5/26/2555

อิกคิวซัง


อิกคิวซัง
โดย นพวรรณสิริเวชกุล
 เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th / multimedia / 2552 



.....คนเรามีกิเลสไม่รู้จบสิ้น ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง และชีวิต ทำให้คนเราเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ได้มากขึ้น แต่คนที่ไม่รู้จักความพอเพียงนี่แหละเป็นคนที่มีความทุกข์ยิ่งกว่าใคร ไม่ว่าจะแต่งกายประดับประดาหรูหราสักแค่ไหน กินอาหารอร่อยจนอิ่มท้องสักเพียงใด จิตใจก็เป็นเพียง คนตาบอดผู้กระหาย เท่านั้น...
นี่เป็นความตอนหนึ่งจากหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริง ที่เขียนโดยมาซาโอะ โคเงรุ และแปลเป็นภาษาไทยโดยพรอนงค์ นิยมค้า ค่ะ

หลายคนคงเคยชมภาพยนตร์การ์ตูนอิกคิวซังกันมาบ้างนะคะ ซ้ำปัจจุบันนี้ยังนำกลับมาฉายใหม่ให้ได้ดูกันอีกด้วย หลายคนที่ชมอิกคิวซัง คงติดใจในความน่ารักและชาญฉลาดของตัวการ์ตูนตัวนี้ และเชื่อว่าหลายคนคงทราบว่า อิกคิวซังนั้น มีตัวตนจริง เผลอๆ อาจเคยไปเยือนวัดที่อิกคิวซังเคยจำวัดอยู่แล้วด้วยนะคะ

ดิฉันหยิบหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริงขึ้นมาอ่านหลังจากเก็บไว้หลายปี หนังสือที่ว่านี้เป็นหนังสือภายใต้โครงการคันฉ่องส่องญี่ปุ่นค่ะ (Japanese Mirrors)  หนังสือในโครงการนี้มีหลายเล่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องราวของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอนักสู้ โนกุจิ ฮิเดโยะ หรือ หนังสือชีวประวัติของนักเขียนอย่าง มิยาซาวะ เคนจิ ค่ะ

สำหรับหนังสืออิกคิวซังเล่มนี้ เป็นชีวประวัติของพระเถระในนิกายเซนที่มีชื่อเสียงที่สุด ส่วนใหญ่เรามักจะเรียกท่านว่า เณรน้อยเจ้าปัญญา อิกคิวซัง  สมญานามที่แท้จริงของท่านก็คือ อิกคิวโซจุนหรือ
อิกคิวเซนจิ ค่ะ

ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าอิกคิวซังเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1394 โดยนามแรกเกิดว่า เซนงิกุมารุ  มารดาของเซนงิกุมารุคือ เจ้าหญิงเทรุโกะ ธิดาของฟุจิวาระ โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าจอมอิโยะแห่งจักรพรรดิโกะโคะมัตษุ  แต่ด้วยความเข้าใจผิด ทำให้พระนางต้องหนีออกจากวังเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกในครรถ์

หลังจากคลอดโอรสอย่างปลอดภัยและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้ว เมื่อเซนงิกุมารุอายุได้ 6 ปี ท่านแม่ก็ปรารถนาจะให้ท่านชายน้อยได้ไปเล่าเรียนที่วัดและบวชเป็นพระในที่สุด นับแต่นั้นชีวิตของท่านชายน้อยก็เปลี่ยนไปทันที
                                                  

วัดแรกที่เซนงิกุมารุเข้าไปอาศัยอยู่คือ วัดยามาชิโระอังโคะกุ แห่งเมืองเกียวโต หลังจากนั้น ก็ได้รับสมญาแรกว่า ชูเคน  ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในความฉลาดปราดเปรื่องในฐานะ เณรน้อยเจ้าปัญญา
เมื่ออายุได้ 12 ปี ชูเคนก็ต้องไปศึกษาธรรมต่อที่วัดเทนริว ที่สร้างขึ้นโดยโชกุนอาชิคางะ ทาคาอุจิและโชกุนอาชิคางะ ทาดะโยชิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของจักรพรรดิโกะไดโกะ  แต่ชูเคนอยู่ที่นี่ได้เพียงครึ่งปี  ก็เกิดสิ้นศรัทธาเจ้าอาวาสองค์นี้ ชูเคนจึงตัดสินใจออกทางเดินทาง กระทั่งไปพบหลวงพ่อที่เขาศรัทธาและศึกษาร่ำเรียนธรรมะกับหลวงพ่อท่านนี้ กระทั่งเกิดความลึกซึ้งกับเซน

ด้วยหลวงพ่อที่ชูเคนเลื่อมใสนั้น มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายและอยู่อย่างสมถะ  หลวงพ่อสั่งสอนเรื่องหัวใจของเซนแก่ชูเคนอยู่เสมอ ด้วยพระในนิกายเซนนั้นต้องปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวดเพื่อให้ บรรลุ เมื่อบรรลุแล้วก็จะไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ ไม่มีโลภ โกรธ หลง เหมือนท้องฟ้าไร้เมมฆหมอก มีจิตใจที่สะอาดสดใสตลอดไป...

จากชูเคน  เณรน้อยที่บัดนี้เติบโตเป็นหนุ่มก็ได้รับสมญานามใหม่ว่า โซจุน ซึ่งจุนคือหัวใจบริสุทธิ์ของเซน เป็นหัวใจที่ไม่ยึดติดกับอะไรและไม่หลงอะไร...  หลวงพ่อได้จากโซจุนไป ทำให้พระหนุ่มเศร้าหมองอย่างหนักขนาดจะปลิดชีพตัวตาม

แต่แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป และได้เข้าเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเซนอีกองค์หนึ่ง กระทั่งเขาสามารถบรรลุหัวใจแห่งเซน.... ด้วยไม่ว่าเราจะเกิดมาจากไหน คนเราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปเพียงคนเดียว ... นับแต่นั้นพระหนุ่มโซจุน จึงได้รับสมญา ว่า อิกคิว...

                                  
เมื่อหลวงพ่อถามความหมายของชื่ออิกคิว พระหนุ่มกลับตอบเป็นกวีว่า..
ขอพักสักครู่หนึ่ง
ระหว่างทางจากโลกียะ สู่โลกุตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด
หากลมจะพัดก็พัดเถิด....

อิกคิวมีลูกศิษย์มากมายและไม่เลือกฐานะของลูกศิษย์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรขจายและถือเป็นพระเซนที่เข้าใจแก่นของเซนอย่างแท้จริง ท่านละสังขารไปเมื่ออายุ 88 ปี ในปี ค.ศ.1481 ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งเสียลูกศิษย์ให้ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามปกติเท่านั้น และขอให้สร้างรูปของตัวอิกคิวและบันทึกสิ่งที่ท่านได้ทำไว้เท่านั้น

กล่าวกันว่ารูปแกะสลักไม้อิกคิวนั้น มีหนวดและผมของท่านบรรจุไว้จริงๆ  ทุกๆ ปีที่วัดแห่งนี้จะมีพิธีดื่มน้ำชาจากถ้วยใบใหญ่ เพื่อระลึกถึงอิกคิวซังอีกด้วย.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น