2/08/2555

พื้นฐานทุนนิยมไทยก่อนพ.ศ. 2475

พื้นฐานทุนนิยมไทยก่อนพ.ศ. 2475
นับจากไทยเปิดประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมในพ.ศ. 2398 มาจนถึงพ.ศ. 2475 กลุ่มทุนหลักในเศรษฐกิจไทยสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ (Shehiro 1989) ดังนี้
-                   กลุ่มทุนยุโรป มีกิจการเช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การเดินเรือ การธนาคาร การส่งออกและนำเข้า
-                   กลุ่มทุนจีน มีกิจการ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย เหมืองแร่ การเดินเรือ การค้าทอง โรงรับจำนำ โรงบ่อน การเป็นกัมปาดอร์ (นายหน้า) การเป็นพ่อค้าคนกลางในเครือข่ายการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค
-                   กลุ่มนายทุนศักดินา ที่สำคัญคือ พระคลังข้างที่เป็นเจ้าที่ดิน นายทุนเงินกู้แก่ชาวจีน และได้ลงทุนในกิจการโรงสี

พรรณี บัวเล็ก (2543 : หน้า 19) ได้แบ่งการพัฒนาทุนนิยมในประเทศออกเป็น 6 ช่วงคือ
1.     ทุนนิยมในสมัยศักดินา ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันเป็นยุคสมัยของ เจ้าภาษีนายอากร ถือเป็นนายทุนกลุ่มแรก มีฐานะเป็นกึ่งข้าราชการที่ทำหน้าที่ช่วยรัฐเก็บภาษีและพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับภาษีอากร ระบบนี้สิ้นสุดไปเมื่อรัฐปรับตัวเข้าสู่รัฐสมัยใหม่
2.     ทุนนิยมการค้าหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สาระสำคัญคือ เปิดโอกาสให้นำสินค้าเข้า – ออก ประเทศได้สะดวก อันเป็นการยกเลิกการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้าและการลดอัตราภาษีร้อยละ 3 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบบการค้าเสรี และระบบการผลิตสมัยใหม่
3.     ทุนนิยมการค้าเสรี หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปีพ.ศ.2475  มีการขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าอย่างมากและญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคทำให้เริ่มมีการเกิดทุนในชนบท โดยผ่านทางพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายกับญี่ปุ่น
4.     ทุนนิยมแบบชาตินิยม คณะราษฎร์กับการสร้างทุนนิยมโดยรัฐเป็นการสร้างทุนนิยมโดยรัฐแนวทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมผ่านทางเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์
5.    ทุนนิยมขุนนางกับทุนนิยมเอกชน เป็นการผูกพันของทุนนิยมของสองกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มที่อาศัยการอุปถัมภ์ของนักการเมือง
6.    ทุนนิยมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นยุคสมัยที่ทุนนิยมในประเทศไทยถูกพัฒนาขึ้นภายใต้พันธมิตร 3 กลุ่ม คือ ทหาร ทุนต่างชาติ และทุนท้องถิ่น การพัฒนาของทุนในยุคสมัยนี้ถูกกำหนดจากรัฐ บนพื้นฐานของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา คือ ปัญหาชุมชนเมือง ปัญหากรรมกรและแรงงานราคาถูก ปัญหาชนบทถูกทอดทิ้ง ปัญหาปัญญาชน และปัญหาของกลุ่มทุนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น