7/19/2554

เราจะจดจำรอยช้ำ...ไปนานแค่ไหน

ความขัดแย้งที่ขยายเป็นวงกว้าง รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงบนแผ่นดินไทยครั้งนี้ ไม่อาจหายไปจากใจของใครหลายคนได้เพียงแค่น้ำล้างถนน เช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้อีกหลากเรื่องราว ต่างยุคต่างสมัยที่บางคนอาจลืมเลือนแต่มีหลายคนที่ยากจะลบออกจากความคำนึง

ไม่กี่วันที่ผ่านมาข่าวการย้ายฐานของกองทัพสหรัฐอเมริกาบนหมู่เกาะโอกินาวาได้แทรกเบียดข่าวความเคลื่อนไหวในบ้านเราให้ได้เห็นประปราย ทำให้ดิฉันนึกถึงคนที่นั่น หลายคนคงทราบกันดีว่าภายหลังจากที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่2 ก็ต้องยินยอมให้กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามา ดูแลความสงบและตั้งฐานทัพอยู่ที่เกาะโอกินาวาทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น

และเมื่อไม่นานมานี้ชาวเกาะโอกินาวาได้รวมตัวกันประท้วงต่อต้านและต้องการให้ฐานทัพดังกล่าวถอนกำลังออกไปจากแผ่นดินของพวกเขาและด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ร่วมต้านฐานทัพครั้งนี้ทำให้พวกเขาดูจะมีกำลังใจกันมากขึ้น แต่..สุดท้ายมันก็เป็นเพียงสายลม ที่พัดผ่าน แล้วก็ผ่านเลย ฐานทัพสหรัฐฯยังคงปักหลักอยู่ที่โอกินาวานี้ไปอึกถึงเดือนพฤศจิกายน

โอกินาวาประกอบไปด้วยหมู่เกาะถึง 70 เกาะ ทอดตัวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น แต่เดิมเรียกกันว่า หมู่เกาะริวกิว ปกครองตนเองอย่างอิสระกระทั่งปีค.ศ. 1879 จึงตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งก่อนนั้นครั้งยังเป็นอาณาจักรริวกิว ที่นี่มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยการค้าขายกับต่างประเทศในเอเชีย กระทั่งญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองจึงถือเอาแผ่นดินนี้เป็นประตูเปิดสู่การค้าขายกับดินแดนต่างๆ และเรียกเก็บภาษีจากคนพื้นเมืองที่นี่

เดิมโอกินาวามีความสำคัญในการสัญจรทางเรือที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลเอเชียตะวันออกและทะเลตะวันออกเฉียงใต้  เป็นจุดที่มีการแลกเปลี่ยนด้านการค้าและวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ในเอเชียไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี และไทย เป็นต้น



สิ่งที่ผูกพันคนโอกินาวากับคนไทยในสมัยอยุธยาก็คือ ข้าว ที่พวกเขานำไปจากอยุธยาเพื่อปลูกที่โอกินาวาและผลิตออกมาเป็น อาวาโมริ เหล้าขาวชื่อดังของที่นี่ ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้พันธุ์ข้าวของไทยผลิตเหล้าชนิดนี้อยู่

ด้วยคตินิยม เหมือนพี่น้องเมื่อแรกเจอจึงทำให้คนโอกินาวามีนิสัยที่ละม้ายคนไทย ที่ไม่ชอบความรุนแรง ปรารถนาความสงบแต่แล้วแผ่นดินที่พวกเขายืนอยู่กลับกลายเป็นสมรภูมิภาคพื้นดินสุดท้ายแห่งสงครามแปซิฟิคในสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนกว่าสองแสนชีวิตที่ถูกสังเวย บาดแผลที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาไม่ว่าจากฝ่ายใด ทำให้กลายเป็นความเงียบงันที่คนโอกินาวาเฝ้าอดทนมากว่า 60 ปี
 เราคงเลือนๆ กันไปบ้างเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและต้องยินยอมให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาดูแลโอกินาวาและจัดตั้งเป็นฐานทัพ กระทั่งปี 1972 โอกินาวาจึงกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง แต่กระนั้นฐานทัพของสหรัฐฯ ก็ไม่เคยถอนออกจากแผ่นดินนี้กระทั่งปัจจุบัน
กล่าวกันว่าช่วงแรกนั้น ชาวโอกินาวาเจ็บช้ำน้ำใจกับการกระทำที่ไม่ให้เกียรติของคนอเมริกันยิ่งนัก ด้วยว่าภาษาที่ใช้ เงินที่จ่าย วิทยุโทรทัศน์ทีได้รับชมล้วนเป็นของคนอเมริกันทั้งสิ้น และหลายครั้งที่เด็กสาวถูกข่มขืนโดยไม่เคยได้รับความเป็นธรรม!!

 นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนโอกินาวามักซื้อเครื่องแก้วที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นเป็นของที่ระลึก เพราะดูสวยแปลกตาเนื่องจากเป็นแก้วหลายสีที่นำมาผสมกัน เครื่องแก้วที่ว่านี้เล่ากันว่าเป็นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาวาเมื่อหลังสงครามฯ นี่เอง เพราะในช่วงปลาย กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีโอกินาวาอย่างหนัก ญี่ปุ่นเลือกใช้ที่นี่เป็นแนวต้าน เพื่อตรึงกำลังไม่ให้ข้าศึกรุกต่อไปยังเมืองหลวงได้  คนที่นี่จึงล้มตายไปเป็นจำนวนมาก บ้านเมืองถูกเผาไหม้และระเบิดอย่างย่อยยับ

ผู้รอดชีวิตจำต้องดิ้นรนเพื่อ อยู่ต่อ อาศัยทุกอย่างเท่าที่มีเหลือ หล่อเลี้ยงชีวิตกันไป  เศษแก้ว ขวด กระจกแตกถูกกวาดมารวมกันเพื่อหลอมเป็นภาชนะใหม่ การหลอมครั้งนั้นจึงกลายเป็นแก้วสีผสมที่สวยงามในปัจจุบัน มันจึงกลายเป็นศิลปะแห่งความทรงจำที่ปวดร้าวของคนที่นี่

รอยช้ำของสงครามในครั้งนั้น แม้มันจะผ่านมากว่า 60 ปีแล้วก็ตาม แต่มันยังฝากรอยแผลที่ไม่เคยจางหายไปจากคนที่นี่ ภายใต้ความสวยงามที่เราเห็น มักจะเต็มไปด้วยรอยแผลที่สะกิดตรงไหนก็ล้วนเจ็บปวดทั้งสิ้น.... อย่างนี้แล้ว เรายังนิยมชมชอบความรุนแรงและการต่อสู้กันอีกหรือไม่... หรือแท้แล้วมนุษย์ทุกคนต่างโหยหาสงคราม ดังเช่นใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า สงครามคือกิจกรรมของมนุษย์!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น