12/21/2554

แยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา...






แยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา
โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

เคยมีอาการหมดไฟไหมคะ... วันหนึ่ง ตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่า ตัวเองควรจะทำอะไรดี... นั่งๆ นอนๆ เดิน ยืน ไปมา ก็แล้ว ... ก็ยังคิดไม่ออก ว่า ตัวเองควรจะทำอะไร....ดิฉันเกิดอาการอย่างนี้มา เมื่อสองอาทิตย์ก่อนค่ะ... โดยไม่รู้ตัวว่า ทำเวลาหล่นหายไปหลายขุม...

ผ่านวัน เป็นเดือน เป็นปี... บางสิ่งบางอย่าง ก็ยังนิ่ง หยุดอยู่กับที่ ราวกับไม่อยากจะเคลื่อนไหวไปไหนอีก... หันมาดู กระบวนการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้แล้ว ถึงตระหนักได้ว่า ..สิ่งนี้ นี่เอง ที่ทำให้ดิฉันเกิดอาการตีบตันทางปัญญา!!

ด้วยไม่รู้จึงคิดไม่ออก เลยหยิบภาพยนตร์เรื่องหนึ่งขึ้นมาดู หลังจากที่แช่ทิ้งไว้นานมาก Earth คิดว่า ดูแล้ว น่าจะทำให้ใจของตัวฟื้นตื่นขึ้นมาได้บ้าง....

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของผู้กำกับหญิงชาวอินเดียค่ะ Deepa Mehta จริงๆ แล้ว เธอทำภาพยนตร์ชุดนี้ ประกอบด้วย Fire (1996) Earth (1998) และ Water (2005) แต่ละเรื่องล้วนเกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับเรื่องราวสังคมอินเดียทั้งสิ้น แน่นอน ตัวดำเนินเรื่องเป็นผู้หญิงค่ะ... กระทั่งหลายคนจัดให้เธอเป็นผู้ทำหนังแนวเฟมินิสต์ และก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเธอจากสังคมอินเดีย

เธอเคยกล่าวไว้หลังจากที่มีหลายคน ตั้งคำถามถึงความเป็นเฟมินิสต์ของเธอ ว่า ..เธอคิดว่า มันเป็นมุมมองจากความเป็นผู้หญิงและด้วยเพราะตัวเธอเองซึ่งก็เป็นคนทำหนังคนหนึ่ง ที่ต้องการพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ออกมา...ดังนั้น เธอจึงไม่คิดว่า หนังจะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของคนทั่วไปได้..แต่ถ้าหนังสามารถทำหน้าที่ในระดับลึกเช่นนั้นได้จริง สิ่งที่มันจะทำก็คือ...ส่งเสียงกังวานในความคิดของคนดู และเสียงนั้น จะนำไปสู่การตระหนักคิด ซึ่งมันคือ จุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ควรจะถาม...แน่นอน สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียง และในที่สุด หนัง อาจจะบันดาลให้ใครคนนั้นลงมือทำอะไรสักอย่างที่จริงจัง.....

Deepa Mehta เป็นชาวอินเดียแต่กำเนิดค่ะ เธอเกิดในครอบครัวฮินดู บริเวณดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับปากีสถาน  ด้วยเหตุนี้เอง ภาพยนตร์เรื่อง Earth จึงบอกเล่าเรื่องราวในยุคแยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา ผ่านตัวละครที่เสมือนเกิดขึ้นจริงได้อย่างแยบยล

เธอสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยนิวเดลี ก่อนที่จะผันตัวเองมาทำภาพยนตร์ ด้วยว่าแต่เล็กจนโตเธอคลุกคลีอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้จัดจำหน่ายฟิล์มและยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ดีปาร์ จึงดูภาพยนตร์มากว่า 100 เรื่องจากโรงภาพยนตร์ของบิดาตัวเอง....

แต่นั่นยังไม่ได้ทำให้เธอมีความสนอกสนใจจะกลายเป็นคนทำหนังซะเอง เธอกลับหันไปศึกษาวิชาปรัชญากระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ก่อนที่จะมาเริ่มงานในแวดวงหนามเตย

เธอพบรักกับหนุ่มแคนาเดียน ก่อนตัดสินใจแต่งงานแล้วย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนาดา ในปี 1973 และเริ่มสนใจทำภาพยนตร์อย่างจริงจัง รายการแรกที่เธอรังสรรค์มันขึ้นมาก็คือรายการเด็กและเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์  ก่อนจะหันไปจับงานสารคดีเชิงค้นหาและเดินทางในต่างแดน แน่นอน ผลงานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เธอได้รับรางวัลชื่นชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Canada’s Emmy Award equivalent และ Finalist Award ในปี 1987 ที่งาน New York International Film and Television Festival

ในปี 1995  เธอเปิดตัวภาพยนตร์ชุดเรื่องแรกของตัวเอง Fire เป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของสาวอินเดียชนชั้นกลางที่ต้องอยู่ในภาวะกดดันของประเพณีแต่ดั้งเดิม จนทำให้ตัวละครสาวสองชีวิตนั้น ทำอะไรที่แผกไปจากขนบเดิม

ภาพยนตร์ชุดนี้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านเธออย่างรุนแรง ถึงขนาดเผาฟิล์มที่นำออกฉายในโรงภาพยนตร์ที่อินเดีย กระนั้น มันก็ไม่ทำให้ดีปาร์ยุติการทำหนังที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมอินเดีย

เธอเดินหน้าผลิต Earth ออกมาซ้ำสองในปี 1998 ซึ่งเป็นเรื่องราวในช่วงที่อินเดียเกิดความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง กระทั่งถึงขนาดต้องแยกแผ่นดิน... ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดีปาร์บอกว่า เธอเพียงต้องการจะเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆที่ต่างเผ่าพันธุ์ และต่างศรัทธากับเธอเท่านั้น

Earth เป็นเรื่องที่สะท้อนสังคมอินเดียในระหว่างปี 1947 การลุกฮือของคนชาติเดียวกันแต่ต่างศาสนาที่เข้าห้ำหั่นกันเอง  ผ่านมุมมองของตัวละครหนึ่งหญิงสองชาย โดยหญิงสาวเป็นฮินดู ขณะที่ชายที่ต่างหลงรักเธอทั้งสองนั้นเป็นมุสลิม...คนหนึ่งเธอมีใจให้และยอมเปลี่ยนศาสนาและพร้อมจะโยกย้ายตัวเองไปยังดินแดนที่แบ่งแยกใหม่กับเธอ..แต่ก็ต้องมาจบชีวิตลงอย่างทรมานด้วยน้ำมือของเพื่อนรักที่ริษยาในความรักของเขาทั้งคู่....

เรื่องสุดท้ายในชุดนี้คือ Water เธอผลิตมันออกมาในปี 2005 แน่นอน จากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องทำให้เธอต้องย้ายสถานที่ถ่ายทำ water อย่างกระทันหัน จากอินเดีย มุ่งสู่ศรีลังกา!! ด้วยกระแสการต่อต้านเธอที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ...ราวกับงูถูกตีขนดหางก็ไม่ปาน....

แม้คนทั่วโลกจะให้การยอมรับว่า ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องของเธอสะท้อนชีวิตของผู้คนธรรมดาในอินเดียได้อย่างดีเยี่ยม แต่สำหรับคนอินเดียหัวอนุรักษ์นิยมแล้ว ชื่อของดีปาร์ เมท์ตา เหมือนยาขมที่ใครก็เบือนหน้าหนี ทุกวันนี้ เมื่อเธอเดินทางกลับแผ่นดินเกิดของตัวเอง เธอต้องมีคนคอยอารักขาตลอดเวลา เพราะหลังจาก ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเธอเข้าฉายในอินเดีย ก็มีผู้คนออกมาต่อต้านเธออย่างมากมาย

เรื่องราวของเพื่อนบ้านเช่นว่านี้ สะท้อนอะไรหลายอย่างแก่ดิฉันเหลือเกิน...แม้เรื่องราวทั้งหมดที่ดีปาร์ เมห์ทา ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต แต่ต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของคนที่นั่น คนที่อยู่กับเหตุการณ์จริง อยู่ในขนบนั้นจริง...แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการรับรู้ความจริงนี้อีกต่อไป...ทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่าบางครั้งการพูดความจริง สะท้อนเรื่องจริง ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ในสังคมเราทุกวันนี้ สังคมที่ยอมรับแต่ความดีงาม ทว่า...กระอักกระอ่วนที่จะยอมรับเรื่องจริง!!