12/21/2554

แยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา...






แยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา
โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

เคยมีอาการหมดไฟไหมคะ... วันหนึ่ง ตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่า ตัวเองควรจะทำอะไรดี... นั่งๆ นอนๆ เดิน ยืน ไปมา ก็แล้ว ... ก็ยังคิดไม่ออก ว่า ตัวเองควรจะทำอะไร....ดิฉันเกิดอาการอย่างนี้มา เมื่อสองอาทิตย์ก่อนค่ะ... โดยไม่รู้ตัวว่า ทำเวลาหล่นหายไปหลายขุม...

ผ่านวัน เป็นเดือน เป็นปี... บางสิ่งบางอย่าง ก็ยังนิ่ง หยุดอยู่กับที่ ราวกับไม่อยากจะเคลื่อนไหวไปไหนอีก... หันมาดู กระบวนการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้แล้ว ถึงตระหนักได้ว่า ..สิ่งนี้ นี่เอง ที่ทำให้ดิฉันเกิดอาการตีบตันทางปัญญา!!

ด้วยไม่รู้จึงคิดไม่ออก เลยหยิบภาพยนตร์เรื่องหนึ่งขึ้นมาดู หลังจากที่แช่ทิ้งไว้นานมาก Earth คิดว่า ดูแล้ว น่าจะทำให้ใจของตัวฟื้นตื่นขึ้นมาได้บ้าง....

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของผู้กำกับหญิงชาวอินเดียค่ะ Deepa Mehta จริงๆ แล้ว เธอทำภาพยนตร์ชุดนี้ ประกอบด้วย Fire (1996) Earth (1998) และ Water (2005) แต่ละเรื่องล้วนเกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับเรื่องราวสังคมอินเดียทั้งสิ้น แน่นอน ตัวดำเนินเรื่องเป็นผู้หญิงค่ะ... กระทั่งหลายคนจัดให้เธอเป็นผู้ทำหนังแนวเฟมินิสต์ และก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเธอจากสังคมอินเดีย

เธอเคยกล่าวไว้หลังจากที่มีหลายคน ตั้งคำถามถึงความเป็นเฟมินิสต์ของเธอ ว่า ..เธอคิดว่า มันเป็นมุมมองจากความเป็นผู้หญิงและด้วยเพราะตัวเธอเองซึ่งก็เป็นคนทำหนังคนหนึ่ง ที่ต้องการพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ออกมา...ดังนั้น เธอจึงไม่คิดว่า หนังจะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของคนทั่วไปได้..แต่ถ้าหนังสามารถทำหน้าที่ในระดับลึกเช่นนั้นได้จริง สิ่งที่มันจะทำก็คือ...ส่งเสียงกังวานในความคิดของคนดู และเสียงนั้น จะนำไปสู่การตระหนักคิด ซึ่งมันคือ จุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ควรจะถาม...แน่นอน สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียง และในที่สุด หนัง อาจจะบันดาลให้ใครคนนั้นลงมือทำอะไรสักอย่างที่จริงจัง.....

Deepa Mehta เป็นชาวอินเดียแต่กำเนิดค่ะ เธอเกิดในครอบครัวฮินดู บริเวณดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับปากีสถาน  ด้วยเหตุนี้เอง ภาพยนตร์เรื่อง Earth จึงบอกเล่าเรื่องราวในยุคแยกแผ่นดิน แบ่งศาสนา ผ่านตัวละครที่เสมือนเกิดขึ้นจริงได้อย่างแยบยล

เธอสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยนิวเดลี ก่อนที่จะผันตัวเองมาทำภาพยนตร์ ด้วยว่าแต่เล็กจนโตเธอคลุกคลีอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้จัดจำหน่ายฟิล์มและยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ดีปาร์ จึงดูภาพยนตร์มากว่า 100 เรื่องจากโรงภาพยนตร์ของบิดาตัวเอง....

แต่นั่นยังไม่ได้ทำให้เธอมีความสนอกสนใจจะกลายเป็นคนทำหนังซะเอง เธอกลับหันไปศึกษาวิชาปรัชญากระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ก่อนที่จะมาเริ่มงานในแวดวงหนามเตย

เธอพบรักกับหนุ่มแคนาเดียน ก่อนตัดสินใจแต่งงานแล้วย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนาดา ในปี 1973 และเริ่มสนใจทำภาพยนตร์อย่างจริงจัง รายการแรกที่เธอรังสรรค์มันขึ้นมาก็คือรายการเด็กและเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์  ก่อนจะหันไปจับงานสารคดีเชิงค้นหาและเดินทางในต่างแดน แน่นอน ผลงานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เธอได้รับรางวัลชื่นชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Canada’s Emmy Award equivalent และ Finalist Award ในปี 1987 ที่งาน New York International Film and Television Festival

ในปี 1995  เธอเปิดตัวภาพยนตร์ชุดเรื่องแรกของตัวเอง Fire เป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของสาวอินเดียชนชั้นกลางที่ต้องอยู่ในภาวะกดดันของประเพณีแต่ดั้งเดิม จนทำให้ตัวละครสาวสองชีวิตนั้น ทำอะไรที่แผกไปจากขนบเดิม

ภาพยนตร์ชุดนี้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านเธออย่างรุนแรง ถึงขนาดเผาฟิล์มที่นำออกฉายในโรงภาพยนตร์ที่อินเดีย กระนั้น มันก็ไม่ทำให้ดีปาร์ยุติการทำหนังที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมอินเดีย

เธอเดินหน้าผลิต Earth ออกมาซ้ำสองในปี 1998 ซึ่งเป็นเรื่องราวในช่วงที่อินเดียเกิดความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง กระทั่งถึงขนาดต้องแยกแผ่นดิน... ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดีปาร์บอกว่า เธอเพียงต้องการจะเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆที่ต่างเผ่าพันธุ์ และต่างศรัทธากับเธอเท่านั้น

Earth เป็นเรื่องที่สะท้อนสังคมอินเดียในระหว่างปี 1947 การลุกฮือของคนชาติเดียวกันแต่ต่างศาสนาที่เข้าห้ำหั่นกันเอง  ผ่านมุมมองของตัวละครหนึ่งหญิงสองชาย โดยหญิงสาวเป็นฮินดู ขณะที่ชายที่ต่างหลงรักเธอทั้งสองนั้นเป็นมุสลิม...คนหนึ่งเธอมีใจให้และยอมเปลี่ยนศาสนาและพร้อมจะโยกย้ายตัวเองไปยังดินแดนที่แบ่งแยกใหม่กับเธอ..แต่ก็ต้องมาจบชีวิตลงอย่างทรมานด้วยน้ำมือของเพื่อนรักที่ริษยาในความรักของเขาทั้งคู่....

เรื่องสุดท้ายในชุดนี้คือ Water เธอผลิตมันออกมาในปี 2005 แน่นอน จากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องทำให้เธอต้องย้ายสถานที่ถ่ายทำ water อย่างกระทันหัน จากอินเดีย มุ่งสู่ศรีลังกา!! ด้วยกระแสการต่อต้านเธอที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ...ราวกับงูถูกตีขนดหางก็ไม่ปาน....

แม้คนทั่วโลกจะให้การยอมรับว่า ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องของเธอสะท้อนชีวิตของผู้คนธรรมดาในอินเดียได้อย่างดีเยี่ยม แต่สำหรับคนอินเดียหัวอนุรักษ์นิยมแล้ว ชื่อของดีปาร์ เมท์ตา เหมือนยาขมที่ใครก็เบือนหน้าหนี ทุกวันนี้ เมื่อเธอเดินทางกลับแผ่นดินเกิดของตัวเอง เธอต้องมีคนคอยอารักขาตลอดเวลา เพราะหลังจาก ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเธอเข้าฉายในอินเดีย ก็มีผู้คนออกมาต่อต้านเธออย่างมากมาย

เรื่องราวของเพื่อนบ้านเช่นว่านี้ สะท้อนอะไรหลายอย่างแก่ดิฉันเหลือเกิน...แม้เรื่องราวทั้งหมดที่ดีปาร์ เมห์ทา ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต แต่ต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของคนที่นั่น คนที่อยู่กับเหตุการณ์จริง อยู่ในขนบนั้นจริง...แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการรับรู้ความจริงนี้อีกต่อไป...ทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่าบางครั้งการพูดความจริง สะท้อนเรื่องจริง ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ในสังคมเราทุกวันนี้ สังคมที่ยอมรับแต่ความดีงาม ทว่า...กระอักกระอ่วนที่จะยอมรับเรื่องจริง!!


7/25/2554

เรื่องเล่าไร้สาระของผู้หญิงคนหนึ่ง


เดือนมีนาคมมีวันที่ดิฉันชื่นชอบอยู่วันหนึ่ง ก็คือวันสตรีสากลค่ะ...วันที่ยกย่องผู้หญิงให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับบุรุษเพศ มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว หลายคนอาจเบ้ปาก ยังจะเรียกร้องอะไรกันอีกในยุคที่ทุกอย่างดูคล้ายจะเท่าเทียมกัน...

แต่ก็นั่นล่ะค่ะ เรายังเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายจากครอบครัว เรายังเห็นเด็กผู้หญิงถูกลวนลามทางเพศ และเรายังเห็นอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้เขียนเพื่อเรียกร้องอะไรมากไปกว่า อยากให้โลกนี้มีความเสมอภาคและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ต่อกันค่ะ...

ไหนๆ ก็เป็นวันสตรีสากลตามธรรมเนียมดิฉันก็มักจะมีเรื่องเล่าของผู้หญิงมานำเสนอ ครั้งนี้นึกไปถึงเรื่องเล่าไร้สาระอย่างสิ้นเชิงของเด็กหญิงผู้นี้ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง อลิสในแดนมหัศจรรย์

 นิทานเรื่องนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ดิฉันประทับใจตั้งแต่วัยเด็กภาพวาดในนิทานที่ อลิสเดี๋ยวตัวเล็ก เดี๋ยวตัวใหญ่ แล้วยังจะอุ้มเด็กที่สุดท้ายกลายเป็นหมู อีกทั้งภาพการตีคลีอันแปลกประหลาด ต่างๆ เหล่านี้ยังจำได้เสมอมาค่ะ

อิทธิพลของนิทานเรื่องอลิสในแดนมหัศจรรย์ส่งผลต่อวงการศิลปะแขนงต่างๆพอดูทีเดียวนะคะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ ดนตรี หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์อย่างเช่น

คูซามะ ยาโยอิ ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เธอเคยทำผลงานชุด alice in wonderland happening, ที่ central park ,new York เมื่อปี 1968 ผลงานชุดนี้เป็นที่กล่าวขานมากระทั่งปัจจุบันเพราะเธอสร้างสรรค์อลิสขึ้นมาเพื่อต่อต้านสงครามค่ะ  ในบทเพลงเองศิลปินอย่าง อลิส คูเปอร์ ร๊อคเกอร์ชาวอเมริกัน ก็เคยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่านี้ผลิตเป็นผลงานเพลงที่ชื่อ beautiful flyaway มาแล้วนะคะ

และแม้กระทั่งการนำเรื่องเล่าอลิสในแดนมหัศจรรย์มาทำเป็นภาพยนตร์ก็เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 1903 โดยผู้กำกับนาม เซซิล เฮปเวิร์ธ โดยครั้งแรกนี้เป็นหนังเงียบค่ะ หลังจากนั้นอลิสก็ถูกนำมาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกหลายต่อครั้งกระทั่งณ วันนี้

เชื่อไหมคะว่า อลิสในแดนมหัศจรรย์มีอายุกว่าร้อยปีแล้วค่ะ ผู้แต่งเรื่องนี้คือ
ชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน (Rev. Charles Lutwidge Dodgson) หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อนี้แต่ถ้าเอ่ยถึงนามปากกาของเขาที่ชื่อ ลูอิส แคร์รอล(Lewis Carroll) ก็คงพอจำกันได้นะคะ ชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 18321898  เป็นลูกชายคนที่ 3 ในพี่น้อง 11 คนของครอบครัวนักบวชชาวอังกฤษ ตัวเขาเองเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางตรรกวิทยา และยังมีความสามารถในการถ่ายภาพระดับมืออาชีพอีกด้วยค่ะ

นิทานเรื่องอลิสในแดนมหัศจรรย์มีถึง 4 รูปแบบด้วยกัน ครั้งแรกเขาเล่าเรื่องนี้ระหว่างการพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนกับครอบครัวของเพื่อนที่มีลูกสาวสามคน พวกเขาล่องเรือเล่นในแม่น้ำ ระหว่างนั้นเอง
อลิสลูกสาวคนกลางก็ร้องขอให้ ชาร์ลเล่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมาให้พวกเธอฟัง เพียงแค่อึดใจ ชาร์ลก็เริ่มต้นเล่าเรื่องของเด็กหญิงอลิสวัย 10 ปี 

 บางเวลาชาร์ลหยุดเล่าเพื่อกระเซ้า คอยให้เด็กๆรบเร้าให้เล่าต่อไป บางเวลาเขาก็นึกมันไม่ออกว่าเรื่องจะดำเนินไปเช่นไร แต่สุดท้าย เรื่องราวของเด็กหญิงอลิสก็จบลงระหว่างการล่องเรือในวัน ที่ 4 มิถุนายนปี 1862 เด็กหญิงอลิสในวันนั้นขอร้องให้ชาร์ลบันทึกมันลงในกระดาษด้วยลายมือ เขาใช้เวลาคัดลอกและปรับปรุงจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา นื่ถือเป็นรูปแบบแรกของอลิสในแดนมหัศจรรย์

 ต้นฉบับลายมือแรกมีชื่อว่า alice ‘s adventures underground ถูกทำลายไปเมื่อปี 1864 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  เนื่อง จากชาร์ลได้เขียนมันขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งและมอบต้นฉบับลายมือรวมทั้งภาพวาด ประกอบที่เขาวาดมันขึ้นมาถึง 37 ภาพให้กับเด็กหญิงอลิสเป็นของขวัญวันคริสตมาส ด้วยถ้อยคำที่จารึกไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า ของขวัญวันคริสตมาสแด่เด็กน้อยในความทรงจำของฤดูร้อนนั้น นี่จึงถือเป็นรูปแบบที่สอง


หลัง จากนั้นชาร์ลก็อวดเรื่องนี้กับเพื่อนๆ หนึ่งในนั้นคือ จอร์จ แมคโดนัล ผู้ซึ่งกระตุ้นให้เขาพิมพ์มันออกมา ชาร์ลได้แก้ไขและลำดับเรื่องใหม่ให้มีความยาวมากขึ้นและนี่ถือเป็นอลิสในแดน มหัศจรรย์รูปแบบที่ 3 ที่ได้รับความสนใจและจัดพิมพ์โดย macmillan and Co. in London ในวันที่ 4 มิถุนายน1865
การพิมพ์ครั้งนั้นมีหนังสือที่ใช้ได้เพียง 15 ฉบับ เนื่องจากภาพประกอบที่วาดโดย เซอร์ จอห์น เทนนีล (Sir John Tenniel) พิมพ์ออกมาแล้วกระดาษไม่ได้คุณภาพ หนังสือส่วนใหญ่จึงถูกเรียกคืนและนำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งออกแพร่หลายทั่ว ไปในเดือนพฤศจิกายนปี 1866 ด้วย รูปแบบที่ไม่ตายตัวและงานเขียนที่แปลกประหลาดทำให้ชาร์ลมีชื่อเสียงมากกว่า การเขียนหนังสือทฤษฎีไปเสียแล้ว เขาเลือกใช้นามปากกาของตัวเองว่า Lewis Carroll ในงานเขียนทุกเล่มนับแต่นั้น

ต่อ มาเรื่องเล่าของอลิสมีการปรับปรุงเค้าโครงเรื่องใหม่เพื่อเป็นนิทานสำหรับ เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 0 5 ปี มีภาพประกอบ 20 ภาพฝีมือของเทนนีล เช่นเดิม แน่นอนมันถูกจัดทำโดย macmillon และ ตีพิมพ์ในปี 1889 แต่ก่อนจะมีรูปแบบสำหรับเด็กนั้น ในเดือนมีนาคมปี 1885 อลิส ลินเดล เจ้าของหนังสือนิทานลายมือเล่มแรกอลิสในแดนมหัศจรรย์ก็ยินยอมให้ macmillon ตีพิมพ์ต้นฉบับลายมือของชาร์ลเป็นจำนวนถึง 5,000 ก๊อปปี้ ในวันที่ 22 ธันวาคม 1886

เรื่อง เล่าที่สนุกสนานไร้สาระในวัยเด็กของอลิสกลายเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงทำให้ ชาร์ลเขียนหนังสือออกมาถึง 10 เล่ม บางเรื่องเขาเขียนนิทานสำหรับเด็ก บางเรื่องเขายังเขียนเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญคือคณิตศาสตร์และตรรกวิทยา

ในปี 1871 ชาร์ล ได้ตีพิมพ์หนังสือ alice’s further adventures ในภาค through the looking – glass และ What Alice found thereนอกจากนี้ยังมีนิทานเรื่อง Hunting the snark และเรื่อง sylvie and Bruno ตามมาอีกด้วย  เคย มีนักวิจารณ์วรรณกรรมกล่าวไว้ว่าเรื่องเล่าไร้สาระของชาร์ล ลุควิดจ์ ดอจ์สัน เรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นในสมัยวิกตอเรียน เนื้อหาของมันเต็มไปด้วยการเสียดสีเย้ยหยันการเมืองและการใช้ชีวิตของคน อังกฤษในยุควิกตอเรีย ที่อังกฤษเริ่มเปลี่ยนความนิยมวรรณกรรมแนวโรแมนติกมาเป็นแนวสัจนิยม ซึ่งนักเขียนยุคนั้นได้พรรณนาถึงสภาพสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่จริงใจ เต็มไปด้วยพวกมือถือสากปากถือศีล  เป็นยุคจอมปลอมและฟุ้งเฟ้อไร้สาระ จนทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งถวิลหาความฝันแบบเด็กๆ ธรรมชาติและความบริสุทธิ์ใจของเพื่อนร่วมโลก  

แม้ เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม เรื่องเล่าของหญิงสาวนามอลิสที่เผลอวิ่งเข้าไปในโพรงกระต่ายครั้งนั้น ยังเป็นสิ่งที่ดิฉันเชื่อว่าหลายคนคงอยากจะทำบ้าง เผื่อว่าโพรงกระต่ายที่หลุดเข้าไปอาจมีอะไรที่น่าอยู่และปราศจากความขัดแย้ง และสงครามก็เป็นได้.
·         ขอบคุณ http://www.bedtime-story.com/bedtime-story

ทะเลสาบสีรุ้ง

 Telaga warna Dieng หรือ Rainbow lake ทะเลสาบสายรุ้ง....
ตั้งอยู่ที่เดียงพลาโต  แถบถิ่นใกล้เคียงกับยอรจ์ จาร์กาตา
ที่นี่มีตำนานรักที่สุดท้ายก็จบลงด้วยความเศร้าเช่นเคย

ครั้งที่ไปเยือน โชคไม่ดีหรืออย่างไร ไม่อาจตัดสิน ทะเลสาบแห่งนี้ ถูกหมอกปกคลุมจนไม่อาจเห็นสีของรุ้งในทะเลสาบแห่งนั้นได้....คงเปรียบคล้ายความรักของชายหนุ่มหญิงสาวที่เป็นตำนานของทะเลสาบแห่งนี้ ที่ฉันเลือกที่จะเชื่อ...มากกว่าตำนานเรื่องอื่นๆ ที่เอาเข้าจริง มีมากมายหลายตำนานเหลือเกิน...

....ด้วย ว่ากาลครั้งหนึ่ง ณ ทะเลสาบแห่งนี้มีหญิงสาวจากแดนไกลพี่น้อง 7 คนจะมาลงเล่นน้ำอย่างสม่ำเสมอ และที่นี่ คล้ายเป็นดินแดนต้องห้ามที่คนเข้าไปไม่ถึง...แต่แล้ววันหนึ่งก็มีชายหนุ่ม ที่หาญกล้า อยากพิสูจน์ว่า ทีนี่มีสิ่งใดกันแน่...เขาจึงฝ่าฝืนกฏของสังคม...แอบย่องเข้าไป และพบสาวงามทั้ง 7 ลงเล่นน้ำอยู่....

เขา ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้หยิบเสื้อผ้าของหญิงสาวที่จะเป็นเนื้อคู่ของตนขึ้นมา... จากนั้น เขาก็หยิบเสื้อผ้าของหนึ่งในหญิงสาวทั้งเจ็ดไว้ได้... และด้วยกลิ่น ที่ผิดไปจากเดิมจึงทำให้หญิงสาวทั้ง 7 ล่วงรู้ว่ามีคนแปลกหน้าบุกรุกเข้าในสระแห่งนี้ จึงรีบแต่งตัวและหนีหายไป คงเหลือแต่...หญิงผู้ซึ่งชายหนุ่มคนนั้นอธิษฐานขอเป็นเนื้อคู่...


ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกันทันที ที่ได้สบตา....

จากนั้นก็ไปครองคู่กัน เช่นชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไป...โดยหญิงสาวมีข้อแม้ ต่อสามีของตัวเองว่า ทุกครั้งที่นางลงมือทำครัว โปรดอย่าเข้ามาและอย่าเปิดฝาหม้อข้าวหม้อแกงใดๆ ด้วยตนเอง....

ทั้งสองครองรักกันมาได้อย่างราบรื่นเป็นเวลา กว่าสองปี แล้วอยู่มาวันหนึ่งด้วยความอยากรู้อยากเห็นของสามี จึงแอบเปิดฝาหม้อในครัว....เมื่อฟังถึงตอนนี้ ฉันเองก็ลุ้นว่า ต้องเห็นอะไร หรือไม่ก็หักมุมแน่ๆ... เปล่าเลย... สามีไม่เห็นอะไร...ยังคงเห็นข้าวเต็มหม้อ อาหารเต็มโต๊ะเหมือนเช่นตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่.... เขาเริ่มสังเกตเห็นสีหน้าของภรรยาตัวเองที่เศร้าหมองลงไปทุกวัน

กระทั่งเวลาผ่านไปหลายวัน ข้าวและอาหารเริ่มพร่องลงไปจากสำรับ กระทั่งมาถึงวันสุดท้าย ข้างใต้หม้อข้าวนั้นคือ เสื้อผ้าชุดแรกของฝ่ายหญิงนั่นเอง.... นางต้องไป.... ต้องกลับไปยังที่ ที่นางจากมา.....
ผู้สามีรู้ตัวว่าทำผิดไปถนัดใจ ครั้นจะแก้ไขความผิดพลาดครั้งนี้ ก็สายเกินไปสำหรับทุกอย่างแล้ว... ด้วยว่า เขา ไม่รักษาสัจจะที่เคยให้ไว้กับภรรยาตัวเอง.....


ทั้งคู่จากกันด้วยความรัก...เศร้าโศก... ชายหนุ่มพยายามทุกวิถีทางที่จะได้นางอันเป็นที่รักของตัวเองคืนมา..เฝ้าวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล...กระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับคำตอบจากฟ้า ว่า ในคราที่ทะเลสาบที่เขาและเธอพบกันครั้งแรก เป็นสีรุ้ง...เวลานั้น เขาทั้งคู่จะได้พบกัน... หากหมดสีแห่งรุ้ง...พวกเขาก็ต้องพลัดพรากจากกันอีก จนกว่า รุ้งนั้นจะกลับมา...


arahmaiani # performance art

7/19/2554

ไฮกุ...มาซึโอะ บาโช

ใครที่ชื่นชอบบทกวีไฮกุ คงรู้จักกวีญี่ปุ่นคนนี้เป็นอย่างดี.... มะสึโอะ บาโช ( matsuo basho) กวีผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นยุคหลายร้อยปีก่อน... หนังสือ The Narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi เป็นหนึ่งในบทกวีที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องผ่านตาตั้งแต่ชั้นมัธยม
      
       มะสึโอะ บาโช เกิดในราวปี 1644 ที่เมืองอิงะ Iga ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ ในครอบครัวตระกูลซามูไร ทุกวันนี้ที่พำนักของเขามักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดหรือเรือนตายของบาโช และยังมีอีกหลายคนที่ใคร่จะเดินตามเส้นทางสายบทกวีของเขา บนความยาวกว่า 2000 กิโลเมตร...
      
       มีการเล่าขานต่อกันมาว่า สิ่งที่ทำให้บาโชกลายมาเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะเขาได้มีโอกาสซึมซับและหลงใหลในวรรณกรรมจากบุตรของขุนนางที่เขาเคยทำงานรับใช้อยู่
      
       และเขายังได้ศึกษากวีนิพนธ์จากคิงิน กวีชาวเกียวโตผู้มีชื่อเสียง ขณะที่บาโชเองก็ได้สัมผัสกับบทกวีจีนและหลักปรัชญาของลัทธิเต๋ามาตั้งแต่เยาว์วัย และนั่นคือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาในกาลต่อมา
      
       เมื่ออายุปลายยี่สิบ บาโชย้ายไปอยู่ที่เอโดะ ปัจจุบันคือ โตเกียว เมืองใหม่ที่ขณะนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้าที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู และโอกาสทองทางวรรณกรรมสำหรับบาโช หลายปีต่อมาเขารวมกลุ่มกับผู้สนใจวรรณกรรมมีประกอบได้ด้วยลูกศิษย์และผู้อุปถัมภ์ ตั้งสถาบันที่ทุกวันนี้รู้จักในนามโรงเรียนบาโช ขึ้นมา
      
       ในปี 1680 ลูกศิษย์คนหนึ่งของบาโช สร้างบ้านหลังน้อยริมแม่น้ำซุมิดะให้ และเขาได้นามปากกา บาโช มาจากชื่อของต้นกล้วยที่เขาชื่นชอบในการปลูกมันไว้ที่บ้าน บันทึกหลายฉบับระบุว่า ในช่วงนั้นเขาเกิดความรู้สึกสับสนในจิตวิญญาณ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังมากขึ้นเมื่อเกิดอัคคีภัยเผาทำลายเอโดะวอดไปเกือบทั้งเมืองเมื่อปี 1682
      
       มาถึงปี 1684 บาโชใช้เวลาหลายเดือนเดินทางจากเอโดะมุ่งไปทางตะวันตก ซึ่งปรากฏในบันทึกการเดินทางชิ้นแรกคือ บันทึกโครงกระดูกที่ถูกดินฟ้ากระหน่ำตี Journal of a Weather Beaten Skeleton
      
       สมัยนั้นนักเดินทางต้องเดินเท้าและไม่มีที่พักที่อำนาวยความสะดวกเชข่นปัจจุบัน รอนแรมร่อนเร่ดุจผู้พเนจร แต่กระนั้นเขาก็เดินทางอีกครั้งหนึ่งในระหว่างปี 1687 – 1688 ซึ่งอยู่ใน บันทึกคะชิมะและต้นฉบับในย่าม Kashima Journal and Manuscript in a knapsack ผลงานทั้งสองเขียนด้วยบทกวีที่บาโชเป็นผู้แต่ง
      
       ในช่วงปีนั้นเอง บาโชรู้สึกว่าโลกใบนี้มันหนักหนาเกินไป เขาเหนื่อยหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง และเขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่า เขา สัมผัสได้ถึงสายลมของชีวิตหลังความตายที่ปะทะใบหน้า....
      
       บาโชเริ่มต้นวางแผนที่จะเดินทางไปตามสถานที่ ที่มีความสำคัญทางวรรณคดี ศาสนา หรือประวัติศาสตร์การทหาร ที่ซึ่งเขาปรารถนาจะเห็นมันก่อนตาย เขาตั้งใจจะออกเดินทางในฤดูหนาว แต่คนรอบข้างต่างก็เป็นห่วงสุขภาพของเขาได้แต่ประวิงเวลาให้เขาเริ่มเดินทางเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ...
      
       และในที่สุด เขาก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 24 มีนาคม ปี 1689 พร้อมกับโซะระ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ โดยมีเพียงกระเป๋าสะพายหลัง เครื่องเขียนและเสื้อผ้า เขากลายเป็น เฮียวฮะกุซะ หรือ ผู้ท่องไปโดยไร้จุดหมาย อีกครั้ง ผ่านทั้งที่สูงและที่ราบ ผ่านหมู่บ้าน เทือกเขาทางเหนือของเมืองเอโดะ และเลาะเลียบทะเลญี่ปุ่น การรอนแรมในครั้งนี้ กลายเป็นผลงานชิ้นเอกของบาโช
      
       มันกลายเป็นบันทึกการเดินทางด้วยจิตวิญญาณของเขา คล้ายการสละแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เขาละทิ้งสมบัติทางโลกและปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบัญชาของธรรมชาติน ด้วยการร่อนเร่และยังชีพด้วยการสอนหนังสือไปตามรายทางที่เดินทางผ่าน
      
       หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ เส้นทางสายเล็กๆ ไปสู่ทางเหนือ The narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi ที่เขียนขึ้นมาหลังจากการเดินทางที่เขาเริ่มต้นการเดินทางที่เอโดะหรือโตเกียว เพื่อไปยัง โทโฮะกุ และ โฮะกุริกุ ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับมาในปี 1691
      
       บาโชเสียชีวิตด้วยความเจ็บไข้ในฤดูใบไม้ผลิในปี 1694 ที่โอซาก้า ภายในบ้านของลูกศิษย์คนที่เขาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ก่อน สิ้นใจ เขายังมิวายรจนาไฮกุ ไว้อีกหนึ่งบท ดังนี้
      
       ในการเดินทางฉันป่วย
       ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
       ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง
      
       On travel I am sick
       My dream is running around
       A field covered with dried grasses
      
            

กุหลาบ..กับความรัก

       คิดอยู่นานค่ะ ด้วยว่าสัปดาห์นี้อยู่ช่วงเทศกาลวันแห่งความรักพอดิบพอดี... แรกเลยคิดจะเขียนถึงศิลปินหญิงคนหนึ่งที่แต่งเพลงรักและขับร้องได้ไพเราะหลายต่อหลายเพลง แต่...คิดไปคิดมา กลับเขียนไม่ออก...
      
       หันซ้ายหันขวา ถามถึงวันแห่งความรักซึ่งก็เคยเล่าประวัติของวันวาเลนไทน์นี้ไปเมื่อหลายปีก่อน ครั้นจะเล่าอีกสักครั้งก็กระไรอยู่... ทั้งที่จริงตำนานของวันนี้ก็มีมากมายหลากหลายเรื่องราว...
      
       สิ่งที่คนรักมอบให้กันในวันนี้... ชอคโกแลตก็เคยเล่าไปแล้วอีก... หันมามองที่กุหลาบ ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรมคนใหม่ก็ประกาศปราม ไม่ให้คนไทยมอบให้กัน โดยรณรงค์ให้มอบดอกมะลิแทน... ทั้งที่กุหลาบนั้น ก็มีความหมายในตัวมันเองมากมาย....
      
       นับตั้งแต่กุหลาบเป็นดอกไม้อายุนับล้านปี จากหลักฐานที่พบฟอสซิลอายุกว่า 35 ล้านปี สามารถทำให้เรายืนยันได้ว่า กุหลาบถือเป็นหนึ่งในไม้พันธุ์ดั้งเดิมของโลกที่มีอายุยืนยาวมากระทั่งปัจจุบัน..แต่ ถามว่า ใช่กุหลาบเดิมที่ออกลูกออกหลานมาจนถึงวันนี้หรือเปล่านั้น...ไม่มีผู้ยืนยันค่ะ... ทราบกันแต่เพียงสายพันธุ์ของกุหลาบบนโลกใบนี้มีมากกว่า 150 สายพันธุ์...
      
       กุหลาบถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยงาม เรื่องของความรัก หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แทนสงครามและการเมือง
      
       ระหว่างศตวรรษที่ 15 กุหลาบเคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายต่อต้านการปกครองของจักรภพอังกฤษ สองฟากฝ่ายต่างมีสีของกุหลาบที่ต่างกัน ขาว กับแดง ผลของการกระทำครั้งนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทั่งกลายเป็น สงครามกุหลาบ....
      
       สัญลักษณ์รูปกุหลาบแดงในมือ ถือเป็นตัวแทนของระบบสังคมนิยมพรรคแรงงานในประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับพรรคแรงงานของประเทศฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส สวีเดน และอีกหลายประเทศบนโลกใบนี้....
      
       เมื่อครั้งฮิตเลอร์เรืองอำนาจ สัญลักษณ์กุหลาบขาวก็เป็นตัวแทนของชาวเยอรมันที่ต่อต้านการกระทำเผด็จการเช่นว่านี้... กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มกุหลาบขาว (white rose) ที่ทำงานใต้ดินเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ในยุคนั้น....
      
       ความหมายของกุหลาบยังมีอีกเยอะค่ะ ไม่นับว่า กุหลาบได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งดอกไม้... ประโยชน์จากกุหลาบก็มีมากมาย ทั้งนำมาทำเครื่องหอม และยังสามารถนำมาปรุงเป็นยาได้อีกด้วย....
      
       ผู้หญิงสมัยก่อนมักจะชื่นชอบกุหลาบและใช้กลิ่นของมันประทินผิวเพื่อความหอมของตัวเองเสมอ... ยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 17 ในกลุ่มขุนนางและเชื้อพระวงศ์แถบโลกตะวันตก มองว่ากุหลายและน้ำมันสกัดจากกุหลาบนั้นเป็นเสมือนข้อต่อรองทางกฎหมาย พวกเขาใช้มันเป็นของมีค่าที่สามารถแลกเปลี่ยนและชำระค่าจ้างได้อย่างชอบธรรม
      
       ยิ่งถ้าย้อนไปในช่วงจักรวรรดิโรมันด้วยแล้ว กุหลาบถือเป็นไม้ดอกยอดนิยมทีเดียวค่ะ ขุนนางชั้นสูงสมัยนั้นต่างมีสวนกุหลาบใหญ่เพื่อแสดงรสนิยมและความมั่งคั่งกระทั่งโรมันล่มสลายความนิยมกุหลาบก็ถูกลดทอนลงไปด้วยค่ะ
      
       กุหลาบจึงถือเป็นไม้ดอกที่มีราคา มาแต่ไหนแต่ไรค่ะ.... ไม่เพียงแค่มันเป็นสื่อแทนใจของมนุษย์เท่านั้น แต่กุหลาบถือเป็นไม้ดอกที่ทำการค้าแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว และถือว่าเป็นไม้ตัดดอก ที่มีการซื้อขายเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว ตลาดประมูลไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดของโลก ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีการซื้อขายกันมากถึงพันล้านดอก
      
       ตำนานกุหลาบที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของความรักนั้น มีหลายเรื่องด้วยกันเช่นเรื่องของชายหญิงคู่แรกของโลก อาดัมกับอีวา...ที่ฝ่ายหญิงเผลอไผลไปจุมพิตดอกกุหลาบขาวในสวนเอเดน เป็นเหตุให้พระเจ้ากริ้ว จึงเนรเทศอีวาและอาดัมให้มายังโลกมนุษย์ และให้ต้องคำสาปว่าต้องหลงใหลในดอกไม้ชนิดนี้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์ พร้อมกับส่งดอกกุหลาบที่กลายเป็นสีแดง และความหอมรวมทั้งหนามแหลมคม มาให้มนุษย์ทุกผู้นามหลงใหลในกลิ่นและรูปของมัน.....และยังให้กุหลาบเป็นตัวแทนในการระลึกถึงการกระทำที่พลาดพลั้งของตัวเองและเพื่อให้มนุษย์ทุกผู้นามพึงระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้ยังมีความหวังและพวกเขาทั้งหลายสามารถถ่ายถอนตัวเองจากบาปได้....
      
       สีของกุหลาบก็สำคัญนะคะ... ส่วนใหญ่แล้วมักจะกล่าวอยู่เพียงกุหลาบขาวและกุหลาบแดง
      
       แน่นอนว่าสีขาวมักจะถูกแทนค่าด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ความสงบเงียบ ในแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษเอง ก็มีความเชื่อว่าหากมีเด็กเสียชีวิตพวกเขาจะวางกุหลาบขาวไว้บนหลุมศพ ขณะที่ชาวอเมริกันพื้นเมือง ก็เชื่อว่า กุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยและความสุข ในพิธีแต่งงาน...เจ้าสาวจะสวมมงกุฎกุหลาบขาวประดับในพิธีวิวาห์....แม้กระทั่งเทพีวีนัส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพีผู้คุมประพฤติของหญิงสาว ก็ยังให้ค่ากุหลาบขาวในภาคส่วนของศีลธรรม...
      
       ขณะที่กุหลาบแดงถูกทำให้กลายเป็นตัวแทนของความลุ่มหลง ตัณหา และราคะ บางตำนานเชื่อกันว่าหากใครตัดกุหลาบแดงแล้วกลีบหลุดร่วง จะหมายถึงลางร้ายที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ได้ค่ะ...
      
       เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับกุหลาบยังมีอีกมากนะคะ เช่น ที่กรุงโรม ยุคหนึ่งจะมีการนำกุหลาบป่ามาวางตรงหน้าห้องประชุมที่มีการถกเถียงหรืออภิปรายกันอยู่ และจะเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ประชุมว่า หากใครคนใดคนหนึ่ง กล่าวคำ sub rose ขึ้นมาก็หมายถึงต้องเก็บสิ่งที่พูดก่อนหน้านั้นเป็นความลับค่ะ....
      
       ของไทยเราเองก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับดอกกุหลาบไม่น้อยค่ะ ว่ากันว่า กุหลาบที่เก่าแก่ของไทยคือสายพันธุ์กุหลาบมอญ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เองท่านก็ทรงโปรดฯให้ปลูกสวนกุหลาบไว้ในพระบรมมหาราชวัง ยามท่านทรงพระสำราญก็มักจะเสด็จประทับ ณ พลับพลาที่ประทับ ยามค่ำคืนใต้แสงจันทร์ กลิ่นหอมจากสวนกุหลาบ ท่านทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงต่างๆไว้หลายเพลงทีเดียว
      
       หลายยุคหลายสมัย กุหลาบรับหน้าที่เป็นดอกไม้สื่อถึงความรักที่คนหนึ่งมีให้อีกคนหนึ่ง แม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนในซีกโลกตะวันตก ก็ตาม... แต่ การรักใคร อย่างบริสุทธิ์ใจ รักที่ไม่มีความเลวร้ายซ่อนอยู่เบื้องหลัง ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือคะ....
      
       เรื่องราวของความรัก ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มีทั้งดีและร้าย ขึ้นอยู่กับว่า เรา เลือกที่รักอย่างไร มากกว่า ในวันแห่งความรักปีนี้... ขออวยพรให้ทุกผู้นาม มีความรักและมอบความรักให้แก่คนรอบข้างอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจนะคะ.

ใช่เพียงแค่ ตุ๊กตาหมี!!

       เมื่อสักปลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงผ่านตาข่าวการประมูลตุ๊กตาหมีราคาเหยียบหมื่นในบ้านเรากันไปบ้างไม่มากก็น้อย ตุ๊กตาหมีนาม เทดดี้ แบร์ ที่หลายคนบนโลกใบนี้หลงใหลและอยากจะมีไว้ครอบครอง อย่างน้อยสักหนึ่งตัว
      
       ใครจะไปคาดคิดว่า ตุ๊กตาหมีแสนธรรมดาๆ ตัวหนึ่งจะมีเรื่องราว มีประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อราวปี ค.ศ.1902 ครั้งที่ประธานาธิบดีคนที่ 26 ธีร์โอดอร์ รูสเวลท์ Theodore Roosevelt ต้องเดินทางไปเจรจาแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐมิสซิสซิปปี้กับรัฐหลุย์ เซียน่า เจ้าภาพในครั้งนั้นให้การต้อนรับผู้นำด้วยการพาไปล่าหมีป่า แต่ครั้งนั้นกลับไม่พบหมีสักตัว บรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงพาคิดแผนนำลูกหมีมาให้ ผู้นำประเทศได้ยิง แต่... ปรากฎว่า ประธานาธิบดีรูสเวลท์ กลับปฏิเสธที่จะยิง ซ้ำยังอุทานออกมา ว่า Spare the bear...
      
       เหตุการณ์นี้ยังความประทับใจให้กับการ์ตูนนิสต์ชื่อดังยุคนั้น คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน Clifford Berruman เขาจึงวาดภาพที่ชื่อว่า Drawing the line in Mississippi และได้รับการตีพิมพ์ใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 1902 กลายเป็นที่กล่าวขานกันมาก จึงทำให้สามีภรรยามอร์ริสและโรส มิชทอม Morris and Rose Michtom ทำตุ๊กตาหมีผ้าขึ้นมาเพื่อยกย่องการกระทำครั้งนั้นของประธานาธิบดีของตัวเอง โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติว่า เทดดี้ แบร์ โดยนำชื่อเทดดี้ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของประธานาธิบดีมาตั้งเป็นชื่อตุ๊กตาหมี
      
       และนับแต่นั้นตุ๊กตาหมี เทดดี้แบร์ ก็กลายเป็นสินค้าขายดีติดอันดับในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดกลายเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงของประธานาธิบดีรูสเวลท์ จนทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้กลายเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งด้วย
      
       นี่เป็นเรื่องราวทางฟากฝั่งสหรัฐอเมริกา.... แต่เรื่องเล่าทางเยอรมันนั้น มีความเป็นมาที่ยาวกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของผู้ผลิตตุ๊กตาหมีขึ้นครั้งแรกของเยอรมัน เธอมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจและติดตามไม่น้อย
      
       มาร์กาเรต ชไตฟ์ Margarete Steiff หญิงชาวเยอรมันผู้เป็นเจ้าของบริษัทของเล่นที่มีคุณภาพและราคาที่สูง นาม Steiff ด้วยคำประกาศที่เธอยืนยันตั้งแต่แรกเริ่มของการประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้าก็คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆของเธอเท่านั้น...
      
       ผลิตภัณท์ของเธอล้วนแล้วแต่พิถีพิถันในการเลือกวัสดุ ส่วนประกอบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขนแพะชนิดละเอียด ที่พร้อมจะทักทอคุณภาพดี กระทั่งลูกตายังทำด้วยไม้หรือแก้ว พร้อมกับยัดไส้ด้วยเศษขี้เลื่อยอย่างดี ทุกขึ้นตอนการผลิตคือการเย็บด้วยมือทั้งสิ้น
      
       Margarete เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมปี 1847 ที่เมือง Giengen an der Brenz ประเทศเยอรมนี เธอมีพี่สาว 2 คนและน้องชายร่วมสายโลหิตอีก 1 คน ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเธอนั้นจัดว่าดี แต่ เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก เมื่อเธอมีอายุได้ 18 เดือน ก็เริ่มป่วยด้วยโปลิโอ และทำให้เธอไม่สามารถเดินได้นับตั้งแต่นั้นมา
      
       ตลอดชีวิตเธอต้องนั่งอยู่แต่บนเก้าอี้รถเข็น ด้วยเหตุนี้ทำให้มารดาของเธอเป็นห่วงเธอมากกว่าลูกคนไหนๆ แต่...มาร์กาเรต ไม่ต้องการให้ทุกคนมาห่วงเธอ เธอพยายามใช้ชีวิตเช่นคนปกติแม้ว่าเธอจะรู้ว่า อนาคตข้างหน้าเธอไม่อาจมีครอบครัวเช่นผู้หญิงคนอื่น แต่เธอก็ยังมีพลังใจในการใช้ชีวิตตลอดมา...
      
       เธอมักจะร้องขอให้ใครต่อใครพาเธอออกมาข้างนอกบ้าน เพื่อมีโอกาสมองเห็นสิ่งต่างๆ เช่นเด็กคนอื่นๆ เมื่อเธอเริ่มต้นเข้าโรงเรียน เธอก็ได้เพื่อนบ้านและพี่สาวที่เรียนอยู่ที่เดียวกัน ช่วยเหลือในการพาเธอไปโรงเรียนด้วย
      
       เธอพยายามเล่นกับเด็กอื่น เท่าที่สรีระของเธอจะอำนวย เธอมักจะคิดเกมส์ใหม่ๆ เพื่อเล่นกับเพื่อนๆ เสมอ...พร้อมๆ กับที่เธอเริ่มสนใจเย็บผ้าและถักโครเชท์
      
       ครั้นเธออายุได้ 17 ปี เธอเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า เธอไม่สามารถเดินได้เช่นคนอื่น และร่างกายของเธอก็ไม่แข็งแรงเหมือนหญิงทั่วไป เธอเริ่มเรียนตัดเย็บอย่างจริงจัง และเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกับพี่สองทั้งสองที่บ้าน ด้วยฝีมือที่ประณีตและการเอาใจใส่ต่อทุกฝีจักร ทำให้ใครต่อใครพากันยอมรับในฝีมือตัดเย็บของเธอ....
       
       แต่แล้ว... เธอก็ประสบปัญหาต่อมา...เมื่อแขนข้างขวาของเธอเริ่มใช้การไม่ได้ แต่..เธอก็ไม่ย่อท้อ เธอใช้แขนข้างที่เหลือหมุนล้อบนตัวจักรและหันมาเย็บเสื้อผ้าให้กับเด็กๆ แทน
      
       เมื่อพี่สาวทั้งสองของเธอแต่งงานออกเรือนไป มาร์กาเรตยุติกิจการเย็บผ้าระยะหนึ่ง เธอออกเดินทางไปรอบประเทศ พักอยู่ตามบ้านเพื่อน ก่อนที่เธอจะกลับมาตั้งต้นดูแลชีวิตด้วยตัวเอง...
      
       เธอได้น้องชายเข้ามาช่วยจัดระบบการทำงาน และเริ่มต้นทำธุรกิจ ตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกัน ด้วยการทำโรงงานขนาดเล็ก ตัดเย็บปัตติโค้ด(Petticoats) และ เสื้อผ้าเด็ก
      
       ดังเช่นชีวิตของใครหลายคน มีลงแล้ว ก็ย่อมมีขึ้น....ชีวิตของมาร์กาเรต ก็เช่นกัน หลังจากที่เธอตัดสินใจยืนด้วยตัวของตัวเองแล้ว ในปี 1880 เธอก็ไปค้นพบแบบการทำตุ๊กตาผ้ารูปช้างในนิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่ง เธอทดลองทำครั้งแรก 8 ตัว เพื่อเป็นของขวัญให้กับหลานๆ ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนในยุคนั้น มันกลายเป็นของเล่นยอดฮิตของเด็กๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย
      
       หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีคนมาขอให้เธอเย็บตุ๊กตาผ้าให้อีก กระทั่งมันกลายเป็นสินค้าขายดีของเธอไปแล้ว และเธอจึงเริ่มเปลี่ยนโรงงานเย็บผ้าของตัวเองให้กลายมาเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง แมว สุนัขและหมู...
      
       สินค้าของเธอเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น น้องชายของเธอพยายามนำสินค้าออกโชว์ในงานแสดงสินค้าที่ Stuttgart ในปี 1883 แน่นอนมันประสบผลสำเร็จตามที่คาดและทำรายได้ให้กับเธอและน้องชายอย่างงดงาม จนต้องย้ายโรงงานจากบ้านมาตั้งที่ใหม่
      
       และเมื่อหลานชายของเธอเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เข้ามาร่วมทำงานกับเธอ แต่มีเพียงคนเดียวที่สนิทสนมและร่วมคิดสร้างสรรค์กับเธอด้วย นั่นก็ Richard ในปี 1902 ริชาร์ด เริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของป้าตัวเอง เขามองเห็นช่องทางการทำตุ๊กตาหมีจากกระแสข่าวของประธานาธิบดีรูสเวลท์ พวกเขาจึงทดลองทำตุ๊กตาหมีขึ้นมา โดยตั้งชื่อครั้งแรกว่า PB แต่...ณ ประเทศเยอรมันกลับไม่ค่อยมีคนสนใจ ตุ๊กตาหมีชนิดนี้...
      
       การณ์กลับตาลปัตรเมื่อเขานำมันออกแสดงในงาน The World Exhibition ที่ St.Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา ตุ๊กตาหมี PB ขายได้ถึง 12,000 ตัว หลังจากก่อนหน้านี้มันถูกซื้อไปแล้วในการออกร้านครั้งหนึ่งโดยลูกค้าชาวอเมริกันถึง 3,000 ตัวภายในชั่วพริบตา
      
       ความนิยมในตุ๊กตาหมีของอเมริกาส่งผลให้สมาชิกโรงงานของมาร์กาเรตที่ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมีรายได้จากการเย็บตุ๊กตาหมีที่บัดนี้ ถูกตั้งชื่อใหม่ให้กลายเป็น เทดดี้แบร์ ตั้งแต่เมื่อปี 1906 และทำให้อีกปีต่อมา มาร์กาเรตขายตุ๊กตาหมีของเธอได้มากถึง 9 แสนกว่าตัว
      
       แน่นอนว่าผลิตภัณท์ตุ๊กตาผ้าของเธอนั้น ยังคงยึดมั่นหลักการเดิม คือ เธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆ ของเธอเท่านั้น มาร์กาเรตออกแบบตุ๊กตาทุกตัวของเธอด้วยตัวของเธอเอง เธอตรวจสอบคุณสินค้าทุกครั้งก่อนนำออกจากโรงงาน เธอทุ่มเทความรักให้กับตุ๊กตาทุกตัวของเธอ ซึ่งแน่นอน มันส่งผ่านไปถึงผู้รับที่นำตุ๊กตาเหล่านั้นกลับไปเป็นเจ้าของด้วย
      
       เธอเสียชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเองในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1909 ด้วยโรคปอดอักเสบ ในวัย 61 ปี ในวันที่เธอจากไปครอบครัวและคนงานเศร้าโศกเสียใจ แต่พวกเขาก็ยังดำเนินกิจการผลิตตุ๊กตาผ้าของมาร์กาเรตต่อมากระทั่งปัจจุบัน ด้วยยึดมั่นในอุดคติแต่ดั้งเดิม เพราะพวกเขากล่าวว่า บริษัทนี้ดำเนินต่อมาได้ด้วยจิตวิญญาณของมาร์กาเรตนั่นเอง.

มารี อังตัวแนต ราชินีใจบาปหรือเพียงเหยื่อของสังคม...

       
       เสียงโห่ร้องกึกก้องไปทั้งห้องฉายภาพยนตร์ Marie Antoinette ที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มเมื่อปี 2006 ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝีมือการกำกับของ Sophia Coppola ที่คาดการณ์ไว้แล้วว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับการตอบรับเช่นนี้ที่ประเทศฝรั่งเศส!!
      
       เพราะการเสนอมุมมองใหม่ถึงชีวิตของผู้หญิงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวและพยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ในโลกที่เธอเองก็ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ซ้ำยังไม่คาดฝันว่าจะได้เข้ามาสัมผัสมัน... ถูกนำมาฉายเป็นภาพของราชินีในราชสำนักฝรั่งเศสองค์นี้ มารี อังตัวเนต
      
       ....ราชินีใจบาป ภรรยาที่คบชู้สู่ชาย นางปีศาจ มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย นังผู้หญิงออสเตรีย...ต่างๆ เหล่านี้คือคำเรียกขาน พระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงองค์เล็กแห่งออสเตรียที่ต้องจากแผ่นดินเกิดของตัวเองมาเข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 14 ปี....
      
       มารี อังตัวเนตกลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก ที่รู้จักกันดีในโชคชะตาของพระนางที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกีโยติน ในปี 1793 ....
      
Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen
มาเรีย อันทัวเนีย โจเซฟฟ่า โยฮันน่า ฟอน ฮับสบวก - โลธริงเง่น    

 มารี อังตัวเนต โฌเซฟ โยฮฌานน์ วอน ฮับส์บวร์ก ลอแรนน์ ( Maria Antonia Josepha Johanna von Habsburg – Lothringen) อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 1755 พระนางเติบโตภายใต้การดูแลอย่างสบายๆ ง่ายๆ ไม่เข้มงวดเท่าราชินิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ตลอดเวลาพระนางได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ใดๆ เรียกได้ว่า แทบจะคล้ายกับวิถีชีวิตของสามัญชน....
      
       ด้วยวัยเพียง 13 ชันษา พระนางถูกกำหนดให้เตรียมพร้อมในการเข้าพิธีอภิเษกสมรส ด้วยการหัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับคีตกวีชื่อดัง รวมทั้งเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสด้วย และหลังจากนั้นในปี 1769 พระนางมารี ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส ทั้งนี้ก็เพื่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่แผ่นดินของพระนางเอง โดยวันแรกที่ก้าวข้ามแผ่นดินเกิด พระนางก็ถูกเรียกขานจากคนอีกฟากฝั่งทันทีว่า.... ผู้หญิงออสเตรีย....
      
       ทันทีที่ก้าวข้ามแผ่นดิน พระนางมารี ต้องประสบกับชะตากรรมที่ใครก็ไม่อยากเผชิญ การปรับตัวเข้ากับพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมแบบฝรั่งเศส การถูกปฏิเสธจากสวามีของตัวเองเป็นเวลาหลายปี ทำให้พระนางมีปฏิกิริยาในด้านตรงข้ามกับจารีตที่กุลสตรีชั้นสูงในราชสำนักควรจะเป็น
      
       หลังจากพระนางได้ขึ้นครองบัลลังค์คู่กับพระสวามีกลายเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสในปี 1774 แล้ว พระนางมารี อังตัวเนตก็ปฏิเสธขนบเดิมทุกประการ ที่ราชินิกุลควรจะเป็น ไม่ว่าการเป็นพระชายาที่ดี เป็นพระมารดาที่ดี และเป็นคาทอลิคที่ดี พระนางกลับทำในด้านตรงข้ามนั้นสิ้น!!
      
       พระนางกลายเป็นราชินีที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง เป็นหนึ่งในผู้ใฝ่อิสรภาพและเสรีภาพ มีความกระหายอยากในความสุขอย่างท่วมท้น และพระนางคือผู้นำแฟชั่นของยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ...ต่างๆ เหล่านี้ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระนางประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่อย่างสิ้นเชิง
      
       ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ประกอบกับความเป็น คนนอกไม่ใช่คนของแผ่นดินฝรั่งเศส พระนางจึงถูกต่อต้านมาตลอด แต่...พระนางก็ไม่เคยยี่หระกับคนรอบข้างเช่นนั้น โดยพระนางพยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีตามอำเภอใจของตน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมแต่ประการใด....
      
       กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนาง ได้รวมตัวกันมาตั้งแต่พระนางขึ้นสู่ราชบัลลังค์ มีการโจมตีด้วยข่าวคาว ของการคบชู้สู่ชายไม่ว่าจะกับหญิงหรือชาย พระนางถูกกล่าวหาทั้งสิ้น อีกทั้งมีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่าย เพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายหนุนหลังให้ออสเตรียแผ่นดินเกิดของตัวเอง
      
       เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระนางก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเหตุให้พระนางเดินทางมาถึงจุดจบแห่งชีวิตตัวเอง ซึ่งระหว่างที่ประชาชนฝรั่งเศสอดอยากยากแค้น ก็มีข่าวแพร่สะพัดตลอดเวลาว่า พระนางกลับถลุงเงินหลวงอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งใด
      
       เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1789 ขบวนประท้วงของสตรีเดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปังให้กับครอบครัวตัวเอง พระนางกลับกล่าววลีที่บาดลึกลงไปในใจของใครหลายคน ที่ขณะรายงานว่าประชาชนของแผ่นดินไม่มีขนมปังกิน พระนางกลับตอบไปว่า ให้พวกเขากินเค้กสิ’ ....ราวกับน้ำผึ้งหยดเดียว.....
      
       ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนลุกฮือติดอาวุธที่มีเพียงหอกและมีด บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารม้าตามอารักษ์ขา แต่ระหว่างทางก็ยังมีผู้เรียกร้องยื่นเชือกเส้นหนึ่งให้พระนางทอดพระเนตรว่า จะใช้แขวนคอพระนางกับเสาโคมในกรุงปารีส
      
       เรื่องราวชีวประวัติของพระนางมารีนั้น มีหลายหลากแง่มุม และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอย่างยากจะแยกจากกัน ประวัติชีวิตของพระนางถูกนำมาสร้างเป็นบทละคร เป็นภาพยนตร์และหนังสือหลากเล่มหลายนักเขียน และต่างมุมมอง
      
       แต่สำหรับตัวดิฉันเองแล้ว มองว่า มารี อังตัวเนตเป็นราชินีผู้มีความซับซ้อน ในยุคสมัยที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทางการเมือง แม้ว่าใครจะเรียกขานพระนางอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นราชินีผู้งดงาม และบอบบางราวกับฟองสบู่ นางผู้มีกลิ่นหอมหวน เต็มไปด้วยความสง่างาม ความสดใสของการมีชีวิต และผู้นำรสนิยมแบบฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 หรือแม้กระทั่งจะให้พระนางเป็นราชินีผู้เลวทราม ผู้หญิงชั่วช้า ผู้คบคิดกับต่างชาติเพื่อทำลายแผ่นดินฝรั่งเศสและกลายเป็นผู้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐ....
      
       บั้นปลายชีวิตพระนางมารี อังตัวเนตถูกลดฐานะลงมาเหลือเพียง แม่ม่าย capet และต้องโทษประหารชีวิต ด้วยเครื่องกีโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม 1793 ณ จัตุรัส revolution ณ กรุงปารีส ด้วยวัย 37 ปี เพียงชั่วข้ามคืนจากผมสีทองบลอนซ์ก็กลายเป็นสีขาวในบัดดล จากเด็กสาวผู้อ่อนด้อยประสบการณ์โลก กลายเป็นหญิงชั่วที่ปั่นป่วนขนบแห่งแวร์ซาย เพียงเพื่อหลีกหนีความเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวเอง ทำให้พระนางต้องพบจุดจบเช่นนี้ ในเวลา เที่ยงสิบห้านาที ศีรษะของพระนางก็หลุดออกจากบ่า ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของฝูงชน.........