1/09/2556

เพราะมีรัีก...จึงเกิดรัก

เรื่องสั้น...หรือความเรียงดี..
สุดแท้แต่จะเรียกมันว่าอะไร
แต่มันคือผลงานชิ้นแรกที่ทำและเผยแพร่ในประเภทนี้
เมื่อปี 2546 ร่วมกับนักเขียนหญิงอื่นๆ ใน
พอกเกตบุ๊คชื่อ in my mind มีรัก มีเรา มีชีวิต
ของสำนักพิมพ์วันอังคาร
   ------------------------------------
เพราะมีรัก...จึงเกิดรัก...
ภาพโดย / มงคล เปลี่ยนบางช้าง
นพวรรณ สิริเวชกุล / 2546



ฉันเคยสงสัยว่า มนุษย์ยุคแรกของโลกเมื่อกว่าห้าแสนปีมาแล้วอย่างกลุ่ม 'โฮโม อิเรคตัส' ผู้สามารถเดินเหยียดตัวตรง ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชป่าเป็นอาหารนั้น จะมีความรู้สึกเรียกว่า 'รัก' แล้วหรือยัง

แล้วความรู้สึกรักนั้น เกิดขึ้นกับมนุษย์เราตั้งแต่สมัยไหน หรือมันเกิดขึ้น หลังจากมนุษย์เริ่มสืบพันธุ์ ดังเช่นสัตว์โลกอื่นๆ ทั่วไปกระทำกัน  แล้วเวลาไหน ที่มนุษยเริ่มรู้จักความพึงใจในเพศตรงข้าม เริ่มรู้ว่านี่คือเพศหญิง นี่คือเพศชาย เริ่มรู้ที่จะต้องแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างเพศ
ดังเช่นที่ใครหลายต่อหลายคนพยายามจะจัดประเภทของความรับผิดชอบระหว่างเพศ
........... มนุษย์เริ่มเรียนรู้เรื่องราวแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไรกัน?............

ฉันเชื่อว่าก่อนจะมีความรู้สึกใดๆ มนุษย์ต้องพยายามเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากทีสุด 
เพื่อความอยู่รอดในยามนั้น... ต้องเกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ในอดีต พวกเขาไม่อาจหยั่งรู้ฟ้าดินได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไร..และอย่างไร..

ในครั้งนั้นมนุษย์เรียนรู้ที่จะเคารพและศรัทธาต่อดิน น้ำ ลม ไฟ...

แล้วการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เล่า มันเกิดจากอะไร มันน่าจะเริ่มต้นจากสัญชาตญาณระหว่างเพศก่อนใช่ไหม ก่อนจะมีความรู้สีกอื่นใดตามมา

แน่นอนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างเพศ เพื่อก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ และก็เพราะเพศหญิง มีอวัยวะสำคัญที่ก่อให้เกิดมนุษย์คนใหม่ได้ ผู้หญิงจึงกลายเป็นเพศที่มีหน้าที่ดูแลผลผลิตทั้งหมดของครอบครัว...

น้ำนมจากเพศหญิงคือสิ่งสำคัญที่จะฟูมฟักเด็กคนหนึ่งที่เกิดจากเธอให้เติบโตเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง หน้าที่ของผู้หญิงในอดีตจึงถูกจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบอยู่เพียงงานในบ้านเท่านั้น...

ผู้ชายมักคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่า ตนมีหน้าที่เป็นผู้นำ เพราะต้องออกไปเป็นผู้ล่า ขณะที่ฝ่ายหญิงจะทำหน้าที่ดูแลภายในครอบครัวให้เรียบร้อย นั่นหมายถึง เขาเริ่มอยู่กันเป็นครอบครัวแล้วใช่ไหม....

แล้วความรู้สึก 'รัก' ที่ฉันสงสัยนั่นเล่า มันเกิดขึ้นตอนใด
ในการก่อร่างเป็นครอบครัว
ในความเป็นผัวและเมีย
ในความเป็นพ่อแม่และลูก
ความรู้สึก รัก นั้น เริ่มต้นที่ไหน...

ฉันเคยสงสัย แม้กระทั่งความรักของตัวเอง ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหนและเริ่มต้นที่ใด
ภาวะที่เราพึงใจกับใครคนใดคนหนึ่งนั้น เรียกว่า รัก แล้วหรือยัง
สำหรับฉัน คิดว่า ยังไม่ใช่ เพราะความรู้สึกที่ฉันเรียกมันว่า ความรัก ในตอนนี้ มันมากกว่าความรู้สึกพึงใจหลายเท่านัก...

ในความรักของฉันมันแฝงฝังไปด้วยความเจ็บปวด ความชัง ความก้าวร้าวและความอ่อนโยน
ความห่วงหาอาทรและความเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและไม่สามารถอธิบายออกมาได้...

แม่ของฉันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ฝังหัวมาแต่โบราณของผู้หญิงว่า หากแต่งงานกับใครไปแล้วก็จะต้องอยู่กับผู้ชายคนนั้นไปจนตาย

ฉันไม่เคยรู้ว่าแม่ของฉันรักพ่อหรือไม่ ฉันรับและรู้แต่เพียงว่า ตลอดเวลาที่ฉันเติบโตมา ฉันเห็นแม่มีแต่ความเจ็บปวด มีแต่ความทุกข์ทรมาน มันไม่ใช่ทางร่างกายแต่มันเกิดขึ้นในใจ...

ฉันได้แต่สงสัยว่า สิ่งที่แม่กำลังดำเนินชีวิตร่วมกับพ่อซึ่งเป็นผุ้ชายคนหนึ่งนั้น เรียกว่าความรักหรือไม่ หรือความรักเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาแล้ว

หากแต่ว่า มันเป็นความรักที่แฝงไปด้วยความเห็นแก่ตัว และอวลไปด้วยความเจ็บปวด ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่แม่ของฉันใช้ชีวิตครอบครัวเช่นนี้...

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า คนเราจะทนความโดดเดี่ยวทางกายไม่ได้ ก็เฉพาะเมื่อมันมีความโดดเดี่ยวทางใจเข้ามาแทรกอยู่ด้วย

ด้วยเหตุนี้กระมังที่แม่ยอมที่จะทุกข์ทรมาน เพื่อแลกกับความรู้สึกว่า เขายังมี 'ใคร' แม้ว่าหลายครั้งที่แม่จะบอกว่าตนไม่อยากอยู่ในภาวะเช่นนี้

.... แต่แม่ก็ไม่ไปไหน ...

ไม่ทำอะไรให้ความรู้สึกของตัวเองดีไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว แม่พร้อมที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า ตัวเองอ่อนแอและสิ้นหวัง เพื่อให้มีความรู้สึกว่า แม่ยังสามารถพึ่งพิงคนอื่น นั่นหมายถึงลูก หรือบางภาวะอาจเป็นพ่อก็ได้...และนั่นมันทำให้แม่รู้สึกว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น


ด้วยเหตุที่ฉันพยายามจะอธิบายแม่ของฉันนี่เอง ฉันจึงพยายามจัดให้แม่ของตัว เป็นกลุ่มคนที่มีภาวะจิตในลักษณะมาโซคิสต์....

และด้วยเหตุผลดังข้างต้นที่ฉันพูดไว้ว่า เพราะเพศหญิงมีหน้าที่รักษาเผ่าพันธุ์และเลี้ยงดูผลผลิตซึ่งหมายถึงลูก จึงทำให้ 'ฉัน' ผู้เป็นลูกของแม่คนนี้เข้าใจเอาเองว่า ความรักไม่ใช่ความรัก มันเป็นอารมณ์ผสมกับสัญชาตญาณบางอย่าง ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกหนีมันพ้น...แม้จะรู้ว่าหนทางข้างหน้าที่จะก้าวไปพร้อมกับความรู้สึกนี้จะเจ็บปวดสักเพียงไรก็ตาม...

.......... เหมือนมนุษย์พร้อมที่จะทำร้ายตัวเองอย่างมีความสุข! .............

แต่ในที่สุด ฉันก็ค้นพบความรู้สึกบางอย่าง ที่มันมาพร้อมกับความรัก.... มันเหมือนเป็นความรักที่เป็นความรัก มันไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างนิยายหรือละครที่ฉันเคยดูเคยอ่าน... มันไม่มีความโรแมนติคซาบซึ้งเหมือนอย่างที่พระเอกปฏิบัติต่อนางเอก แต่ มันคือชีวิตจริงๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงปฏิบัติต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง...


ไม่มีความอ่อนหวาน ไม่เสแสร้ง แต่เต็มไปด้วยความจริงใจ มันทำให้ฉันได้เรียนรู้ความรู้สึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง...



เหนือขึ้นไปกว่า รัก โลภ โกรธ หลง แล้ว คนเรามีความรู้สึกมีอารมณ์มากกว่านั้น มันเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ หากแต่เราต้องอยู่กับมัน ค่อยๆ เรียนรู้มันไป แล้วเราจะพบว่า ในความเป็นมนุษย์นั้นมีสิ่งมหัศจรรย์ทางด้านอารมณ์ให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย

และไม่มีทฤษฎีไหนในโลกใบนี้สามารถจะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้หมด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนคนหนึ่ง กับคนอีกคนหนึ่งนั้น ไม่เคยมีความเหมือนและความต่างที่เหมือนกันเลย....



ความรักของฉันไม่เหมือนความรักของแม่ และความรักของใครต่อใครอีกหลายๆ คนที่ฉันเฝ้าเรียนรู้และหาคำตอบ ไม่มีใครเหมือนใคร ฉันจึงเชื่อว่า ในนามของความรักนั้นไม่มีใครสอนใครได้ ไม่มีใครช่วยใครได้...



ความรักขึ้นอยู่แค่คนสองคน ที่เขาต่างก็มีข้อตกลงบางอย่าง ในการใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้นเอง



ฉันเคยคิดไปว่า ฉันรักคนโน้นคนนี้มากมายหลายคน แต่เมื่อฉันพบกับความรักครั้งนี้ มันทำให้ฉันรู้และเข้าใจความรักที่แม่มีต่อพ่อมากขึ้นกว่าเดิม

เพราะความรู้สึกรักนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม และมันไม่ได้เกิดเพราะความวูบไหว

แต่มันค่อยๆ ก่อตัว งอกงามขึ้นในความรู้สึกและการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับใครอีกคน

ความรักครั้งนี้ มันทำให้ฉันรู้ถึงความแตกต่างจากความรักครั้งอื่นๆ มันเป็นความรักที่ฉันพร้อมจะรักอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีรูปแบบทฤษฎีใดๆ มาอธิบายความรักของฉันได้...

เพราะความรักก็คือชีวิตนั่นเอง...

และนี่มันก็เป็นคำตอบสำหรับฉันได้อย่างดีว่า มนุษย์สมัยโฮโมอิเรคตัส นั้น เขามีความรู้สึกที่เรียกว่ารักกันแล้วหรือยัง+++

พิมพ์ครั้งแรกใน in my mind มีรัก มีเรา มีชีวิต/สำนักพิมพ์วันอังคาร/2546

Iris Murdoch



ไอริส เมอร์ดอด Iris Murdoch
      

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า รัก เป็นคำกริยา หมายถึงมีใจเสน่หา และ มีใจผูกพัน
ความรักจึงเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเสน่หาและผูกพันทางอารมณ์อย่างแรงกล้า
ดั่งเช่นประโยคหนึ่งของนักเขียนและนักปรัชญาหญิงผู้นี้ ไอริส เมอร์ด็อค  Iris Murdoch
เธอเคยกล่าวไว้ว่า.....ความรักล้วนต้องการความเข้าใจ  รักแท้หรือรักหมดใจ รับรู้ได้ด้วยความรู้สึก.....

ความรักและการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนสองคนก็เป็นเรื่องที่อธิบายและเลียนแบบกันยาก เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการความเข้าใจและการยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อประคองชีวิตร่วมกันได้ตลอดรอดฝั่ง 
เร็วๆนี้คงเคยเห็นโฆษณาประกันชีวิตที่นำเรื่องราวของสามีภรรยาที่ดูแลกันไปจนแก่เฒ่าแม้ฝ่ายหญิงจะเป็นอัลไซเมอร์ไปแล้วก็ตาม เชื่อแน่ว่าใครเห็นก็ต้องประทับใจกับชีวิตคู่เช่นนั้น

ไอริส เมอร์ด็อค นักเขียนนวนิยายและนักปรัชญาชาวไอริช ผู้นี้ก็เช่นกัน เธอมีชีวิตคู่ที่แสนวิเศษกับ
จอห์น เบย์ลีย์ John Bayley กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตที่เธอป่วยเป็นอัลไซเมอร์
ไอริสเป็นผู้หญิงในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเกิดที่เมืองฟิสโบรอชจ์ ดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นหญิงหัวก้าวหน้าและออกจะล้ำกว่าใครในยุคนั้น ถึงขนาดเคยได้รับสมญาว่า เป็นผู้หญิงที่ชาญฉลาดมากที่สุดในอังกฤษ ด้วยท่วงท่าบุคลิกที่มีลักษณะโดดเด่น บัณฑิตสาวจากวิทยาลัยซอมเมอร์วิลล์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมด้วยจิตวิญาณแห่งเสรีชนในฐานะนักปรัชญาและนักเขียน

เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมปี 1919  ในครอบครัวชนชั้นกลางที่เคร่งครัดในลัทธิเพรสไบทีเรียนหนึ่งในนิกายของศาสนาคริสโปรเตสแตนต์  ครอบครัวของเธออาศัยและทำฟาร์มแกะอยู่ทางตอนเหนือของไอร์แลนด์กระทั่งเธอเกิดได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ พ่อของเธอต้องย้ายไปรับราชการที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ไอริสเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่ ไฟรเบิล เดมอนสเตรชั่นในปี 1925และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนหญิงล้วนแบดมินตัน ในบริสทอลตั้งแต่ปี 1932 – 1938 หลังจากนั้นเธอก็เข้าไปศึกษาสาขาวิชาคลาสิก ประวัติศาสตร์โบราณ และปรัชญากระทั่งจบเป็นบัณฑิตที่วิทยาลัยซอมเมอร์วิลล์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก่อนออกมาทำงานเพื่อหาประสบการณ์ชีวิตในที่ต่างๆหนึ่งในนั้นคือค่ายผู้อพยพสังกัด United Nations Relief and Rehabilitation Administration (UNRRA)
เธอกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมีงานเขียนนวนิยายเล่มแรกของตัวเองในปี 1954 เรื่องUnder the net ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักเขียนหนุ่มผู้ดิ้นรนแสวงหา งานของไอริสชิ้นนี้เป็นส่วนผสมของปรัชญากับงานเขียนประเภทเสียดสี (picaresque) ที่มักแสดงให้เห็นรายละเอียดที่เหมือนจริงและตลกเสียดเย้ย รูปแบบนิยายประเภทนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ในสเปนก่อนจะแพร่หลายเป็นที่นิยมทั่วยุโรปในศตวรรษที่ 17 และ 18 และยังคงส่งอิทธิพลมีผลต่อวรรณกรรมสมัยใหม่เช่นกัน

นวนิยายเรื่องอันเดอร์ เดอะ เนท Under the net นี้ต่อมาในปี 2001 ได้รับเลือกจากบรรณาธิการของโมเดิร์นไลบรารี่ให้เป็นลำดับที่ 95 ของนวนิยายที่ดีที่สุดใน 100 เรื่องของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 20และในปี 2008 นิตยสารไทม์ TIME ยกย่องให้เธอเป็น 1 ใน 50 นักเขียนชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่ปี 1945 

ดูราวกับเธอจะมีชีวิตที่แสนวิเศษ เป็นผู้หญิงปราดเปรื่องเป็นสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์แห่งเกรทบิเทนในปี 1938 ขณะอยู่ที่ออกซฟอร์ดและลาออกจากพรรคเมื่อปี 1942  เธอพูดได้ถึง 8 ภาษาเช่นตุรกี เหตุก็เพราะเธอต้องการเข้าใจงานเขียนของ นาซิม ฮิกเมท Nazim Hikmet นักเขียนและกวีชื่อดังชาวตุรกีที่ได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์โรแมนติก และเมื่อเธอหันมาสนใจงานของนักเขียนชาวรัสเซียอย่างฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เธอก็ไม่ลังเลที่จะศึกษาภาษารัสเซียจนแตกฉานเพื่อจะได้อ่านงานของดอสโตเยฟสกีจากภาษาต้นฉบับ

ส่วนงานด้านปรัชญาไอริสเริ่มต้นจริงจังกับลัทธิอัตถภาวะนิยม เธอมีผลงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของ
ชอง ปอล ซาร์ต ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปีเดียวกับที่เธอออกนวนิยายเล่มแรกของตัวเองนอกจากความสนใจในปรัชญาอัตถภาวะนิยมแต่เริ่มแรกแล้ว หลังจากนั้นไอริสหันมาให้ความสนใจแนวคิดของเพลโตและเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เธอเคยอธิบายความเชื่อของตัวเองในความดีไว้ว่า...ความงามคือแง่มุมที่มองเห็นและเข้าถึงได้ของความดี แต่เพราะตัวความดีเองไม่อาจมองเห็นได้ ความรู้ของความดีต้องได้มาด้วยการศึกษาและเข้าใจศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่....

นอกจากมุ่งมั่นทางปรัชญาและความคิดแล้ว ไอริสยังเป็นสาวสังคมเธอชอบงานรื่นเริงและการดื่มสังสรรค์ เธอสูญเสียคนรักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปถึง 2 คน ก่อนที่เธอจะมาพบรักและร่วมชีวิตกับสามีจอหน์ เบย์ลีย์ที่เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษและนักเขียนเช่นเดียวกับเธอในปี 1956

แต่บางคนก็กล่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงโรแมนติกและมีชีวิตที่น่าเศร้า เคยมีผู้กำกับภาพยนตร์ริชาร์ด แอร์ล Richard Eyre ที่นำเรื่องราวชีวิตของเธอมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มออกเผยแพร่ให้ได้ชมกันเมื่อปี 2001
ใครที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้คงได้เห็นฉากชีวิตของเธอบางฉากที่โลดโผนกับความรักและใช้ชีวิตที่คุ้มสุดคุ้มของเธอกันมาบ้าง

ในชีวิตจริงงานของเธอนอกจากจะได้รับการกล่าวขานว่าใช้นวนิยายเป็นเครื่องมือสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับมนุษย์ในเรื่องของการเลือกและการหลอกตัวเอง บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ทางเพศและอำนาจของจิตไร้สำนึกแล้ว  ในบันทึกจดหมายรักของไอริสมีการกล่าวถึง ผู้หญิงที่ชื่อ ฟิลิปปา Philippa เพื่อนรุ่นน้องของเธอที่ต่างก็ตกหลุมรักกันอย่างรุนแรง กระทั่ง philippa ตัดสินใจแต่งงานกับชายหนุ่มนาม
ไมเคิล ฟุต Michael Foot และไอริสก็แต่งงานกับจอห์น เบย์ลีย์ แต่เธอทั้งคู่ก็ยังสานสัมพันธ์ ด้วยการส่งจดหมายถึงกันตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญาของเพลโต ข้อโต้เถียงในนิยายที่ไอริสแต่ง หรือแม้กระทั่งอารมณ์รักที่ทั้งคู่ต่างมีให้แก่กัน

ความสัมพันธ์ของไอริสกับฟิลิปปา ดำเนินควบคู่มากับชีวิตแต่งงานของเธอทั้งสองกระทั่งปี 1959 ไมเคิลตัดสินใจแยกทางกับฟิลิปปา ในครั้งนั้นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไอริสกับฟิลิปปารุนแรงมากยิ่งขึ้นถึงขั้นมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกันจนถึงปี 1969 ความสัมพันธ์นี้จึงได้สิ้นสุดลง ฟิลิปปาเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่ยังกลับมาที่ออกซฟอร์ดทุกปีและยังคงส่งจดหมายถึงไอริสอย่างสม่ำเสมอ แต่เธอไม่เคยได้รับจดหมายตอบกลับจากไอริส....

ตลอดเวลานับตั้งแต่ปี 1956 ไอริสใช้ชีวิตร่วมกับจอห์น เบย์ลีย์มาตลอด และนับว่าเธอเป็นผู้หญิงที่โชคดีคนหนึ่งที่แม้จะมีฉากชีวิตรักที่โลดโผนโจนทะยาน และใช้ชีวิตแหกขนบของหญิงในยุคสมัยของเธออย่างสิ้นเชิง สามีอย่างจอห์นก็เข้าใจและรักเธออย่างสุดซึ้ง  ไอริสมีความคิดก้าวหน้าตลอดเวลา
เธอผลิตงานนวนิยายออกมามากกว่า 25 เล่มและยังมีผลงานทางด้านปรัชญาและบทละครอีกมากมาย และเธอยังได้รับเกียรติยศในปี 1987 ด้วยการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Dame Commander of the Order of the British Empire (DBE)

และในที่สุดเธอเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์ในปี 1995 ด้วยอาการเขียนหนังสือไม่ได้ สะกดตัวหนังสือไม่ถูกอย่างที่เคยเขียน ตลอดช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ไอริสมีจอห์น คอยปรณนิบัติเคียงข้างเธอตลอดเวลา ทุกวันจอห์นจะพาไอริสไปว่ายน้ำที่ทะเลสาบข้างบ้าน เพราะเขารู้ว่าเธอชอบว่ายน้ำมาก ดังเช่นที่จอห์นได้เขียนถึงไอริสไว้ในหนังสือของเขาว่า ...มันเหมือนกับมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งนิยาย ผมเป็นชายหนุ่มที่หลงรักสาวสวย ที่มักจะหายตัวไปในโลกที่เร้นลับแต่เธอก็จะกลับมาเสมอ...

ความรักระหว่างไอริสกับจอห์น ถูกบางคนยกย่องให้เป็นตำนานรักโรแมนติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ เรื่องราวชีวิตรักของคนทั้งคู่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รักที่แท้นั้นเป็นเช่นไร  เขาทั้งคู่ผ่านเรื่องราวที่ดีและรันทดมาด้วยกันอย่างเข้าใจและรักกันอย่างแท้จริง

ไอริสเคยเขียนถึงความรักไว้ตอนหนึ่งว่า.... มนุษย์รักกันในเรื่องเพศ ในมิตรภาพ และเมื่อพวกเขาอยู่ในความรัก เขาจะหวงแหนคนอื่นไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืชหรือแม้กระทั่งก้อนหิน การแสวงหาความสุขและเติมเต็มความสุขนี้ คือพลังแห่งจินตนาการของเรา.

ไอริสจากโลกนี้ไปด้วยวัย 79 ปีในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1999 หลังจากนั้นเถ้ากระดูกของเธอถูกนำมาโปรยอยู่ในบริเวณสวนฌาปนสถานที่เมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จอห์นสามีของเธอได้เขียนประวัติชีวิตของไอริสออกเผยแพร่ในชื่อ Elegy for Iris ตีพิมพ์ในปี 1999 กระทั่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อให้ได้ชมกันและมุ่งเน้นไปในเรื่องความรักของคนทั้งคู่ ฟิลิปปาได้กล่าวถึงไอริสไว้ว่า เธอคือแสงสว่างของชีวิต ฟิลิปปาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2010 นี้เอง.