2/08/2555

เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในสมัยรัชกาลที่ 7

เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในสมัยรัชกาลที่ 7
    เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2472 – 2475  โดยเริ่มจากการพังทลายของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา และแผ่ขยายไปทั่วโลกของระบบทุนนิยม  ผลกระทบใหญ่ที่มีต่อเมืองไทยยุคนั้นในระดับประชาชนก็คือ ชาวนาที่เพาะปลูกข้าวซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ มีราคาข้าวที่ตกต่ำลงอย่างมากถึง 2 ใน 3  และราคาที่ดินก็ตกลง  1 ใน 6 ชาวนาขาดเงินสดที่จะใช้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ซึ่งภาษีหลักคือ เงินรัชชูปการ ปีละ 6 บาทกับเงินเสียอากรค่านา ทั้งยังไม่สามารถหาเงินกู้หรือเครดิตมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ จึงเกิดหนี้สินรุงรัง และเกิดอัตราการว่างงานสูง  รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เป็นอนุรักษ์นิยม เป็นผลให้มีการตัดงบประมาณ พร้อมๆกับมีการเก็บภาษีรูปใหม่ เช่น ภาษีรายได้ และภาษีจากที่อยู่อาศัยและที่ดินในเขตเมือง
    ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในพ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรส่วนใหญ่มากที่สุด โดยหนึ่งในหกข้อหลักของคณะราษฎร ได้ระบุไว้ว่า จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ รวมทั้งจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    คณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่าง เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้คณะราษฎรพิจารณา แต่ภายหลังที่ร่างเสร็จแล้ว เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลและสมาชิกของคณะราษฎรบางส่วน  

สาระสำคัญของเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีหลักการพอสรุปได้ดังนี้
1.   รัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการแม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล นอกจากนี้ราษฎรที่เกิดมาย่อจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก เจ็บ ป่วย พิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่อาศัย ฯลฯ
2.   รัฐบาลต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเองโดยเข้าไปดำเนินการผลิตเอง รัฐบาลจะต้องจัดการกสิกรรม อุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ  เช่น สหกรณ์ในทางกสิกรรม สหกรณ์อุตสาหกรรม เป็นต้น สหกรณ์แต่ละแห่งย่อมรวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป หรือร่วมกันในการประดิษฐ์ ร่วมกันในการจำหน่ายขนส่ง ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง นอกจากนี้ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการที่แสวงหากำไรอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถเข้าร่วมได้ รัฐบาลก็จะเป็นผู้นำในการริเริ่มหรือเข้าไปมีส่วนร่วม นั่นก็คือ การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ
3.   รัฐบาลจะต้องสนับสนุนให้มีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง คือให้สามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการขึ้นเอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะให้ปลอดพ้นจากการบีบบังคับของประเทศอื่นๆ ที่เราต้องซื้อสิ่งของที่เราไม่เคยคิดหรือไม่เคยประดิษฐ์มาก่อน
4.   รัฐบาลจะซื้อที่ดินจากเอกชน โดยจ่ายเงินตราหรือออกใบกู้ให้แก่เจ้าของที่ดิน ใบกู้ที่ดินนี้รัฐบาลจะกำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ยตามอัตราการกู้เงินในขณะที่ซื้อ เมื่อได้ที่ดินจะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ (คือ ยกเว้นส่วนที่ให้เป็นที่พักอาศัย) กลับมาเป็นของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็จะสามารถกำหนดลักษณะการแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่เหมาะแก่การประกอบการทางเศรษฐกิจต่างๆ แทนที่จะค้างอยู่อย่างเปล่าประโยชน์ เพราะที่เป็นอยู่นั้นเจ้าของโดยเฉพาะชาวนาต้องไปจำนองไว้กับเอกชน ผู้ให้เงินกู้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลผลิตใดๆ แทนที่จะมีพอเพียงที่จะนำทุนมาสำหรับปรับปรุงการทำนาได้ ก็กลับมาเป็นผลประโยชน์ของบุคคลซึ่งอยู่กินโดยอาศัยดอกเบี้ย
5.   ในการจัดหาทุนเพื่อมาจ่ายค่าแรงและซื้อเครื่องจักรกลอันจำเป็นต่อการประกอบการทางเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลควรเก็บภาษีมรดก ภาษีเงินได้ของเอกชน ภาษีทางอ้อม เช่น รวมไว้ในราคายาสูบ ไม้ขีดไฟ เกลือ ฯลฯ  ภาษีทะเบียนการพนัน การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงินธนาคารแห่งชาติ  ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินในระบบเศษฐกิจ  เช่นบุคคลที่ได้รับเงินเดือนหรือเงินเพิ่มพิเศษ หรือเงินบำนาญจะนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งอุปโภคบริโภคได้ ณ สหกรณ์ของตน ถ้ามีเกินใช้ก็ฝากกับธนาคารแห่งชาติได้โดยมีสาขาอยู่ทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การรวบรวมทุนสำหรับรัฐบาล และผลประโยชน์ให้แก่ผู้ฝากเงินด้วย การกู้เงินจากต่างประเทศ การติดต่อกับบริษัทจำหน่ายเครื่องที่จำเป็นเพื่อหาทางจ่ายเงินส่งเป็นงวดๆ
6.   รัฐบาลกำหนดให้ราษฎรทำงานตามคุณวุฒิ กำลังและความสามารถของตน และเมื่อพ้นเกณท์ที่ต้องทำงานก็จะได้บำนาญ เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิและกำลังความสามารถของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เงินเดือนขั้นต่ำสุดจะต้องพอเพียงแก่การซื้อปัจจัยแห่งการดำรงชีพ นอกจากนั้นรัฐบาลจะอนุญาตให้ผู้มีอาชีพอิสระ เช่น นักประพันธ์ จิตรกร ฯลฯ ดำเนินอาชีพตามความประสงค์ของตนได้
เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2476 แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคมปีเดียวกันนั้น กลับถูกยับยั้งด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 3 ไม่ออกเสียง 5 คะแนน ในที่สุดจึงต้องระงับใช้ไป
    ข้อสังเกตในข้อเสนอของหลวงประดิษฐมนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์นั้น มีแผนการเพิ่มประโยชน์ให้แก่ชาวไทย โดยพยายามให้รัฐเข้าร่วมในกิจการการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์โดยกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดินไปสู่ชาวนา เมื่อไม่มีการดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ คณะราษฎรก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแสวงหาชาวนาไว้เป็นฐานกำลังทางการเมือง เมื่อหันกลับมาจะดึงเอากลุ่มชนชั้นกระฎุมพีเข้าเป็นฐานกำลังทางการเมือง เพื่อต่อต้านอำนาจของชนชั้นศักดินาและกษัตริย์ คณะราษฎรก็ประสบปัญหาว่า ชนชั้นกระฎุมพีมักขาดความเป็นอิสระ และต้องพึ่งอำนาจรัฐและศักดินาเป็นสำคัญ ดังนั้นวิธีการที่คณะราษฎรจะทำให้ได้ก็คือ พยายามสร้างพันธมิตรกับกลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญในขณะนั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถใช้ลัทธิชาตินิยมเข้าปลุกระดมขอความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป จึงทำให้เกิด นโยบาย เศรษฐกิจชาตินิยม หรือ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ขึ้นมาแทนที่เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์
    พัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยการนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เริ่มด้วยการเสริมสร้างเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม ในช่วงพ.ศ. 2481 – 2487 ความพยายามที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นต้นความคิด
    ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีลักษณะเป็นทุนนิยมโดยการนำของรัฐ คือสนับสนุนบรรดานายทุนน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และชาวนาผู้ร่ำรวนเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งหมายถึง ระบบราชการทีสั่งการโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐต้องซื้อที้ดินจากเจ้าของเดิมเป็นครั้งคราว และรัฐต้องขายที่ดินเหล่านั้นให้แก่ชาวนา คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ ชนชั้นกลางขนาดย่อยจะต้องรวมตัวกันในการผลิตและการค้าในรูปสหกรณ์โดยต่างฝ่ายยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยการนำของรัฐก็คือเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามในช่วงพ.ศ. 2481 – 2487 มีลักษณะสำคัญคือ รัฐเข้าร่วมในการลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมและร่วมมือในการลงทุน
   
สาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการมีดังนี้
1.     รัฐจะซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินเป็นคราวๆ ไป แต่ไม่ใช่เอาเป็นของรัฐเองแบบข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่า คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ เพราะมนุษย์ซึ่งติดที่ดินและหาเลี้ยงชีพบนที่ดินย่อมรักชาติและรักประเทศมากกว่ามนุษย์ที่มีอาชีพเร่ร่อน
2.     ระบบเศรษฐกิจชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการยึดหลัก ชาติเป็นจุดหมาย สหกรณ์เป็นวิธีการ โดยที่แนวคิดเรื่องสหกรณ์ของหลวงวิจิตรวาทการไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หากแต่เป็นการสนับสนุนการรวมตัวกันของชนชั้นกลางในด้านการผลิตและการค้าในรูปของสหกรณ์ เช่น การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนให้ผู้ประกอบการได้รวมตัวกันในรูปของสมาคมอาชีพ เช่น สมาคมธนาคาร สมาคมประกันภัย เช่นกัน
3.     ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นอุตสาหกรรมนั้นรัฐบาลจะสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการที่แสวงหากำไรอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถเข้าร่วมได้ รัฐบาลก็จะเป็นผู้นำในการริเริ่มหรือเข้าไปมีส่วนร่วมเอง นั่นก็คือการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ

แนวคิดชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการแตกต่างจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ในหลายประการด้วยกัน เช่น หลวงวิจิตรวาทการเสนอระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต่อต้านศักดินาเดิมแต่เป็นรูปแบบที่อ่อนกว่าข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เพราะการซื้อที่ดินของรัฐทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ระบบสหกรณ์ของหลวงวิจิตรวาทการสนับสนุนกระฎุมพีน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้าย่อยและชาวนารวย เป็นลำดับแรก และไม่ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งขณะนั้นย่อมหมายถึง ภายใต้ระบบราชการที่บงการโดยหลวงพิบูลสงคราม หรือจอมพลป.พิบูลสงคราม

    ประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีกระบวนการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินสามระยะ แรกคือเกิดจากความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินที่ดำรงอยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรสายพลเรือน หัวก้าวหน้าซึ่งนำโดยหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์  มีดำริที่จะปฏิรูปที่ดินด้วยการรวมที่ดินโดยรัฐเพื่อให้ราษฎรทุกคนมีที่ทำกินอย่างทั่วหน้ากัน ดังปรากฎอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร้จ เนื่องจากได้รับการปฏิเสธและต่อต้านจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมทั้งขุนนางและข้าราชการชั้นสูง จนในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ (เตือน บุนนาค,2552)  หลังจากนั้นชนชั้นขุนนางและข้าราชการชั้นสูง โดยเฉพาะข้าราชการสายทหารก็ผลัดเปลี่ยนแย่งชิงอำนาจรัฐโดยทำการปฏิวัติ รัฐประหารรวมแล้ว 18 ครั้ง สำเร็จ 11 ครั้ง ล้มเหลว 7 ครั้ง วนเวียนกันอยู่ ตลอดระยะเวลาเกือบ 78 ปี (เชาวนะ ไตรมาศ,2550 : 142-160) ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นแบบกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น ความตั้งใจที่จะปฏิรูปที่ดินระยะที่สอง เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ด้วยการตราพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 ซึ่งมีบางมาตราที่จำกัดการถือครองที่ดินทั้งสำหรับการเกษตรกรรม การทำอุตสาหกรรมและสำหรับที่อยู่อาศัย แต่ต่อมาถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 49 ในการทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปีพ.ศ. 2502 และการปฎิรูปที่ดินระยะที่สามเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคตุลาคม 2516 รัฐบาลพระราชทานของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้ตราพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ซึ่งมามีผลใช้บังคับในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กฏหมายปฎิรูปที่ดินฉบับนี้มีเนื้อหาสาระในการจัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินของรัฐเพื่อให้เกษตรกรยากจนไร้ที่ดินทำกินให้สามารถหาเลี้ยงชีพได้ซึ่งเป็นแค่การผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียกร้องของบรรดาสมาชิกสหพันธฺชาวนาชาวไร่ เท่านั้น และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ได้ถูกใช้มากระทั่งปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น