3/19/2558

ไม่มีพื้นที่สำหรับคนเห็นต่าง

ไม่มีพื้นที่สำหรับคนเห็นต่าง
บทความเขียนไว้เมื่อ พฤศจิกายน 2549 ลงใน Manager.co.th


ยอมรับว่า ออกจะเชยไปสักนิดนะคะ ที่จะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ Sophie Scholl ในเวลานี้ เพราะเข้าใจว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเข้ามาฉายในบ้านเราสักระยะหนึ่งแล้ว แต่..ก็นั่นล่ะค่ะ ตามประสาคนที่ชมภาพยนตร์ที่บ้านด้วยการซื้อหามาดูเอง ก็มักจะตกสมัยคนอื่นๆ อยู่เสมอ....   

สิ่งที่อยากจะพูดถึงในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะรางวัล Academy Award Nominee ในสาขา best foreign language film ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หรอกค่ะ... แต่เพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ดิฉันรู้จักกับเธอคนนี้ต่างหากละคะ Sophie Scholl ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีจิตใจหาญกล้า ชนิดที่ไม่หวั่นแม้แต่ความตาย!!!

หลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ทำให้ดิฉันต้องขวนขวายหาเรื่องราวของเธอคนนี้และกลุ่มกุหลาบขาวมาเพื่อคลายข้อข้องใจของตัวเอง แล้วก็ไม่เสียใจค่ะที่ได้รู้จักกับเธอคนนี้

Sophie Scholl เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1921 เป็นชาวเมืองอุมม์ (Ulm) ในประเทศเยอรมันนี แน่นอนค่ะ เธออยู่ในยุคสมัยที่ผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์กำลังเรืองอำนาจอยู่พอดี วัยแรกรุ่นเธอก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในเยอรมันที่ก้าวเข้าไปเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์
ในข้อมูลกล่าวไว้ว่า sophie ค่อนข้างเป็นคนมีพรสวรรค์ทางด้านขีดๆ เขียนๆ และหลังจากที่เธอสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายในปี 1940 เธอก็เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กในโรงเรียนเด็กอนุบาลของกลุ่มเคลื่อนไหวกรรมาชีพ และอีกสองปีต่อมาเธอก็ตัดสินใจเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ในสาขาวิชาชีววิทยาและปรัชญา



มหาวิทยาลัยมิวนิค แห่งนี้ นี่เองที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปราวพลิกฟ้า เมื่อพี่ชายแท้ๆของเธอนามว่า Hans แนะนำเธอเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆร่วมอุดมการณ์ของเขา ที่ต่างก็สนใจในกิจกรรมที่คล้ายกันไม่ว่าจะปีนเขา เล่นสกี ว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งการถกเถียงกันในประเด็นทางการเมือง!!

พ่อของSophie เคยถูกจับในข้อหาอาจหาญลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สองพี่น้องตระกูล Scholl รู้สึกเกรงกลัวอำนาจของฮิตเลอร์แต่อย่างใด

ในภาพยนตร์ดังกล่าวเล่าเรื่องกิจกรรมของกลุ่มกุหลาบขาวอย่างกระชับฉับไว แล้วตัดฉากมาที่สองพี่น้องถูกจับกุมในข้อหาแจกใบปลิว ต่อต้านการปกครองของฮิตเลอร์ แน่นอนกว่าที่เธอจะถูกตัดสินใจประหารชีวิต ภาพยนตร์เปิดโอกาสให้ Sophie มีโอกาสพูดในสิ่งที่ตัวละครควรจะพูด เพื่อเปิดเผยถึงแนวคิดและความพยายามในการต่อต้านระบบการปกครองของฮิตเลอร์และนาซี

แต่ในความเป็นจริง Sophie ถูกตัดสินประหารชีวิตทันทีหลังจากถูกจับกุมเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง มีบันทึกของผู้คุมนักโทษที่จดจำท่วงท่าอาจองของSophie ก่อนที่เธอจะก้าวสู่แท่นกีโยติน ว่าเธอเดินเข้าสู่ความตายด้วยความกล้าหาญ และสายตาของเธอเพ่งมองอยู่แต่แสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์....
      

   กลับมาที่ภาพในแผ่นฟิล์ม จะมีฉากซ้ำๆ Sophie มองท้องฟ้าจากหน้าต่างห้องคุมขังเธอ....ภาพนี้กินใจดิฉันมากค่ะ และในเรื่องจริง Sophie ได้กล่าวไว้ว่า ความตายของฉันมันจะเป็นไรไป...หากว่า มันจะทำให้คนอีกนับพันถูกกระตุ้นและปลุกให้ตื่นด้วยการกระทำของฉันในครั้งนี้....
      
       เหนือสิ่งอื่นใด Sophie ไม่เคยสิ้นหวังในการกระทำของตัวเองเลย ในบันทึกก่อนถูกประหารชีวิต เธอพูดถึงความตายที่กำลังคืบคลานเข้าหาเธอว่า เธอสำนึกว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นแต่มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ออกมาจากหัวใจของเธอเอง เพราะหัวใจของเธอ มันยังคงเต็มไปด้วยความฝัน ความหวังและมันก็ปฏิเสธที่จะฟังเหตุผลนั้นๆ ที่พูดถึงความเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นเพราะการตายของเธอ แม้ในขณะที่ความตายอยู่ตรงหน้าเธอนั้น เธอก็ยังคงนึกถึงเรื่องอื่นๆ อยู่
      
       ก่อนจะถูกประหารชีวิต Sophie มีโอกาสพบหน้าครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ตลอดเวลาเธอเป็นห่วงความรู้สึกของแม่เธอมากกว่าสิ่งอื่นใด ที่ต้องสูญเสียลูกในคราวเดียวกันถึงสองคน แม่ของเธอบอกกับเธอในครั้งสุดท้ายที่พบหน้ากันว่า นางคงไม่มีโอกาสได้เห็น Sophieก้าวผ่านประตูบ้านเข้ามาอีกแล้ว..... Sophie ปลอบใจแม่ของตัวเองไปว่า ความรู้สึกนี้มันจะเกิดขึ้นเพียงสองสามปีเท่านั้น.....
      
       หนึ่งในฉากของภาพยนตร์เรื่อง Sophie Scholl ที่โดนใจดิฉันมากๆ ก็คือฉากที่อยู่ในห้องพิพากษา ผู้พิพากษากล่าวกับนักโทษว่า มีอะไรจะพูดเป็นครั้งสุดท้าย...Sophie ยืนนิ่งและตอบออกไปด้วยถ้อยคำชัดเจนว่า ....ที่ ที่ฉันยืนอยู่ในวันนี้...พวกคุณทั้งหมดในห้องจะต้องมีโอกาสได้ยืนในที่เดียวกันสักวันหนึ่ง...
      
       Sophie เสียชีวิตด้วยการถูกตัดคอ ด้วยวัยเพียง 22 ปี....ในข้อหาที่เป็นปฏิปักษ์กับฮิตเลอร์ เพียงเหตุผลแค่นี้ กลุ่มของเผด็จการฮิตเลอร์ก็สั่งฆ่าคนได้อย่างง่ายดาย เห็นเช่นนี้แล้วก็ได้แต่ภาวนาว่า มันคงไม่มีเหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นอีกในที่ใดๆ ในโลก ที่เพียงคนเห็นต่าง จะต้องถูกจบชีวิตหรือถูกเบียดขับออกจากสังคมด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้!!

2/25/2558

ฟรานซ์ คาฟก้า....

....ความกลัวคือความทุกข์...แต่ความกล้าหาญก็ไม่ใช่ความสุข...ความไม่กลัวต่างหากที่เป็นความสุข....
ความตอนหนึ่งที่ฟรานซ์ คาฟก้า ได้เขียนถึงความในใจของเขาถึงเรื่องความกลัวและเหตุการณ์ที่เกิดกับเพื่อนชาวยิวในชั้นเรียนของเขา....

ฟรานซ์ คาฟก้า Franz Kafka เกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวยิวในกรุงปรากเขตเมืองเก่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 1883 ก่อนหน้าที่เขาจะถือกำเนิด มารดาของเขาให้กำเนิดบุตรชายถึงสองคน แต่...ก็เสียชีวิตไปตั้งแต่เยาว์วัย... หลังจากที่คาฟก้าลืมตาขึ้นมาดูโลก เขาก็มีน้องสาวร่วมสายโลหิตอีก 3 คน

คำว่า คาฟก้า มาจากภาษาเชค Kavka ซึ่งแปลว่า นกตัวเล็กสีดำ ที่มีลักษณะเหมือนอีกา ซึ่งพ่อของเขาได้นำความหมายของชื่อบุตรชายคนนี้ ไปเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าของครอบครัวอีกด้วย

คาฟก้าถูกเลี้ยงดูมาด้วยความเข้มงวดและกดดัน ด้วยพ่อของเขาปรารถนาจะให้เด็กชายผู้นี้เติบโตเป็นคนเข็มแข็งและอดทน แต่... วิธีการเลี้ยงดูเช่นนี้ นอกจากจะไม่อาจทำให้เขาเปลี่ยนจากเด็กชายผู้อ่อนไหว บอบบางแล้ว ยังกลายเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ คาฟก้ามีความรู้สึกหมดที่พึ่ง หวดกลัว และไม่ร่าเริงเหมือนเด็กทั่วไป อีกด้วย

บุคคลเดียวในครอบครัวที่คาฟก้ารู้สึกรักและไว้วางใจมากที่สุด คือ ออทลา น้องสาวคนสุดท้องที่อ่อนกว่าเขาถึง 9 ปี ทั้งสองเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ออทลาเป็นน้องสาวที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจคาฟก้ามาตลอด และแน่นอน คาฟก้าไม่เคยมีความลับกับน้องสาวผู้นี้เลย

ด้วยบุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองผิดไปจากพี่สองอีกสองคน ทำให้ออทลา น้องสาวคนสุดท้องของคาฟก้าเลือกกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ เธอเลือกที่จะแต่งงานกับชายหนุ่มที่ตัวเองรักแทนที่จะเชื่อฟังคำพ่อแม่ และเธอเลือกจะไปทำไร่ทำนาและไปอาศัยในชนบท ในเรื่องนี้ แน่นอน เขาได้รับการสนับสนุนจากพี่ชายคนเดียวของตัวเองด้วย....



ฟรานซ์ คาฟก้า มีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เขาอ่านหนังสือหลายประเภท และมีนักเขียนที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของเขาหลายคน การอ่านทำให้โลกทัศน์ของเขานั้นกว้างขึ้น นับตั้งแต่มัธยมเรื่อยไปกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย...

งานประพันธ์ชิ้นแรกของเขานั้นเริ่มต้นเมื่อสมัยเรียนมัธยมราวปี 1897 1898 งานส่วนใหญ่ในช่วงเวลานี้ถูกทำลายไป และเขาเรียกงานช่วงนี้ของเขาว่า เป็นเพียงการขีดๆ เขียนๆของเด็กๆ  ผลงานระยะแรกที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน คือวรรณกรรมเรื่องสั้นชุด การบรรยายการต่อสู้ Beschreibung eines kampfes ซึ่งเขาแต่งมันขึ้นเมื่อปี 1904


ผลงานที่ทำให้หลายคนรู้จักฟรานซ์ คาฟก้า เป็นอย่างดี คือ เรื่องเมตตามอร์โฟซิส (Metamorphosis) Die Verwandlung  ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1915
บทประพันธ์เรื่องนี้ของเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวของเขาเอง เมื่อครั้งที่เขาเคยมีความคิดจะปลิดชีวิตตัวเอง หนีจากโลกนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่รุมเร้าเขาในขณะนั้น
คาฟก้าสร้างให้ตัวเองของเรื่อง เกรเกอร์ ซามซา กลายร่างจากคนสามัญธรรมดาเป็นแมลงสาบที่ใครต่อใครพากันรังเกียจ แม้แต่น้องสาวสุดที่รักของตัวเองก็อยากจะให้บิดากำจัดตัวประหลาดนี้ออกจากบ้าน....

ปัญหารุมเร้าคาฟก้าในเวลานั้นย่อมมีปัญหาหัวใจรวมอยู่ด้วย กับหญิงสาวคนแรกที่เขาตัดสินใจจะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมด้วย เฟลิเซ ผู้ซึ่งเขาได้ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเธอด้วยเหตุผลที่เขาได้กล่าวหลังจากที่ได้หมั้นกับเธอว่า ดังถูกผูกมัดราวกับเป็นอาชญากร... เขากลายเป็นผู้ที่ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งในใจของตัวเอง ฟากหนึ่งต้องการถือพรต แต่อีกฟากหนึ่งของศรัทธาศาสนายิวที่ยึดถือได้กล่าวไว้ว้า ถ้าผู้ชายไม่มีภรรยาก็ไม่ใช่คน...

และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่เขาตัดสินใจลงทุนเปิดโรงงานและได้ขอยืมเงินทุนจากบิดาของตัวเอง แต่เขาทำมันไปได้ไม่นาน ก็เกิดความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เขาเริ่มไม่สนใจกิจการโรงงานของตัวเอง..ด้วยเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้น้องสาวผู้ยืนเคียงข้างเขาเสมออย่างออทลา ยังเอ่ยนปากตำหนิและหันกลับไปเห็นใจพ่อและแม่ของคาฟก้า จึงเป็นกลายเป็นชนวนบางอย่างที่ทำให้เขา ตัดสินใจคิดฆ่าตัวตาย...แต่...เขาก็ทำมันไม่สำเร็จ...

หลังจากตัดสินใจยุติความคิดฆ่าตัวเองตาย คาฟก้า ก็ได้ผลิตผลงานเรื่องเมตตามอร์โฟซิส ที่กลายเป็นผลงานที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา ที่สามารถบรรยายความรู้สึกของคนๆ หนึ่งที่ตื่นขึ้นมาในยามเช้าแล้วรู้ตัวเองว่า ได้กลายเป็นแมลงสาบ ไม่เป็นที่ต้องการของใครภายในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว แมลงสาบที่ไม่ว่าใครก็รังเกียจ แม้กระทั่งน้องสาวที่เคยรักเขาและเห็นใจพี่ชายคนนี้ เมื่อครั้งที่เขายังคงเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ ก็บอกกับพ่อของตัวให้กำจัดแมลงสาบน่ารังเกียจนี้ออกไปจากบ้าน.... เกรเกอร์ ตัวเอกของเรื่องที่กลายร่างเป็นแมลงสาป ได้ฟังถ้อยคำบาดใจนั้นประกอบกับบาดแผลข้างหลังที่ถูกพ่อของตัวทำร้าย ทำให้เขาค่อยๆ ตายจากครอบครัวไปในห้องนอนของตัวเอง....เรื่องจบลงตรงที่...แล้วครอบครัวนั้นก็มีความสุขกันต่อไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น....

ในความรู้สึกเป็นอื่น...มันก่อให้คนเราคิดอะไรไปได้หลากหลายรูปแบบนะคะ... เราจะคิดให้เราเป็นอื่นที่เหนือกว่า ดีกว่าคนอื่น หรือเราจะคิดให้เรากลายเป็นอื่นที่น่าขยะแขยง น่ารังเกียจของสังคม แล้วก็ต้องหลบเร้นจากทุกผู้นาม เพื่อไปนอนรอความตายแต่เพียงลำพัง เหมือนอย่างที่เกรเกอร์... ตัวเองของเรื่องเมตตามอร์โฟซิส ผู้เลือกที่จะตายอย่างเดียวดาย แปลกแยกและรู้สึกต่ำต้อยในคุณค่าของตัวเอง...

บั้นปลายชีวิตของฟรานซ์ คาฟก้า เขาป่วยเป็นวัณโรคและพักรักษาตัวเป็นระยะ แต่ยังคงผลิตผลงานประพันธ์ของตัวเอง ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เพื่อนรักสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้พาเขาไปรักษาตัวที่กรุงปราก และคาฟก้าได้ขอร้องให้เพื่อนของเขาผู้นี้เผาผลงานเขียนของเขาให้สิ้นซากหลังจากที่เขาจากไป...

แต่เพื่อนรักของเขาคนนี้ไม่ได้ทำดังประสงค์ของคาฟก้า ค่ะ...เขากลับนำมันออกพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ให้คนทั้งโลกได้รู้จักผลงานของนักเขียนผู้นี้ กระทั่งปัจจุบัน...ฟารนซ์ คาฟก้า กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นถัดมาใช้เป็นแนวทางอีกมากมาย.....