1/09/2556

เพราะมีรัีก...จึงเกิดรัก

เรื่องสั้น...หรือความเรียงดี..
สุดแท้แต่จะเรียกมันว่าอะไร
แต่มันคือผลงานชิ้นแรกที่ทำและเผยแพร่ในประเภทนี้
เมื่อปี 2546 ร่วมกับนักเขียนหญิงอื่นๆ ใน
พอกเกตบุ๊คชื่อ in my mind มีรัก มีเรา มีชีวิต
ของสำนักพิมพ์วันอังคาร
   ------------------------------------
เพราะมีรัก...จึงเกิดรัก...
ภาพโดย / มงคล เปลี่ยนบางช้าง
นพวรรณ สิริเวชกุล / 2546



ฉันเคยสงสัยว่า มนุษย์ยุคแรกของโลกเมื่อกว่าห้าแสนปีมาแล้วอย่างกลุ่ม 'โฮโม อิเรคตัส' ผู้สามารถเดินเหยียดตัวตรง ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชป่าเป็นอาหารนั้น จะมีความรู้สึกเรียกว่า 'รัก' แล้วหรือยัง

แล้วความรู้สึกรักนั้น เกิดขึ้นกับมนุษย์เราตั้งแต่สมัยไหน หรือมันเกิดขึ้น หลังจากมนุษย์เริ่มสืบพันธุ์ ดังเช่นสัตว์โลกอื่นๆ ทั่วไปกระทำกัน  แล้วเวลาไหน ที่มนุษยเริ่มรู้จักความพึงใจในเพศตรงข้าม เริ่มรู้ว่านี่คือเพศหญิง นี่คือเพศชาย เริ่มรู้ที่จะต้องแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างเพศ
ดังเช่นที่ใครหลายต่อหลายคนพยายามจะจัดประเภทของความรับผิดชอบระหว่างเพศ
........... มนุษย์เริ่มเรียนรู้เรื่องราวแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไรกัน?............

ฉันเชื่อว่าก่อนจะมีความรู้สึกใดๆ มนุษย์ต้องพยายามเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากทีสุด 
เพื่อความอยู่รอดในยามนั้น... ต้องเกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ในอดีต พวกเขาไม่อาจหยั่งรู้ฟ้าดินได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไร..และอย่างไร..

ในครั้งนั้นมนุษย์เรียนรู้ที่จะเคารพและศรัทธาต่อดิน น้ำ ลม ไฟ...

แล้วการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เล่า มันเกิดจากอะไร มันน่าจะเริ่มต้นจากสัญชาตญาณระหว่างเพศก่อนใช่ไหม ก่อนจะมีความรู้สีกอื่นใดตามมา

แน่นอนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างเพศ เพื่อก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ และก็เพราะเพศหญิง มีอวัยวะสำคัญที่ก่อให้เกิดมนุษย์คนใหม่ได้ ผู้หญิงจึงกลายเป็นเพศที่มีหน้าที่ดูแลผลผลิตทั้งหมดของครอบครัว...

น้ำนมจากเพศหญิงคือสิ่งสำคัญที่จะฟูมฟักเด็กคนหนึ่งที่เกิดจากเธอให้เติบโตเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง หน้าที่ของผู้หญิงในอดีตจึงถูกจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบอยู่เพียงงานในบ้านเท่านั้น...

ผู้ชายมักคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่า ตนมีหน้าที่เป็นผู้นำ เพราะต้องออกไปเป็นผู้ล่า ขณะที่ฝ่ายหญิงจะทำหน้าที่ดูแลภายในครอบครัวให้เรียบร้อย นั่นหมายถึง เขาเริ่มอยู่กันเป็นครอบครัวแล้วใช่ไหม....

แล้วความรู้สึก 'รัก' ที่ฉันสงสัยนั่นเล่า มันเกิดขึ้นตอนใด
ในการก่อร่างเป็นครอบครัว
ในความเป็นผัวและเมีย
ในความเป็นพ่อแม่และลูก
ความรู้สึก รัก นั้น เริ่มต้นที่ไหน...

ฉันเคยสงสัย แม้กระทั่งความรักของตัวเอง ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหนและเริ่มต้นที่ใด
ภาวะที่เราพึงใจกับใครคนใดคนหนึ่งนั้น เรียกว่า รัก แล้วหรือยัง
สำหรับฉัน คิดว่า ยังไม่ใช่ เพราะความรู้สึกที่ฉันเรียกมันว่า ความรัก ในตอนนี้ มันมากกว่าความรู้สึกพึงใจหลายเท่านัก...

ในความรักของฉันมันแฝงฝังไปด้วยความเจ็บปวด ความชัง ความก้าวร้าวและความอ่อนโยน
ความห่วงหาอาทรและความเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและไม่สามารถอธิบายออกมาได้...

แม่ของฉันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ฝังหัวมาแต่โบราณของผู้หญิงว่า หากแต่งงานกับใครไปแล้วก็จะต้องอยู่กับผู้ชายคนนั้นไปจนตาย

ฉันไม่เคยรู้ว่าแม่ของฉันรักพ่อหรือไม่ ฉันรับและรู้แต่เพียงว่า ตลอดเวลาที่ฉันเติบโตมา ฉันเห็นแม่มีแต่ความเจ็บปวด มีแต่ความทุกข์ทรมาน มันไม่ใช่ทางร่างกายแต่มันเกิดขึ้นในใจ...

ฉันได้แต่สงสัยว่า สิ่งที่แม่กำลังดำเนินชีวิตร่วมกับพ่อซึ่งเป็นผุ้ชายคนหนึ่งนั้น เรียกว่าความรักหรือไม่ หรือความรักเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาแล้ว

หากแต่ว่า มันเป็นความรักที่แฝงไปด้วยความเห็นแก่ตัว และอวลไปด้วยความเจ็บปวด ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่แม่ของฉันใช้ชีวิตครอบครัวเช่นนี้...

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า คนเราจะทนความโดดเดี่ยวทางกายไม่ได้ ก็เฉพาะเมื่อมันมีความโดดเดี่ยวทางใจเข้ามาแทรกอยู่ด้วย

ด้วยเหตุนี้กระมังที่แม่ยอมที่จะทุกข์ทรมาน เพื่อแลกกับความรู้สึกว่า เขายังมี 'ใคร' แม้ว่าหลายครั้งที่แม่จะบอกว่าตนไม่อยากอยู่ในภาวะเช่นนี้

.... แต่แม่ก็ไม่ไปไหน ...

ไม่ทำอะไรให้ความรู้สึกของตัวเองดีไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว แม่พร้อมที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า ตัวเองอ่อนแอและสิ้นหวัง เพื่อให้มีความรู้สึกว่า แม่ยังสามารถพึ่งพิงคนอื่น นั่นหมายถึงลูก หรือบางภาวะอาจเป็นพ่อก็ได้...และนั่นมันทำให้แม่รู้สึกว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น


ด้วยเหตุที่ฉันพยายามจะอธิบายแม่ของฉันนี่เอง ฉันจึงพยายามจัดให้แม่ของตัว เป็นกลุ่มคนที่มีภาวะจิตในลักษณะมาโซคิสต์....

และด้วยเหตุผลดังข้างต้นที่ฉันพูดไว้ว่า เพราะเพศหญิงมีหน้าที่รักษาเผ่าพันธุ์และเลี้ยงดูผลผลิตซึ่งหมายถึงลูก จึงทำให้ 'ฉัน' ผู้เป็นลูกของแม่คนนี้เข้าใจเอาเองว่า ความรักไม่ใช่ความรัก มันเป็นอารมณ์ผสมกับสัญชาตญาณบางอย่าง ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกหนีมันพ้น...แม้จะรู้ว่าหนทางข้างหน้าที่จะก้าวไปพร้อมกับความรู้สึกนี้จะเจ็บปวดสักเพียงไรก็ตาม...

.......... เหมือนมนุษย์พร้อมที่จะทำร้ายตัวเองอย่างมีความสุข! .............

แต่ในที่สุด ฉันก็ค้นพบความรู้สึกบางอย่าง ที่มันมาพร้อมกับความรัก.... มันเหมือนเป็นความรักที่เป็นความรัก มันไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างนิยายหรือละครที่ฉันเคยดูเคยอ่าน... มันไม่มีความโรแมนติคซาบซึ้งเหมือนอย่างที่พระเอกปฏิบัติต่อนางเอก แต่ มันคือชีวิตจริงๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงปฏิบัติต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง...


ไม่มีความอ่อนหวาน ไม่เสแสร้ง แต่เต็มไปด้วยความจริงใจ มันทำให้ฉันได้เรียนรู้ความรู้สึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง...



เหนือขึ้นไปกว่า รัก โลภ โกรธ หลง แล้ว คนเรามีความรู้สึกมีอารมณ์มากกว่านั้น มันเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ หากแต่เราต้องอยู่กับมัน ค่อยๆ เรียนรู้มันไป แล้วเราจะพบว่า ในความเป็นมนุษย์นั้นมีสิ่งมหัศจรรย์ทางด้านอารมณ์ให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย

และไม่มีทฤษฎีไหนในโลกใบนี้สามารถจะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้หมด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนคนหนึ่ง กับคนอีกคนหนึ่งนั้น ไม่เคยมีความเหมือนและความต่างที่เหมือนกันเลย....



ความรักของฉันไม่เหมือนความรักของแม่ และความรักของใครต่อใครอีกหลายๆ คนที่ฉันเฝ้าเรียนรู้และหาคำตอบ ไม่มีใครเหมือนใคร ฉันจึงเชื่อว่า ในนามของความรักนั้นไม่มีใครสอนใครได้ ไม่มีใครช่วยใครได้...



ความรักขึ้นอยู่แค่คนสองคน ที่เขาต่างก็มีข้อตกลงบางอย่าง ในการใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้นเอง



ฉันเคยคิดไปว่า ฉันรักคนโน้นคนนี้มากมายหลายคน แต่เมื่อฉันพบกับความรักครั้งนี้ มันทำให้ฉันรู้และเข้าใจความรักที่แม่มีต่อพ่อมากขึ้นกว่าเดิม

เพราะความรู้สึกรักนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม และมันไม่ได้เกิดเพราะความวูบไหว

แต่มันค่อยๆ ก่อตัว งอกงามขึ้นในความรู้สึกและการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับใครอีกคน

ความรักครั้งนี้ มันทำให้ฉันรู้ถึงความแตกต่างจากความรักครั้งอื่นๆ มันเป็นความรักที่ฉันพร้อมจะรักอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีรูปแบบทฤษฎีใดๆ มาอธิบายความรักของฉันได้...

เพราะความรักก็คือชีวิตนั่นเอง...

และนี่มันก็เป็นคำตอบสำหรับฉันได้อย่างดีว่า มนุษย์สมัยโฮโมอิเรคตัส นั้น เขามีความรู้สึกที่เรียกว่ารักกันแล้วหรือยัง+++

พิมพ์ครั้งแรกใน in my mind มีรัก มีเรา มีชีวิต/สำนักพิมพ์วันอังคาร/2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น