2/13/2555

โลกบิดจิตเบี้ยว

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th/multimedia  19 มกราคม 2553



ในช่วงเวลาหนึ่ง ศิลปะได้ชี้ชวนให้เราแวะเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องหาเหตุผล แค่ลองหลบหายเพื่ออยู่ในสภาวะแห่งการหลบหาย เพื่อว่าการหายไปในโลกศิลปะอาจหมายถึง การได้กลับมาซึ่งความรู้สึกที่สดใหม่และเชื่อมโยงเรากลับเข้าสู่โลกของความเป็นจริงอีกครั้ง.    
       นี่เป็นความตอนหนึ่งของคุณพิชญา ศุภวานิช ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานนิทรรศการ สุก ดิบ อาทิตย์อุทัย ที่เพิ่งปิดตัวลงไปที่หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวของชาวญี่ปุ่น ดิฉันจึงไปชมนิทรรศการครั้งนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่หลายครั้งของการสัมมนา พูดคุยระหว่างนิทรรศการไม่อาจไปร่วมฟังได้สักครั้งเดียว...
      
       ชิ้นงานที่สะดุดตาสะดุดใจผู้ชมในนิทรรศการครั้งนี้คงมีมากมาย โดยส่วนตัวแล้วดิฉันรู้สึกทึ่งในการคัดเลือกผลงานมาร่วมแสดงของภัณฑารักษ์คุโบตะ เคนจิและโนเสะ โยโกะ ที่คัดสรร มาได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว     
       และแน่นอนเมื่อเราจะเข้าใจศิลปะที่ศิลปินนำเสนอ เราจำต้องเข้าใจภูมิหลังของเขาเหล่านั้นด้วย...
      
       คนไทยเราอาจคิดว่าคุ้นเคยและได้รับวัฒนธรรมต่างๆของญี่ปุ่นมาอย่างมากมาย วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราเองแทบจะลอกเปลือกของญี่ปุ่นมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหารการกิน ความนิยมชมชอบต่างๆไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว ของอุปโภค บริโภค ความบันเทิงเริงใจต่างๆ ...แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่า เราไม่อาจเป็นได้เช่นคนญี่ปุ่น ก็คือ ความเป็นคนญี่ปุ่นนั่นเอง...เช่นดียวกับใครอีกหลายคนที่อยากเป็นคนไทยแต่ก็ไม่อาจจะเป็นไทยได้อย่างแท้จริง...
      
       โนเสะ โยโกะหนึ่งในภัณฑารักษ์ของงานศิลปะชุดนี้ กล่าวไว้ว่า ญี่ปุ่นกับไทยดูจะมีความคล้ายคลึงกัน ในเรื่องวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ได้รับการยอมรับและเป็นนิยมอย่างสูงในไทยเกินกว่าที่พวกเขาจะคาดเดาได้ ในขณะเดียวกันกับที่คนญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจกับถ้อยคำ ไม่เป็นไรของคนไทยที่ใช้กันจนติดปาก...
      
       ด้วยเหตุนี้โนเสะจึงตั้งข้อสังเกตว่า เมืองไทยจึงมีคนญี่ปุ่นย้ายถิ่นมาพำนักอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ไซโตะโคะโมริ คือ คนที่แยกตัวเองออกจากสังคม ไม่ใช่เพียงแค่หลบอยู่ที่บ้านของตัว แต่เป็นการย้ายถิ่นจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว
      
       จึงคล้ายกับว่า ผู้คนทั้งสองแผ่นดินต่างก็พยายามค้นหาในสิ่งที่ขาดหายไปจากผู้คนอีกแผ่นดินหนึ่ง
   ในฐานะคนทำงานศิลปะ ศิลปินจึงค้นหาความหวังจากสังคมที่พิสดารผิดรูปผิดร่างรอบๆตัวพวกเขา ศิลปินต่างๆ พยายามตั้งคำถามต่อความคิดใหม่เกี่ยวกับมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน การเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของผู้คน หรือภาวะกดดันต่างๆที่ฝังแน่นอยู่ในใจของใครหลายคน
อย่างเช่นผลงานของไอดะ มาโกโตะศิลปินวัย 45 ปี ที่ผสมผสานเนื้อหาของการ์ตูนเข้ากับการเสียดเย้ยสังคม ภาพคอลลาจขนาดมหึมาทั้งผนังของหอศิลป์ที่ แวบแรกเราอาจเห็นความสดใสน่ารักของตัวการ์ตูนนักเรียนมัธยมหญิงที่ใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม ขณะที่มองลึกมาที่แขนของตัวการ์ตูนเดิมที่ยื่นเข้าหาผู้ชมกลับเต็มไปด้วยรอยกรีดของใบมีด.... รายละเอียดในภาพนั้นยิ่งพินิจ ยิ่งเห็น...      
       โดยส่วนตัวของไอดะแล้วเขาเป็นศิลปินผู้หนึ่งที่มีความสามารถในการดึงเอาองค์ประกอบของศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมมาใช้ในการสร้างสรรค์งานของเขาด้วย งานของเขาส่วนใหญ่จะพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและจริยธรรม...
       ในภาพอนุสาวรีย์แห่งความว่างเปล่า... monument for nothing III นี้ ไอดะใช้แนวคิดของคุมะเดะหรือเครื่องรางที่มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ สัญลักษณ์ของการโกยเงินโกยทอง เป็นเครื่องรางของความโชคดีในเชิงธุรกิจ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงาน
       เราจะเห็นหัวของชายผู้หนึ่งโผล่ออกมาจากหว่างขาของตัวการ์ตูนเด็กหญิง ที่ด้านล่างของภาพปูด้วยภาพของธนบัตร ถัดมาอีกด้านหนึ่งเรายังได้เห็นภาพของการกินอย่างตะกรามของคนในภาพอีกหลายคนที่ศิลปินตัดมาจากภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์....
       ศิลปินอีกคนหนึ่งที่หยิบมาคุยในครั้งนี้คือชิงะ ลิเอโกะ เธอทำให้เราตระหนักได้ว่า ในสังคมนี้ ความจริงใจมักทำให้เราประหลาดใจได้เสมอ การแสดงออกในท่วงท่าเฉยเมยกลับทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายในมนุษย์ได้มากมาย
       ชิงะใช้ภาพถ่ายในการบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ เธอขอให้ฝ่ายหญิงซ้อนท้ายแล้วมองมาที่กล้องโดยปราศจากความรู้สึก....ภาพที่เธอได้มานั้น กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกบางอย่าง ที่ไม่สามารถอธิบายได้
       ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนต่างก็รู้สึกถึงพลังอันแรงกล้าแห่งความว่างเปล่า เราต่างตระหนักดีว่าสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยอิสรภาพมากพอๆ กับความเฉื่อยชา และเหมือนจะเกิดคำถามขึ้นในใจของใครหลายคน ว่า เราควรจะช่วยกันปกปิดคำละเมอเพ้อพก ไร้สาระของใครต่อใครในสังคมนี้ หรือถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะยืนยันความเป็นมนุษย์ด้วยการไม่ยอมถูกลากจูงเข้าไปสู่โลกใบที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่าไร้สาระใบนั้น....เพราะอย่างน้อยเราทั้งผองต่างก็อาศัยอยู่บนผืนดินเดียวกัน....บนโลกใบนี้.

2/10/2555

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์
manager.co.th / 31 มกราคม 2552


เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวโรฮิงยาอพยพ มาอีกแล้วในทะเล เลยทำให้นึกถึงบทความนี้ที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2552


ไม่มีที่มา...ไม่มีที่อยู่...ไม่รู้ที่ไป...เป็นสิ่งที่ดิฉันนึกถึงคนกลุ่มนี้ค่ะ...ไร้แผ่นดินอาศัย ไร้จุดหมายของชีวิต ไร้สิ้นทุกสิ่ง...มีชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์ ..ชนเผ่าโรฮิงยา...
       หลายวันมานี้ดิฉันจดจ่ออยู่กับข่าวความคืบหน้าของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลไทย จนเป็นเหตุให้สื่อต่างประเทศโจมตีเมืองไทยถึงการผลักดันชนกลุ่มนี้ออกนอกแผ่นดิน...
       
       โรฮิงยาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกันหรือยะไข่ในแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่7 คือใครกันแน่?! ในมุมมองของรัฐบาลพม่ากล่าวว่า โรฮิงยาคือผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย...ในสายตาของชาวตะวันตกมองว่าโรฮิงยาเป็นกลุ่มชนที่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน....และสายตาของคนไทยอย่างเราเล่า จะมองชนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร?
       
       โรฮิงยา Rohingya เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ข้อมูลหลากหลายบอกถึงจำนวนประชากรโรฮิงยาบนโลกใบนี้ว่ามีถึงล้านกว่าคน อาศัยอยู่มากทางตอนเหนือโดยเฉพาะในเขตมายูของยะไข่
       
       หากเราย้อนกลับไปในอดีตครั้งที่แผ่นดินยังปกครองกันด้วยระบอบอาณาจักร ยะไข่เคยเป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีเจ้าแผ่นดินเช่นเดียวกับอาณาจักรอื่นๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ยะไข่เคยเป็นรัฐอิสระได้ไม่นาน ก็ถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่นเสมอ
       กษัตริย์ยะไข่นามพระเจ้านรเมฆลา ได้ขอความช่วยเหลือจากสุลต่านเบงกอล ให้ช่วยปกป้องอาณาจักรของตัว นับแต่นั้นมากษัตริย์ยะไข่จึงต้องมีพระนามแบบมุสลิมต่อท้าย
       โดยมีสุลต่านเบงกอลเป็นผู้พระราชทานนามให้ตั้งแต่พ.ศ.1473 – 2074
       
       หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบในบริเวณดินแดนยะไข่ คือศิลาจารึกที่มีข้อความกล่าวถึงสมัยตอนกลางคริสตวรรษที่ 4 เป็นจารึกที่กล่าวถึงราชวงศ์จันทรา และเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ที่มีชื่อว่า เมืองไวสาลี ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นอินเดียที่อพยพมาจากแคว้นเบงกอล
       
       คำถามต่อมาคือ คนในดินแดนยะไข่ปัจจุบัน คือลูกหลานของชนกลุ่มแรกในแผ่นดินนี้หรือไม่.... ไม่อาจหาคำตอบได้ เช่นเดียวกับแผ่นดินไทยของเรา ที่หากย้อนประวัติศาสตร์ไป เราก็คงไม่อาจหาคำตอบที่แน่ชัดได้ว่า เราคือใคร เกิดมาจากชนชาติไหน ขอม มอญ ทวารวดี หรือ ใครกันแน่
       
       แต่ที่แน่ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง บริเวณยะไข่ ครั้งที่อังกฤษทำสงครามกับพม่าในครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2367 อังกฤษได้แคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ กระทั่งอีก 26 ปีต่อมา อังกฤษและพม่าทำสงครามกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อังกฤษได้แคว้นพะโคของพม่ามาครอบครอง และกลายเป็นเจ้าอาณานิคม
       
       เหตุการณ์ช่วงนี้ก่อความวุ่นวายให้กับคนในแผ่นดินนี้ พอดูทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอพยพคนจากแผ่นดินอื่น เข้ามาอยู่ อีกทั้งยังจัดสรรแผ่นดินส่วนนี้ให้ไปรวมอยู่กับแผ่นดินของอินเดีย ในนามของ British Burma โดยอังกฤษรวมยะไข่ ตะนาวศรี พะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันและให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และบางข้อมูลได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงเวลานี้เองที่อังกฤษพยายามนำประชาชนชาวเบงกอลเข้ามาอยู่ในดินแดนยะไข่เพิ่มขึ้นและเรียกคนกลุ่มนี้ว่า โรฮิงยา และเสี้ยมให้ชาวพุทธกับมุสลิม เข้าห่ำหั่นกันเอง
       หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ พม่าได้รับเอกราช รัฐธรรมนูญของพม่าฉบับพ.ศ.2490 ยอมให้ดินแดนของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ ยกเว้นยะไข่ ที่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นเพียงภาคเท่านั้น
       แล้วพม่าก็ประสบชะตากรรมอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ.2516 เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศไม่ให้รัฐใดมีสิทธิ์แยกตัวไปตั้งเป็นอิสระได้ นับเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆที่ ยืดเยื้อยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน
       
       เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ชาวโรฮิงยาที่อยู่ติดแผ่นดินยะไข่นั้นเล่า จะตกอยู่ในสถานะเช่นใด?!
       
       ชาวโรฮิงยาผู้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับชาวเอเชียใต้ โดยเฉพาะชาวเบงกอล บางส่วนกล่าวว่าสืบเชื้อสายมาจากอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน บางข้อมูลก็กล่าวว่าอพยพเข้ามาในยะไข่ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโมกุล ด้วยเชื่อกันว่าอดีตบริเวณที่โรฮิงยาอาศัยในปัจจุบันนั้น เป็นถิ่นฐานของชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขายแต่โบราณ ราวศตวรรษที่ 7 – 12
       โรฮิงยามีภาษาพูดเป็นของตัวเองคือภาษาอินดิค แน่นอนเขามีธงประจำชาติตัวเองด้วย
       
       เมื่อทุกอย่างเดินทางมาถึงวันนี้ รัฐบาลพม่ามองว่าโรฮิงยาเป็นประชาชนลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายและเป็นผู้อพยพมาจากบังคลาเทศ ในสมัยที่พม่าตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยทัศนคติเช่นนี้เองที่ทำให้ โรฮิงยาไม่เคยได้รับการรวมเข้าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐธรรมนูญของพม่าและแน่นอน ไม่เคยได้รับการรับรองเป็นสัญชาติพม่าด้วย
       
       ปีพ.ศ.2521 รัฐบาลพม่ามีนโยบายสร้างชาติพม่า เพื่อกำจัดชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในปีเดียวกันนั้นเอง ที่ชาวโรฮิงยากว่าสองแสนคนต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังคลาเทศ หลังจากยุทธการ Dragon King โดยกองทัพพม่าทำขึ้นเพื่อกำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย แน่นอนคะว่า กระบวนการนี้ส่งผลโดยตรงต่อคนบริสุทธิ์ และนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายทุกอย่าง
       
       โรฮิงยาอพยพเข้าบังคลาเทศถึงสองระลอกในช่วงเวลาไล่เลี่ย แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลบังคลาเทศส่งตัวชาวโรฮิงยากว่า 5 หมื่นคนกลับพม่า มีการทำความเข้าใจระหว่างประเทศพม่าและบังคลาเทศ บ้านพักผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงยากว่า 6,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ Naff ติดกับชายแดนพม่า ถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่า เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย
       
       ดิฉันนึกถึงคำว่าจนตรอกค่ะ...มนุษย์ผู้หนึ่งเกิดมา โดยมีเพียงแผ่นดิน ผืนน้ำและแผ่นฟ้ารับรองว่าเขาคือ ‘คน’ แต่ไม่เคยได้รับสิทธิเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ไม่เคยมีโอกาสเช่นมนุษย์ผู้อื่น....พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร...
       ดิฉันเข้าใจเอาเองว่า สิ่งที่พม่ากำจัดการแต่งงานของชาวโรฮิงยา ก็เพื่อไม่ต้องการเพิ่มประชากรของเผ่าพันธุ์โรฮิงยา บนโลกใบนี้อีกต่อไป... เขาต้องการให้เผ่าพันธุ์นี้สูญพันธุ์!!! คำถามต่อมา คือ....มีสิทธิไหม ที่จะไปกำจัดหรือจำกัดเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่ง โดยคนกลุ่มเดียวบนโลกใบนี้....
       
       ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เคยใช้ได้จริงหรือไม่!!
       ...............มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฎิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ.....
       
       และคงต้องถามย้อนต่อไปอีกด้วยว่า แท้แล้ว ต้นตอของปัญหานั้น อยู่ที่ใครกันแน่ ผู้เป็นคนก่อ...ผลพวงของการล่าอาณานิคม ผลพวงของสงคราม ยังมีอีกกี่กลุ่มชน ยังมีอีกกี่แห่งบนโลกใบนี้ ที่ยังรอคอยให้เพื่อนร่วมโลกรับรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน.
       
       ขอบคุณข้อมูล www.eddyvanwessel.com
        www.rohingya.org
       

2/08/2555

เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในสมัยรัชกาลที่ 7

เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในสมัยรัชกาลที่ 7
    เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2472 – 2475  โดยเริ่มจากการพังทลายของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา และแผ่ขยายไปทั่วโลกของระบบทุนนิยม  ผลกระทบใหญ่ที่มีต่อเมืองไทยยุคนั้นในระดับประชาชนก็คือ ชาวนาที่เพาะปลูกข้าวซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ มีราคาข้าวที่ตกต่ำลงอย่างมากถึง 2 ใน 3  และราคาที่ดินก็ตกลง  1 ใน 6 ชาวนาขาดเงินสดที่จะใช้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ซึ่งภาษีหลักคือ เงินรัชชูปการ ปีละ 6 บาทกับเงินเสียอากรค่านา ทั้งยังไม่สามารถหาเงินกู้หรือเครดิตมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ จึงเกิดหนี้สินรุงรัง และเกิดอัตราการว่างงานสูง  รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เป็นอนุรักษ์นิยม เป็นผลให้มีการตัดงบประมาณ พร้อมๆกับมีการเก็บภาษีรูปใหม่ เช่น ภาษีรายได้ และภาษีจากที่อยู่อาศัยและที่ดินในเขตเมือง
    ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในพ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรส่วนใหญ่มากที่สุด โดยหนึ่งในหกข้อหลักของคณะราษฎร ได้ระบุไว้ว่า จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ รวมทั้งจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    คณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่าง เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้คณะราษฎรพิจารณา แต่ภายหลังที่ร่างเสร็จแล้ว เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลและสมาชิกของคณะราษฎรบางส่วน  

สาระสำคัญของเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีหลักการพอสรุปได้ดังนี้
1.   รัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการแม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล นอกจากนี้ราษฎรที่เกิดมาย่อจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก เจ็บ ป่วย พิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่อาศัย ฯลฯ
2.   รัฐบาลต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเองโดยเข้าไปดำเนินการผลิตเอง รัฐบาลจะต้องจัดการกสิกรรม อุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ  เช่น สหกรณ์ในทางกสิกรรม สหกรณ์อุตสาหกรรม เป็นต้น สหกรณ์แต่ละแห่งย่อมรวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป หรือร่วมกันในการประดิษฐ์ ร่วมกันในการจำหน่ายขนส่ง ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง นอกจากนี้ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการที่แสวงหากำไรอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถเข้าร่วมได้ รัฐบาลก็จะเป็นผู้นำในการริเริ่มหรือเข้าไปมีส่วนร่วม นั่นก็คือ การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ
3.   รัฐบาลจะต้องสนับสนุนให้มีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง คือให้สามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการขึ้นเอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะให้ปลอดพ้นจากการบีบบังคับของประเทศอื่นๆ ที่เราต้องซื้อสิ่งของที่เราไม่เคยคิดหรือไม่เคยประดิษฐ์มาก่อน
4.   รัฐบาลจะซื้อที่ดินจากเอกชน โดยจ่ายเงินตราหรือออกใบกู้ให้แก่เจ้าของที่ดิน ใบกู้ที่ดินนี้รัฐบาลจะกำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ยตามอัตราการกู้เงินในขณะที่ซื้อ เมื่อได้ที่ดินจะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ (คือ ยกเว้นส่วนที่ให้เป็นที่พักอาศัย) กลับมาเป็นของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็จะสามารถกำหนดลักษณะการแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่เหมาะแก่การประกอบการทางเศรษฐกิจต่างๆ แทนที่จะค้างอยู่อย่างเปล่าประโยชน์ เพราะที่เป็นอยู่นั้นเจ้าของโดยเฉพาะชาวนาต้องไปจำนองไว้กับเอกชน ผู้ให้เงินกู้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลผลิตใดๆ แทนที่จะมีพอเพียงที่จะนำทุนมาสำหรับปรับปรุงการทำนาได้ ก็กลับมาเป็นผลประโยชน์ของบุคคลซึ่งอยู่กินโดยอาศัยดอกเบี้ย
5.   ในการจัดหาทุนเพื่อมาจ่ายค่าแรงและซื้อเครื่องจักรกลอันจำเป็นต่อการประกอบการทางเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลควรเก็บภาษีมรดก ภาษีเงินได้ของเอกชน ภาษีทางอ้อม เช่น รวมไว้ในราคายาสูบ ไม้ขีดไฟ เกลือ ฯลฯ  ภาษีทะเบียนการพนัน การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงินธนาคารแห่งชาติ  ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินในระบบเศษฐกิจ  เช่นบุคคลที่ได้รับเงินเดือนหรือเงินเพิ่มพิเศษ หรือเงินบำนาญจะนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งอุปโภคบริโภคได้ ณ สหกรณ์ของตน ถ้ามีเกินใช้ก็ฝากกับธนาคารแห่งชาติได้โดยมีสาขาอยู่ทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การรวบรวมทุนสำหรับรัฐบาล และผลประโยชน์ให้แก่ผู้ฝากเงินด้วย การกู้เงินจากต่างประเทศ การติดต่อกับบริษัทจำหน่ายเครื่องที่จำเป็นเพื่อหาทางจ่ายเงินส่งเป็นงวดๆ
6.   รัฐบาลกำหนดให้ราษฎรทำงานตามคุณวุฒิ กำลังและความสามารถของตน และเมื่อพ้นเกณท์ที่ต้องทำงานก็จะได้บำนาญ เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิและกำลังความสามารถของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เงินเดือนขั้นต่ำสุดจะต้องพอเพียงแก่การซื้อปัจจัยแห่งการดำรงชีพ นอกจากนั้นรัฐบาลจะอนุญาตให้ผู้มีอาชีพอิสระ เช่น นักประพันธ์ จิตรกร ฯลฯ ดำเนินอาชีพตามความประสงค์ของตนได้
เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2476 แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคมปีเดียวกันนั้น กลับถูกยับยั้งด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 3 ไม่ออกเสียง 5 คะแนน ในที่สุดจึงต้องระงับใช้ไป
    ข้อสังเกตในข้อเสนอของหลวงประดิษฐมนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์นั้น มีแผนการเพิ่มประโยชน์ให้แก่ชาวไทย โดยพยายามให้รัฐเข้าร่วมในกิจการการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์โดยกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดินไปสู่ชาวนา เมื่อไม่มีการดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ คณะราษฎรก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแสวงหาชาวนาไว้เป็นฐานกำลังทางการเมือง เมื่อหันกลับมาจะดึงเอากลุ่มชนชั้นกระฎุมพีเข้าเป็นฐานกำลังทางการเมือง เพื่อต่อต้านอำนาจของชนชั้นศักดินาและกษัตริย์ คณะราษฎรก็ประสบปัญหาว่า ชนชั้นกระฎุมพีมักขาดความเป็นอิสระ และต้องพึ่งอำนาจรัฐและศักดินาเป็นสำคัญ ดังนั้นวิธีการที่คณะราษฎรจะทำให้ได้ก็คือ พยายามสร้างพันธมิตรกับกลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญในขณะนั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถใช้ลัทธิชาตินิยมเข้าปลุกระดมขอความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป จึงทำให้เกิด นโยบาย เศรษฐกิจชาตินิยม หรือ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ขึ้นมาแทนที่เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์
    พัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยการนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เริ่มด้วยการเสริมสร้างเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม ในช่วงพ.ศ. 2481 – 2487 ความพยายามที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นต้นความคิด
    ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีลักษณะเป็นทุนนิยมโดยการนำของรัฐ คือสนับสนุนบรรดานายทุนน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และชาวนาผู้ร่ำรวนเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งหมายถึง ระบบราชการทีสั่งการโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐต้องซื้อที้ดินจากเจ้าของเดิมเป็นครั้งคราว และรัฐต้องขายที่ดินเหล่านั้นให้แก่ชาวนา คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ ชนชั้นกลางขนาดย่อยจะต้องรวมตัวกันในการผลิตและการค้าในรูปสหกรณ์โดยต่างฝ่ายยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยการนำของรัฐก็คือเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามในช่วงพ.ศ. 2481 – 2487 มีลักษณะสำคัญคือ รัฐเข้าร่วมในการลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมและร่วมมือในการลงทุน
   
สาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการมีดังนี้
1.     รัฐจะซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินเป็นคราวๆ ไป แต่ไม่ใช่เอาเป็นของรัฐเองแบบข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่า คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ เพราะมนุษย์ซึ่งติดที่ดินและหาเลี้ยงชีพบนที่ดินย่อมรักชาติและรักประเทศมากกว่ามนุษย์ที่มีอาชีพเร่ร่อน
2.     ระบบเศรษฐกิจชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการยึดหลัก ชาติเป็นจุดหมาย สหกรณ์เป็นวิธีการ โดยที่แนวคิดเรื่องสหกรณ์ของหลวงวิจิตรวาทการไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หากแต่เป็นการสนับสนุนการรวมตัวกันของชนชั้นกลางในด้านการผลิตและการค้าในรูปของสหกรณ์ เช่น การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนให้ผู้ประกอบการได้รวมตัวกันในรูปของสมาคมอาชีพ เช่น สมาคมธนาคาร สมาคมประกันภัย เช่นกัน
3.     ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นอุตสาหกรรมนั้นรัฐบาลจะสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการที่แสวงหากำไรอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถเข้าร่วมได้ รัฐบาลก็จะเป็นผู้นำในการริเริ่มหรือเข้าไปมีส่วนร่วมเอง นั่นก็คือการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ

แนวคิดชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการแตกต่างจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ในหลายประการด้วยกัน เช่น หลวงวิจิตรวาทการเสนอระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต่อต้านศักดินาเดิมแต่เป็นรูปแบบที่อ่อนกว่าข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เพราะการซื้อที่ดินของรัฐทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ระบบสหกรณ์ของหลวงวิจิตรวาทการสนับสนุนกระฎุมพีน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้าย่อยและชาวนารวย เป็นลำดับแรก และไม่ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งขณะนั้นย่อมหมายถึง ภายใต้ระบบราชการที่บงการโดยหลวงพิบูลสงคราม หรือจอมพลป.พิบูลสงคราม

    ประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีกระบวนการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินสามระยะ แรกคือเกิดจากความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินที่ดำรงอยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรสายพลเรือน หัวก้าวหน้าซึ่งนำโดยหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์  มีดำริที่จะปฏิรูปที่ดินด้วยการรวมที่ดินโดยรัฐเพื่อให้ราษฎรทุกคนมีที่ทำกินอย่างทั่วหน้ากัน ดังปรากฎอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร้จ เนื่องจากได้รับการปฏิเสธและต่อต้านจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมทั้งขุนนางและข้าราชการชั้นสูง จนในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ (เตือน บุนนาค,2552)  หลังจากนั้นชนชั้นขุนนางและข้าราชการชั้นสูง โดยเฉพาะข้าราชการสายทหารก็ผลัดเปลี่ยนแย่งชิงอำนาจรัฐโดยทำการปฏิวัติ รัฐประหารรวมแล้ว 18 ครั้ง สำเร็จ 11 ครั้ง ล้มเหลว 7 ครั้ง วนเวียนกันอยู่ ตลอดระยะเวลาเกือบ 78 ปี (เชาวนะ ไตรมาศ,2550 : 142-160) ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นแบบกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น ความตั้งใจที่จะปฏิรูปที่ดินระยะที่สอง เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ด้วยการตราพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 ซึ่งมีบางมาตราที่จำกัดการถือครองที่ดินทั้งสำหรับการเกษตรกรรม การทำอุตสาหกรรมและสำหรับที่อยู่อาศัย แต่ต่อมาถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 49 ในการทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปีพ.ศ. 2502 และการปฎิรูปที่ดินระยะที่สามเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคตุลาคม 2516 รัฐบาลพระราชทานของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้ตราพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ซึ่งมามีผลใช้บังคับในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กฏหมายปฎิรูปที่ดินฉบับนี้มีเนื้อหาสาระในการจัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินของรัฐเพื่อให้เกษตรกรยากจนไร้ที่ดินทำกินให้สามารถหาเลี้ยงชีพได้ซึ่งเป็นแค่การผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียกร้องของบรรดาสมาชิกสหพันธฺชาวนาชาวไร่ เท่านั้น และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ได้ถูกใช้มากระทั่งปัจจุบัน

ภาวะหนี้สินของชาวนาไทย

ภาวะหนี้สินของชาวนาไทย
การเพิ่มค่าเงินบาทของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลตามการวิเคราะห์ของ จอห์นสตัน (Johnston) ผู้ศึกษาค้นคว้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไทยในช่วงเวลาพ.ศ. 2453 – 2474  การเพิ่มค่าเงินบาททำให้การส่งออกของไทยลดลง ขณะเดียวกับที่มีการเก็บภาษีที่ดิน  ค่าขึ้นทะเบียนสัตว์ อุปกรณ์การประมงต่างๆ  เพื่อชดเชยกับภาษีการพนันการภาษีฝิ่นที่ค่อยๆ ถูกยกเลิกไป ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ยังความเดือดร้อนให้แก่ชาวนา โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินและชาวนารายย่อย เพราะรายได้ต่ำ ขาดแคลนทั้งข้าวบริโภคและเมล็ดพันธุ์  ในช่วงเวลาคับขันดังกล่าวชาวนาที่เป็นผู้เช่านายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น เพราะไม่มีเงินเสียค่าเช่านา บางครั้งเจ้าของที่ดินก็เข้ายึดทรัพย์สินของผู้เช่านา จนทำให้หนี้สินของผู้เช่านายิ่งเพิ่มมากขึ้น
    วิกฤติการณ์ข้าวของไทยนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นต่อมาในปีพ.ศ. 2462 เกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าว วิกฤติการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนมากในเรื่องเมล็ดข้าวทำพันธุ์และข้าวสำหรับบริโภค บางแห่งเกิดการแย่งชิงข้าว  ยิ่งภายหลังสงครามค่าครองชีพสูงขึ้น ชาวนาที่มีรายได้ตกต่ำอยู่แล้วต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาแพง ทำให้เกิดภาวะหนี้สิน การใช้ที่ดินจำนองหรือประกันเงินกู้จึงเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ชาวนาสูญเสียที่ดิน
    เศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงปีพ.ศ. 2475 – 2483 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะความเป็นอยู่ของชาวนา เพราะราคาข้าวที่ลดต่ำลงมีผลให้ระดับรายได้ของชาวนาในเวลาดังกล่าวลดลงด้วย  ภาวะราคาข้าวตกต่ำประกอบกับสภาพความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกทำให้ชาวนาต้องประสบปัญหาหนี้สิน แม้ว่าสถานการณ์ผลิตข้าวของไทยจะไม่ได้ตกต่ำมากนักในช่วงพ.ศ. 2475 – 2483 เพราะมูลเหตุสำคัฐที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทยตกต่ำลงเพราะโครงสร้างพื้นฐานการผลิต ที่ใช้พื้นที่ดินและแรงงานมากกว่าประเทศอื่นๆ มีผลให้ต้นทุนการผลิตสูง การขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องใช้แรงงานมากขึ้น เมื่อต้องการแรงงานมากขึ้น ชาวนาในบางพื้นที่จึงเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ในช่วงนี้ชาวนาบางพื้นที่จึงเปลี่ยนจากกาทำนาดำมาเป็นนาหว่านเพื่อประหยัดแรงงานได้มากกว่า
    ศาสตราจารย์คาร์ ซี ซิมเมอร์แมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ออกสำรวจภาวะเศรษฐกิจในชนบทของภาคต่างๆ ในประเทศไทยระหว่างพ.ศ. 2473 – 2474 สรุปได้ว่า  จำนวนหนี้สินรวมของชนบททั้งประเทศเป็นจำนวนเท่ากับ 143,000,000 บาทในพ.ศ. 2473 หนี้จำนวนนี้ถ้าหักของชาวนาภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหนี้ 4 ใน 10 ของชาวนาภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งคำนวณได้ประมาณ 65,000,000 บาทแล้ว ยังคงเหลืออีก 78,000,000 บาท การที่หักเอาหนี้ของชาวนาในภาคใต้  ตะวันออกเฉียงเหนือ และส่วนหนึ่งของหนี้ในภาคเหนือและกลาง เพราะถือว่าเป็นภาคการผลิตเพื่อยังชีพและยังไม่จำเป็นต้องปลดเปลื้องหนี้สิน  หนี้สินจำนวนนี้กู้ยืมมาจากพี่น้องและเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นภัยแก่ลูกหนี้ จึงคงเหลือหนี้จำนวน 78,000,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องปลดเปลื้อง เนื่องจากลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงถ้าไม่จัดการชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ กรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ก็จะสิ้นสุดลงในเวลา 10 ปีข้างหน้า
    หากจำแนกโครงสร้างหนี้สินของชาวชนบทไทยในภูมิภาคต่างๆ ในพ.ศ. 2473 จากการสำรวจของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนแล้ว พบว่า ชาวนาในภาคกลางมีหนี้สินมากที่สุด รวมเป็น 123,500,000 บาท หรือคิดเฉลี่ยหนึ่งครอบครัวเท่ากับ 190 บาท มีจำนวนครอบครัวที่เป็นหนี้ถึง 650,000 ครัวเรือน  ส่วนชาวนาในภาคใต้มีหนี้สินน้อยที่สุด
    ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมากภาคหนึ่งของประเทศ ในทางการเกษตร ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีปริมาณจำกัดโดยที่ดินแต่ละแห่งมีคุณสมบัติหรือคุณภาพแตกต่างกัน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตมากกว่าดินที่มีคุณภาพด้อยกว่า
    ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อการทำนามากที่สุด รองลงไปคือการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่เรากลับพบว่าเนื้อที่ป่าไม้ของไทยมีจำนวนลดลงมาโดยตลอด จากที่เคยมีอยู่กว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมดในปีพ.ศ. 2508 เหลือเพียงร้อยละ 28 ในปีพ.ศ. 2530 และเหลือร้อยละ 25.6 ในปีพ.ศ. 2538 
    ในด้านการถือครองที่ดินทางการเกษตรของประเทศเป็นรายภาคพบว่าในปีพ.ศ. 2538 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรมากที่สุดเท่ากับ 57.86 ล้านไร่ ภาคเหนือ 29.22 ล้านไร่ ภาคกลาง 27.24 ล้านไร่ และภาคใต้ 18.16 ล้านไร่ เนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นเนื้อที่ของตนเองประมาณร้อยละ 71.90 ของเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรทั้งหมด และเป็นเนื้อที่ของคนอื่นประมาณร้อยละ 28.10 ของเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรทั้งหมด
    หลายครัวเรือนในชนบท มีภาระค่าใช้จ่ายที่สะสมมาจากความล้มเหลวของผลผลิตในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ จากรายงานเชิงวิเคราะห์เรื่องรายได้และการกระจายรายได้ของครัวเรือน พ.ศ. 2545 ระดับจังหวัด แสดงให้เห็นว่าข้อมูลก่อนปีที่จะทำการสำรวจคือ พ.ศ. 2544 มากกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั่วประเทศ คือประมาณ 11.2 ล้านครัวเรือน มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 132,151 บาท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงสุดจะมีมูลค่าหนี้ต่ำสุด ประมาณ 87,492 บาท / ครัวเรือน ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มีมูลค่าหนี้สินประมาณ 134,321 บาท ,94,346 บาท และ 123,672 บาท ตามลำดับ โดยกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นตอนพิเศษ มีมูลค่าสูงสุดประมาณ 347,344 บาทต่อครัวเรือน วัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เป็นการกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภค ร้อยละ 63.5 นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร ร้อยละ 20.1 ใช้ในการประกอบธุรกิจการเกษตร ร้อยละ 14.7 ใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ร้อยละ 1.7 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ ,2545 หน้า 36)

วิถีทุนนิยมนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ

วิถีทุนนิยมนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ
   ปัญหาการเช่าที่ดินและหนี้สินทางการเกษตรได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทศวรรษ 2463 (รัชกาลที่ 6 ) และ 2473 (ร.7) ความเสียหายอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ผลผลิตในปีพ.ศ. 2462 -2463 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2473 ไม่เพียงแต่เพิ่มหนี้สินของชาวนาเท่านั้น แต่ยังทำให้หนี้สินที่มีอยู่หนักยิ่งขึ้น การเพิกถอนกรรมสิทธิ์ในทศวรรษ 2473 ยิ่งไปเพิ่มปัญหาสังคมของภาระหนี้สินมากขึ้น มีการกล่าวถึงปัญหาเหล่านี้อย่างไม่จบสิ้น ในวงการรัฐบาลในช่วงหลายปีสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปีแรกๆ ของการปกครองระบบรัฐธรรมนูญ
    ได้มีการกำหนดแผนงานมากมายและได้ตั้งคณะกรรมาธิการหลายคณะ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ระดับราคาที่สูงขึ้นภายใต้ภาวะเงินเฟ้อในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยละภาระหนี้สินเก่าและราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น ช่วยให้ชาวนาสามารถชำระหนี้ของเขาได้ แต่การเช่าที่นาและการเป็นหนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในภาคที่มีการค้า โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลางและในท้องที่รอบๆ เชียงใหม่ การสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง 26 จังหวัดในปีพ.ศ. 2490 ได้แสดงให้เห็นว่าที่นาเช่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีสัดส่วนสูงสุดในภาคกลาง
    สำมะโนเกษตรในปีพ.ศ. 2493 – 2494  ชี้ให้เห็นว่าที่นาเช่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับที่นาทั้งหมด และการเช่านาจะมีความสำคัญเฉพาะในสองสามภาค ซึ่งมีลักษระเฉพาะพิเศษเท่านั้น  จุดสำคัญของปัญหาการเช่าที่นาและปัญหาหนี้สินในยุคนั้นก็คือ ปัญหาอัตราดอกเบี้ย เพราะชาวนามักจะยอมรับเงินที่พ่อค้าคนกลางจ่ายให้ล่วงหน้า โดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงราคาที่เขาต้องจ่าย อีกทั้งไม่มีระบบสินเชื่อทางการเกษตรที่เพียงพอในประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ไม่เคยเตรียมปล่อยเงินกู้ให้แก่ชาวนา และรัฐบาลก็ไม่เคยพยายามที่จะตั้งระบบธนาคารเพื่อการเกษตร  หนี้สินด้านการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในมือของนายทุนเงินกู้และคิดอัตราดอกเบี้ยสูง
(เจมส์ ซี อินแกรม,2552 : การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850 – 1970 : หน้า 93 – 94)
    ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันเนื่องมาจากการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยคือการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของระบบเศรษฐกิจ   วิถีทางในการพัฒนาเศรศฐกิจที่รัฐไทยเลือกใช้คือการพัฒนาแบบไม่สมดุลโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาแบบไม่สมดุลนี้วางอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า การมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดผลในการเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไปด้วยและในบั้นปลายจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และแนวคิดที่ว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลของการไหลรินลงสู่เบื้องล่าง (Trickle Down Effect) ซึ่งหมายถึงผลได้จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไหลล้นจากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีนัยว่าผลดีอันเกิดแต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนทุกส่วนได้รับประโยชน์โดยถ้วนหน้ากัน
    ความพยายามในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย คือ การพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยการพยายามพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม ในระยะต้นปีพ.ศ. 2536 ที่ประเทศไทยประกาศใช้ระบบวิเทศธนกิจ (BIBF’s) ซึ่งสร้างความคล่องตัวทางด้านการเงินผนวกกับวิกฤตค่าเงินเยนแข็งในปีพ.ศ. 2537 ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยมากขึ้น แรงดึงดูดสำคัญ คือ การมีอุปทานของแรงงานจำนวนมากที่มีค่าจ้างแรงงานระดับต่ำกว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงไม่ต่างอะไรกับ แม่เหล็กที่ดึงดูดกองคาราวานของผู้คนกำลังแรงงานที่ยังมีอยู่มากในชนบทสู่ภาคเมือง อันเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม แต่การจากบ้านมาของแรงงานในวัยหนุ่มสาว หมายถึง พลังแรงงานที่ร่อยหรอลงของภาคชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีอาชีพเกษตรกรรม การเหลือเฉพาะคนแก่และเด็กในชนบทจึงกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรด้วย เพราะขาดแคลนแรงงานในการพัฒนาการผลิตในภาคดังกล่าว การจากไปของกำลังแรงงานในชนบท จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาภาคเกษตร อันเป็นอาชีพหลักในชนบทเอง ทำให้ภาคเกษตรมีโอกาสจมปลักอยู่กับความล้าหลังได้มากขึ้น (สมภพ มานะรังสรรค์ ,2545 : หน้า 117 – 120)

พื้นฐานทุนนิยมไทยก่อนพ.ศ. 2475

พื้นฐานทุนนิยมไทยก่อนพ.ศ. 2475
นับจากไทยเปิดประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมในพ.ศ. 2398 มาจนถึงพ.ศ. 2475 กลุ่มทุนหลักในเศรษฐกิจไทยสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ (Shehiro 1989) ดังนี้
-                   กลุ่มทุนยุโรป มีกิจการเช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การเดินเรือ การธนาคาร การส่งออกและนำเข้า
-                   กลุ่มทุนจีน มีกิจการ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย เหมืองแร่ การเดินเรือ การค้าทอง โรงรับจำนำ โรงบ่อน การเป็นกัมปาดอร์ (นายหน้า) การเป็นพ่อค้าคนกลางในเครือข่ายการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค
-                   กลุ่มนายทุนศักดินา ที่สำคัญคือ พระคลังข้างที่เป็นเจ้าที่ดิน นายทุนเงินกู้แก่ชาวจีน และได้ลงทุนในกิจการโรงสี

พรรณี บัวเล็ก (2543 : หน้า 19) ได้แบ่งการพัฒนาทุนนิยมในประเทศออกเป็น 6 ช่วงคือ
1.     ทุนนิยมในสมัยศักดินา ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันเป็นยุคสมัยของ เจ้าภาษีนายอากร ถือเป็นนายทุนกลุ่มแรก มีฐานะเป็นกึ่งข้าราชการที่ทำหน้าที่ช่วยรัฐเก็บภาษีและพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับภาษีอากร ระบบนี้สิ้นสุดไปเมื่อรัฐปรับตัวเข้าสู่รัฐสมัยใหม่
2.     ทุนนิยมการค้าหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สาระสำคัญคือ เปิดโอกาสให้นำสินค้าเข้า – ออก ประเทศได้สะดวก อันเป็นการยกเลิกการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้าและการลดอัตราภาษีร้อยละ 3 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบบการค้าเสรี และระบบการผลิตสมัยใหม่
3.     ทุนนิยมการค้าเสรี หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปีพ.ศ.2475  มีการขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าอย่างมากและญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคทำให้เริ่มมีการเกิดทุนในชนบท โดยผ่านทางพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายกับญี่ปุ่น
4.     ทุนนิยมแบบชาตินิยม คณะราษฎร์กับการสร้างทุนนิยมโดยรัฐเป็นการสร้างทุนนิยมโดยรัฐแนวทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมผ่านทางเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์
5.    ทุนนิยมขุนนางกับทุนนิยมเอกชน เป็นการผูกพันของทุนนิยมของสองกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มที่อาศัยการอุปถัมภ์ของนักการเมือง
6.    ทุนนิยมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นยุคสมัยที่ทุนนิยมในประเทศไทยถูกพัฒนาขึ้นภายใต้พันธมิตร 3 กลุ่ม คือ ทหาร ทุนต่างชาติ และทุนท้องถิ่น การพัฒนาของทุนในยุคสมัยนี้ถูกกำหนดจากรัฐ บนพื้นฐานของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา คือ ปัญหาชุมชนเมือง ปัญหากรรมกรและแรงงานราคาถูก ปัญหาชนบทถูกทอดทิ้ง ปัญหาปัญญาชน และปัญหาของกลุ่มทุนเอง

เก็บของเก่ามาเล่าใหม่

เคยเรียบเรียงเรืื่องเกี่ยวกับทุนนิยมเอาไว้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แระ เก็บไว้ที่นี่อีกสักหน่อยจะเป็นไร

แนวคิดเกี่ยวกับทุนนิยม
ผู้เสนอแนวคิดแบบการค้าเสรีในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือ อาดัม สมิธ (Adam Smith) โดยกล่าวไว้ในหนังสือ ความมั่งคั่งของรัฐ (The Wealth of Nation) ว่า ต้องให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโดยรัฐต้องไม่เข้ามาแทรกแซงให้เกิดมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) เป็นผู้กำหนดกลไกเศรษฐกิจ แต่ รัฐมีหน้าที่เพียงรักษาความสงบภายในรัฐเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปได้โดยสะดวก การแข่งขันกันโดยเสรีจะทำให้เศรษฐกิจมั่งคั่งขึ้น
ทุนนิยม(capitalism) กล่าวถึง ทุนและที่ดินเป็นสมบัติส่วนบุคคล การตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมส่วนบุคคล ไม่ใช่การควบคุมบริหารโดยรัฐ และตลาดเสรีหรือ เกือบเสรีจะเป็นตัวกำหนดราคา ควบคุมและระบุทิศทางการผลิต รวมถึงเป็นที่สร้างรายรับ บางคนกล่าวว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันของโลกตะวันตกคือระบบทุนนิยม ในขณะที่หลายคนมองว่าในบางประเทศก็มีระบบเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจแบบผสม กล่าวคือ มีลักษณะเฉพาะของทั้งทุนนิยมและรัฐนิยม
แนวคิดทุนนิยม จะมีแนวคิดตรงข้ามกับสังคมนิยม ที่มีความเห็นคัดค้านว่ากำไรที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมทำให้คน ที่มีฐานะมั่งคั่งรวยมากขึ้น โดยกำไรควรจะมีการแบ่งปันให้กับสังคมในชั้นล่างลงมา

ทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะที่สำคัญดังนี้
-   การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งหมายความรวมถึงการ อนุญาตให้เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินได้มากเท่าที่จะหามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
-   การแข่งขันเสรี ลัทธิทุนนิยมสนับสนุนให้มีการแข่งขันเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ขายเสนอราคาที่เหมาะสมที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตที่ดีที่สุด คนที่ไม่เหมาะสมกับการผลิตประเภทนั้นๆ จะถูกกันออกจากตลาด และเหลือแต่ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพ
-   ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งหมายถึงระบบที่อนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในการผลิตหรือใช้จ่ายเงินเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการได้ตามความสามารถ และความต้องการโดยไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับจากรัฐบาล โดยเชื่อว่าในที่สุดจะทำให้ราคาของสินค้าและบริการอยู่ในจุดสมดุล คือจุดที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตมีความเห็นตรงกันว่าราคาอยู่ในช่วงที่เหมาะสม
-   อิสระในการบริหาร ลัทธิทุนนิยมต้องการอิสระในการบริหารงานโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล เพราะในความคิดของพวกทุนนิยมเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางเข้า     ใจได้หมดว่าเอกชนต้องการอะไร ส่วนคำว่าสังคมนิยมนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง เพื่อผลประโยชน์ของชุมชนโดยส่วนรวม ลัทธินี้จึงอยู่คนละด้านกับทุนนิยม