7/19/2554

บันทึกจากใต้ถุนสังคม

       .... ผมเป็นคนป่วย... เจ้าคิดเจ้าแค้น...ไม่มีเสน่ห์ ...
      
       นี่คือบทเริ่มต้นของนิยายเรื่องบันทึกจากใต้ถุนสังคม ( Notes from underground) ที่ประพันธ์โดยนักเขียนรัสเซียนาม ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ Fyodor Dostoevsky ค่ะ ที่ถือว่าเขาเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และงานของเขาก็มีอิทธิพลต่อมาถึงนวนิยายในคริสศตวรรษที่ 20 ค่ะ
      
       ในนิยายเรื่องบันทึกจากใต้ถุนสังคมนั้น ดอสโตเยฟสกี ได้เขียนไว้เมื่อปี 1864 ในบทนำของเรื่องเขาได้เกริ่นไว้อย่างน่าสนใจมากค่ะ ตรงที่ว่า เมื่อก่อนนั้นมนุษย์ถือว่าการหลั่งเลือดเป็นเรื่องของความยุติธรรม ฆ่าด้วยจิตใจที่มีมโนธรรม แต่ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่เราถือว่าการหลั่งเลือดเป็นสิ่งที่ชิงชังน่ารังเกียจ แต่เราก็ยังคงหลั่งเลือดมากกว่าเดิมเสียอีก....
      
       งานเขียนของดอสโตเยฟสกี มักจะมีตัวละครที่อาศัยอยู่อย่างแร้นแค้น และมีความคิดที่แตกต่างชนิดสุดโต่ง และเขามักจะกล่าวถึงความลี้ลับของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างเรื่องบันทึกจากใต้ถุนสังคมนี้ เขาพยายามจะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงความขี้สงสัย ความเฉื่อยชาและขาดความกระตือรือร้นของมนุษย์บางจำพวก นวนิยายของเขาที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักอ่านชาวไทยคือ พี่น้องคารามาซอฟและอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ค่ะ
      
       ฟีโอดอร์ มิคาอิลโลวิช ดอสโตเยฟสกี เป็นบุตรของศัลยแพทย์ทหารประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมอสโคว์ พ่อเป็นคนเคร่งครัดจริงจัง ดุ ชอบดื่มจนเมามาย ถูกทาสของตัวเองจับกรอกวอดก้าจนสำลักเหล้าตาย ในบ้านของตัวเอง
      
       ส่วนแม่ของเขาเป็นคนอ่อนโยน จิตใจดี ซึ่งมีนักวิจารณ์ได้พูดถึงพื้นฐานชีวิตเช่นนี้ของเขาว่า มีส่วนในการสร้างตัวละครของนักเขียนผู้นี้ ที่หลายเรื่องตัวละครมักมีลักษณะตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว ได้อย่างมีสีสันน่าสนใจยิ่ง
      
       ดอสโตเยฟสกี เข้ารับการศึกษาขั้นต้น ที่โรงเรียนประจำของเอกชนในกรุงมอสโคว์ เป็นคนที่สนใจอ่านหนังสือมาตั้งแต่เป็นเด็ก จากนั้นเขาได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยช่างทหารที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างปี 1838 - 1843
      
       จบออกมารับราชการได้ปีเดียวก็ลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ นิยายเรื่องแรกของเขาคือเรื่อง รักของผู้ยากไร้ 1846 จากนั้นก็มีนิยายเรื่องอื่นๆ ตามออกมาอีกหลายเล่มทีเดียวค่ะ เช่น the double, thelandlady,thechristmas tree and the wedding
      
       งานเขียนของดอสโตเยฟสกี มีอันต้องชะงักไประยะหนึ่งค่ะ เพราะในช่วงปี 1849 เขาถูกจับกุมข้อหาร่วมกับคณะวางแผนโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ระหว่างอยู่ในคุก เขาถูกขังเงียบ อยู่แปดเดือน ก่อนนำตัวสู่หลักประหาร และระหว่างที่เขาถูกปิดตาและยืนรอความตายอยู่นั้น ก็มีพระบรมราชโองการลดโทษประหารมาถึง ทำให้เขารอดชีวิตและถูกส่งตัวไปทำงานหนักอยู่ที่ไซบีเรีย เป็นเวลาสี่ปี
      
       ระหว่างต้องโทษอยู่นี่เองที่เขาเริ่มมีอาการลมชัก ซึ่งกลายเป็นโรคประจำตัวนับแต่นั้นมา ประสบการณ์ที่คุกไซบีเรีย และการที่ต้องผจญทุกข์ที่ไม่อาจบรรยายอย่างไม่รู้จบสิ้น และการได้รู้จักกับนักโทษซึ่งเป็นคนชั้นล่างๆ ของสังคม ทำให้ดอสโตเยฟสกีได้หล่อหลอมทัศนะเกี่ยวกับสังคมและชีวิตต่างจากที่เคยมีมาแต่เดิมอย่างสิ้นเชิง
      
       เขาเริ่มหันมาสนใจปรัชญาและศาสนาอย่างลึกซึ้ง เริ่มเป็นชาตินิยมและเริ่มปฏิเสธแนวคิดใหม่ที่รับมาจากยุโรป ซึ่งเป็นความคิดที่เขาเคยชื่นชอบก่อนจะเข้าไปอยู่ในคุก เขาเห็นว่าความยากจนเป็นที่มาของทุกอย่าง และสังคมนิยมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เขาเริ่มหันมาตรวจสอบศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ จนศรัทธาเชื่อมั่นต่อความจริงของชีวิตที่ว่า โดยการเผชิญความทุกข์ยากเท่านั้น จิตของมนุษย์จึงจะผ่านการชำระ ผุดผ่อง พ้นบาป
      
       หลังจากพ้นโทษแล้ว ดอสโตเยฟสกี ก็เริ่มงานเขียน และทำงานหนังสือพิมพ์ควบคู่กันไปด้วย แต่ชีวิตเขาก็ลุ่มๆ ดอนๆ ต้องผจญกับโรคร้ายประจำตัว กลายเป็นนักพนันตัวฉกาจ มีปัญหาหนี้สิน
      
       ชีวิตของเขาโลดโผนตื่นเต้น ผ่านภาวะที่ทุกข์ยาก ตรากตรำ จนเมื่อได้แต่งงานครั้งที่สองกับ แอนนา กรีกอร์เยฟนา สนิทกีนา ในปี 1867 แล้ว เขาจึงมีความมั่นคงขึ้น และได้สร้างผลงานเด่นในช่วงนี้ออกมาอีกด้วย
      
       พี่น้องคารามาซอฟ ก็คือผลงานสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาเคยคิดจะเขียนภาคต่อของพี่น้อง คารามาซอฟ แต่ไม่สำเร็จเพราะมาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้แต่ทิ้งมรดกผลงานทางวรรณกรรม เรื่องต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ โดยเฉพาะนักเขียนที่เน้นจินตนาการและกระแสสำนึกของตัวละคร เช่น เฮอร์มานน์ เฮสเส วิลเลียมโฟล์กเนอร์ ฟรันซ์ คาฟก้า เจมส์ จอยส์ เวอร์จิเนีย วูฟ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น