3/31/2555

ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ

ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ/ ข่าวชุมชนอิศรา ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
นพวรรณ สิริเวชกุล ขอบคุณภาพบางส่วนเอื้อเฟื้อโดย อุกฤษ จอมยิ้ม


กระสอบข้าวดอยกว่า ๔๐ ตันค่อยๆ ถูกลำเลียงลงจากรถที่พากันดั้นด้นมาจากจังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งมอบให้แก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ร่วมกันหาแนวทางครั้งนี้ หนึ่งในแกนนำของชาวกะเหรี่ยงหรือปากะญอภาคเหนือคือ พฤ โอเดชาที่เคยเข้าไปรับรู้สถานการณ์ของผู้คนที่นั่นมาก่อนและเขาจึงนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้แก่พี่น้องกะเหรี่ยงทางภาคเหนือฟัง
                                                -------- เสียง พฤ โอเดชา ----------
“ ผมก็ประทับใจชนเผ่าปากะญอของผมอยู่แล้ว เวลาผมเป็นปากะญอแล้วผมโผล่หน้าเข้าไป แล้วเล่าเรื่องว่า ที่โน่นปากะญอเหมือนกันเดือดร้อนขอข้าวไปช่วยทางโน้นหน่อย เขาก็คุยกันตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ประกาศไมค์ออกเสียงแล้วก็ตื่นเช้ามาหรือว่าเย็นวันนั้นก็แบกข้าวลงมาตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ บางคนก็วิ่งขึ้นไปบ้านตอนนี้แล้วก็แบกลงมา สิ่งที่ผมได้มากกว่าข้าวคือผมมีกำลังใจและมีความหวังว่าพี่น้องที่แก่งกระจานจะได้ข้าว จะรอดจากการอดข้าว”
                                    -------------------------------------------------------

สืบเนื่องจากปีพ.ศ. ๒๕๒๔ ที่กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของกะเหรี่ยงกลุ่มนี้  ต่อมาจึงมีโครงการอพยพผลักดันในปี ๒๕๓๙ โดยให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณใจแผ่นดิน พุระกำ ต้องลงมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ ๕๗ ครอบครัว และนับจากปี ๒๕๕๒ ถึงปลายปี ๒๕๕๔ ได้มีการย้ายคนลงมายังพื้นที่นี้อีกหลายครั้งแต่ไม่มีการจัดสรรที่ดินรองรับกลุ่มผู้อพยพใหม่  และพื้นที่อาศัยทำกินเดิมของพวกเขาก็ถูกรื้อถอนเผาทำลายไปจนสิ้น พร้อมข้อกล่าวหาคนกลุ่มนี้ว่าไม่ใช่คนไทย  ทั้งที่บางคนมีหลักฐานเหรียญชาวเขาที่ได้จากการสำรวจชาวเขาเมื่อปี ๒๕๑๒แม้บางคนไม่มีแต่ก็สามารถหาพยานบุคคลยืนยันได้ว่าพวกเขาอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้ก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยาน

 ในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ จะมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอในหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักการไปปฏิบัติซึ่งมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว แต่โครงการอพยพและผลักดันชาวกะเหรี่ยงของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี ๒๕๕๔
สุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้ อธิบายถึงแนวนโยบายของมติของคณะรัฐมนตรีต่อกรณีนี้

                                    -------- เสียง สุรพงษ์ กองจันทึก ----------
ผ่านครม.หมายถึงว่า ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะทางกรมป่าไม้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ถ้าชาวบ้านอยู่มานานแล้วให้ยุติการจับกุม การยุติการจับกุมไม่ได้หมายความว่าให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การยุติการจับกุมหมายความว่าคุณไปตรวจสอบก่อน ถ้าชาวบ้านผิดก็ยังผิดอยู่ จะจับก็จับอยู่แล้วไม่ได้ละเว้นเข้ามาตรวจสอบ แล้วตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งและกรรมการชุดนี้ต้องมีชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นกรรมการด้วย ไม่ใช่รัฐเข้ามาเป็นกรรมการฝ่ายเดียว นักสิทธิมนุษยชน นักมานุษยวิทยา นักวิชาการ ต้องเข้ามาร่วมกัน มาช่วยดูว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วเอาข้อเท็จจริงออกมาว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน ก็ต้องนำไปสู่การเพิกถอน การที่ไปทับที่ชาวบ้าน
                                    ------------------------------------------------------

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลายเชื้อชาติและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการสำรวจประชากรชาวกะเหรี่ยงในช่วงปี ๒๕๔๔ พบว่ามีกว่าสี่แสนคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่พวกเขาเหล่านั้นมีสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ ๔๐  และหลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกถูกประกาศออกมา ชนกลุ่มน้อยอย่างกะเหรี่ยงก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ล้าหลังและรัฐต้องเข้าไปพัฒนา แต่การเข้าไปของคนนอกเช่นนี้กลับทำลายระบบความเชื่อดั้งเดิมที่เน้นการพึ่งพาระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และชาวกะเหรี่ยงที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนก็ตกเป็นจำเลยทางสังคมตามที่ปรากฎตามสื่อต่างๆเสมอมา

จุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากกระเหรี่ยงทางภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ ยังไม่จบลงเพียงแค่นำข้าวที่ถือเป็นอาหารหลักของพวกเขามาแบ่งปันกันเท่านั้น พวกเขายังคงดำเนินการช่วยเหลือด้านการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆและเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้ต่อไป.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น