพื่อเป็นสายลับต่อต้านนาซี!!...
ในบันทึกของแพทย์โอลกาได้เล่าว่าระยะแรกผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตในค่านเบอร์เคเนาน์ จะถูกนำตัวไปยิงทิ้งที่ป่าแบรซินสกี หรือไม่ก็ถูกนำตัวเข้า บ้านสีขาว ซึ่งก็คือ ห้องรมแก๊สพิษนั่นเอง..

ต่อมาหลังจากปี 1941 มีการสร้างเตาเผาศพขนาดใหญ่จำนวน 4 เตา เพื่อใช้เผานักโทษประหาร โดยเตาเผาแต่ละเตานั้นมีช่องเปิดปิดขนาดใหญ่ถึง 120 ช่อง แต่ละ
ช่องบรรจุศพได้ 3 ศพ  นั่นหมายความว่าทุกครึ่งชั่วโมงสามารถเผาศพได้มากถึง 360 ศพ และแน่นอนว่า เตาเผานี้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง.....

แม้กระนั้นก็ตามเตาเผาศพขนาดใหญ่ที่ว่านี้ก็ยังทำงานไม่ทัน บางครั้งถึงกับต้องนำร่างไร้วิญญาณไปเผาที่ หลุมเผาศพ ที่มีลักษณะเป็นหลุมยาวประมาณ 60 หลา กว้าง 40 หลา...เพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือนที่คุณหมอโอลกาบันทึกไว้ถึงจำนวนผู้ถูกเผาระหว่างเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม ปี 1944 มีมากถึง 1,314,000 คน

ลองนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น หลายคนถูกพามาที่ค่ายเอาส์ชวิตซ์แบบไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกพามาที่นี่ สภาพห้องบรรทุกมนุษย์ล้อเหล็กที่แล่นมาตามราง จอดสนิทตรงหน้าแคมป์ จากนั้นวงดนตรีออร์เคสตราบรรแลงต้อนรับ ทั้งที่นักดนตรีผู้บรรเลงนั้นก็สวมใส่เสื้อผ้าที่สุดแสนจะซ่อมซ่อ ร่างกายซูบผอม...

ผู้มาใหม่ถูกคัดเลือกโดยเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอส ของนาซี ให้ใครอยู่ฟากซ้าย หรือใครควรจะไปอยู่ฟากขวา... แน่นอน มันคือการชี้ชะตาชีวิตของมนุษย์ ณ เวลานั้น
ชะตากรรมของผู้ไปทางซ้ายคือห้องอาบน้ำและบ้านสีขาว...ส่วนผู้อยู่ซีกขวา คือผู้ต้องผจญต่อชะตากรรมที่สุดแสนจะทรมานในค่ายกักกันนี่ต่อไป...

ผู้ไปทางซ้ายจะถูกนำตัวไปที่อุโมงค์ใต้ดินที่เรียกกันว่า Local b ที่มีลักษณะเหมือนห้องอาบน้ำ จุคนได้กว่าสองพันคน เมื่อไปถึงผู้อำนวยการห้องในชุดขาวจะแจกผ้าเช็ดตัวคนละผืนและสบู่สำหรับอาบน้ำ เมื่อทุกคนถอดเสื้อผ้าออกหมดและเดินเข้าสู่ห้องอาบน้ำอย่างไม่รู้ว่า ความตายกำลังรอพวกเข้าอยู่เบื้องหน้า

อุณหภูมิห้องเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อากาศภายในห้องเริ่มไม่พอจะหายใจ บนเพดานห้องมีช่องสี่เหลี่ยมที่ปล่อยก๊าซพิษด้วยกระบอกฉีดไซโคลนบี Cyclon- B ออกมา บางคนยังไม่สิ้นใจสนิท ก็จะถูกนำร่างเข้าสู่เตาเผาศพ ถือเป็นการปิดฉากชีวิตเชลยสงคราม.....

ส่วนผู้ที่ไปทางขวานั้นเล่า...ชีวิตของเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิดหวัง...ทุกคนถูกเปลี่ยนเสื้อผ้าให้สวมชุดที่ดูเก่าและขาดมากที่สุด รองเท้าก็แทบไม่มีสวมใส่...ต้องทำงานหนักตลอดวัน...อาหารที่ได้รับไม่ต้องพูดถึงหลักโภชนาการเพราะไม่สามารถเปรียบเทียบได้...แค่ มีชีวิตรอดเพื่อเห็นแสงตะวันอีกวันหนึ่งก็ถือว่าดีแล้ว....

ความทุกข์ทรมานที่นาซีทำกับเชลยชาวยิวชาติต่างๆ นั้นเหลือคณานับ นับตั้งแต่นำร่างของพวกเขาเหล่านั้นเป็นตัวทดลองยาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กแฝด คนแคระ และผู้หญิง.....

ปัจจุบันแม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดและนาซีเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามไปแล้วก็ตาม...แต่ร่องรอยของซากแห่งความสูญเสียนี้ยังมีให้เห็นกันอยู่ค่ะและแม้ว่ารัฐบาลโปแลนด์จะจัดให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำเพื่อเตือนให้ทุกผู้คนบนโลกใบนี้ตระหนักถึงความเลวร้ายของสงคราม ความสูญเสียที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง..แต่...ก็ยังมีคนบางพวกบางเหล่า ที่ฝักใฝ่และกระหายสงครามอยู่ร่ำไปนะคะ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น