7/19/2554

Mercedes sosa ศิลปินต้านเผด็จการ...

ดิฉันไม่เคยฟังหรือรู้จักศิลปินผู้นี้มาก่อนเลยค่ะ กระทั่งไปเจอซีดีเพลงของเธอโดยบังเอิญและซื้อมาเพราะชอบใจหน้าปก เปิดฟังแล้วก็ใช่จะรู้ความหมาย เพราะน้ำเสียงที่เธอเปล่งออกมานั้นล้วนเป็นภาษาสเปน แต่ด้วยท่วงทำนองที่ฟังแล้วคล้ายมีอะไร จึงทำให้ดิฉันลองค้นชื่อของเธอดูค่ะ
เมอร์เซเดส โซซ่า Mercedes sosa ศิลปินชาวอาร์เจนตินา นักร้องเพลงพื้นบ้านผู้โด่งดัง เธอได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคอเมริกาใต้มากกว่า 40 ปี เธอเกิดและเติบโตจากครอบครัวยากจนในชนชั้นแรงงานทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปี 1935

และด้วยวัยเพียง 15 ปีเธอชนะการประกวดร้องเพลงที่จัดขึ้นโดยสถานีวิทยุท้องถิ่นและมีพันธะขับขานบทเพลงอีกสองเดือนในปี 1950 ต่อมาเธอได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกในปี 1959 ในอัลบั้มชุด ‘ La Voz de la Zafra’ หลังจากนั้นในช่วงระหว่างปี 1960 – 1970 โซซ่าได้ร่วมก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหว Nuevo Can cionero หรือ New Song ที่รณรงค์ให้ดนตรีพื้นเมืองเป็นเครื่องมือต่อสู้ในทางการเมืองและนอกจากนั้นเธอยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอาร์เจนตินาอีกด้วย

แม้จะเป็นผู้หญิงแต่เธอก็ไม่เคยหวั่นกลัวอำนาจเผด็จการ เธอมีความขัดแย้งกับรัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินานับตั้งแต่ปี 1976 ที่รัฐบาลทหารมีอำนาจอย่างรวดเร็วและปกครองอย่างกดขี่  โซซ่าถูกจับขณะกำลังแสดงคอนเสิร์ตที่ La Plata ในปี 1979 ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้บันทึกเสียงผลงานเพลงของตัวเองและห้ามทำการแสดงในแผ่นดินเกิดของตัวเอง ในที่สุดโซซ่าตัดสินใจลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่ปารีสและต่อมาที่กรุงมาดริด

เมอร์เซเดส โซซ่า ได้กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองอีกครั้งหนึ่งในปี 1982 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลทหารถูกโค่นจากอำนาจในระหว่างเกิดสงครามโฟล์คแลนด์ เธอกลับมาแสดงคอนเสิร์ตที่อาร์เจนตินาพร้อมๆกับเชื้อเชิญคนรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมแสดงกับเธอด้วย

โซซาถือเป็นนักร้องหญิงขวัญใจชนชั้นกรรมาชีพของอาร์เจนตินาเลยทีเดียว เสียงร้องของเธอเป็นแรงใจให้นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศในถิ่นละตินอเมริกาหลายคน  เพราะในระหว่างยุค 70 หลายประเทศในแถบถิ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี ต่างก็ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการแทบทั้งสิ้น แม้เธอจะไม่ใช่ผู้เขียนเพลงเอง แต่แก้วเสียงของเธอนั้นก้องกังวานและถ่ายทอดบทเพลงเพื่อการต่อสู้ได้อย่างจับใจและเธอเลือกร้องเพลงที่มีความหมายต่อผู้คนทั่วไปที่รักเสรีภาพ

อย่างเช่นเพลง Gracias a la vida หรือ  thanks to life  ที่นักแต่งเพลงชาวชิลีเขียนขึ้นมานั้น ถูกเธอนำมาขับร้องและกลายเป็นเพลงที่มีความหมายต่อผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก กระทั่งมีนักร้องคนอื่นๆ นำมาร้องอีกหลายกระทั่งไม่เว้นแม้กระทั่ง โจน บาเอซ

นอกจากโซซาจะเป็นด้านตรงข้ามกับเผด็จการทหารแล้ว เธอยังทำหน้าที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีของอาร์เจนตินาถึงสองสมัย และด้วยความที่เธอเกิดในชนชั้นแรงงานและกลายมาเป็นศิลปินมีชื่อเช่นนี้ เธอจึงกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญคนหนึ่ง กระทั่งได้ฉายาว่าเป็น ตัวแทนของคนส่วนใหญ่ที่เงียบงัน  นอกจากนี้ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเธอเป็นนักต่อสู้เพื่อคนยากจนและเธอต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอาร์เจนจินา

โซซา รับหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน ตั้งแต่ปี 2003 กระทั่งสุขภาพไม่อำนวยเธอป่วยเป็นโรคไตและเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2009 ขณะที่มีอายุได้ 74 ปี ที่โรงพยาบาลในกรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ตลอดช่วงชีวิตของเมอร์เซเดส โซซ่า เธอผลิตผลงานเพลงออกมาทั้งสิ้น 40 ชุดและยังเคยร่วมงานกับนักดนตรีมีชื่อเสียงหลายคนเช่น ลูเซียโน ปาวารอตติ เป็นต้น และเธอยังได้รับรางวัลมากมายไม่ว่าจะเป็นlatin grammy awards สาขาดนตรีพื้นเมืองตั้งแต่ปี 2000,2003 ,2006และสุดท้ายคือปี 2009
ร่างของโซซา ได้รับการบรรจุไว้ที่ตึก national congressในกรุงบัวโนส ไอเรสเพื่อให้ประชาชนได้ไปแสดงความศรัทธาต่อเธอเป็นเวลาสามวันก่อนจะทำพิธีฝังร่างของเธอ


ชีวิตของศิลปินหญิงผู้นี้น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ เธอผ่านการต่อสู้ทางการเมืองกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรัฐบาลให้ทำงานเพื่อประชาชนของประเทศ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกได้ว่า เสียงเพลงนั้นมีพลังที่จะชักจูงคนให้หันมาฟังเสียงของเธอได้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น