2/08/2555

วิถีทุนนิยมนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ

วิถีทุนนิยมนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ
   ปัญหาการเช่าที่ดินและหนี้สินทางการเกษตรได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทศวรรษ 2463 (รัชกาลที่ 6 ) และ 2473 (ร.7) ความเสียหายอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ผลผลิตในปีพ.ศ. 2462 -2463 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2473 ไม่เพียงแต่เพิ่มหนี้สินของชาวนาเท่านั้น แต่ยังทำให้หนี้สินที่มีอยู่หนักยิ่งขึ้น การเพิกถอนกรรมสิทธิ์ในทศวรรษ 2473 ยิ่งไปเพิ่มปัญหาสังคมของภาระหนี้สินมากขึ้น มีการกล่าวถึงปัญหาเหล่านี้อย่างไม่จบสิ้น ในวงการรัฐบาลในช่วงหลายปีสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปีแรกๆ ของการปกครองระบบรัฐธรรมนูญ
    ได้มีการกำหนดแผนงานมากมายและได้ตั้งคณะกรรมาธิการหลายคณะ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ระดับราคาที่สูงขึ้นภายใต้ภาวะเงินเฟ้อในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยละภาระหนี้สินเก่าและราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น ช่วยให้ชาวนาสามารถชำระหนี้ของเขาได้ แต่การเช่าที่นาและการเป็นหนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในภาคที่มีการค้า โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลางและในท้องที่รอบๆ เชียงใหม่ การสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง 26 จังหวัดในปีพ.ศ. 2490 ได้แสดงให้เห็นว่าที่นาเช่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีสัดส่วนสูงสุดในภาคกลาง
    สำมะโนเกษตรในปีพ.ศ. 2493 – 2494  ชี้ให้เห็นว่าที่นาเช่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับที่นาทั้งหมด และการเช่านาจะมีความสำคัญเฉพาะในสองสามภาค ซึ่งมีลักษระเฉพาะพิเศษเท่านั้น  จุดสำคัญของปัญหาการเช่าที่นาและปัญหาหนี้สินในยุคนั้นก็คือ ปัญหาอัตราดอกเบี้ย เพราะชาวนามักจะยอมรับเงินที่พ่อค้าคนกลางจ่ายให้ล่วงหน้า โดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงราคาที่เขาต้องจ่าย อีกทั้งไม่มีระบบสินเชื่อทางการเกษตรที่เพียงพอในประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ไม่เคยเตรียมปล่อยเงินกู้ให้แก่ชาวนา และรัฐบาลก็ไม่เคยพยายามที่จะตั้งระบบธนาคารเพื่อการเกษตร  หนี้สินด้านการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในมือของนายทุนเงินกู้และคิดอัตราดอกเบี้ยสูง
(เจมส์ ซี อินแกรม,2552 : การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850 – 1970 : หน้า 93 – 94)
    ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันเนื่องมาจากการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยคือการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของระบบเศรษฐกิจ   วิถีทางในการพัฒนาเศรศฐกิจที่รัฐไทยเลือกใช้คือการพัฒนาแบบไม่สมดุลโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาแบบไม่สมดุลนี้วางอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า การมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดผลในการเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไปด้วยและในบั้นปลายจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และแนวคิดที่ว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลของการไหลรินลงสู่เบื้องล่าง (Trickle Down Effect) ซึ่งหมายถึงผลได้จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไหลล้นจากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีนัยว่าผลดีอันเกิดแต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนทุกส่วนได้รับประโยชน์โดยถ้วนหน้ากัน
    ความพยายามในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย คือ การพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยการพยายามพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม ในระยะต้นปีพ.ศ. 2536 ที่ประเทศไทยประกาศใช้ระบบวิเทศธนกิจ (BIBF’s) ซึ่งสร้างความคล่องตัวทางด้านการเงินผนวกกับวิกฤตค่าเงินเยนแข็งในปีพ.ศ. 2537 ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยมากขึ้น แรงดึงดูดสำคัญ คือ การมีอุปทานของแรงงานจำนวนมากที่มีค่าจ้างแรงงานระดับต่ำกว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงไม่ต่างอะไรกับ แม่เหล็กที่ดึงดูดกองคาราวานของผู้คนกำลังแรงงานที่ยังมีอยู่มากในชนบทสู่ภาคเมือง อันเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม แต่การจากบ้านมาของแรงงานในวัยหนุ่มสาว หมายถึง พลังแรงงานที่ร่อยหรอลงของภาคชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีอาชีพเกษตรกรรม การเหลือเฉพาะคนแก่และเด็กในชนบทจึงกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรด้วย เพราะขาดแคลนแรงงานในการพัฒนาการผลิตในภาคดังกล่าว การจากไปของกำลังแรงงานในชนบท จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาภาคเกษตร อันเป็นอาชีพหลักในชนบทเอง ทำให้ภาคเกษตรมีโอกาสจมปลักอยู่กับความล้าหลังได้มากขึ้น (สมภพ มานะรังสรรค์ ,2545 : หน้า 117 – 120)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น