7/19/2554

Artemisia ; ผู้แปรความแค้นให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์

หลายครั้งที่มีใครต่อใครพากันสงสัยถึงความเจ็บช้ำน้ำใจของเพศหญิง ที่ทำไมต้องออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม ความเสมอภาคอยู่ร่ำไป ทั้งที่ทุกวันนี้เราแทบจะหาความต่างระหว่างเพศกันได้ยากเต็มที... ทั้งที่ในประวัติศาสตร์หลากประเทศต่างก็มีเรื่องราวของความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศให้เราได้ศึกษากันอยู่เสมอๆ
      
       อย่างเช่นศิลปินหญิงคนนี้ แม้เธอจะลุกขึ้นมาเรียกร้องว่า ถูกข่มขืนจากอาจารย์ผู้ฝึกสอนศิลปะให้กับเธอครั้งแล้วครั้งเล่า แต่จากการไต่สวนของคณะยุติธรรมในยุคนั้น คำแก้ต่างของฝ่ายตรงข้าม กับโต้กลับว่า เธอเป็นหญิงร่านสวาทที่พร้อมจะนอนกับชายคนไหนได้ทุกเมื่อ!!
      
       อาร์เตมีเซีย เจนติเลสกิ (Artemisia Gentileschi) จิตรกรหญิงยุคบาโรค ผู้เกิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เธอมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1593 – 1653 ถือได้ว่าเธอเป็นศิลปินหญิงทีมีอยู่จำนวนน้อยนิดในโลกของศิลปะยุคโบราณ ที่ยากต่อการดำรงชีพนี้
      
       สิ่งที่ทำให้ชื่อของอาร์เตมีเชียเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ก็คือกรณีที่พ่อของเธอลุกขึ้นมายื่นฟ้องต่อบุคคล 3 คน ที่มีส่วนร่วมในการทำให้ลูกสาวของตัวคืออาร์เตมีเซียถูกข่มขืน แต่ในที่สุดก็ไกล่เกลี่ยกันสำเร็จ และอาร์เตมีเซียก็ถูกจับแต่งงานกับศิลปินหนุ่มอีกคนหนึ่ง....
      
       หลายคนคงจะคิดไปว่า เรื่องมันคงไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าอาร์เตมีเซียจะเป็นกุลสตรีเช่นหญิงคนอื่นๆ ในสังคมยุคนั้น ที่ผู้หญิงไม่นิยมจะดำรงชีพด้วยการเป็นศิลปิน เป็นจิตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคบาโรค ที่ยากต่อการยอมรับความเป็นจิตรกรหญิง เพราะในสมัยนั้นไม่ว่าศิลปินหรือผู้ว่าจ้างทำงานศิลปะก็มักจะเป็นเพศชายแทบทั้งสิ้น
      
       แต่ด้วยคงเป็นเพราะบิดาของเธอเป็นจิตรกร ทำให้อาร์เตมีเซียหลงใหลในผืนผ้าใบและกลิ่นสี จนทำให้เธอมีความมุ่งมั่นจะเป็นจิตรกร เธอฝึกฝนกับบิดาที่ในช่วงเวลานั้นเป็นศิลปินที่ทำงานในขนบของคาราวักจิสซึ่ม (caravaggism) ที่นินมใช้แสงเงาตัดกันอย่างรุนแรง และตัดรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุถึงความชัดเจนของสถานที่ออกไป ด้วยมีเป้าหมายในการเร่งเร้าความสะเทือนใจของสิ่งที่ต้องการนำเสนอในภาพ
      
       ภาพเขียนที่มีชื่อเสียงของอาร์เตมีเซียคือภาพ Susanna and the Elders และ Judith Beheading Holofernes แม้ว่า ภาพเหล่านี้จะเคยมีศิลปินคนอื่นๆ เขียนมามากแล้วก็ตาม แต่ด้วยเบื้องหลังชีวิตของศิลปินหญิงอย่างอาร์เตมีเซีย จึงทำให้ใครหลายคนมองเห็นพลังที่ซ่อนเร้น ความคับแค้นที่เธอไม่อาจเผยแก่ใครได้ เธอจึงแปรพลังแห่งความโกรธแค้นนั้น ออกมาเป็นแรงสร้างสรรค์ในผลงานศิลปะของตัวเอง โดยเฉพาะภาพจูดิธ ที่อาร์เตมีเซีย วาดมันขึ้นมาถึงสองครั้งด้วยกัน
      
       กรณีคดีอื้อฉาวของอาร์เตมีเซียเกิดขึ้นในปี 1612 เมื่อบิดาของเธอยื่นฟ้องอากอสติโน ตาซซี Agostino Tassi , คอสซิโม กูออริและมาดามตัสเซียผู้เป็นแม่สื่อ โดยกล่าวหาว่าอากอสติโน ได้กระทำการข่มขืนลูกสาวของเขาจนทำให้สูญเสียพรหมจรรย์
      
       ในคำให้การของอาร์เตมีเซียเธอบรรยายถึงภาพเหตุการณ์ที่ถูกข่มขืนและคำมั่นสัญญาของชายผู้เป็นเพื่อนกับบิดาของตัวเองที่หลังจากข่มขืนเธอสำเร็จแล้วและรู้ว่าเธอยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่ ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะแต่งงานกับเธอ
      
       เธอกล่าวว่าจะให้เธอทำอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เมื่อชายคนนี้กระทำกับเธอเช่นนี้ อย่างไม่ให้เกียรติแต่กลับบอกว่าจะแต่งงานกับเธอ และในเวลาต่อมาเธอก็ได้กล่าวกับอากอสติโนโดยตรงว่า เธอหวังจะให้เขามาเป็นสามีแต่เธอก็รู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะเขามีภรรยาอยู่แล้ว...
      
       ขณะเดียวกับที่อากอสติโนเองก็ออกมาโต้ตอบกรณีนี้ว่า อาร์เตมีเซียก็ไม่ได้ร่วมหลับนอนเฉพาะกับเขาเพียงคนเดียว เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงมากชู้หลายผัวถึงขั้นไม่อาจระบุได้ว่าเธอร่วมหลับนอนกับชายใดมาบ้าง....
      
       แล้วกรณีอื้อฉาวนี้ก็จบลงอย่างอึมครึม ไม่มีใครถูกเอาผิด ไม่มีการตัดสินความ ทุกอย่างเงียบงัน.....
      
       หลังจากนั้นพ่อของอาร์เตมีเซียก็จัดแจงให้ลูกสาวของตัวแต่งงานกับศิลปินหนุ่มอีกคนหนึ่งนาม Pierantonio Stiattesi และหลังจากนั้น ทั้งคู่ก็มีลูกชายด้วยกันถึง 4 คนและลูกสาวอีก 1 คน แต่มีเพียงลูกสาวเท่านั้น ที่มีชีวิตรอดมาจนโต
      
       ชื่อของอาร์เตมีเซียนั้นถูกทำให้ลืมไปจากประวัติศาสตร์ศิลปะมานานพอควร หลังจากยุคสมัยของเธอผ่านไป นักวิชาการทางศิลปะต้องใช้เวลานานพอควรจึงรู้จักศิลปินหญิงคนนี้ และนำเรื่องราวของเธอออกมาเผยแพร่ และแน่นอน เรื่องของอาร์เมีเซีย ก็เป็นที่สนใจของนักวิชาการฟากสตรีนิยมพอควร
      
       ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรื่องราวของอาร์เตมีเซียยังถูกนำมาเขียนเป็นนิยายอยู่หลายเล่มหลากนักเขียน และยังนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อของเธอเป็นชื่อเรื่องและสร้างบนพื้นฐานความจริงในชีวิตของศิลปินหญิงผู้นี้เอง
      
       ศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะต่างๆ ออกมานั้น ต่างก็รู้ดีว่า ผลงานของตัวไม่เพียงแต่มีบทบาทเป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนความจริงสะท้อนความรู้สึกนึกของตัวต่อสิ่งรอบข้างและเรื่องราวที่ประสบกับตัวเท่านั้น แต่ผลงานศิลปะคือการบันทึกเรื่องราวแขนงหนึ่งที่จะคงอยู่บนโลกนี้นานกว่าชีวิตของศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน ดังเช่นผลงานของศิลปินหญิงผู้นี้ อาร์เตมีเซียที่ดิฉันไม่อาจปฏิเสธได้เลย หลังจากเรียนรู้เรื่องราวของเธอว่า เธอคือผู้หนึ่งที่แปรความโกรธแค้นให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ ได้อย่างทรงคุณค่ายิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น