2/10/2555

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์
manager.co.th / 31 มกราคม 2552


เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวโรฮิงยาอพยพ มาอีกแล้วในทะเล เลยทำให้นึกถึงบทความนี้ที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2552


ไม่มีที่มา...ไม่มีที่อยู่...ไม่รู้ที่ไป...เป็นสิ่งที่ดิฉันนึกถึงคนกลุ่มนี้ค่ะ...ไร้แผ่นดินอาศัย ไร้จุดหมายของชีวิต ไร้สิ้นทุกสิ่ง...มีชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์ ..ชนเผ่าโรฮิงยา...
       หลายวันมานี้ดิฉันจดจ่ออยู่กับข่าวความคืบหน้าของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลไทย จนเป็นเหตุให้สื่อต่างประเทศโจมตีเมืองไทยถึงการผลักดันชนกลุ่มนี้ออกนอกแผ่นดิน...
       
       โรฮิงยาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกันหรือยะไข่ในแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่7 คือใครกันแน่?! ในมุมมองของรัฐบาลพม่ากล่าวว่า โรฮิงยาคือผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย...ในสายตาของชาวตะวันตกมองว่าโรฮิงยาเป็นกลุ่มชนที่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน....และสายตาของคนไทยอย่างเราเล่า จะมองชนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร?
       
       โรฮิงยา Rohingya เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ข้อมูลหลากหลายบอกถึงจำนวนประชากรโรฮิงยาบนโลกใบนี้ว่ามีถึงล้านกว่าคน อาศัยอยู่มากทางตอนเหนือโดยเฉพาะในเขตมายูของยะไข่
       
       หากเราย้อนกลับไปในอดีตครั้งที่แผ่นดินยังปกครองกันด้วยระบอบอาณาจักร ยะไข่เคยเป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีเจ้าแผ่นดินเช่นเดียวกับอาณาจักรอื่นๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ยะไข่เคยเป็นรัฐอิสระได้ไม่นาน ก็ถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่นเสมอ
       กษัตริย์ยะไข่นามพระเจ้านรเมฆลา ได้ขอความช่วยเหลือจากสุลต่านเบงกอล ให้ช่วยปกป้องอาณาจักรของตัว นับแต่นั้นมากษัตริย์ยะไข่จึงต้องมีพระนามแบบมุสลิมต่อท้าย
       โดยมีสุลต่านเบงกอลเป็นผู้พระราชทานนามให้ตั้งแต่พ.ศ.1473 – 2074
       
       หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบในบริเวณดินแดนยะไข่ คือศิลาจารึกที่มีข้อความกล่าวถึงสมัยตอนกลางคริสตวรรษที่ 4 เป็นจารึกที่กล่าวถึงราชวงศ์จันทรา และเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ที่มีชื่อว่า เมืองไวสาลี ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นอินเดียที่อพยพมาจากแคว้นเบงกอล
       
       คำถามต่อมาคือ คนในดินแดนยะไข่ปัจจุบัน คือลูกหลานของชนกลุ่มแรกในแผ่นดินนี้หรือไม่.... ไม่อาจหาคำตอบได้ เช่นเดียวกับแผ่นดินไทยของเรา ที่หากย้อนประวัติศาสตร์ไป เราก็คงไม่อาจหาคำตอบที่แน่ชัดได้ว่า เราคือใคร เกิดมาจากชนชาติไหน ขอม มอญ ทวารวดี หรือ ใครกันแน่
       
       แต่ที่แน่ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง บริเวณยะไข่ ครั้งที่อังกฤษทำสงครามกับพม่าในครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2367 อังกฤษได้แคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ กระทั่งอีก 26 ปีต่อมา อังกฤษและพม่าทำสงครามกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อังกฤษได้แคว้นพะโคของพม่ามาครอบครอง และกลายเป็นเจ้าอาณานิคม
       
       เหตุการณ์ช่วงนี้ก่อความวุ่นวายให้กับคนในแผ่นดินนี้ พอดูทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอพยพคนจากแผ่นดินอื่น เข้ามาอยู่ อีกทั้งยังจัดสรรแผ่นดินส่วนนี้ให้ไปรวมอยู่กับแผ่นดินของอินเดีย ในนามของ British Burma โดยอังกฤษรวมยะไข่ ตะนาวศรี พะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันและให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และบางข้อมูลได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงเวลานี้เองที่อังกฤษพยายามนำประชาชนชาวเบงกอลเข้ามาอยู่ในดินแดนยะไข่เพิ่มขึ้นและเรียกคนกลุ่มนี้ว่า โรฮิงยา และเสี้ยมให้ชาวพุทธกับมุสลิม เข้าห่ำหั่นกันเอง
       หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ พม่าได้รับเอกราช รัฐธรรมนูญของพม่าฉบับพ.ศ.2490 ยอมให้ดินแดนของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ ยกเว้นยะไข่ ที่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นเพียงภาคเท่านั้น
       แล้วพม่าก็ประสบชะตากรรมอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ.2516 เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศไม่ให้รัฐใดมีสิทธิ์แยกตัวไปตั้งเป็นอิสระได้ นับเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆที่ ยืดเยื้อยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน
       
       เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ชาวโรฮิงยาที่อยู่ติดแผ่นดินยะไข่นั้นเล่า จะตกอยู่ในสถานะเช่นใด?!
       
       ชาวโรฮิงยาผู้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับชาวเอเชียใต้ โดยเฉพาะชาวเบงกอล บางส่วนกล่าวว่าสืบเชื้อสายมาจากอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน บางข้อมูลก็กล่าวว่าอพยพเข้ามาในยะไข่ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโมกุล ด้วยเชื่อกันว่าอดีตบริเวณที่โรฮิงยาอาศัยในปัจจุบันนั้น เป็นถิ่นฐานของชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขายแต่โบราณ ราวศตวรรษที่ 7 – 12
       โรฮิงยามีภาษาพูดเป็นของตัวเองคือภาษาอินดิค แน่นอนเขามีธงประจำชาติตัวเองด้วย
       
       เมื่อทุกอย่างเดินทางมาถึงวันนี้ รัฐบาลพม่ามองว่าโรฮิงยาเป็นประชาชนลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายและเป็นผู้อพยพมาจากบังคลาเทศ ในสมัยที่พม่าตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยทัศนคติเช่นนี้เองที่ทำให้ โรฮิงยาไม่เคยได้รับการรวมเข้าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐธรรมนูญของพม่าและแน่นอน ไม่เคยได้รับการรับรองเป็นสัญชาติพม่าด้วย
       
       ปีพ.ศ.2521 รัฐบาลพม่ามีนโยบายสร้างชาติพม่า เพื่อกำจัดชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในปีเดียวกันนั้นเอง ที่ชาวโรฮิงยากว่าสองแสนคนต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังคลาเทศ หลังจากยุทธการ Dragon King โดยกองทัพพม่าทำขึ้นเพื่อกำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย แน่นอนคะว่า กระบวนการนี้ส่งผลโดยตรงต่อคนบริสุทธิ์ และนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายทุกอย่าง
       
       โรฮิงยาอพยพเข้าบังคลาเทศถึงสองระลอกในช่วงเวลาไล่เลี่ย แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลบังคลาเทศส่งตัวชาวโรฮิงยากว่า 5 หมื่นคนกลับพม่า มีการทำความเข้าใจระหว่างประเทศพม่าและบังคลาเทศ บ้านพักผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงยากว่า 6,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ Naff ติดกับชายแดนพม่า ถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่า เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย
       
       ดิฉันนึกถึงคำว่าจนตรอกค่ะ...มนุษย์ผู้หนึ่งเกิดมา โดยมีเพียงแผ่นดิน ผืนน้ำและแผ่นฟ้ารับรองว่าเขาคือ ‘คน’ แต่ไม่เคยได้รับสิทธิเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ไม่เคยมีโอกาสเช่นมนุษย์ผู้อื่น....พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร...
       ดิฉันเข้าใจเอาเองว่า สิ่งที่พม่ากำจัดการแต่งงานของชาวโรฮิงยา ก็เพื่อไม่ต้องการเพิ่มประชากรของเผ่าพันธุ์โรฮิงยา บนโลกใบนี้อีกต่อไป... เขาต้องการให้เผ่าพันธุ์นี้สูญพันธุ์!!! คำถามต่อมา คือ....มีสิทธิไหม ที่จะไปกำจัดหรือจำกัดเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่ง โดยคนกลุ่มเดียวบนโลกใบนี้....
       
       ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เคยใช้ได้จริงหรือไม่!!
       ...............มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฎิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ.....
       
       และคงต้องถามย้อนต่อไปอีกด้วยว่า แท้แล้ว ต้นตอของปัญหานั้น อยู่ที่ใครกันแน่ ผู้เป็นคนก่อ...ผลพวงของการล่าอาณานิคม ผลพวงของสงคราม ยังมีอีกกี่กลุ่มชน ยังมีอีกกี่แห่งบนโลกใบนี้ ที่ยังรอคอยให้เพื่อนร่วมโลกรับรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน.
       
       ขอบคุณข้อมูล www.eddyvanwessel.com
        www.rohingya.org
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น