7/19/2554

ไฮกุ...มาซึโอะ บาโช

ใครที่ชื่นชอบบทกวีไฮกุ คงรู้จักกวีญี่ปุ่นคนนี้เป็นอย่างดี.... มะสึโอะ บาโช ( matsuo basho) กวีผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นยุคหลายร้อยปีก่อน... หนังสือ The Narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi เป็นหนึ่งในบทกวีที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องผ่านตาตั้งแต่ชั้นมัธยม
      
       มะสึโอะ บาโช เกิดในราวปี 1644 ที่เมืองอิงะ Iga ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ ในครอบครัวตระกูลซามูไร ทุกวันนี้ที่พำนักของเขามักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดหรือเรือนตายของบาโช และยังมีอีกหลายคนที่ใคร่จะเดินตามเส้นทางสายบทกวีของเขา บนความยาวกว่า 2000 กิโลเมตร...
      
       มีการเล่าขานต่อกันมาว่า สิ่งที่ทำให้บาโชกลายมาเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะเขาได้มีโอกาสซึมซับและหลงใหลในวรรณกรรมจากบุตรของขุนนางที่เขาเคยทำงานรับใช้อยู่
      
       และเขายังได้ศึกษากวีนิพนธ์จากคิงิน กวีชาวเกียวโตผู้มีชื่อเสียง ขณะที่บาโชเองก็ได้สัมผัสกับบทกวีจีนและหลักปรัชญาของลัทธิเต๋ามาตั้งแต่เยาว์วัย และนั่นคือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาในกาลต่อมา
      
       เมื่ออายุปลายยี่สิบ บาโชย้ายไปอยู่ที่เอโดะ ปัจจุบันคือ โตเกียว เมืองใหม่ที่ขณะนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้าที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู และโอกาสทองทางวรรณกรรมสำหรับบาโช หลายปีต่อมาเขารวมกลุ่มกับผู้สนใจวรรณกรรมมีประกอบได้ด้วยลูกศิษย์และผู้อุปถัมภ์ ตั้งสถาบันที่ทุกวันนี้รู้จักในนามโรงเรียนบาโช ขึ้นมา
      
       ในปี 1680 ลูกศิษย์คนหนึ่งของบาโช สร้างบ้านหลังน้อยริมแม่น้ำซุมิดะให้ และเขาได้นามปากกา บาโช มาจากชื่อของต้นกล้วยที่เขาชื่นชอบในการปลูกมันไว้ที่บ้าน บันทึกหลายฉบับระบุว่า ในช่วงนั้นเขาเกิดความรู้สึกสับสนในจิตวิญญาณ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังมากขึ้นเมื่อเกิดอัคคีภัยเผาทำลายเอโดะวอดไปเกือบทั้งเมืองเมื่อปี 1682
      
       มาถึงปี 1684 บาโชใช้เวลาหลายเดือนเดินทางจากเอโดะมุ่งไปทางตะวันตก ซึ่งปรากฏในบันทึกการเดินทางชิ้นแรกคือ บันทึกโครงกระดูกที่ถูกดินฟ้ากระหน่ำตี Journal of a Weather Beaten Skeleton
      
       สมัยนั้นนักเดินทางต้องเดินเท้าและไม่มีที่พักที่อำนาวยความสะดวกเชข่นปัจจุบัน รอนแรมร่อนเร่ดุจผู้พเนจร แต่กระนั้นเขาก็เดินทางอีกครั้งหนึ่งในระหว่างปี 1687 – 1688 ซึ่งอยู่ใน บันทึกคะชิมะและต้นฉบับในย่าม Kashima Journal and Manuscript in a knapsack ผลงานทั้งสองเขียนด้วยบทกวีที่บาโชเป็นผู้แต่ง
      
       ในช่วงปีนั้นเอง บาโชรู้สึกว่าโลกใบนี้มันหนักหนาเกินไป เขาเหนื่อยหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง และเขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่า เขา สัมผัสได้ถึงสายลมของชีวิตหลังความตายที่ปะทะใบหน้า....
      
       บาโชเริ่มต้นวางแผนที่จะเดินทางไปตามสถานที่ ที่มีความสำคัญทางวรรณคดี ศาสนา หรือประวัติศาสตร์การทหาร ที่ซึ่งเขาปรารถนาจะเห็นมันก่อนตาย เขาตั้งใจจะออกเดินทางในฤดูหนาว แต่คนรอบข้างต่างก็เป็นห่วงสุขภาพของเขาได้แต่ประวิงเวลาให้เขาเริ่มเดินทางเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ...
      
       และในที่สุด เขาก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 24 มีนาคม ปี 1689 พร้อมกับโซะระ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ โดยมีเพียงกระเป๋าสะพายหลัง เครื่องเขียนและเสื้อผ้า เขากลายเป็น เฮียวฮะกุซะ หรือ ผู้ท่องไปโดยไร้จุดหมาย อีกครั้ง ผ่านทั้งที่สูงและที่ราบ ผ่านหมู่บ้าน เทือกเขาทางเหนือของเมืองเอโดะ และเลาะเลียบทะเลญี่ปุ่น การรอนแรมในครั้งนี้ กลายเป็นผลงานชิ้นเอกของบาโช
      
       มันกลายเป็นบันทึกการเดินทางด้วยจิตวิญญาณของเขา คล้ายการสละแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เขาละทิ้งสมบัติทางโลกและปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบัญชาของธรรมชาติน ด้วยการร่อนเร่และยังชีพด้วยการสอนหนังสือไปตามรายทางที่เดินทางผ่าน
      
       หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ เส้นทางสายเล็กๆ ไปสู่ทางเหนือ The narrow road through the deep north หรือ Oku no Hosomichi ที่เขียนขึ้นมาหลังจากการเดินทางที่เขาเริ่มต้นการเดินทางที่เอโดะหรือโตเกียว เพื่อไปยัง โทโฮะกุ และ โฮะกุริกุ ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับมาในปี 1691
      
       บาโชเสียชีวิตด้วยความเจ็บไข้ในฤดูใบไม้ผลิในปี 1694 ที่โอซาก้า ภายในบ้านของลูกศิษย์คนที่เขาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ก่อน สิ้นใจ เขายังมิวายรจนาไฮกุ ไว้อีกหนึ่งบท ดังนี้
      
       ในการเดินทางฉันป่วย
       ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
       ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง
      
       On travel I am sick
       My dream is running around
       A field covered with dried grasses
      
            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น