1/09/2556

Iris Murdoch



ไอริส เมอร์ดอด Iris Murdoch
      

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า รัก เป็นคำกริยา หมายถึงมีใจเสน่หา และ มีใจผูกพัน
ความรักจึงเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเสน่หาและผูกพันทางอารมณ์อย่างแรงกล้า
ดั่งเช่นประโยคหนึ่งของนักเขียนและนักปรัชญาหญิงผู้นี้ ไอริส เมอร์ด็อค  Iris Murdoch
เธอเคยกล่าวไว้ว่า.....ความรักล้วนต้องการความเข้าใจ  รักแท้หรือรักหมดใจ รับรู้ได้ด้วยความรู้สึก.....

ความรักและการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนสองคนก็เป็นเรื่องที่อธิบายและเลียนแบบกันยาก เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการความเข้าใจและการยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อประคองชีวิตร่วมกันได้ตลอดรอดฝั่ง 
เร็วๆนี้คงเคยเห็นโฆษณาประกันชีวิตที่นำเรื่องราวของสามีภรรยาที่ดูแลกันไปจนแก่เฒ่าแม้ฝ่ายหญิงจะเป็นอัลไซเมอร์ไปแล้วก็ตาม เชื่อแน่ว่าใครเห็นก็ต้องประทับใจกับชีวิตคู่เช่นนั้น

ไอริส เมอร์ด็อค นักเขียนนวนิยายและนักปรัชญาชาวไอริช ผู้นี้ก็เช่นกัน เธอมีชีวิตคู่ที่แสนวิเศษกับ
จอห์น เบย์ลีย์ John Bayley กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตที่เธอป่วยเป็นอัลไซเมอร์
ไอริสเป็นผู้หญิงในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเกิดที่เมืองฟิสโบรอชจ์ ดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นหญิงหัวก้าวหน้าและออกจะล้ำกว่าใครในยุคนั้น ถึงขนาดเคยได้รับสมญาว่า เป็นผู้หญิงที่ชาญฉลาดมากที่สุดในอังกฤษ ด้วยท่วงท่าบุคลิกที่มีลักษณะโดดเด่น บัณฑิตสาวจากวิทยาลัยซอมเมอร์วิลล์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมด้วยจิตวิญาณแห่งเสรีชนในฐานะนักปรัชญาและนักเขียน

เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมปี 1919  ในครอบครัวชนชั้นกลางที่เคร่งครัดในลัทธิเพรสไบทีเรียนหนึ่งในนิกายของศาสนาคริสโปรเตสแตนต์  ครอบครัวของเธออาศัยและทำฟาร์มแกะอยู่ทางตอนเหนือของไอร์แลนด์กระทั่งเธอเกิดได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ พ่อของเธอต้องย้ายไปรับราชการที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ไอริสเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่ ไฟรเบิล เดมอนสเตรชั่นในปี 1925และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนหญิงล้วนแบดมินตัน ในบริสทอลตั้งแต่ปี 1932 – 1938 หลังจากนั้นเธอก็เข้าไปศึกษาสาขาวิชาคลาสิก ประวัติศาสตร์โบราณ และปรัชญากระทั่งจบเป็นบัณฑิตที่วิทยาลัยซอมเมอร์วิลล์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก่อนออกมาทำงานเพื่อหาประสบการณ์ชีวิตในที่ต่างๆหนึ่งในนั้นคือค่ายผู้อพยพสังกัด United Nations Relief and Rehabilitation Administration (UNRRA)
เธอกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมีงานเขียนนวนิยายเล่มแรกของตัวเองในปี 1954 เรื่องUnder the net ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักเขียนหนุ่มผู้ดิ้นรนแสวงหา งานของไอริสชิ้นนี้เป็นส่วนผสมของปรัชญากับงานเขียนประเภทเสียดสี (picaresque) ที่มักแสดงให้เห็นรายละเอียดที่เหมือนจริงและตลกเสียดเย้ย รูปแบบนิยายประเภทนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ในสเปนก่อนจะแพร่หลายเป็นที่นิยมทั่วยุโรปในศตวรรษที่ 17 และ 18 และยังคงส่งอิทธิพลมีผลต่อวรรณกรรมสมัยใหม่เช่นกัน

นวนิยายเรื่องอันเดอร์ เดอะ เนท Under the net นี้ต่อมาในปี 2001 ได้รับเลือกจากบรรณาธิการของโมเดิร์นไลบรารี่ให้เป็นลำดับที่ 95 ของนวนิยายที่ดีที่สุดใน 100 เรื่องของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 20และในปี 2008 นิตยสารไทม์ TIME ยกย่องให้เธอเป็น 1 ใน 50 นักเขียนชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่ปี 1945 

ดูราวกับเธอจะมีชีวิตที่แสนวิเศษ เป็นผู้หญิงปราดเปรื่องเป็นสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์แห่งเกรทบิเทนในปี 1938 ขณะอยู่ที่ออกซฟอร์ดและลาออกจากพรรคเมื่อปี 1942  เธอพูดได้ถึง 8 ภาษาเช่นตุรกี เหตุก็เพราะเธอต้องการเข้าใจงานเขียนของ นาซิม ฮิกเมท Nazim Hikmet นักเขียนและกวีชื่อดังชาวตุรกีที่ได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์โรแมนติก และเมื่อเธอหันมาสนใจงานของนักเขียนชาวรัสเซียอย่างฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เธอก็ไม่ลังเลที่จะศึกษาภาษารัสเซียจนแตกฉานเพื่อจะได้อ่านงานของดอสโตเยฟสกีจากภาษาต้นฉบับ

ส่วนงานด้านปรัชญาไอริสเริ่มต้นจริงจังกับลัทธิอัตถภาวะนิยม เธอมีผลงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของ
ชอง ปอล ซาร์ต ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปีเดียวกับที่เธอออกนวนิยายเล่มแรกของตัวเองนอกจากความสนใจในปรัชญาอัตถภาวะนิยมแต่เริ่มแรกแล้ว หลังจากนั้นไอริสหันมาให้ความสนใจแนวคิดของเพลโตและเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เธอเคยอธิบายความเชื่อของตัวเองในความดีไว้ว่า...ความงามคือแง่มุมที่มองเห็นและเข้าถึงได้ของความดี แต่เพราะตัวความดีเองไม่อาจมองเห็นได้ ความรู้ของความดีต้องได้มาด้วยการศึกษาและเข้าใจศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่....

นอกจากมุ่งมั่นทางปรัชญาและความคิดแล้ว ไอริสยังเป็นสาวสังคมเธอชอบงานรื่นเริงและการดื่มสังสรรค์ เธอสูญเสียคนรักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปถึง 2 คน ก่อนที่เธอจะมาพบรักและร่วมชีวิตกับสามีจอหน์ เบย์ลีย์ที่เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษและนักเขียนเช่นเดียวกับเธอในปี 1956

แต่บางคนก็กล่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงโรแมนติกและมีชีวิตที่น่าเศร้า เคยมีผู้กำกับภาพยนตร์ริชาร์ด แอร์ล Richard Eyre ที่นำเรื่องราวชีวิตของเธอมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มออกเผยแพร่ให้ได้ชมกันเมื่อปี 2001
ใครที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้คงได้เห็นฉากชีวิตของเธอบางฉากที่โลดโผนกับความรักและใช้ชีวิตที่คุ้มสุดคุ้มของเธอกันมาบ้าง

ในชีวิตจริงงานของเธอนอกจากจะได้รับการกล่าวขานว่าใช้นวนิยายเป็นเครื่องมือสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับมนุษย์ในเรื่องของการเลือกและการหลอกตัวเอง บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ทางเพศและอำนาจของจิตไร้สำนึกแล้ว  ในบันทึกจดหมายรักของไอริสมีการกล่าวถึง ผู้หญิงที่ชื่อ ฟิลิปปา Philippa เพื่อนรุ่นน้องของเธอที่ต่างก็ตกหลุมรักกันอย่างรุนแรง กระทั่ง philippa ตัดสินใจแต่งงานกับชายหนุ่มนาม
ไมเคิล ฟุต Michael Foot และไอริสก็แต่งงานกับจอห์น เบย์ลีย์ แต่เธอทั้งคู่ก็ยังสานสัมพันธ์ ด้วยการส่งจดหมายถึงกันตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญาของเพลโต ข้อโต้เถียงในนิยายที่ไอริสแต่ง หรือแม้กระทั่งอารมณ์รักที่ทั้งคู่ต่างมีให้แก่กัน

ความสัมพันธ์ของไอริสกับฟิลิปปา ดำเนินควบคู่มากับชีวิตแต่งงานของเธอทั้งสองกระทั่งปี 1959 ไมเคิลตัดสินใจแยกทางกับฟิลิปปา ในครั้งนั้นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไอริสกับฟิลิปปารุนแรงมากยิ่งขึ้นถึงขั้นมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกันจนถึงปี 1969 ความสัมพันธ์นี้จึงได้สิ้นสุดลง ฟิลิปปาเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่ยังกลับมาที่ออกซฟอร์ดทุกปีและยังคงส่งจดหมายถึงไอริสอย่างสม่ำเสมอ แต่เธอไม่เคยได้รับจดหมายตอบกลับจากไอริส....

ตลอดเวลานับตั้งแต่ปี 1956 ไอริสใช้ชีวิตร่วมกับจอห์น เบย์ลีย์มาตลอด และนับว่าเธอเป็นผู้หญิงที่โชคดีคนหนึ่งที่แม้จะมีฉากชีวิตรักที่โลดโผนโจนทะยาน และใช้ชีวิตแหกขนบของหญิงในยุคสมัยของเธออย่างสิ้นเชิง สามีอย่างจอห์นก็เข้าใจและรักเธออย่างสุดซึ้ง  ไอริสมีความคิดก้าวหน้าตลอดเวลา
เธอผลิตงานนวนิยายออกมามากกว่า 25 เล่มและยังมีผลงานทางด้านปรัชญาและบทละครอีกมากมาย และเธอยังได้รับเกียรติยศในปี 1987 ด้วยการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Dame Commander of the Order of the British Empire (DBE)

และในที่สุดเธอเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์ในปี 1995 ด้วยอาการเขียนหนังสือไม่ได้ สะกดตัวหนังสือไม่ถูกอย่างที่เคยเขียน ตลอดช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ไอริสมีจอห์น คอยปรณนิบัติเคียงข้างเธอตลอดเวลา ทุกวันจอห์นจะพาไอริสไปว่ายน้ำที่ทะเลสาบข้างบ้าน เพราะเขารู้ว่าเธอชอบว่ายน้ำมาก ดังเช่นที่จอห์นได้เขียนถึงไอริสไว้ในหนังสือของเขาว่า ...มันเหมือนกับมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งนิยาย ผมเป็นชายหนุ่มที่หลงรักสาวสวย ที่มักจะหายตัวไปในโลกที่เร้นลับแต่เธอก็จะกลับมาเสมอ...

ความรักระหว่างไอริสกับจอห์น ถูกบางคนยกย่องให้เป็นตำนานรักโรแมนติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ เรื่องราวชีวิตรักของคนทั้งคู่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รักที่แท้นั้นเป็นเช่นไร  เขาทั้งคู่ผ่านเรื่องราวที่ดีและรันทดมาด้วยกันอย่างเข้าใจและรักกันอย่างแท้จริง

ไอริสเคยเขียนถึงความรักไว้ตอนหนึ่งว่า.... มนุษย์รักกันในเรื่องเพศ ในมิตรภาพ และเมื่อพวกเขาอยู่ในความรัก เขาจะหวงแหนคนอื่นไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืชหรือแม้กระทั่งก้อนหิน การแสวงหาความสุขและเติมเต็มความสุขนี้ คือพลังแห่งจินตนาการของเรา.

ไอริสจากโลกนี้ไปด้วยวัย 79 ปีในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1999 หลังจากนั้นเถ้ากระดูกของเธอถูกนำมาโปรยอยู่ในบริเวณสวนฌาปนสถานที่เมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จอห์นสามีของเธอได้เขียนประวัติชีวิตของไอริสออกเผยแพร่ในชื่อ Elegy for Iris ตีพิมพ์ในปี 1999 กระทั่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อให้ได้ชมกันและมุ่งเน้นไปในเรื่องความรักของคนทั้งคู่ ฟิลิปปาได้กล่าวถึงไอริสไว้ว่า เธอคือแสงสว่างของชีวิต ฟิลิปปาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2010 นี้เอง.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น