7/19/2554

กิโมโน

ในภาษาญี่ปุ่น กิโมโน แปลได้ว่า เครื่องนุ่งห่ม และต่อมาจึงกลายเป็นชื่อชุดประจำชาติญี่ปุ่นที่รู้จักกันดี  ประวัติ ความเป็นมาของกิโมโน นั้นมีมาอย่างยาวนาว นับตั้งแต่สมัยนารา ปีค.ศ. 710 – 794 ก่อนที่ชุดกิโมโนจะเป็นที่นิยม ชาวญี่ปุ่นมักจะแต่งชุดที่เป็นผ้าชิ้นเดียวกันหรือไม่ก็จะเป็นชุดที่มีความเหมือนกันทั้งท่อนบนและล่าง ต่อมาเพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ในสมัยเฮอันตั้งแต่ปี ค.ศ.794 พวกเขาจึงตัดผ้าเป็นเส้นตรง เพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ และปรับเปลี่ยนเนื้อผ้าได้ตามแต่สภาพอากาศ  ด้วยความสะดวกต่อการสวมใส่เช่นนี้เองจึงทำให้กิโมโน แพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็ว

กิโมโนจะมีความแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ในยุคเฮอัน กิโมโนจะเป็นชุดของจักรพรรดิ ขุนนางและข้าในวังเท่านั้น เรียกว่า กิโมโนจุนิฮิโตเอะ ซึ่งจะมีความยาวหลายเมตร เนื้อผ้าเป็นไหมโชว์การตัดเย็บและศิลปะการทำลวดลายบนผืนผ้า  ยิ่งมีความยาวและสวยงามมากแค่ไหน ก็ยิ่งแสดงถึงความมั่งคั่งมากเท่านั้น กิโมโนเสื้อคุลมชั้นนอกสุดจะทอหรือปักลวดลายงามวิจิตรพิสดารมาก ยิ่งถ้าเป็นชุดของนางสนมหรือนางกำนัลในวังกิโมโนยิ่งต้องมีจำนวนชั้นที่ซ้อนทับกันมากๆ หญิงชาวญี่ปุ่นมีความนิยมสวมกิโมโนหลายชั้นต่างสีและจัดปกเสื้อกับชายแขนเสื้อให้เรียงซ้อนลดหลั่นเพื่ออวดสีที่ไล่เรียงกันอย่างงดงาม หญิงชั้นสูงจะสวมใส่กิโมโนถึงสิบสองชั้น และว่ากันว่าแต่ละชั้นนั้นหนักถึง หนึ่งกิโลกรัมทีเดียว


ในยุคคามาคุระปีค.ศ.1338 ทั้งหญิงและชายต่างก็นิยมสวมใส่กิโมโนที่มีสีสันฉูดฉาดมากๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำแต่ประชาชนทั่วไปไม่นิยมการประดับตกแต่งกิโมโนกระทั่งในยุคที่ชนชั้นนักรับหรือซามุไรมีอิทธิพลสูงขึ้นในสังคม

ในยุคเอโดะ ค.ศ.1600  ถึง 1615 ช่วงที่โทกุงาวะซึ่งเป็นขุนศึกได้ขึ้นเป็นโชกุน กุมอำนาจทางการเมืองและย้ายศูนย์การบริหารบ้านเมืองจากเกียวโตที่เป็นเมืองหลวงเดิมและเป็นที่ประทับของพระจักรพรรดิไปอยู่ที่เอโดะ สร้างปราสาทเอโดะที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และรับอิทธิพลของขงจื้อ แบ่งคนออกเป็นชนชั้น ในยุคนี้เองคนทั่วไปเริ่มแสดงสถานะทางสังคมของตัวเองด้วยกิโมโน ที่จะแตกต่างกันด้วยเนื้อผ้า สีสันและการประดับตกแต่ง  กิโมโนเริ่มถูกพัฒนาให้กลายเป็นแฟชั่น โดยเฉพาะผ้าคาดเอวหรือ โอบิ จะมีการดัดแปลงและเพิ่มวิธีการผูกแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย

ตัวนักรบเองในแต่ละสำนักก็จะแต่งตัวแบ่งแยกตามกลุ่มของตัวเองเรียกว่าเป็นชุดเครื่องแบบ ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ชุดกิโมโน ชุดคามิชิโม ตัดเย็บด้วยผ้าลินินใส่คลุมกิโมโนเพื่อให้ดูไหล่ตั้งและกางเกงขายาวที่ดูเหมือนกระโปรงแยกชิ้นเรียกว่า ฮากามะ แต่เดิมฮากามะถูกออกแบบมาเพื่อซามุไร เพื่อป้องกันท่อนขาจากการเสียดสีเมื่อขี่ม้า ชุดกิโมโนของซามุไรนั้นต้องประณีตที่สุด กระทั่งถือเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

ในสมัยเมจิปีค.ศ.1868 ญี่ปุ่นเริ่มได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมากขึ้น จึงค่อยๆเปลี่ยนมาสวมใส่ชุดสากลในชีวิตประจำวันและจะสวมกิโมโนต่อเมื่อมีงานที่เป็นพิธีการเท่านั้น

จะว่าไปกิโมโนก็ไม่ได้เลือนหายไปจากสังคมญี่ปุ่นเสียเดียว เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้นิยมสวมใส่อยู่ อย่างเช่นกิโมโนสิบสองชั้นสำหรับชนชั้นสูงนั้นก็ถูกปรับให้เหลือเพียงหกชั้นและถูกสงวนไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น โดยจะสวมใส่ในงานพระราชพิธีหรืองานแต่งงานแบบราชสำนัก ส่วนคนทั่วไปจำนวนชั้นของกิโมโนก็ลดลงตามลำดับฐานะทางสังคม รูปทรงมีความกระชับมากขึ้น  แต่กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ยากขนาดต้องมีโรงเรียนสอนการสวมใส่ โอคิซึเตะ ที่สอนทั้งการสวมใส่ รับซ่อมแซมและเก็บรักษาด้วย กล่าวกันว่าต้องใช้เวลาเรียนกันถึงปีทีเดียวกว่าจะสวมใส่กิโมโนได้อย่างถูกต้อง เพราะการสวมใส่หนึ่งครั้งต้องใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง

แต่ที่เราเห็นในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะฤดูร้อนของชาวญี่ปุ่นในทุกวันนี้ มักจะเป็นชุดยูกาตะ หรือ ฮัปปิ ฮันเต็น ยูกาตะ ถือว่าเป็นกิโมโนแบบลำลองไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่ทำจากผ้าฝ้ายโปร่งสวมสบาย เวลาที่นักท่องเที่ยวไปเยือนญีปุ่นและพักตามเรียวกังมักจะมี ชุดยูกาตะไว้รับรองด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้หากใครมีโอกาสไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลต่างๆ  เราจะยังเห็นหนุ่มสาวสวมชุดประจำชาติของพวกเขาที่ดูแล้วไม่รู้สึกขัดตาหรือรู้สึกว่าเขาฝืนที่จะสวมใส่ บางครั้งก็อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ชุดยูกาตะช่างเหมาะเจาะกับผมทรงพั้งค์ของพวกเขาเสียเหลือเกิน. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น