2/08/2555

ภาวะหนี้สินของชาวนาไทย

ภาวะหนี้สินของชาวนาไทย
การเพิ่มค่าเงินบาทของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลตามการวิเคราะห์ของ จอห์นสตัน (Johnston) ผู้ศึกษาค้นคว้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไทยในช่วงเวลาพ.ศ. 2453 – 2474  การเพิ่มค่าเงินบาททำให้การส่งออกของไทยลดลง ขณะเดียวกับที่มีการเก็บภาษีที่ดิน  ค่าขึ้นทะเบียนสัตว์ อุปกรณ์การประมงต่างๆ  เพื่อชดเชยกับภาษีการพนันการภาษีฝิ่นที่ค่อยๆ ถูกยกเลิกไป ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ยังความเดือดร้อนให้แก่ชาวนา โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินและชาวนารายย่อย เพราะรายได้ต่ำ ขาดแคลนทั้งข้าวบริโภคและเมล็ดพันธุ์  ในช่วงเวลาคับขันดังกล่าวชาวนาที่เป็นผู้เช่านายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น เพราะไม่มีเงินเสียค่าเช่านา บางครั้งเจ้าของที่ดินก็เข้ายึดทรัพย์สินของผู้เช่านา จนทำให้หนี้สินของผู้เช่านายิ่งเพิ่มมากขึ้น
    วิกฤติการณ์ข้าวของไทยนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นต่อมาในปีพ.ศ. 2462 เกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าว วิกฤติการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนมากในเรื่องเมล็ดข้าวทำพันธุ์และข้าวสำหรับบริโภค บางแห่งเกิดการแย่งชิงข้าว  ยิ่งภายหลังสงครามค่าครองชีพสูงขึ้น ชาวนาที่มีรายได้ตกต่ำอยู่แล้วต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาแพง ทำให้เกิดภาวะหนี้สิน การใช้ที่ดินจำนองหรือประกันเงินกู้จึงเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ชาวนาสูญเสียที่ดิน
    เศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงปีพ.ศ. 2475 – 2483 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะความเป็นอยู่ของชาวนา เพราะราคาข้าวที่ลดต่ำลงมีผลให้ระดับรายได้ของชาวนาในเวลาดังกล่าวลดลงด้วย  ภาวะราคาข้าวตกต่ำประกอบกับสภาพความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกทำให้ชาวนาต้องประสบปัญหาหนี้สิน แม้ว่าสถานการณ์ผลิตข้าวของไทยจะไม่ได้ตกต่ำมากนักในช่วงพ.ศ. 2475 – 2483 เพราะมูลเหตุสำคัฐที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทยตกต่ำลงเพราะโครงสร้างพื้นฐานการผลิต ที่ใช้พื้นที่ดินและแรงงานมากกว่าประเทศอื่นๆ มีผลให้ต้นทุนการผลิตสูง การขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องใช้แรงงานมากขึ้น เมื่อต้องการแรงงานมากขึ้น ชาวนาในบางพื้นที่จึงเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ในช่วงนี้ชาวนาบางพื้นที่จึงเปลี่ยนจากกาทำนาดำมาเป็นนาหว่านเพื่อประหยัดแรงงานได้มากกว่า
    ศาสตราจารย์คาร์ ซี ซิมเมอร์แมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ออกสำรวจภาวะเศรษฐกิจในชนบทของภาคต่างๆ ในประเทศไทยระหว่างพ.ศ. 2473 – 2474 สรุปได้ว่า  จำนวนหนี้สินรวมของชนบททั้งประเทศเป็นจำนวนเท่ากับ 143,000,000 บาทในพ.ศ. 2473 หนี้จำนวนนี้ถ้าหักของชาวนาภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหนี้ 4 ใน 10 ของชาวนาภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งคำนวณได้ประมาณ 65,000,000 บาทแล้ว ยังคงเหลืออีก 78,000,000 บาท การที่หักเอาหนี้ของชาวนาในภาคใต้  ตะวันออกเฉียงเหนือ และส่วนหนึ่งของหนี้ในภาคเหนือและกลาง เพราะถือว่าเป็นภาคการผลิตเพื่อยังชีพและยังไม่จำเป็นต้องปลดเปลื้องหนี้สิน  หนี้สินจำนวนนี้กู้ยืมมาจากพี่น้องและเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นภัยแก่ลูกหนี้ จึงคงเหลือหนี้จำนวน 78,000,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องปลดเปลื้อง เนื่องจากลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงถ้าไม่จัดการชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ กรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ก็จะสิ้นสุดลงในเวลา 10 ปีข้างหน้า
    หากจำแนกโครงสร้างหนี้สินของชาวชนบทไทยในภูมิภาคต่างๆ ในพ.ศ. 2473 จากการสำรวจของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนแล้ว พบว่า ชาวนาในภาคกลางมีหนี้สินมากที่สุด รวมเป็น 123,500,000 บาท หรือคิดเฉลี่ยหนึ่งครอบครัวเท่ากับ 190 บาท มีจำนวนครอบครัวที่เป็นหนี้ถึง 650,000 ครัวเรือน  ส่วนชาวนาในภาคใต้มีหนี้สินน้อยที่สุด
    ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมากภาคหนึ่งของประเทศ ในทางการเกษตร ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีปริมาณจำกัดโดยที่ดินแต่ละแห่งมีคุณสมบัติหรือคุณภาพแตกต่างกัน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตมากกว่าดินที่มีคุณภาพด้อยกว่า
    ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อการทำนามากที่สุด รองลงไปคือการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่เรากลับพบว่าเนื้อที่ป่าไม้ของไทยมีจำนวนลดลงมาโดยตลอด จากที่เคยมีอยู่กว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมดในปีพ.ศ. 2508 เหลือเพียงร้อยละ 28 ในปีพ.ศ. 2530 และเหลือร้อยละ 25.6 ในปีพ.ศ. 2538 
    ในด้านการถือครองที่ดินทางการเกษตรของประเทศเป็นรายภาคพบว่าในปีพ.ศ. 2538 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรมากที่สุดเท่ากับ 57.86 ล้านไร่ ภาคเหนือ 29.22 ล้านไร่ ภาคกลาง 27.24 ล้านไร่ และภาคใต้ 18.16 ล้านไร่ เนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นเนื้อที่ของตนเองประมาณร้อยละ 71.90 ของเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรทั้งหมด และเป็นเนื้อที่ของคนอื่นประมาณร้อยละ 28.10 ของเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรทั้งหมด
    หลายครัวเรือนในชนบท มีภาระค่าใช้จ่ายที่สะสมมาจากความล้มเหลวของผลผลิตในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ จากรายงานเชิงวิเคราะห์เรื่องรายได้และการกระจายรายได้ของครัวเรือน พ.ศ. 2545 ระดับจังหวัด แสดงให้เห็นว่าข้อมูลก่อนปีที่จะทำการสำรวจคือ พ.ศ. 2544 มากกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั่วประเทศ คือประมาณ 11.2 ล้านครัวเรือน มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 132,151 บาท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงสุดจะมีมูลค่าหนี้ต่ำสุด ประมาณ 87,492 บาท / ครัวเรือน ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มีมูลค่าหนี้สินประมาณ 134,321 บาท ,94,346 บาท และ 123,672 บาท ตามลำดับ โดยกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นตอนพิเศษ มีมูลค่าสูงสุดประมาณ 347,344 บาทต่อครัวเรือน วัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เป็นการกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภค ร้อยละ 63.5 นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร ร้อยละ 20.1 ใช้ในการประกอบธุรกิจการเกษตร ร้อยละ 14.7 ใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ร้อยละ 1.7 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ ,2545 หน้า 36)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น