6/14/2555

บทเพลงเพื่อเธอ อองซานซูจี

บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2552
เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th/multimedia


"สำหรับดิฉัน การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ดิฉันจึงปรารถนาให้ประชาชน ไม่เพียงมองความพยายาม ที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่พม่าว่าเป็นเพียงขบวนการทางการเมืองอย่างหนึ่ง 
แต่ขอให้มองว่าเป็นความพยายาม ของประชาชนที่จะยืนยันสิทธิที่จะได้รับการ 
ปฏิบัติอย่างมีคุณค่าสมเป็นมนุษย์"
       นั่นคือคำกล่าวของนางออง ซาน ซูจีเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1996 ค่ะ
       ปีนี้เธออายุ 64 ปีแล้วค่ะ(2555 ก็น่าจะ 67 ปี)....ผู้หญิงที่เคยประกาศต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ว่า.... ความรักและสัจจะ จะโน้มน้าวใจมหาชนได้มากกว่าการบังคับ...      
       ออง ซานซูจี บุตรสาวของนายพล อองซาน ที่หากนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนเมืองย่างกุ้ง คงต้องมีโปรแกรมไปชอปปิ้งที่ตลาดโบ จ๊ก หรือตลาดอองซานพร้อมฟังประวัติของการสร้างตลาดนี้จากไกด์พม่ากันมาบ้าง...



       หลังจากบิดาของออง ซานซูจี ถูกลอบสังหารประเทศพม่าก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย แน่นอน ระยะเวลานั้นหากใครเคยรู้ประวัติของออง ซานซูจี คงทราบดีว่าเธอไม่ได้อยู่ในประเทศพม่า...เธอได้รับการดูแลจากมารดาผู้เข้มแข็งที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ที่นั่นเองที่อองซานซูจีได้ศึกษากระทั่งจบปริญญาตรีแล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษกระทั่งพบรักและแต่งงานกับสามีของเธอ
ไมเคิล อริส
       ดิฉันเคยนึกสงสัยหลายครั้งค่ะ...เหตุใด ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจึงพลิกผันได้มากขนาดนี้...จากชีวิตที่ดำเนินไปอย่งเรียบง่ายมีครอบครัวที่อบอุ่น สามีและลูก...มีหน้าที่การงานที่มั่นคง... และไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองของประเทศตัวเอง...
      
       แต่แล้วด้วยฐานะของบุตรสาวนายพลอองซาน ทำให้เธอผู้นี้ถูกผลักออกไปยืนแถวหน้า....ให้กลายเป็นผู้นำขวัญและกำลังใจของประชาชนในชาติในการเรียกร้องประชาธิปไตย... ในช่วงเวลานั้นดิฉันเคยนึกสงสัยค่ะว่า ...เธอคิดอะไร?!!
       เหตุไฉนเธอจึงหาญกล้าที่จะละทิ้งความสุข ละทิ้งครอบครัวแล้วอุทิศตัวให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพ...เธอเลือกแล้วที่จะสละอิสรภาพของตัวเองเพื่อเพื่อนร่วมชาติที่ร่วมชะตากรรมเดียวกับเธอ...      
       หลังจากกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อพยาบาลมารดาที่เจ็บหนัก นับแต่นั้นออง ซาน ซูจีก็ไม่เคยได้ออกไปจากแผ่นดินเกิดอีกเลย...แม้ช่วงเวลาที่บีบคั้นที่สุดในคราวที่สามีของเธอกำลังจากโลกนี้ไป...เธอก็ยืนหยัดที่จะยืนเคียงข้างประชาชนของตัวเองต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมทั้งหลายด้วยวิธีสันติ...
      
       จากวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 เหตุการณ์ที่พลิกผันทำให้ชาวพม่าตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นกระทั่งปัจจุบัน จากวันนั้นกระทั่งวันนี้ ออง ซาน ซูจีพยายามเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมามองพม่าที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ออง ซาน ซูจี เคยกล่าวไว้ว่า ...ประชาธิปไตยที่พวกเราเรียกร้องกันอยู่คือ ภาวะที่ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างเงียบสงบ ภายใต้ระเบียบแห่งกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของพวกเรา เป็นสิทธิที่ช่วยให้เราธำรงศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์เอาไว้ได้....
      
       หลังจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเธอเพียง 5 ปี ออง ซานซูจีก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลที่เธอไม่มีโอกาสเดินทางไปรับด้วยตัวเอง...
      
       กระทั่งวันนี้ นับเนื่องมา 20 ปีแล้ว ออง ซาน ซูจี ยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพและประชาธิปไตยที่บ้านเกิดเมืองนอนของเธอ...กับภาวะที่ถูกจองจำ อิสรภาพ
      
       ดิฉันมีโอกาสถามไถ่ชาวพม่ารุ่นใหม่ที่ ถูกปิดปากเรื่องการเมือง ถูกห้ามไม่ให้พูดเรื่องประชาธิปไตยและออง ซาน ซูจีในพื้นที่สาธารณะ ครั้นมีโอกาสพวกเขาตอบคำถามที่ดิฉันถามถึงความรู้สึกของพวกเขาที่มีออง ซาน ซูจี ว่า แท้จริงแล้วพวกเขาคิดอย่างไร... นางเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่รอวันเหี่ยวเฉาไปกับกาลเวลาเท่านั้นหรือไม่.... คนพม่ารุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งตอบกลับมาว่า นางยังอยู่ในดวงใจพวกเขาเสมอ....คำนี้ทำให้ดิฉันไม่คิดจะถามอะไรต่อไปอีกแล้วค่ะ

       ออง ซาน ซูจี ทำให้ดิฉันนึกถึงบทเพลงที่มีศิลปินต่างชาติแต่งไว้ให้กับเธอ หนึ่งคือวง U2 กับเพลง walk on ถ้าจะว่ากันไปบทเพลงของ วง U2 นี้ก็มักจะมีเนื้อหาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว พวกเขามีหลายเพลงที่แต่งให้กับบุคคลสำคัญๆที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความถูกต้องของสังคมหลายเพลง เช่นเพลง Pride (In the name of Love) ที่พวกเขาแต่งให้กับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และเพลงนี้ก็เช่นกัน walk on พวกเขาแต่งให้กับนาง ออง ซาน ซูจี
      
       อีกเพลงหนึ่งคือ unplayed piano ที่แต่งโดย Damien rice ครั้งที่เขาเดินทางไปพม่าและรับรู้เรื่องราวของอองซานซูจี....และแต่งเพลงนี้ขึ้นเพื่ออวยพรวันเกิดของเธอ
       เขาเคยกล่าวไว้ว่า เขามักไม่ชอบก้าวก่ายความเป็นไปในโลกใบนี้ แต่เมื่อมีใครสักคนทีมีชื่อเสียงถูกเหวี่ยงเข้าไปในหลุมและเขาก็ร้องเรียกให้เราไต่เชือกลงไป, เขารู้สึกยินดีที่จะทำตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีมารยาทงดงามเช่นนี้
      
       ชะตากรรมของออง ซาน ซูจีจะไปเช่นไรต่อไปมิอาจรู้ได้... พวกเราคนภายนอกก็ได้แต่เรียกร้อง ร่ำร้องให้แด่เธอ แต่มันจะสะท้าน สะเทือนไปถึงหัวใจของผู้นำประเทศของเธอหรือไม่นั้น...คงเป็นเรื่องยาก...
      
       อองซานซูจี เคยกล่าวไว้ว่า เธอหวังว่าชาวพม่าจำนวนมาก จะตระหนักถึงสัญชาตญาณภายในที่กระตุ้นให้เราพยายามมองหา สวรรค์และเสียงอันหนักแน่นที่คอยพร่ำบอกแก่เราว่า เบื้องหลังก้อนเมฆที่เรียงรายสลับซํบซ้อน ยังคงมีพระอาทิตย์ที่คอยเวลาอันเหมาะสม จะโผล่พ้นออกมาให้แสงสว่างคุ้มครองเราเสมอ...
       

6/12/2555

ผู้หญิง ร้ายจริงหรือ....



เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th / multimedia 17 กรกฎาคม 2552 17:13 น






       
       ตำนานที่ว่านี้สอดคล้องกับเรื่องเล่า vagina dentata หรือช่องคลอดที่มีฟัน คำนี้หลายคนคงคุ้น และเคยทราบประวัติกันมาบ้าง ตำนานอวัยวะเพศหญิงนี้สอดคล้องกันหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองของอเมริกา หรือความเชื่อของชาวจีนโบราณบางกลุ่มที่กล่าวว่า อวัยวะเพศหญิงนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นประตูไปสู่ความเป็นอมตะเท่านั้น แต่มันอาจเป็นเพชรฌฆาตประหารผู้ชายได้อีกด้วย
       
       ชาวโพลีนีเซียก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า maui ได้พยายามหาความเป็นอมตะด้วยการคลานเข้าไปในปากของ hina ผู้มารดา แต่สิ่งที่ maui ได้รับคือ hina กัดเขาขาดเป็นสองท่อน!!
       
       หากใครเป็นผู้ชื่นชอบในการชมภาพยนตร์ต่างประเทศคงคุ้นกับเรื่อง teeth ที่ตัวเอกของเรื่องมีอาการเช่นว่านี้ หากชายใดมุ่งจะทำร้ายตัวเธอ....
       
       เรื่องเล่าร้ายๆของผู้หญิงมีอีกหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ดิฉันชื่นชอบ ก็คือ เรื่องของ แพนโดรา Pandora ผู้เป็นที่มาของ pandora’s box ผู้ให้กำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ร่วมกับไททันเอพะมีธีส ถือได้ว่าแพนโดราเป็นสตรีนางแรกของโลกมนุษย์ที่ถูกทำให้ไม่สามารถเก็บความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเอาไว้ได้ กระทั่งต้องเผลอไปเปิดกล่องแพนโดรา ที่เทพซุสได้มอบให้แก่นางก่อนลงมาโลกมนุษย์ จนกระทั่งทำให้ความชั่วร้ายหลุดรอดออกมาจากกล่องใบนั้น ก่อให้มนุษย์ทุกผู้นาม มีจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ และเริ่มเข่นฆ่ากันเอง
       
       และด้วยความตกใจแพนโดรารีบปิดกล่องนั้น แต่กลายเป็นว่านางได้เก็บกักความหวัง ความดีที่เป็นตัวทำลายความชั่วร้ายไว้ในกล่องใบนั้นแทน สุดท้ายเทพเจ้าก็ต้องบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลกล้างเผ่าพันธุ์ที่ชั่วร้ายให้หมดไป เหลือแต่มนุษย์ผู้มีจิตใจดีงาม และดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อมา.....
       
       ตำนานของสตรีอีกนางหนึ่งที่ร้ายไม่แพ้กัน ก็คือ เมดูซา Medusa แม้ว่านางจะมีความงดงามมาก่อน แต่นางก็ถูกทำให้กลายเป็นหญิงอัปลักษณ์ที่หากใครมองดวงตาของนางแล้วก็จะกลายเป็นหินทันที
       
       เรื่องเล่าของเมดูซา นั้นออกจะต่างจากสองเรื่องที่ดิฉันนำมาเสนอพร้อมกัน ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องของความไม่ลงรอยระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง
       ส่วนใหญ่ มักกล่าวว่าเมดูซาเป็นหญิงงามมีพี่สาวอีกสองคนที่เป็นอมตะ ส่วนตัวนางนั้นยังมีเลือดเนื้อ มีความเป็นมนุษย์อยู่ แน่นอนว่าหญิงงามย่อมเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม และมีเทพีคู่อาฆาตคืออาเธน่า ที่เป็นเทพีอุปถัมภ์สาวพรหมจรรย์
       
       มันคงไม่เกิดเรื่องใดๆ หากวันหนึ่งขณะที่ เมดูซากำลังบูชาเทพีอเธนาอยู่นั้น เทพโพไซดอนไม่เข้ามาข่มขืนนาง เมื่ออเธนาเห็นเช่นนั้นจึงบันดาลโทสะกล่าวว่า เมดูซาลบหลู่วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของนาง จึงสาปให้เมดูซามีผมเป็นงู และหากใครมองดวงตาของนางก็จะกลายเป็นหินทันที....
       
       แต่บางตำนานกล่าวว่า เมดูซาเป็นหญิงงาม และดำรงอยู่ในดินแดนแสนไกลที่ดวงอาทิตย์มิอาจไปเยือน อยู่มาวันหนึ่งด้วยความสนใจใคร่รู้ เมดูซาได้ขออนุญาตเทพีอเธนาไปเยือนดินแดนทางใต้ เพื่อนางจะได้สัมผัสแสงแห่งอาทิตย์ แต่...อเธนาปฏิเสธคำขอนั้นของเมดูซา จึงทำให้นางโกรธและท้าทายเทพีอเธนาว่า เหตุที่ไม่ยินยอมให้นางได้เดินทางไปนั้น เพราะริษยาในความงามของเมดูซา... และนั่นจึงทำให้เทพีอเธนาโกรธและลงโทษเมดูซาด้วยการเปลี่ยนผมให้กลายเป็นงูและหากใครมองตาก็จะกลายเป็นหินทันที
       
       อาณาจักรกรีกยุคแรกๆ มีวิหารแห่งเมดูซา แต่ต่อมาถูกทำลายไปแบบไม่เหลือซาก และชาวกรีกในยุคหลังก็นำตำนานเมดูซามาเล่าใหม่ ให้นางกลายเป็นมารร้ายที่คอยทำร้ายผู้คนให้กลายเป็นหิน และสุดท้ายเมดูซาก็ถูกปราบโดย เพอร์ซิอุส และพากันยกย่องเทพีอเธนาให้เป็นเทพีที่ผู้หญิงกรีกต้องใช้เป็นแบบอย่าง ในการรักษาพรหมจรรย์และรับใช้ครอบครัว และซื่อสัตย์ต่อบิดาของตัวเอง ดังเช่นอเธน่าจงรักภักดีต่อเทพซุส
        *****************

       น่าแปลกที่ เมดูซามีการกล่าวถึงจากนักสตรีนิยม โดยกำหนดให้นางเป็นสัญลักษณ์ของความเดือดดาลของเพศหญิง นอกจากความเป็นต้นแบบของหญิงร้ายแล้ว เมดูซายังกลายเป็นสัญลักษณ์สินค้ายี่ห้อดังก้องโลกอย่าง Versace อีกด้วย
       
       ผู้หญิงร้ายๆ ที่ดิฉันหยิบยกมาเล่าในครั้งนี้ หากมองกันจริงๆ แล้ว บางที เราอาจมีคำถามในใจก็เป็นได้ ว่า .... ผู้หญิงนั้น ร้าย จริง หรือ...

5/26/2555

อิกคิวซัง


อิกคิวซัง
โดย นพวรรณสิริเวชกุล
 เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th / multimedia / 2552 



.....คนเรามีกิเลสไม่รู้จบสิ้น ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง และชีวิต ทำให้คนเราเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ได้มากขึ้น แต่คนที่ไม่รู้จักความพอเพียงนี่แหละเป็นคนที่มีความทุกข์ยิ่งกว่าใคร ไม่ว่าจะแต่งกายประดับประดาหรูหราสักแค่ไหน กินอาหารอร่อยจนอิ่มท้องสักเพียงใด จิตใจก็เป็นเพียง คนตาบอดผู้กระหาย เท่านั้น...
นี่เป็นความตอนหนึ่งจากหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริง ที่เขียนโดยมาซาโอะ โคเงรุ และแปลเป็นภาษาไทยโดยพรอนงค์ นิยมค้า ค่ะ

หลายคนคงเคยชมภาพยนตร์การ์ตูนอิกคิวซังกันมาบ้างนะคะ ซ้ำปัจจุบันนี้ยังนำกลับมาฉายใหม่ให้ได้ดูกันอีกด้วย หลายคนที่ชมอิกคิวซัง คงติดใจในความน่ารักและชาญฉลาดของตัวการ์ตูนตัวนี้ และเชื่อว่าหลายคนคงทราบว่า อิกคิวซังนั้น มีตัวตนจริง เผลอๆ อาจเคยไปเยือนวัดที่อิกคิวซังเคยจำวัดอยู่แล้วด้วยนะคะ

ดิฉันหยิบหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริงขึ้นมาอ่านหลังจากเก็บไว้หลายปี หนังสือที่ว่านี้เป็นหนังสือภายใต้โครงการคันฉ่องส่องญี่ปุ่นค่ะ (Japanese Mirrors)  หนังสือในโครงการนี้มีหลายเล่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องราวของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอนักสู้ โนกุจิ ฮิเดโยะ หรือ หนังสือชีวประวัติของนักเขียนอย่าง มิยาซาวะ เคนจิ ค่ะ

สำหรับหนังสืออิกคิวซังเล่มนี้ เป็นชีวประวัติของพระเถระในนิกายเซนที่มีชื่อเสียงที่สุด ส่วนใหญ่เรามักจะเรียกท่านว่า เณรน้อยเจ้าปัญญา อิกคิวซัง  สมญานามที่แท้จริงของท่านก็คือ อิกคิวโซจุนหรือ
อิกคิวเซนจิ ค่ะ

ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าอิกคิวซังเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1394 โดยนามแรกเกิดว่า เซนงิกุมารุ  มารดาของเซนงิกุมารุคือ เจ้าหญิงเทรุโกะ ธิดาของฟุจิวาระ โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าจอมอิโยะแห่งจักรพรรดิโกะโคะมัตษุ  แต่ด้วยความเข้าใจผิด ทำให้พระนางต้องหนีออกจากวังเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกในครรถ์

หลังจากคลอดโอรสอย่างปลอดภัยและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้ว เมื่อเซนงิกุมารุอายุได้ 6 ปี ท่านแม่ก็ปรารถนาจะให้ท่านชายน้อยได้ไปเล่าเรียนที่วัดและบวชเป็นพระในที่สุด นับแต่นั้นชีวิตของท่านชายน้อยก็เปลี่ยนไปทันที
                                                  

วัดแรกที่เซนงิกุมารุเข้าไปอาศัยอยู่คือ วัดยามาชิโระอังโคะกุ แห่งเมืองเกียวโต หลังจากนั้น ก็ได้รับสมญาแรกว่า ชูเคน  ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในความฉลาดปราดเปรื่องในฐานะ เณรน้อยเจ้าปัญญา
เมื่ออายุได้ 12 ปี ชูเคนก็ต้องไปศึกษาธรรมต่อที่วัดเทนริว ที่สร้างขึ้นโดยโชกุนอาชิคางะ ทาคาอุจิและโชกุนอาชิคางะ ทาดะโยชิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของจักรพรรดิโกะไดโกะ  แต่ชูเคนอยู่ที่นี่ได้เพียงครึ่งปี  ก็เกิดสิ้นศรัทธาเจ้าอาวาสองค์นี้ ชูเคนจึงตัดสินใจออกทางเดินทาง กระทั่งไปพบหลวงพ่อที่เขาศรัทธาและศึกษาร่ำเรียนธรรมะกับหลวงพ่อท่านนี้ กระทั่งเกิดความลึกซึ้งกับเซน

ด้วยหลวงพ่อที่ชูเคนเลื่อมใสนั้น มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายและอยู่อย่างสมถะ  หลวงพ่อสั่งสอนเรื่องหัวใจของเซนแก่ชูเคนอยู่เสมอ ด้วยพระในนิกายเซนนั้นต้องปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวดเพื่อให้ บรรลุ เมื่อบรรลุแล้วก็จะไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ ไม่มีโลภ โกรธ หลง เหมือนท้องฟ้าไร้เมมฆหมอก มีจิตใจที่สะอาดสดใสตลอดไป...

จากชูเคน  เณรน้อยที่บัดนี้เติบโตเป็นหนุ่มก็ได้รับสมญานามใหม่ว่า โซจุน ซึ่งจุนคือหัวใจบริสุทธิ์ของเซน เป็นหัวใจที่ไม่ยึดติดกับอะไรและไม่หลงอะไร...  หลวงพ่อได้จากโซจุนไป ทำให้พระหนุ่มเศร้าหมองอย่างหนักขนาดจะปลิดชีพตัวตาม

แต่แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป และได้เข้าเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเซนอีกองค์หนึ่ง กระทั่งเขาสามารถบรรลุหัวใจแห่งเซน.... ด้วยไม่ว่าเราจะเกิดมาจากไหน คนเราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปเพียงคนเดียว ... นับแต่นั้นพระหนุ่มโซจุน จึงได้รับสมญา ว่า อิกคิว...

                                  
เมื่อหลวงพ่อถามความหมายของชื่ออิกคิว พระหนุ่มกลับตอบเป็นกวีว่า..
ขอพักสักครู่หนึ่ง
ระหว่างทางจากโลกียะ สู่โลกุตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด
หากลมจะพัดก็พัดเถิด....

อิกคิวมีลูกศิษย์มากมายและไม่เลือกฐานะของลูกศิษย์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรขจายและถือเป็นพระเซนที่เข้าใจแก่นของเซนอย่างแท้จริง ท่านละสังขารไปเมื่ออายุ 88 ปี ในปี ค.ศ.1481 ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งเสียลูกศิษย์ให้ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามปกติเท่านั้น และขอให้สร้างรูปของตัวอิกคิวและบันทึกสิ่งที่ท่านได้ทำไว้เท่านั้น

กล่าวกันว่ารูปแกะสลักไม้อิกคิวนั้น มีหนวดและผมของท่านบรรจุไว้จริงๆ  ทุกๆ ปีที่วัดแห่งนี้จะมีพิธีดื่มน้ำชาจากถ้วยใบใหญ่ เพื่อระลึกถึงอิกคิวซังอีกด้วย.....

5/09/2555

เพราะซีรีย์เกาหลี ทำให้รู้จัก...ราชินนีมินแห่งโชซอน


เพราะซีรีย์เกาหลีทำให้ฉันรู้จัก ราชินีมินแห่งโชซอน
เผยแพร่ครั้งแรก  / Manager multimedia Art & Culture ; กันยายน 2552

ยอมรับค่ะว่าหลายเดือนที่ผ่านมานี้ดิฉันติดซีรีย์ภาพยนตร์เกาหลีอยู่หลายเรื่องทีเดียว เริ่มต้นจากแดจังกึม และล่าสุดก็เห็นจะเป็นเรื่องลีซาน จอมบัลลังค์กู้แผ่นดิน และเรื่องฮง กิว ดอง จอมโจรโดนใจ ก่อนจะถลำตัวให้ติดซีรีย์เกาหลีมากไปกว่านี้...ดิฉันก็ตัดสินใจ ลองมองหาเรื่องราวประวัติศาสตร์เกาหลีมาอ่านดูบ้าง เพื่อคลายความสงสัยของตัวเอง ในเรื่องของตัวละครต่างๆ ในแต่ละเรื่อง...
อ่านไปอ่านมา ดิฉันก็มาสะดุดที่เรื่องของ ราชินีมินค่ะ..ถือได้ว่าพระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดินีองค์แรกของราชวงศ์โชซอนเลยทีเดียว

เหตุการณ์ในช่วงรัชสมัยของพระนางนั้นน่าสนใจมากค่ะ  พระนางเป็นมเหสีของกษัตริย์โกจง ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โชซอน ผู้ทำให้แผ่นดินเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของเกาหลีเลยก็ว่าได้

                                                               รูปถ่ายราชินีมิน 

ตำแหน่งจักรพรรดิของกษัตริย์โกจงนั้น ได้รับการสถาปนาเพื่อเป็นเงื่อนไขในการสร้างจุดเปลี่ยนและการคานอำนาจของมหาอำนาจที่ครอบครองคาบสมุทรเกาหลีในยุคของพระองค์ แต่นั่นแทบจะไม่มีความสำคัญใดๆเลย เพราะกษัตริย์โกจงก็ยังถูกบีบคั้น กดดัน นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองบัลลังก์
ด้วยความอ่อนแอของกษัตริย์โกจงที่อำนาจทุกอย่างตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระบิดาของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 11 พรรษาเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อกษัตริย์โกจงมีชันษาได้  15 ปี พระบิดาก็ทรงเลือกมเหสีที่ดูคล้ายกับจะไม่มีพลังอำนาจใดๆ มาต่อรองได้ให้กับพระองค์ มินจายองเด็กสาววัย 16 ปีกำพร้าบิดาและมารดา บุคลลิกคล้ายจะหัวอ่อน รูปร่างงดงาม ถูกนำตัวเข้าวังหลวงเพื่อเป็นคู่อภิเษกสมรสในปี 1866

กษัตริย์โกจงด้วยวัยหนุ่มยังคงเพลิดเพลินกับการสมาคมและงานรื่นเริง ขณะที่ราชินีมินกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือจำนวนมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์ แง่มุมต่างๆในการบริหารและปกครองประเทศ  แน่นอนคลังความรู้เหล่านี้ถูกสงวนไว้สำหรับขุนนางระดับสูงเท่านั้น

ไม่ใช่แต่จะคร่ำเคร่งกับหนังสือเท่านั้น พระนางยังแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยการสนทนากับผู้มีความรู้ความสามารถ กระทั่งถือเป็นสตรีคนแรกของเกาหลีที่มีความรอบรู้หลายด้าน
เรื่องมันคงไม่มีอะไรน่าสนใจหรอกค่ะ หากเหตุการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นในเวลาปกติ การแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความรัก ย่อมเกิดช่องว่างเสมอ แต่...เป็นเพราะทั้งคู่คือผู้ปกครองอาณาจักรโชซอนในสมัยนั้น สมัยที่ซีกโลกตะวันตกกำลังล่าอาณานิคม และญี่ปุ่นก็เริ่มต้นคุกคามแผ่นดินอื่น

ราชินีมินค่อยๆ ก้าวเข้ามาช่วยกษัตริย์โกจงบริหารประเทศ กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากขุนนางว่าพระนางทำตัวเสมือนบุรุษ แนวคิดเก่าอย่างพระบิดาของกษัตริย์โกจงย่อมขุ่นเคืองเรื่องทำนองนี้ไม่น้อย และยิ่งเพิ่มรอยร้าวมากขึ้นเมื่อ พระบิดาของโกจงไม่เห็นด้วยกับราชินีมินที่พยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทันสมัยเพื่อรองรับกับวิทยาการของโลกภายนอก

และยิ่งมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นที่จ้องจะเอาเปรียบทางการค้า ด้วยสนธิสัญญาคังฮวา แล้ว ทำให้ราชินีมินทราบดีว่าโชซอนนั้นเสียเปรียบญี่ปุ่นอยู่หลายขุมทีเดียว พระนางจึงส่งคนไปเรียนรู้ศึกษาความเจริญจากญี่ปุ่นเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศที่ไม่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ  แน่นอนเรื่องเหล่านี้นำความไม่พอใจมาสู่ขุนนางหัวเก่าที่ค่อยๆ บ่มเพาะความเกลียดชังอย่างช้าๆ

ราชินีมินพระองค์นี้ ทรงแก้ไขสถานการณ์คับขันของบ้านเมืองได้หลายต่อหลายครั้ง พยายามช่วยเหลือไม่ให้โชซอนเสียเปรียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เมื่อญี่ปุ่นมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ราชินีมินจึงหันไปผูกสมัครรักใคร่กับจีน อีกทั้งจีนยังส่งกำลังมาช่วยปราบกบฏในโชซอนอีกด้วย

ด้วยเหตุการณ์คับขันหลายครั้งหลายครา ราชินีมินได้ใช้สติปัญญาของตัวเองช่วยเหลือกษัตริย์โกจงแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ตลอด และด้วยความเฉลียวฉลาดของพระนางที่ต้องการบริหารประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเชิงรุกและรับ ทำให้พระเจ้าโกจงหลงใหลและชื่นชมในมเหสีของตัวเองยิ่งนัก

                                               แต่แล้วพระนางก็ถูกสังหาร....

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะจากสงครามจีน ญี่ปุ่นครั้งที่1 ราวต้นปี 1895 ราชินีมินเริ่มวิตกต่อความมั่นคงของประเทศตัวเอง พระนางพยายามติดต่อกับรัสเซียเพื่อให้ช่วยหาทางสกัดอำนาจของญี่ปุ่นที่มีท่าทีจะกลืนประเทศเกาหลี

ไม่ว่าที่ใด ย่อมมีหนอนบ่อนไส้แฝงตัวอยู่ด้วยเสมอในการณ์นี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือพระบิดาของกษัตริย์โกจงนั่นเอง เจ้าชายแดวอนทรงแค้นที่ราชินีมินถอดพระองค์ออกจากผู้สำเร็จราชการและทอนอำนาจลงอย่างแทบไม่มีเหลือ จึงหันมาร่วมมือกับญี่ปุ่น จ้องจะล้มอำนาจราชินีมิน!!

รุ่งอรุณของวันที่ 8 ตุลาคม 1895 หน่วยสังหารภายใต้คำสั่งของมิอูระ โกโร่ ผู้สำเร็จราชการจากญี่ปุ่น ได้บุกเข้าไปยังพระราชวังเคียงบุก และตรงเข้าสังหารราชีนีมิน ขณะมีพระชนม์ได้ 43 พรรษา
แน่นอนการสังหารไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรวมพลระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีแปรพักตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะฝ่าทหารอารักขาไปได้ พร้อมเข้าไปสังหารราชินีมินอย่างอุกอาจ และเมื่อแน่ใจว่าพระนางสิ้นแล้ว เหล่าผู้สังหารยังนำพระศพของพระนางไปที่ป่าสนในบริเวณด้านหน้าของตำหนักโอคลูลู และเผาเพื่อทำลายหลักฐาน กล่าวกันว่า เมื่อทำการเสร็จสิ้นกลุ่มสังหารจำนวน 56 คนถูกนำตัวไปไต่สวนที่ศาลเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะถูกปล่อยตัวเมื่อพิพากษาว่าไม่มีความผิด เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน
นับจากนั้นโชซอนหรือเกาหลีก็ประสบกับชะตาอีกมากมาย ในปี 1904 ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับรัสเซียและรบชนะ นั่นจึงทำให้รัสเซียไม่อาจอยู่ในดินแดนเกาหลีได้อีกต่อไป และญีปุ่นก็ประกาศให้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขาของตนเองในปี 1905

อีกสองปีต่อมาพระเจ้าโกจงพยายามส่งตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมสันติภาพโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ แน่นอนญี่ปุ่นพยายามขัดขวางแต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ชาวเกาหลีจึงมีโอกาสแถลงเรื่องของพวกเขาต่อชาวโลกผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้พระเจ้าโกจงถูกบีบให้ลงจากบังลังก์ด้วยน้ำมือของญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นถือสิทธิ์ในการปกครองเกาหลียาวนานต่อมากระทั่งแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง.

3/31/2555

“เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

สมัชชาคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
“เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”
นพวรรณ สิริเวชกุล : ข่าวเพื่อชุมชนสำนักข่าวอิศรา  1 เมษายน 2555




ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งต้องประกอบไปด้วยหลักสามประการคือ ความมั่นคง การรวมตัวทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ที่ณ วันนี้ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยเรายังไม่ได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดี

มติคณะรัฐมนตรีเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล เมื่อปี 2553 ที่มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในคณะกรรมการการทำงาน ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจนถึงวันนี้กลับใช้ไม่ได้จริง

                ======== เสียงปรีดา คงแป้น / 01.51 นาที ==========

 "เราพยายามเสนอ แนวนโยบายเรื่องสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ตามการศึกษาของดร.นฤมล  ว่ากลุ่มชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะว่าอยู่มานานแต่ไม่มีสิทธิหลายด้าน ทีนี้ในนโยบายเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ มันครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ประกอบพิธีกรรม สุสาน รวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรมหรือสิทธิอื่นๆ  ทั้งเรื่องสัญชาติและคุณภาพชีวิต สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิพื้นฐานที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าอยู่มานานแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมายอะไรอย่างนี้นะ และช่วงหลังๆ นี่ถูกละเมิดสิทธิเยอะมาก
ความคิดของพวกเราในฐานะที่ทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มชาติพันธุ์ ประชุมกันหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้และประชุมกับแกนนำหลายชาติพันธุ์ว่ามันต้องหาวิธีแก้ปัญหา เพราะพักหลังๆ เราจะเห็นว่ามันมีปัญหา ข่าวนายทุนจ้างกะเหรี่ยงฆ่าช้าง นายทุนจ้างชาวเลจับปลาสวยงาม ชาวม้งถูกบีบให้ออกมาจากพื้นที่ ที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมทั้งสนธิกำลังกันแล้วเผายุ้งข้าวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งกระแสข่าวนี้มันมาเรื่อยๆ แล้วเหมือนคนกลุ่มนี้ก็ตกเป็นเหยื่อ หรือไม่สิทธิที่จะแก้ต่าง ไม่ว่ากับสื่อมวลชนหรือกับใครเลย ไม่มีสิทธิที่จะพูดเลยว่า ข้อเท็จจริงมันคืออะไร เราก็พยายามสืบสาวหาเรื่องปะติดปะต่อ หาเรื่องจากกรรมการสิทธิบ้าง จากสื่อมวลชนบางคนบ้าง จากผู้นำของชนเผ่าบางคนบ้างที่เขาเล่าให้ฟังว่าข้อเท็จจริงบางทีไม่เป็นเหมือนที่ข่าวออกไป มันมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่บางทีก็ เขาก็ถูกเบียดขับออกจากพื้นที่แล้วก็ถูกยัดเยียดด้วยข้อหาหรือข้อกล่าวหาอื่น นี่มันเป็นปัญหามาก เป็นปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิ”
                                =================
        ปรีดา คงแป้น  กรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยกล่าวถึงที่มาของการเดินทางเข้าเมืองกรุงครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของพี่น้องชนเผ่ากว่าพันชีวิต

        ********** เสียงทำพิธีกรรมของอาข่า ในเวทีข้างทำเนียบ  **********

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่ตามภูมิภาคต่างๆตามฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรถึง 69 ชาติพันธุ์  หนึ่งในข้อเสนอของพี่น้องชนเผ่าครั้งนี้คือต้องการเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษซึ่งการจัดตั้งเขตพื้นที่นี้ขึ้นมาก็เพื่อตอบโต้กระแสการพัฒนาที่เข้ามาบุกรุกวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไปจนเกิดเป็นปัญหาดังที่ปรีดาได้กล่าวไปแล้ว

แม้วันนี้จะมีตัวแทนรัฐบาลรับเรื่องร้องเรียนของพวกเขาไปเพื่อดำเนินต่อตามที่ได้รับปาก แต่นี่คือเสียงสะท้อนจากตัวแทนอุรักลาโว้ย เกาะลันตา เดี่ยว ทะเลลึกที่เปิดใจต่อสาธาณะ
                ******(เดี่ยว ทะเลลึก/ อุรักลาโว้ย)  ***********
หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแล เพราะเรามีสิทธิเท่าเทียมกันกับมนุษย์ทุกท่าน ไม่ใช่เลือกกระทำแค่บางส่วน เพื่อให้บางส่วนได้อยู่ดีกินดี แต่พวกเราล่ะ เป็นคนไทยคนหนึ่งในประเทศไทย แต่ถูกละเลยอย่างนี้หรือมันไม่ใช่ ผมคิดว่า รัฐจะต้องดูแลพวกเราในเรื่องที่อยู่อาศัย รัฐมีมติครม.เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่าให้พวกเราได้อยู่ดีกินดี แต่นั่นแค่ประกาศ แค่หนังสือเพียงฉบับเดียว แล้วก็มันไม่มีผลอะไรเลย มันก็แค่กระดาษเปล่าที่ส่งไปส่งมาแล้วก็ทิ้งถังขยะ
                        ***************************
ปกากญอจากแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่อย่างสมจิตร ดั้นด้นมาถึงกรุงเทพฯ เธอทำสิ่งนี้ก็คือเพื่ออนาคตของลูก
                ******(สมจิตร /ปกากญอบ้านแม่แตงเชียงใหม่) ******
ฉือขื่อ..คืออยากให้ ทุกวันนี้เราทำก็ทำเพื่อลูก ว่าเออแม่นี่ต่อสู้เจอปัญหาอะไรบ้างเพื่อที่ลูกจะได้อยู่ได้ไง ในอนาคต อยู่พื้นที่สูงอย่างนี้ เพราะว่าที่ทำกินเรามันไม่มี ใบอะไรรับรองอยู่แล้วไง เราอยากทำอะไรให้แบบมันถูกต้องน่ะ
                        ************************
ขณะที่ไพโรจน์ ปกากญอลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านของเขาอาจจมหายไปกับสายน้ำหากโครงการสร้างเขื่อนสาละวินถูกนำมากลับดำเนินการอีกครั้งได้เปิดใจถึงความสำคัญของสัญชาติที่พวกเขาอยากจะได้เช่นผู้อื่น
                ******(ไพโรจน์/ ปกากญอ น้ำสาละวิน)*********
 ที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องสัญชาติ ซึ่งสัญชาติก็คือเราก็อยู่บนเขา ส่วนที่สองนี่ลูกหลานที่จะเรียนต่อ บางส่วนพ่อแม่ยังไม่ได้สัญชาติ ลูกเรียนต่อก็มีปัญหาแต่ว่า ในพรบ. ฉบับต่างๆที่ว่า สามารถผลักดันให้ใช้แล้วแต่ว่าปฏิบัติตอนนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง อันนี้ก็อยากเรียกร้องให้การแก้ปัญหาให้ตรงจุดและให้รวดเร็วเท่าที่จะทำได้นะครับ       
                *********************************
วาสนา หญิงชาวอาข่าเล่าให้ฟังถึงความลำบากเมื่อมีชีวิตอยู่อย่างพลเมืองชั้นสองว่า
                *******(วาสนา/ อาข่า)  ***********
อย่างเช่นทำไร่ทำสวนอยู่ในป่าอยู่ในเขตของพวกเราอยู่แล้ว แล้วก็มาประกาศทับเป็นอุทยาน เสร็จแล้วอยู่ดีคืนดีก็เหมือนกับพวกเราอยู่ทำไร่ทำสวนของเราอยู่แล้วก็มาไล่จับ เป็นอย่างนี้เป็นประจำ พอไล่จับพวกเราไม่มีที่ทำกิน พวกเราก็ลงมาทำงานในเมือง ก็ไม่มีบัตรประชาชน ตำรวจก็มาไล่จับตรงนั้นอีก เหมือนกับว่าพวกเราก็ไม่รู้จะทำอะไรกินแล้วอยู่บนดอยก็ไม่มีที่ทำกิน มาอยู่ในเมืองก็เหมือนกับมาตรวจบัตรทุกวัน ทุกวันอย่างนี้ ก็เหมือนกับว่าพวกเราไม่มีทางเลือกอ่ะ
                        *************
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันกับเรามาช้านาน  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเนิ่นนานนี้ให้คลี่คลายและเราต่างก็ต้องยอมรับในศักดิ์และสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน.


ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ

ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ/ ข่าวชุมชนอิศรา ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
นพวรรณ สิริเวชกุล ขอบคุณภาพบางส่วนเอื้อเฟื้อโดย อุกฤษ จอมยิ้ม


กระสอบข้าวดอยกว่า ๔๐ ตันค่อยๆ ถูกลำเลียงลงจากรถที่พากันดั้นด้นมาจากจังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งมอบให้แก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ร่วมกันหาแนวทางครั้งนี้ หนึ่งในแกนนำของชาวกะเหรี่ยงหรือปากะญอภาคเหนือคือ พฤ โอเดชาที่เคยเข้าไปรับรู้สถานการณ์ของผู้คนที่นั่นมาก่อนและเขาจึงนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้แก่พี่น้องกะเหรี่ยงทางภาคเหนือฟัง
                                                -------- เสียง พฤ โอเดชา ----------
“ ผมก็ประทับใจชนเผ่าปากะญอของผมอยู่แล้ว เวลาผมเป็นปากะญอแล้วผมโผล่หน้าเข้าไป แล้วเล่าเรื่องว่า ที่โน่นปากะญอเหมือนกันเดือดร้อนขอข้าวไปช่วยทางโน้นหน่อย เขาก็คุยกันตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ประกาศไมค์ออกเสียงแล้วก็ตื่นเช้ามาหรือว่าเย็นวันนั้นก็แบกข้าวลงมาตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ บางคนก็วิ่งขึ้นไปบ้านตอนนี้แล้วก็แบกลงมา สิ่งที่ผมได้มากกว่าข้าวคือผมมีกำลังใจและมีความหวังว่าพี่น้องที่แก่งกระจานจะได้ข้าว จะรอดจากการอดข้าว”
                                    -------------------------------------------------------

สืบเนื่องจากปีพ.ศ. ๒๕๒๔ ที่กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของกะเหรี่ยงกลุ่มนี้  ต่อมาจึงมีโครงการอพยพผลักดันในปี ๒๕๓๙ โดยให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณใจแผ่นดิน พุระกำ ต้องลงมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ ๕๗ ครอบครัว และนับจากปี ๒๕๕๒ ถึงปลายปี ๒๕๕๔ ได้มีการย้ายคนลงมายังพื้นที่นี้อีกหลายครั้งแต่ไม่มีการจัดสรรที่ดินรองรับกลุ่มผู้อพยพใหม่  และพื้นที่อาศัยทำกินเดิมของพวกเขาก็ถูกรื้อถอนเผาทำลายไปจนสิ้น พร้อมข้อกล่าวหาคนกลุ่มนี้ว่าไม่ใช่คนไทย  ทั้งที่บางคนมีหลักฐานเหรียญชาวเขาที่ได้จากการสำรวจชาวเขาเมื่อปี ๒๕๑๒แม้บางคนไม่มีแต่ก็สามารถหาพยานบุคคลยืนยันได้ว่าพวกเขาอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้ก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยาน

 ในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ จะมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอในหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักการไปปฏิบัติซึ่งมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว แต่โครงการอพยพและผลักดันชาวกะเหรี่ยงของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี ๒๕๕๔
สุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้ อธิบายถึงแนวนโยบายของมติของคณะรัฐมนตรีต่อกรณีนี้

                                    -------- เสียง สุรพงษ์ กองจันทึก ----------
ผ่านครม.หมายถึงว่า ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะทางกรมป่าไม้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ถ้าชาวบ้านอยู่มานานแล้วให้ยุติการจับกุม การยุติการจับกุมไม่ได้หมายความว่าให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การยุติการจับกุมหมายความว่าคุณไปตรวจสอบก่อน ถ้าชาวบ้านผิดก็ยังผิดอยู่ จะจับก็จับอยู่แล้วไม่ได้ละเว้นเข้ามาตรวจสอบ แล้วตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งและกรรมการชุดนี้ต้องมีชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นกรรมการด้วย ไม่ใช่รัฐเข้ามาเป็นกรรมการฝ่ายเดียว นักสิทธิมนุษยชน นักมานุษยวิทยา นักวิชาการ ต้องเข้ามาร่วมกัน มาช่วยดูว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วเอาข้อเท็จจริงออกมาว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน ก็ต้องนำไปสู่การเพิกถอน การที่ไปทับที่ชาวบ้าน
                                    ------------------------------------------------------

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลายเชื้อชาติและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการสำรวจประชากรชาวกะเหรี่ยงในช่วงปี ๒๕๔๔ พบว่ามีกว่าสี่แสนคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่พวกเขาเหล่านั้นมีสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ ๔๐  และหลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกถูกประกาศออกมา ชนกลุ่มน้อยอย่างกะเหรี่ยงก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ล้าหลังและรัฐต้องเข้าไปพัฒนา แต่การเข้าไปของคนนอกเช่นนี้กลับทำลายระบบความเชื่อดั้งเดิมที่เน้นการพึ่งพาระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และชาวกะเหรี่ยงที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนก็ตกเป็นจำเลยทางสังคมตามที่ปรากฎตามสื่อต่างๆเสมอมา

จุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากกระเหรี่ยงทางภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ ยังไม่จบลงเพียงแค่นำข้าวที่ถือเป็นอาหารหลักของพวกเขามาแบ่งปันกันเท่านั้น พวกเขายังคงดำเนินการช่วยเหลือด้านการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆและเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้ต่อไป.



2/13/2555

โลกบิดจิตเบี้ยว

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th/multimedia  19 มกราคม 2553



ในช่วงเวลาหนึ่ง ศิลปะได้ชี้ชวนให้เราแวะเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องหาเหตุผล แค่ลองหลบหายเพื่ออยู่ในสภาวะแห่งการหลบหาย เพื่อว่าการหายไปในโลกศิลปะอาจหมายถึง การได้กลับมาซึ่งความรู้สึกที่สดใหม่และเชื่อมโยงเรากลับเข้าสู่โลกของความเป็นจริงอีกครั้ง.    
       นี่เป็นความตอนหนึ่งของคุณพิชญา ศุภวานิช ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานนิทรรศการ สุก ดิบ อาทิตย์อุทัย ที่เพิ่งปิดตัวลงไปที่หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวของชาวญี่ปุ่น ดิฉันจึงไปชมนิทรรศการครั้งนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่หลายครั้งของการสัมมนา พูดคุยระหว่างนิทรรศการไม่อาจไปร่วมฟังได้สักครั้งเดียว...
      
       ชิ้นงานที่สะดุดตาสะดุดใจผู้ชมในนิทรรศการครั้งนี้คงมีมากมาย โดยส่วนตัวแล้วดิฉันรู้สึกทึ่งในการคัดเลือกผลงานมาร่วมแสดงของภัณฑารักษ์คุโบตะ เคนจิและโนเสะ โยโกะ ที่คัดสรร มาได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว     
       และแน่นอนเมื่อเราจะเข้าใจศิลปะที่ศิลปินนำเสนอ เราจำต้องเข้าใจภูมิหลังของเขาเหล่านั้นด้วย...
      
       คนไทยเราอาจคิดว่าคุ้นเคยและได้รับวัฒนธรรมต่างๆของญี่ปุ่นมาอย่างมากมาย วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราเองแทบจะลอกเปลือกของญี่ปุ่นมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหารการกิน ความนิยมชมชอบต่างๆไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว ของอุปโภค บริโภค ความบันเทิงเริงใจต่างๆ ...แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่า เราไม่อาจเป็นได้เช่นคนญี่ปุ่น ก็คือ ความเป็นคนญี่ปุ่นนั่นเอง...เช่นดียวกับใครอีกหลายคนที่อยากเป็นคนไทยแต่ก็ไม่อาจจะเป็นไทยได้อย่างแท้จริง...
      
       โนเสะ โยโกะหนึ่งในภัณฑารักษ์ของงานศิลปะชุดนี้ กล่าวไว้ว่า ญี่ปุ่นกับไทยดูจะมีความคล้ายคลึงกัน ในเรื่องวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ได้รับการยอมรับและเป็นนิยมอย่างสูงในไทยเกินกว่าที่พวกเขาจะคาดเดาได้ ในขณะเดียวกันกับที่คนญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจกับถ้อยคำ ไม่เป็นไรของคนไทยที่ใช้กันจนติดปาก...
      
       ด้วยเหตุนี้โนเสะจึงตั้งข้อสังเกตว่า เมืองไทยจึงมีคนญี่ปุ่นย้ายถิ่นมาพำนักอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ไซโตะโคะโมริ คือ คนที่แยกตัวเองออกจากสังคม ไม่ใช่เพียงแค่หลบอยู่ที่บ้านของตัว แต่เป็นการย้ายถิ่นจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว
      
       จึงคล้ายกับว่า ผู้คนทั้งสองแผ่นดินต่างก็พยายามค้นหาในสิ่งที่ขาดหายไปจากผู้คนอีกแผ่นดินหนึ่ง
   ในฐานะคนทำงานศิลปะ ศิลปินจึงค้นหาความหวังจากสังคมที่พิสดารผิดรูปผิดร่างรอบๆตัวพวกเขา ศิลปินต่างๆ พยายามตั้งคำถามต่อความคิดใหม่เกี่ยวกับมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน การเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของผู้คน หรือภาวะกดดันต่างๆที่ฝังแน่นอยู่ในใจของใครหลายคน
อย่างเช่นผลงานของไอดะ มาโกโตะศิลปินวัย 45 ปี ที่ผสมผสานเนื้อหาของการ์ตูนเข้ากับการเสียดเย้ยสังคม ภาพคอลลาจขนาดมหึมาทั้งผนังของหอศิลป์ที่ แวบแรกเราอาจเห็นความสดใสน่ารักของตัวการ์ตูนนักเรียนมัธยมหญิงที่ใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม ขณะที่มองลึกมาที่แขนของตัวการ์ตูนเดิมที่ยื่นเข้าหาผู้ชมกลับเต็มไปด้วยรอยกรีดของใบมีด.... รายละเอียดในภาพนั้นยิ่งพินิจ ยิ่งเห็น...      
       โดยส่วนตัวของไอดะแล้วเขาเป็นศิลปินผู้หนึ่งที่มีความสามารถในการดึงเอาองค์ประกอบของศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมมาใช้ในการสร้างสรรค์งานของเขาด้วย งานของเขาส่วนใหญ่จะพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและจริยธรรม...
       ในภาพอนุสาวรีย์แห่งความว่างเปล่า... monument for nothing III นี้ ไอดะใช้แนวคิดของคุมะเดะหรือเครื่องรางที่มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ สัญลักษณ์ของการโกยเงินโกยทอง เป็นเครื่องรางของความโชคดีในเชิงธุรกิจ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงาน
       เราจะเห็นหัวของชายผู้หนึ่งโผล่ออกมาจากหว่างขาของตัวการ์ตูนเด็กหญิง ที่ด้านล่างของภาพปูด้วยภาพของธนบัตร ถัดมาอีกด้านหนึ่งเรายังได้เห็นภาพของการกินอย่างตะกรามของคนในภาพอีกหลายคนที่ศิลปินตัดมาจากภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์....
       ศิลปินอีกคนหนึ่งที่หยิบมาคุยในครั้งนี้คือชิงะ ลิเอโกะ เธอทำให้เราตระหนักได้ว่า ในสังคมนี้ ความจริงใจมักทำให้เราประหลาดใจได้เสมอ การแสดงออกในท่วงท่าเฉยเมยกลับทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายในมนุษย์ได้มากมาย
       ชิงะใช้ภาพถ่ายในการบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ เธอขอให้ฝ่ายหญิงซ้อนท้ายแล้วมองมาที่กล้องโดยปราศจากความรู้สึก....ภาพที่เธอได้มานั้น กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกบางอย่าง ที่ไม่สามารถอธิบายได้
       ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนต่างก็รู้สึกถึงพลังอันแรงกล้าแห่งความว่างเปล่า เราต่างตระหนักดีว่าสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยอิสรภาพมากพอๆ กับความเฉื่อยชา และเหมือนจะเกิดคำถามขึ้นในใจของใครหลายคน ว่า เราควรจะช่วยกันปกปิดคำละเมอเพ้อพก ไร้สาระของใครต่อใครในสังคมนี้ หรือถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะยืนยันความเป็นมนุษย์ด้วยการไม่ยอมถูกลากจูงเข้าไปสู่โลกใบที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่าไร้สาระใบนั้น....เพราะอย่างน้อยเราทั้งผองต่างก็อาศัยอยู่บนผืนดินเดียวกัน....บนโลกใบนี้.

2/10/2555

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์
manager.co.th / 31 มกราคม 2552


เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวโรฮิงยาอพยพ มาอีกแล้วในทะเล เลยทำให้นึกถึงบทความนี้ที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2552


ไม่มีที่มา...ไม่มีที่อยู่...ไม่รู้ที่ไป...เป็นสิ่งที่ดิฉันนึกถึงคนกลุ่มนี้ค่ะ...ไร้แผ่นดินอาศัย ไร้จุดหมายของชีวิต ไร้สิ้นทุกสิ่ง...มีชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์ ..ชนเผ่าโรฮิงยา...
       หลายวันมานี้ดิฉันจดจ่ออยู่กับข่าวความคืบหน้าของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลไทย จนเป็นเหตุให้สื่อต่างประเทศโจมตีเมืองไทยถึงการผลักดันชนกลุ่มนี้ออกนอกแผ่นดิน...
       
       โรฮิงยาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกันหรือยะไข่ในแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่7 คือใครกันแน่?! ในมุมมองของรัฐบาลพม่ากล่าวว่า โรฮิงยาคือผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย...ในสายตาของชาวตะวันตกมองว่าโรฮิงยาเป็นกลุ่มชนที่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน....และสายตาของคนไทยอย่างเราเล่า จะมองชนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร?
       
       โรฮิงยา Rohingya เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ข้อมูลหลากหลายบอกถึงจำนวนประชากรโรฮิงยาบนโลกใบนี้ว่ามีถึงล้านกว่าคน อาศัยอยู่มากทางตอนเหนือโดยเฉพาะในเขตมายูของยะไข่
       
       หากเราย้อนกลับไปในอดีตครั้งที่แผ่นดินยังปกครองกันด้วยระบอบอาณาจักร ยะไข่เคยเป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีเจ้าแผ่นดินเช่นเดียวกับอาณาจักรอื่นๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ยะไข่เคยเป็นรัฐอิสระได้ไม่นาน ก็ถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่นเสมอ
       กษัตริย์ยะไข่นามพระเจ้านรเมฆลา ได้ขอความช่วยเหลือจากสุลต่านเบงกอล ให้ช่วยปกป้องอาณาจักรของตัว นับแต่นั้นมากษัตริย์ยะไข่จึงต้องมีพระนามแบบมุสลิมต่อท้าย
       โดยมีสุลต่านเบงกอลเป็นผู้พระราชทานนามให้ตั้งแต่พ.ศ.1473 – 2074
       
       หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบในบริเวณดินแดนยะไข่ คือศิลาจารึกที่มีข้อความกล่าวถึงสมัยตอนกลางคริสตวรรษที่ 4 เป็นจารึกที่กล่าวถึงราชวงศ์จันทรา และเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ที่มีชื่อว่า เมืองไวสาลี ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นอินเดียที่อพยพมาจากแคว้นเบงกอล
       
       คำถามต่อมาคือ คนในดินแดนยะไข่ปัจจุบัน คือลูกหลานของชนกลุ่มแรกในแผ่นดินนี้หรือไม่.... ไม่อาจหาคำตอบได้ เช่นเดียวกับแผ่นดินไทยของเรา ที่หากย้อนประวัติศาสตร์ไป เราก็คงไม่อาจหาคำตอบที่แน่ชัดได้ว่า เราคือใคร เกิดมาจากชนชาติไหน ขอม มอญ ทวารวดี หรือ ใครกันแน่
       
       แต่ที่แน่ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง บริเวณยะไข่ ครั้งที่อังกฤษทำสงครามกับพม่าในครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2367 อังกฤษได้แคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ กระทั่งอีก 26 ปีต่อมา อังกฤษและพม่าทำสงครามกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อังกฤษได้แคว้นพะโคของพม่ามาครอบครอง และกลายเป็นเจ้าอาณานิคม
       
       เหตุการณ์ช่วงนี้ก่อความวุ่นวายให้กับคนในแผ่นดินนี้ พอดูทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอพยพคนจากแผ่นดินอื่น เข้ามาอยู่ อีกทั้งยังจัดสรรแผ่นดินส่วนนี้ให้ไปรวมอยู่กับแผ่นดินของอินเดีย ในนามของ British Burma โดยอังกฤษรวมยะไข่ ตะนาวศรี พะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันและให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และบางข้อมูลได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงเวลานี้เองที่อังกฤษพยายามนำประชาชนชาวเบงกอลเข้ามาอยู่ในดินแดนยะไข่เพิ่มขึ้นและเรียกคนกลุ่มนี้ว่า โรฮิงยา และเสี้ยมให้ชาวพุทธกับมุสลิม เข้าห่ำหั่นกันเอง
       หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ พม่าได้รับเอกราช รัฐธรรมนูญของพม่าฉบับพ.ศ.2490 ยอมให้ดินแดนของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ ยกเว้นยะไข่ ที่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นเพียงภาคเท่านั้น
       แล้วพม่าก็ประสบชะตากรรมอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ.2516 เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศไม่ให้รัฐใดมีสิทธิ์แยกตัวไปตั้งเป็นอิสระได้ นับเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆที่ ยืดเยื้อยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน
       
       เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ชาวโรฮิงยาที่อยู่ติดแผ่นดินยะไข่นั้นเล่า จะตกอยู่ในสถานะเช่นใด?!
       
       ชาวโรฮิงยาผู้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับชาวเอเชียใต้ โดยเฉพาะชาวเบงกอล บางส่วนกล่าวว่าสืบเชื้อสายมาจากอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน บางข้อมูลก็กล่าวว่าอพยพเข้ามาในยะไข่ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโมกุล ด้วยเชื่อกันว่าอดีตบริเวณที่โรฮิงยาอาศัยในปัจจุบันนั้น เป็นถิ่นฐานของชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขายแต่โบราณ ราวศตวรรษที่ 7 – 12
       โรฮิงยามีภาษาพูดเป็นของตัวเองคือภาษาอินดิค แน่นอนเขามีธงประจำชาติตัวเองด้วย
       
       เมื่อทุกอย่างเดินทางมาถึงวันนี้ รัฐบาลพม่ามองว่าโรฮิงยาเป็นประชาชนลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายและเป็นผู้อพยพมาจากบังคลาเทศ ในสมัยที่พม่าตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยทัศนคติเช่นนี้เองที่ทำให้ โรฮิงยาไม่เคยได้รับการรวมเข้าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐธรรมนูญของพม่าและแน่นอน ไม่เคยได้รับการรับรองเป็นสัญชาติพม่าด้วย
       
       ปีพ.ศ.2521 รัฐบาลพม่ามีนโยบายสร้างชาติพม่า เพื่อกำจัดชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในปีเดียวกันนั้นเอง ที่ชาวโรฮิงยากว่าสองแสนคนต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังคลาเทศ หลังจากยุทธการ Dragon King โดยกองทัพพม่าทำขึ้นเพื่อกำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย แน่นอนคะว่า กระบวนการนี้ส่งผลโดยตรงต่อคนบริสุทธิ์ และนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายทุกอย่าง
       
       โรฮิงยาอพยพเข้าบังคลาเทศถึงสองระลอกในช่วงเวลาไล่เลี่ย แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลบังคลาเทศส่งตัวชาวโรฮิงยากว่า 5 หมื่นคนกลับพม่า มีการทำความเข้าใจระหว่างประเทศพม่าและบังคลาเทศ บ้านพักผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงยากว่า 6,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ Naff ติดกับชายแดนพม่า ถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่า เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย
       
       ดิฉันนึกถึงคำว่าจนตรอกค่ะ...มนุษย์ผู้หนึ่งเกิดมา โดยมีเพียงแผ่นดิน ผืนน้ำและแผ่นฟ้ารับรองว่าเขาคือ ‘คน’ แต่ไม่เคยได้รับสิทธิเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ไม่เคยมีโอกาสเช่นมนุษย์ผู้อื่น....พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร...
       ดิฉันเข้าใจเอาเองว่า สิ่งที่พม่ากำจัดการแต่งงานของชาวโรฮิงยา ก็เพื่อไม่ต้องการเพิ่มประชากรของเผ่าพันธุ์โรฮิงยา บนโลกใบนี้อีกต่อไป... เขาต้องการให้เผ่าพันธุ์นี้สูญพันธุ์!!! คำถามต่อมา คือ....มีสิทธิไหม ที่จะไปกำจัดหรือจำกัดเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่ง โดยคนกลุ่มเดียวบนโลกใบนี้....
       
       ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เคยใช้ได้จริงหรือไม่!!
       ...............มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฎิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ.....
       
       และคงต้องถามย้อนต่อไปอีกด้วยว่า แท้แล้ว ต้นตอของปัญหานั้น อยู่ที่ใครกันแน่ ผู้เป็นคนก่อ...ผลพวงของการล่าอาณานิคม ผลพวงของสงคราม ยังมีอีกกี่กลุ่มชน ยังมีอีกกี่แห่งบนโลกใบนี้ ที่ยังรอคอยให้เพื่อนร่วมโลกรับรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน.
       
       ขอบคุณข้อมูล www.eddyvanwessel.com
        www.rohingya.org