7/19/2554

ใช่เพียงแค่ ตุ๊กตาหมี!!

       เมื่อสักปลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงผ่านตาข่าวการประมูลตุ๊กตาหมีราคาเหยียบหมื่นในบ้านเรากันไปบ้างไม่มากก็น้อย ตุ๊กตาหมีนาม เทดดี้ แบร์ ที่หลายคนบนโลกใบนี้หลงใหลและอยากจะมีไว้ครอบครอง อย่างน้อยสักหนึ่งตัว
      
       ใครจะไปคาดคิดว่า ตุ๊กตาหมีแสนธรรมดาๆ ตัวหนึ่งจะมีเรื่องราว มีประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อราวปี ค.ศ.1902 ครั้งที่ประธานาธิบดีคนที่ 26 ธีร์โอดอร์ รูสเวลท์ Theodore Roosevelt ต้องเดินทางไปเจรจาแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐมิสซิสซิปปี้กับรัฐหลุย์ เซียน่า เจ้าภาพในครั้งนั้นให้การต้อนรับผู้นำด้วยการพาไปล่าหมีป่า แต่ครั้งนั้นกลับไม่พบหมีสักตัว บรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงพาคิดแผนนำลูกหมีมาให้ ผู้นำประเทศได้ยิง แต่... ปรากฎว่า ประธานาธิบดีรูสเวลท์ กลับปฏิเสธที่จะยิง ซ้ำยังอุทานออกมา ว่า Spare the bear...
      
       เหตุการณ์นี้ยังความประทับใจให้กับการ์ตูนนิสต์ชื่อดังยุคนั้น คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน Clifford Berruman เขาจึงวาดภาพที่ชื่อว่า Drawing the line in Mississippi และได้รับการตีพิมพ์ใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 1902 กลายเป็นที่กล่าวขานกันมาก จึงทำให้สามีภรรยามอร์ริสและโรส มิชทอม Morris and Rose Michtom ทำตุ๊กตาหมีผ้าขึ้นมาเพื่อยกย่องการกระทำครั้งนั้นของประธานาธิบดีของตัวเอง โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติว่า เทดดี้ แบร์ โดยนำชื่อเทดดี้ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของประธานาธิบดีมาตั้งเป็นชื่อตุ๊กตาหมี
      
       และนับแต่นั้นตุ๊กตาหมี เทดดี้แบร์ ก็กลายเป็นสินค้าขายดีติดอันดับในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดกลายเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงของประธานาธิบดีรูสเวลท์ จนทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้กลายเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งด้วย
      
       นี่เป็นเรื่องราวทางฟากฝั่งสหรัฐอเมริกา.... แต่เรื่องเล่าทางเยอรมันนั้น มีความเป็นมาที่ยาวกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของผู้ผลิตตุ๊กตาหมีขึ้นครั้งแรกของเยอรมัน เธอมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจและติดตามไม่น้อย
      
       มาร์กาเรต ชไตฟ์ Margarete Steiff หญิงชาวเยอรมันผู้เป็นเจ้าของบริษัทของเล่นที่มีคุณภาพและราคาที่สูง นาม Steiff ด้วยคำประกาศที่เธอยืนยันตั้งแต่แรกเริ่มของการประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้าก็คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆของเธอเท่านั้น...
      
       ผลิตภัณท์ของเธอล้วนแล้วแต่พิถีพิถันในการเลือกวัสดุ ส่วนประกอบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขนแพะชนิดละเอียด ที่พร้อมจะทักทอคุณภาพดี กระทั่งลูกตายังทำด้วยไม้หรือแก้ว พร้อมกับยัดไส้ด้วยเศษขี้เลื่อยอย่างดี ทุกขึ้นตอนการผลิตคือการเย็บด้วยมือทั้งสิ้น
      
       Margarete เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมปี 1847 ที่เมือง Giengen an der Brenz ประเทศเยอรมนี เธอมีพี่สาว 2 คนและน้องชายร่วมสายโลหิตอีก 1 คน ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเธอนั้นจัดว่าดี แต่ เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก เมื่อเธอมีอายุได้ 18 เดือน ก็เริ่มป่วยด้วยโปลิโอ และทำให้เธอไม่สามารถเดินได้นับตั้งแต่นั้นมา
      
       ตลอดชีวิตเธอต้องนั่งอยู่แต่บนเก้าอี้รถเข็น ด้วยเหตุนี้ทำให้มารดาของเธอเป็นห่วงเธอมากกว่าลูกคนไหนๆ แต่...มาร์กาเรต ไม่ต้องการให้ทุกคนมาห่วงเธอ เธอพยายามใช้ชีวิตเช่นคนปกติแม้ว่าเธอจะรู้ว่า อนาคตข้างหน้าเธอไม่อาจมีครอบครัวเช่นผู้หญิงคนอื่น แต่เธอก็ยังมีพลังใจในการใช้ชีวิตตลอดมา...
      
       เธอมักจะร้องขอให้ใครต่อใครพาเธอออกมาข้างนอกบ้าน เพื่อมีโอกาสมองเห็นสิ่งต่างๆ เช่นเด็กคนอื่นๆ เมื่อเธอเริ่มต้นเข้าโรงเรียน เธอก็ได้เพื่อนบ้านและพี่สาวที่เรียนอยู่ที่เดียวกัน ช่วยเหลือในการพาเธอไปโรงเรียนด้วย
      
       เธอพยายามเล่นกับเด็กอื่น เท่าที่สรีระของเธอจะอำนวย เธอมักจะคิดเกมส์ใหม่ๆ เพื่อเล่นกับเพื่อนๆ เสมอ...พร้อมๆ กับที่เธอเริ่มสนใจเย็บผ้าและถักโครเชท์
      
       ครั้นเธออายุได้ 17 ปี เธอเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า เธอไม่สามารถเดินได้เช่นคนอื่น และร่างกายของเธอก็ไม่แข็งแรงเหมือนหญิงทั่วไป เธอเริ่มเรียนตัดเย็บอย่างจริงจัง และเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกับพี่สองทั้งสองที่บ้าน ด้วยฝีมือที่ประณีตและการเอาใจใส่ต่อทุกฝีจักร ทำให้ใครต่อใครพากันยอมรับในฝีมือตัดเย็บของเธอ....
       
       แต่แล้ว... เธอก็ประสบปัญหาต่อมา...เมื่อแขนข้างขวาของเธอเริ่มใช้การไม่ได้ แต่..เธอก็ไม่ย่อท้อ เธอใช้แขนข้างที่เหลือหมุนล้อบนตัวจักรและหันมาเย็บเสื้อผ้าให้กับเด็กๆ แทน
      
       เมื่อพี่สาวทั้งสองของเธอแต่งงานออกเรือนไป มาร์กาเรตยุติกิจการเย็บผ้าระยะหนึ่ง เธอออกเดินทางไปรอบประเทศ พักอยู่ตามบ้านเพื่อน ก่อนที่เธอจะกลับมาตั้งต้นดูแลชีวิตด้วยตัวเอง...
      
       เธอได้น้องชายเข้ามาช่วยจัดระบบการทำงาน และเริ่มต้นทำธุรกิจ ตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกัน ด้วยการทำโรงงานขนาดเล็ก ตัดเย็บปัตติโค้ด(Petticoats) และ เสื้อผ้าเด็ก
      
       ดังเช่นชีวิตของใครหลายคน มีลงแล้ว ก็ย่อมมีขึ้น....ชีวิตของมาร์กาเรต ก็เช่นกัน หลังจากที่เธอตัดสินใจยืนด้วยตัวของตัวเองแล้ว ในปี 1880 เธอก็ไปค้นพบแบบการทำตุ๊กตาผ้ารูปช้างในนิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่ง เธอทดลองทำครั้งแรก 8 ตัว เพื่อเป็นของขวัญให้กับหลานๆ ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนในยุคนั้น มันกลายเป็นของเล่นยอดฮิตของเด็กๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย
      
       หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีคนมาขอให้เธอเย็บตุ๊กตาผ้าให้อีก กระทั่งมันกลายเป็นสินค้าขายดีของเธอไปแล้ว และเธอจึงเริ่มเปลี่ยนโรงงานเย็บผ้าของตัวเองให้กลายมาเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง แมว สุนัขและหมู...
      
       สินค้าของเธอเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น น้องชายของเธอพยายามนำสินค้าออกโชว์ในงานแสดงสินค้าที่ Stuttgart ในปี 1883 แน่นอนมันประสบผลสำเร็จตามที่คาดและทำรายได้ให้กับเธอและน้องชายอย่างงดงาม จนต้องย้ายโรงงานจากบ้านมาตั้งที่ใหม่
      
       และเมื่อหลานชายของเธอเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เข้ามาร่วมทำงานกับเธอ แต่มีเพียงคนเดียวที่สนิทสนมและร่วมคิดสร้างสรรค์กับเธอด้วย นั่นก็ Richard ในปี 1902 ริชาร์ด เริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของป้าตัวเอง เขามองเห็นช่องทางการทำตุ๊กตาหมีจากกระแสข่าวของประธานาธิบดีรูสเวลท์ พวกเขาจึงทดลองทำตุ๊กตาหมีขึ้นมา โดยตั้งชื่อครั้งแรกว่า PB แต่...ณ ประเทศเยอรมันกลับไม่ค่อยมีคนสนใจ ตุ๊กตาหมีชนิดนี้...
      
       การณ์กลับตาลปัตรเมื่อเขานำมันออกแสดงในงาน The World Exhibition ที่ St.Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา ตุ๊กตาหมี PB ขายได้ถึง 12,000 ตัว หลังจากก่อนหน้านี้มันถูกซื้อไปแล้วในการออกร้านครั้งหนึ่งโดยลูกค้าชาวอเมริกันถึง 3,000 ตัวภายในชั่วพริบตา
      
       ความนิยมในตุ๊กตาหมีของอเมริกาส่งผลให้สมาชิกโรงงานของมาร์กาเรตที่ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมีรายได้จากการเย็บตุ๊กตาหมีที่บัดนี้ ถูกตั้งชื่อใหม่ให้กลายเป็น เทดดี้แบร์ ตั้งแต่เมื่อปี 1906 และทำให้อีกปีต่อมา มาร์กาเรตขายตุ๊กตาหมีของเธอได้มากถึง 9 แสนกว่าตัว
      
       แน่นอนว่าผลิตภัณท์ตุ๊กตาผ้าของเธอนั้น ยังคงยึดมั่นหลักการเดิม คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆ ของเธอเท่านั้น มาร์กาเรตออกแบบตุ๊กตาทุกตัวของเธอด้วยตัวของเธอเอง เธอตรวจสอบคุณสินค้าทุกครั้งก่อนนำออกจากโรงงาน เธอทุ่มเทความรักให้กับตุ๊กตาทุกตัวของเธอ ซึ่งแน่นอน มันส่งผ่านไปถึงผู้รับที่นำตุ๊กตาเหล่านั้นกลับไปเป็นเจ้าของด้วย
      
       เธอเสียชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเองในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1909 ด้วยโรคปอดอักเสบ ในวัย 61 ปี ในวันที่เธอจากไปครอบครัวและคนงานเศร้าโศกเสียใจ แต่พวกเขาก็ยังดำเนินกิจการผลิตตุ๊กตาผ้าของมาร์กาเรตต่อมากระทั่งปัจจุบัน ด้วยยึดมั่นในอุดคติแต่ดั้งเดิม เพราะพวกเขากล่าวว่า บริษัทนี้ดำเนินต่อมาได้ด้วยจิตวิญญาณของมาร์กาเรตนั่นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น