1/13/2555

หลายพันธุ์ข้าว หลากพันธุ์คน

วัฒนธรรมข้าว วัฒนธรรมคน
ไทยเราไม่ใช่สังคมเดียวในโลกนี้ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในวัฒนธรรมข้าว เพราะยังมีสังคมอื่นๆ อย่าง จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือตัวว่าอยู่ในวัฒนธรรมข้าวเช่นกัน ดังนั้นสังคมไทยจึงถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมข้าวที่มีประเทศเพื่อนบ้านอยู่ร่วมวัฒนธรรมกับเรา...

ข้าวถือเป็นอาหารหลักของคนไทยทุกภาคมาเนิ่นนาน สิ่งนี้เองที่เป็นตัวก่อให้เกิดวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวในผู้คนที่อาศัยอยู่แต่ละภาคของไทย...
ภาคอีสานเองประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว กูย เขมร โซ่ กะเลิง ญ้อ ที่ล้วนแล้วแต่มีข้าวเป็นอาหารหลักแทบทั้งสิ้น

โดยส่วนใหญ่เรามักเข้าใจกันเอาเองว่า คนอีสานกินข้าวเหนียว คนภาคกลางกินข้าวจ้าว แท้แล้วคนอีสานหลายเผ่าพันธุ์ก็กินข้าวจ้าวเหมือนๆ กับใครอีกหลายภาค หนึ่งในกลุ่มที่กินข้าวจ้าวเป็นหลักในภาคอีสานก็คือ คนไทยเชื้อสายเขมรหรือที่นักวิชาการทางมานุษยวิทยามักจะให้คำจำกัดความว่าเป็นกลุ่มเขมรถิ่นไทย

หากจะเอ่ยถึงชาวไทยเชื้อสายเขมร คงจะนึกถึงจังหวัดสุรินทร์เป็นอันดับต้นๆ เพราะประชากรในจังหวัดสุรินทร์นั้นกว่าครึ่งที่เป็นคนไทยเชื้อสายเขมร  สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคอีสานตอนใต้ มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ 3 เชื้อชาติหลัก อันประกอบไปด้วย เขมร กูย และลาว

ตามหลักฐานการสร้างเมิองสุรินทร์ บรรพบุรุษของคนถิ่นนี้เป็นชาวกูย ต่อมาจึงมีการอพยพชาวเขมรเข้ามาตั้งหลักปักฐานและชาวลาวอีกจำนวนหนึ่ง และเป็นเพราะเขมรนั้นมีวัฒนธรรมที่สูงกว่ากูย จึงค่อยๆ กลืนเอาคนกูยที่พูดภาษากูยมาเป็นพวกของตน

เขมรถิ่นไทยกระจายตัวกันอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และมีบางส่วนอพยพไปอยู่ที่เขตจังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว
โดยทั่วไปของชาวเขมรถิ่นไทยจะเป็นครอบครัวใหญ่ มีการอยู่รวมกันหลายๆ ครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน ครอบครัวหนึ่งอาจมีทั้งลุง ป้า น้า อา ตา ยาย หรือปู่ย่า พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้เขมรถิ่นไทยในสุรินทร์เกือบทั้งหมดพูดได้สองภาษาไทยกับเขมร บางคนพูดภาษาลาวได้อีกถ่ายหนึ่ง

นอกจากเขมรถิ่นไทยแล้ว สุรินทร์ยังมีคนกูยที่ถือเป็นชนกลุ่มแรกในการสร้างเมืองสุรินทร์อาศัยอยู่ด้วย กูยหรือส่วย หรือโกย กลุ่มคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนเลี้ยงช้าง จนทำให้สุรินทร์มีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นเมืองช้าง  ว่ากันว่าถิ่นฐานเดิมของกูยอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงทม ประเทศกัมพูชา กูยเป็นชนเผ่าที่ชอบอพยพเคลื่อนย้ายอยู่เสมอเพื่อแสวงหาที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก นอกจากเมืองกำปงทมแล้ว กูยยังอพยพมาทางเมืองอัตตะปือ แสนปาง จำปาสักและสารวัน บริเวณตอนใต้ของประเทศลาวอีกด้วย

กูยอพยพเข้ามาในเขตเมืองไทยประมาณปลายสมัยอยุธยากระทั่งธนบุรีตั้งบ้านเรือนบริเวณเขตจังหวัดสุรินทร์และศีรสะเกษเป็นหลักใหญ่ และเป็นเพราะชาวกูยมักจะตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับชาวเขมรสูงและชาวลาว จึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทั้งสอง ดังจะเห็นในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสร้างเมืองสุรินทร์ใหม่ นั้นมีคนกูยทั้งเมือง จะมีชาวเขมรปะปนอยู่เพียงเล็กน้อย แต่นานวันเข้าวัฒนธรรมเขมรสูงหรือเขมรถิ่นไทย ก็ค่อยๆ เข้ามามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมของชาวกูยในที่สุด กูยที่รับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาและเปลี่ยนภาษาพูดเป็นภาษาเขมรมักจะถูกเรียกว่าเป็น เขมรส่วย ส่วนกูยที่ได้เปลี่ยนไปพูดภาษาลาว อีสานก็จะถูกเรียกว่าเป็นพวก ลาวส่วย...

การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสายกูยกับสายลาว จึงเป็นการยากที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด เพราะสองชนชาตินี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันที่เมืองจำปาสักเป็นเวลากว่า 400 ปี ชาวไทลาวที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองเขมรป่าดงมีความเกี่ยวเนื่องกับชาวลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา และได้อพยพเข้ามาอยู่ตอนกลางของอีสานในราวปีพ.ศ.2261 เมื่อกษัตริย์ผู้ครอง
นครจำปาสัก ได้ส่งเจ้าแก้วมงคล มาตั้งเมืองทุ่งหรือเมืองท่ง พร้อมไพร่พลกว่าสามพันคน ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี กษัตริย์เวียงจันทน์เกิดผิดใจกับพระวอ พระตาซึ่งเป็นเสนาบดีของพระองค์ พระวอกับพระตาจึงอพยพไพร่พลมาตั้งเมืองหนองบัวลุ่มภูในเขตจังหวัดอุดรธานี การตั้งเมืองทุ่งบริเวณตอนเหนือของลุ่มน้ำมูล ในเขตชายทุ่งกุลาร้องไห้ทางด้านเหนือเป็นเพียงระยะแรก เมื่อเห็นว่าทำเลใกล้แม่น้ำมูนดีกว่า จึงมีชาวลาวอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ปัจจุบันและเมืองขุขันธ์ทางตอนเหนือ  อิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมของลาวได้เข้ามาผสมในหมู่บ้านชาวกูยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับชาวลาว ในช่วงนี้เอง

จึงกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมของทั้งสามเชื้อชาติเขมร ลาว กูย เมื่อได้อาศัยอยู่ร่วมกันในเขตจังหวัดสุรินทร์ก็ ได้ผสมกลมกลืน จากการที่ได้อยู่ร่วมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีกันมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ประเพณีความเชื่อ หรือแม้กระทั่งภาษาพูด

ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง
อาจกล่าวได้ว่า หมู่บ้านชนบททุกแห่งในภาคอีสานเป็นชุมชนที่มีลักษณะของ สังคมชาวนา เช่นเดียวกับชุมชนชนบทของไทยทั่วไป ในทางมานุษยวิทยานั้น สังคมชาวนาเป็นลักษณะของสังคมมนุษย์กลุ่มหนึ่งตามลักษณะการจัดแบ่งกลุ่มหรือแบ่งประเภทของสังคมมนุษย์อย่างกว้างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น สังคมดั้งเดิม (primitive or tribal society) สังคมชาวนา(peasant society) และสังคมอารยธรรมสมัยใหม่(modern civilization society) เมื่อพิจารณาจากลักษณะของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่าสังคมชาวนาจัดอยู่ตรงกลางระหว่างสังคมดั้งเดิมกับสังคมอารยธรรมสมัยใหม่ กล่าวคือ แม้ว่าสังคมชาวนาจะยังชีพด้วยผลผลิตทางการเกษตร และผลผลิตจากธรรมชาติ ชาวนาส่วนใหญ่ครอบครองปัจจัยการผลิต เช่นที่ดินและเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร รวมทั้งใช้เทคนิควิทยาสมัยใหม่บางส่วน แต่สังคมชาวนาก็ไม่มีมีอิสระในทางเศรษฐกิจและการเมืองเหมือนที่สังคมดั้งเดิมมีอยู่

เพราะสังคมชาวนาต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐส่วนกลางเฉพาะแห่งเสมอ และมีการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมสมัยใหม่และตลาดการค้าของระบบทุนนิยมอยู่ตลอดเวลา ชาวนาจึงต้องเสียภาษีอากรในลักษณะต่างๆ ให้กับรัฐ ขณะเดียวกันรัฐก็มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายและการควบคุมด้านต่างๆ ต่อสังคมชาวนา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐแห่งนั้น เช่น การจัดการปกครอง การศึกษา ศาสนา เศรษฐกิจ อาชีพ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลพวงสำคัญที่เป็นแรงกระทบต่อการขยายตัวของระบบทุนนิยมจากต่างประเทศ ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นและระบบการผลิตทางการเกษตร จนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรถูกครอบงำโดยแนวความคิด การปฏิวัติเขียว(Green Revolution)  ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จากพันธุ์พื้นเมืองมาเป็นพันธุ์ลูกผสมใหม่ ส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและใช้ปุ๋ยเพื่อเร่งผลผลิต รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดจนเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาใช้ในการผลิต ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ทางการเกษตรออกไปอย่างกว้างขวางในลักษณะของการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) เพื่อทำการปลูกพืชเฉพาะอย่างเช่น อ้อย ข้าว ปอ ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น

ระบบการเกษตรแผนใหม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบแผนและวิถีการผลิตอย่างชัดเจน เกษตรกรรมพื้นบ้านได้ถูกแทนที่ด้วยเกษตรกรรมแผนใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อการค้าและการส่งออก การปลูกพืชแบบยังชีพที่มีพืชหลายชนิดผสมผสาน ถูกเปลี่ยนมาเป็นฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ที่ปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด พืชและสัตว์พื้นเมืองที่เคยมีอยู่อย่างดาษดื่นและมีความสอดคล้องกลมกลืนกับนิเวศน์ท้องถิ่นเริ่มสูญหายไป การช่วยเหลือพึ่งพากันภายในชุมชนอีกทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่อยู่กับวิถีชีวิตชาวนาผู้ปลูกข้าวก็ค่อยๆ หายไป

ชาวนาสุรินทร์เองก็หนีไม่พ้นวงจรธุรกิจในภาคเกษตรกรรม .....
จังหวัดสุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้หอมน่ารับประทานจนกระทั่งติดอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด ที่นี่ชาวนาจะทำนาปีละครั้ง อาศัยน้ำจากฝน เมื่อหมดฝนย่างสู่ฤดูหนาว อากาศจะเริ่มแห้ง ตรงกับรวงข้าวที่ต้องการความแห้งเพื่อไล่ความชื้นออกจากเมล็ดข้าว  จึงทำให้ข้าวที่นี่มีเมล็ดที่แกร่งและสวยยาวรีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชาวนาในสุรินทร์หันมาปลูกข้าวหอมมะลิกันมากขึ้น และชาวนาเริ่มขายข้าวให้กับพ่อค้าชาวจีนในท้องถิ่นเมื่อราวปีพ.ศ. 2500 โดยพ่อค้าจะเดินทางเข้าไปซื้อข้าวถึงในหมู่บ้าน แรกที่ขายเป็นข้าวพื้นบ้านอย่างนางคงและข้าวนางสะอาด ในราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์บางครั้งได้ถึง 1 บาท

ข้าวเปลี่ยนพันธุ์..ข้าวใหม่หอมมะลิ...
การรวบรวมข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีขึ้นอย่างจริงจังทั่วประเทศเมื่อระหว่างพ.ศ. 2493 - 2495 เพื่อค้นหาพันธุ์ข้าวที่ดีและแนะนำให้ชาวนาปลูก มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวกว่าหกพันชนิด และได้พันธุ์ข้าวหลายพันธุ์ที่ใช้แนะนำกับชาวนาให้ปลูก  เช่นข้าวหอมมะลิ105, ข้าวกข.6

นอกจากการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีแล้ว ข้าวไทยก็ยังถูกปรับปรุงบำรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เป็นพันธุ์ลูกผสม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านผลผลิตเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์ข้าวกข. ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก กรมการข้าว ที่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาเป็นสถาบันวิจัยข้าว ไปแล้ว ข้าวพันธุ์กข. เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์แรกของไทย และได้รับการผสมพันธุ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ.2512 จากพันธุ์ข้าวเหลืองทองของไทยกับพันธุ์ข้าวของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 100 ถังต่อไร่หรือ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ทีเดียว

ชนิดและพันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยเกือบทั้งหมดจึงต้องเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมข้าวเมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา เพราะกรมเกษตรและการประมงได้จัดตั้งแผนกข้าวขึ้นในกองขยายกสิกรรม กระทั่งสถาปนาเป็นกรมการข้าวในเวลาต่อมา เพื่อให้ดูแลและพัฒนา การทำนาในยุคนั้น จากนั้นได้รวมกับกรมกสิกรรมเป็นกรมวิชาการเกษตรและกองการข้าวในสังกัดกรมวิชาการเกษตรใหม่ ได้เปลี่ยนเป็นสถาบันวิจัยข้าว มีศูนย์วิจัย ทำหน้าที่วิจัยข้าวและธัญพืชเมืองหนาวทั้งหมด 6 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ข้าวหอมมะลิ
ข้าวหอมมะลิพบครั้งแรกที่แหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม ชลบุรี โดยนายจรูญ ตัณฑวุฒ นำมาปลูกเอาไว้ที่นาของตัวตั้งแต่พ.ศ.2488 และได้รับความนิยมในท้องถิ่นจนกระทั่งมีคนขอไปปลูกที่ท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

พ.ศ. 2493 กรมการข้าว กระทรวงเกษตร ได้ออกรวบรวมข้าวพันธุ์ดีของประเทศ พนักงานข้าวอำเภอบางคล้า จึงรวบรวมเอารวงข้าวจากอำเภอไป 199 รวมเพื่อส่งไปปลูกคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ไม่ปนเปื้อนกับละอองเกสรข้าวพันธุ์อื่นที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จนในพ.ศ. 2500 จึงได้นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือกลางและอีสาน คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์จึงประกาศให้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 เป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2502 โดยเรียกชื่อว่า หอมมะลิ 105 เหตุที่มีตัวเลข 105 ต่อท้ายก็เพราะว่า รวงข้าวที่นำไปทดลองปลูกทั้ง199 รวงนั้นเมื่อนำไปเรียงแถวแล้วปรากฏว่าแถวที่ 105 มีเมล็ดข้าวที่ยาวเรียว ขาวใส กลิ่นหอม จึงนำเอาแถวนั้นมาเป็นแม่พันธุ์ให้กับชาวนาต่อไป

ข้าวหอมมะลินั้น แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์จะมีมติให้ใช้ขยายพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2502 แต่กลับพบว่าข้าวหอมมะลิเพิ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อของโลกและติดอันดับแชมป์โลกเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง สาเหตุเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งปลูกได้ดีก็เฉพาะกับพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ทำให้ปริมาณผลผลิตที่ผ่านมาได้น้อยกว่าที่ควร และความต้องการบริโภคในประเทศยังมีสูง ทำให้ปริมาณการส่งออกต่างประเทศไม่มากนัก กระทั่งประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดโลกมีสูงกว่าข้าวชนิดอื่น ไทยจึงเริ่มเปิดตลาดข้าวหอมมะลิในต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ รู้จักข้าวหอมมะลิของไทยอย่างแพร่หลาย

ข้าวหอมมะลินั้นนิยมปลูกเป็นข้าวนาปี เพราะเป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง จะออกดอกในเวลาที่กลางคืนยาวกว่ากลางวันซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาว  ข้าวจะออกดอกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวเดือนตุลาคม ปัจจุบันข้าวหอมมะลิปลูกทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางแถบอีสาน มีประปรายทางภาคเหนือและกลางบ้าง ว่ากันว่าขาวหอมมะลิที่ปลูกในถิ่นอีสานนั้นราคาดีกว่าปลูกที่อื่นๆ 

ประสงค์ สีสะอาด ชาวบ้านหนองบัว อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงจากข้าวพันธุ์พื้นบ้านมาสู่ข้าวที่รัฐแจกให้มาปลูกเมื่อครั้งปีพ.ศ.2514 โดยทางเกษตรอำเภอได้นำข้าวมะลิ105 และ กข.6 มาแจกให้ชาวบ้านคู่กับปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช พร้อมคำแนะนำให้ปลูกข้าวทั้งสองชนิดควบคู่กับการใช้สารเคมีจึงจะได้ผลผลิตดี

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคำของเกษตรอำเภอ ผลผลิตในปีแรกได้ปริมาณเพิ่มมากกว่าพันธุ์พื้นบ้านกว่าเท่าตัว อีกทั้งข้าวยังมีกลิ่นหอม รสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่างหาก ปลูกเท่าไรก็มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปเท่านั้น จนกระทั่งปี 2516 ชาวนาสุรินทร์ที่ปลูกข้าวกข.6 ที่เคยให้ผลผลิตดี มีความหอมในเมล็ดข้าว เริ่มหมดความหอมและแตกกอได้ไม่ดีเท่าเก่า

จึงเริ่มหันมาปลูกข้าวหอมมะลิอย่างจริงจังเพียงอย่างเดียวเมื่อปี 2526 แน่นอนว่ายิ่งข้าวหอมมะลิเป็นที่ต้องการของตลาดมากเท่าไร ชาวนาก็ต้องการพื้นที่ในการเพิ่มผลผลิตของตัวเองมากเท่านั้น จากแต่เดิมที่เคยปลูกข้าวหลากพันธุ์ในที่นาของตัวเอง ก็เริ่มละทิ้งพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมหันมาปลูกข้าวหอมมะลิอย่างเดียวด้วยเหตุผลที่พ่อค้าคนกลางบอกว่า หากมีการปนเปื้อนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านพ่อค้าจะไม่รับซื้อข้าวจากที่นานั้นๆ  ทั้งที่แต่ก่อนชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเหลือนาไว้แปลงสองแปลงเพื่อปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านไว้กินเอง   ตอนแรกข้าวหอมมะลินี่หอมจริงๆ เขาว่าข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดี ทางราชการก็ส่งเสริม เมื่อก่อนเราไม่รู้จักข้าวหอมมะลิ จะปลูกก็แต่ข้าวที่เม็ดเล็กกว่า ข้าวเม็ดใหญ่นี่เราเรียกว่าข้าวส้อย เม็ดจะคล้ายกับข้าวมะลิ แต่ก้นจะแหลมกว่ากันนิดหนึ่ง... สมบัติ ต่อสุขชาวบ้านหนองบัว เล่าย้อนถึงเริ่มแรกในการปลูกข้าวหอมมะลิ

ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากการทำนาที่ไม่เคยมีต้นทุนมากมาย บัดนี้ชาวนาสุรินทร์เริ่มต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีชนิดต่างๆ รถไถนา การจ้างวานแรงงาน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่มีเงินค่าจ้างแรงงาน และซื้อเมล็ดพันธุ์ก็เริ่มกู่หนียืมสิน เพื่อมาลงที่นาของตัวเอง ต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ ทำให้ชาวนาไม่สามารถควบคุมการผลิตและพึ่งพิงตัวเองได้น้อยลงไปทุกที

ชาวนาบางคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาของการทำนา และรวมเป็นกลุ่มเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรทางเลือกสุรินทร์  เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบเกษตรร่วมกับพี่น้องเกษตรกรรายย่อย ในการค้นหาทางเลือกในการทำเกษตรยั่งยืน และเริ่มตระหนักถึงวิถีชีวิตครั้งก่อนของคนรุ่นพ่อแม่ตัวเอง ว่ามีวิถีการทำนาเช่นไร จึงเริ่มหันกลับมารวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่แต่ละครอบครัวมีอยู่ โดยพบว่ามีเพียง 25 ชนิดแบ่งเป็นข้าวจ้าว 13 ชนิดและข้าวเหนียว 12 ชนิด ทั้งที่ในสุรินทร์เองเคยมีการสำรวจว่ามีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอยู่ถึง 177 ชนิด

งานวิจัยพันธุกรรมท้องถิ่นชุดนี้ได้ทำการศึกษาชุมชนที่แตกต่างทางเชื้อชาติสามหมู่บ้านคือชุมชนลาวที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าตูม,ชุมชนเขมรที่ตำบลทมอ อำเภอปราสาทและชุมชนกูยที่บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง กิ่งอำเภอศรีณรงค์  ด้วยมีความเชื่อว่า ข้าวคือสายธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของหมู่บ้านให้ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางสังคม ทางศาสนา ต่างก็มีข้าวเป็นรากฐานทั้งสิ้น

และทุกกิจกรรมเหล่านี้ ได้สร้างระบบความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นและกลมเกลียวกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการจัดการแรงงานของชุมชนโดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดหนี้สิน และเพราะชาวนาทุกคนเห็นว่า พันธุกรรมท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นบ้านนั้นไม่ใช่ตัวสินค้าแต่เป็นคุณค่าของชุมชน เพราะมีความสำคัญทั้งคนและสัตว์ในชุมชนอย่างแท้จริง

พันธุ์พื้นบ้าน...หนทางที่ยั่งยืน
ที่บ้านหนองบัวส่วนใหญ่เป็นคนไทเชื้อสายลาว ชาวบ้านอาวุโสเล่าว่าพวกเขาอพยพมาจากกุดปลาเค้า จังหวัดเลยตังแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สมัยก่อนไม่ว่าจะอพยพไปที่ใด ชาวบ้านจะต้องนำพันธุ์ข้าวติดตัวไปด้วยเสมอ เช่นคนบ้านหนองบัวก็หอบหิ้วพันธุ์ข้าวม๊วยดำ ม๊วยแดงซึ่งเป็นข้าวเหนียวติดตัวมาด้วย
แม่หวา เห็นงามวัยกว่า 70 ปีเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ชาวบ้านหนองบัวจะหันมากินข้าวจ้าว พวกเขากินข้าวเหนียวพันธุ์ม๊วยดำ ม๊วยแดงนี้มาก่อน เพราะข้าวที่วานี้มีกลิ่นหอมให้เมล็ดออกสีม่วงอ่อน  เดิมจะปลูกเป็นข้าวไร่ หยอดเมล็ดลงไปหลุมละ 2 3 เม็ด พอต้นข้าวเติบโต จะแตกออกเป็นกอ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พันธุ์ข้าวที่ว่านี้สูญไปจากหมู่บ้านนี้มากว่า 30 ปีแล้ว เหตุก็เพราะชาวบ้านหนองบัวส่วนใหญ่หันมาปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อจำหน่ายแทน

และด้วยเหตุที่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่ลูกหลานกันไปปลูกข้าวหอมมะลิกันทั้งหมด ต้องกินข้าวพันธุ์ใหม่ที่ไม่คุ้นลิ้น จึงมีเหตุให้ผิดสะบูนแถลงโรค ครั่นเนื้อครั่นตัว ขนาดเป็นไข้ บางรายล้มหมอนนอนเสื่อกันก็มี  จึงทำให้หลายบ้านหันกลับมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ยังพอหลงเหลือไว้ให้คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัวได้กิน
....เมื่อก่อนเรามีข้าวดองเดียว ข้าวบองกษัตริย์ พวกนี้จะเป็นข้าวเม็ดเล็ก นอกนั้นจะปลูกข้าวห้าว ข้าวสมันหรือที่เรียกกันว่านางร้อยแดง และยังมีข้าวเหลืองทอง อีกด้วย...สมบัติ ต่อสุข เล่าถึงพันธุ์ข้าวที่เขาเคยปลูก

ข้าวบองกษัติรย์มีขนาดเมล็ดยาวปานกลาง เปลือกหุ้มสีน้ำตาลเหลือง เป็นข้าวที่หุงได้ขึ้นหม้อเพราะมีเมล็ดที่ค่อนข้างร่วนและแข็ง ส่วนข้าวสมันหรือนางร้อยแดงนั้น จะมียางเยอะ เวลาที่นำข้าวเปลือกไปขัดแล้วจะยังมีสีแดงติดอยู่ที่เมล็ด เวลาหุงเมล็ดข้าวจะมีสีแดง ข้าวนางร้อยแดงนี้จัดเป็นข้าวหนัก รวงข้าวจะถี่ไม่ขยายรวงออก ข้าวอีกชนิดหนึ่งที่คนบ้านหนองบัวยังปลูกอยู่คือ ข้าวห้าวซึ่งป็นข้าวเหนียว จะปลูกในเดือนเจ็ด เมล็ดข้าวจะใหญ่กว่านางร้อยแดง ขนที่เปลือกก็เยอะแต่เวลาโดนตัวแล้วไม่คัน อีกพันธุ์หนึ่งเป็นที่นิยมคือข้าวเหลืองทองหรือข้าวส้อยเป็นข้าวที่ออกรวงเร็วประมาณสามเดือนก็ให้รวงข้าวแล้วจึงจัดว่าข้าวเหลืองทองนี้เป็นข้าวเบา

ข้าวต่างๆ ที่ว่ามานี้ต่างก็เป็นข้าวที่ไม่ค่อยชอบน้ำเท่าไร เพราะถือเป็นข้าวไร่ที่ไม่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโต และจะตายหากในนามีน้ำขังอยู่นาน ขณะเดียวกันข้าวเหล่านี้ก็ต้องการความชุ่มชื้นของดินเหมือนกับพืชไร่

ที่ชุมชนเขมรในตำบลทมอ ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังนิยมปลูกข้าวพื้นบ้าน โดยเฉพาะข้าวที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ลุ่มมีน้ำลึก พันธุ์ที่ยังปลูกกันอยู่ได้แก่ ข้างเหลืองอ่อน ข้าวตากแห้ง ข้าวลอย และข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ราบคือข้าวปังแอว
ข้าวเหลืองอ่อนมีเมล็ดที่ใหญ่และแบน สีเปลือกข้าวจะเหลืองอมขาวมีขนแต่ไม่ร่วงง่าย เวลาหุงจะขึ้นหม้อดีเวลากินจะไม่ทิ้งไว้ให้เย็นเพราะข้าวจะแข็งกินไม่อร่อยลิ้น
นอกจากนั้นยังมีข้าวที่ปลูกตามความเชื่อคือ ข้าวเนียงกวงที่ถือเป็นพันธุ์ข้าวมงคล เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะความหมาย เนียงในภาษาเขมรแปลว่า ผู้หญิง เนียงในความหมายของข้าวก็คือแม่โพสพผู้รักษาข้าว คำว่ากวงหมายถึง คงอยู่ ยืนยาว ไม่มีวันสูญหาย ไม่หมดสิ้น เนียงกวงจึงหมายถึงข้าวที่คงอยู่ไม่มีวันหมดวันสิ้น  ชาวเขมรจึงนิยมนำข้าวเนียงกวงไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น ในงานแต่งงาน หรือใส่ในหลุมเสาตอนปลูกบ้านใหม่ ครั้งเอาข้าวขึ้นเล้าก็ต้องใช้ข้าวตระกูลเนียงเพื่อความมั่นใจว่าจะมีข้าวกินตลอดปี ข้าวตระกูลเนียงกวงที่ใช้ในพิธีกรรมนั้นจะเป็นชนิดไหนก็ได้ ขอเพียงให้อยู่ในตระกูลนี้ เพราะ
ข้าวตระกูลเนียงกวงเป็นข้าวจ้าว มีอยู่หลายเนียงกวงหลายลักษณะ เช่น เนียงกวงซอจะมีเมล็ดเล็กอ้วน เนียงกวงกาสะนู รวงจะแดงแกมม่วง เนียงกวงละอองกะสัดจะมีเปลือกบางน้ำหนักดี ได้ข้าวสารมากกว่าข้าวพันธุ์อื่นในปริมาณข้าวเปลือกที่เท่ากัน เนียงกวงโกนขะมุม เมล็ดเล็กสีแดงคนลาวจะเรียกว่าข้าวลูกผึ้ง

ส่วนที่ตำบลกุดหวายซึ่งเป็นคนกูย ยังคงรักษาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้ได้พอสมควร เช่นข้าวแล้วหนี้ ข้าวอีเกิ้ง ข้าวพวงซึ่งเป็นข้าวเหนียว ข้าวนางร้อยหนัก ข้าวนางร้อยเบา ข้าวจ้าวดำ ข้าวนางสะอาด
ส่วนข้าวเนียงกวงก็นิยมปลูกไว้เช่นกัน ด้วยมีความเชื่อว่าในงานมงคลใดๆ หากใช้พันธุ์ข้าวเนียงกวงไม่ว่าพันธุ์ไหนก็จะทำให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง

การเก็บรักษาพันธุ์ของชาวบ้านที่มีมาหลายชั่วอายุคนนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีคัดเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก โดยฝัดเอาเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก และแช่น้ำไว้ เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะลอยขึ้นค่อยกวาดทิ้งไป และเมื่อปลูกข้าวกระทั่งออกรวงก็จะคัดเอารวงที่สมบูรณ์แยกมาตากและสีเก็บไว้ทำพันธุ์ ส่วนมากชาวบ้านจะใช้วิธีเดินไปตรงกลางแปลงนาเพื่อเก็บรวงตรงช่วงกลางนาเพื่อกันไม่ให้พันธุ์อื่นลอยมาปนเปื้อนได้ เมื่อได้รวงข้าวมาแล้ว นำมาตากแดด 3 5 แดด แล้วฟาดด้วยมือและฝัดเอาเมล็ดลีบออกค่อยเก็บใส่กระสอบแยกเอาไว้เพื่อเป็นเชื้อพันธุ์ต่อไป...

ข้าวกับพิธีกรรม
ที่สุรินทร์มีความเชื่อว่าหากใครปลูกข้าวจ้าวกับข้าวเหนียวติดต่อกันหรือปลูกข้าวเหนียวไว้ตรงกลางแปลงนา ถือว่ามันจะเสียบแทงจะทำให้คนปลูกตาบอด หากใครมีที่ดินน้อย ต้องปลูกไว้ในแปลงเดียวกัน ก็ต้องเว้นตรงกลางให้ห่างจากกันการเก็บเกี่ยวก็ต้องเก็บแยกจากกัน

ก่อนจะลงนา ชาวสุรินทร์เชื่อว่าต้องทำพิธีไหว้ตาแฮกก่อน เครื่องเซ่นไหว้ประกอบไปด้วย ไก่ต้ม หมากพลู ของคาวหวาน ผ้าซิ่นไหม ผ้าขาวม้าไหม ธูปเทียน ทองคำเปลว  พิธีไหว้ปู่ตาแฮกนี้ก็คือการเสี่ยงทางว่าฝนจะดีหรือไม่

การทำนายเริ่มจากการนำเอาแอกใส่คอควายแล้วสังเกตดูอาการควายโดยจะเลือกเอาควายตัวที่เชื่องที่สุด โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ทำพิธีด้วยการจับคันไถนา ถ้าควายเดินเร็วจนเกือบวิ่งถือว่าต้นปีนั้นฝนลมจะแรง หากควายเดินช้าก็ว่าฝนจะน้อย ถ้าควายเดินปกติและถ่ายมูลไปด้วยถือว่าปีนั้นน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าควายร้องไห้ เขาว่าปีนั้นน้ำจะแล้ง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีไหว้ตาแฮก ชาวนาก็จะเริ่มต้นไถดะ ไถพรวนและเตรียมหว่านกล้า

ก่อนลงปักดำนา ยังมีพิธี เอามื้อ เพื่อบอกกล่าวแก่ปู่ตาแฮก แม่โพสพ แม่ธรณี ว่าจะเริ่มลงทำนาแล้ว เครื่องเซ่นไหว้ประกอบไปด้วย ต้นอ้อย ต้นกล้วย หมากพลู อาหารคาวหวาน  ในช่วงบุญข้าวสารทเป็นช่วงที่ข้าวกำลังงามจะมีการทำบุญไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและอุทิศส่วนกุศลให้กับสรรพสิ่งทั้งหลาย หลังจากตักบาตรรเสร็จจะมีการเลี้ยงสารทใหญ่ เมื่อเสร็จพิธีทำบุญจะนำเอาใบตองที่ได้จากวัดไปวางไว้ตามไร่นา บอกกล่าวแก่ปู่ตาแฮก  แม่ธรณีว่าแม่โพสพได้ตั้งท้องแล้ว พิธีนี้เรียกในภาษาเขมรว่างาน แซนโดนตา
ช่วงที่จะเก็บเกี่ยวข้าวจะมีพิธี เอามื้อ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอบคุณปู่ตาแฮก แม่โพสพและแม่ธรณีที่ได้มอบธัญญาหารให้แก่ชาวนาและบอกกล่าวเพื่อไม่ให้ตกใจว่าลูกหลานจะมาเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปจากท้องนา

เสียลาน เป็นช่วงเวลาที่ทำลานสำหรับนวดข้าว ลานที่ทำขึ้นจะใช้มูลวัวมูลควาย มาทาดินแล้วปล่อยทิ้งไว้สามวัน ก่อนจะนำข้าวมาขึ้นลานนั้นต้องหาฤกษ์ก่อน คือ ทำพิธีเชิญแม่โพสพเข้าลาน เครื่องเชิญประกอบไปด้วยหมากพลู ไปวางไว้ที่กลางลาน  จากนั้นค่อยนำข้าวไปกองไว้ที่กลางลานเพื่อจะหาฤกษ์นวดข้าวอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อได้ฤกษ์ดีหัวหน้าครอบครัวก็ต้องเป็นคนนวดข้าวก่อนสามมัด ถือว่าดี นอกจากนั้นยังต้องบอกกล่าวแก่แม่โพสพไม่ให้ตกใจว่าลูกหลานกำลังนวดข้าวและยังบอกกล่าวแก่แม่ธรณีให้ช่วยนำข้าวส่วนที่กระจายหายไปมารวมกัน จากนั้นทิ้งข้าวไว้ที่ลานสามวัน หลังจากนั้นค่อยมาลงแขกนำข้าวขึ้นเล้า ก็ต้องหาฤกษ์ดีเพื่ออัญเชิญแม่โพสพขึ้นไปด้วยเครื่องเชิญประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ธูปเทียน  จากนั้นก็ห้ามตักข้าวจนกว่าจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนั้นต้องหาเวลาไปขอขมาปู่ตาแฮกเพื่อขอบคุณและบอกกล่าวว่าลูกหลานทำนาเสร็จแล้ว
พิธีทำขวัญข้าวจะทำกันในวันเฑ็ญเดือนสาม เครื่องในพิธีมี กล้วย อ้อย ขนมข้าวต้ม ไข่ เหล้าขาว แป้งหอม กระจก หวี เผือกต้ม มันต้ม ข้าวเหนียวหรือข้าวจ้าว 1 ปั้น  หลังจากทำขวัญข้าวแล้วสามวัน จึงนำข้าวไปสีได้ ข้อห้ามในวันนี้ก็คือห้ามขายข้าวและห้ามแลกเปลี่ยนข้าว

จะเห็นได้ว่ากระบวนการทำนาแบบดั้งเดิมนั้นมีขั้นตอนที่เป็นไปตามธรรมชาติและฤดูกาล อีกทั้งพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่ เมื่อจะปลูกก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีใด เพราะโดยธรรมชาติของพันธุ์นั้น แข็งแกร่งและเหมาะกับดินในแต่ละพื้นที่ดีอยู่แล้ว เรื่องราวเหล่านี้ชาวบ้านรู้ได้โดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมสืบทอดกันมาแต่โบราณ 

การทำนาเช่นนี้ดำเนินไปด้วยความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อตามวัฒนธรรมพื้นบ้านและวัตถุประสงค์ในการทำนาก็เพื่อเก็บไว้กิน ไม่ใช่ทำเพื่อขาย  ด้วยเหตุนี้การทำนาแบบพื้นบ้านของไทยเราจึงเป็นการทำนาที่ไม่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศน์ ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง และที่สำคัญตั้งอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่ไม่เอารัดเอาเปรียบทั้งธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์

เอกสารอ้างอิง
ภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์   นพวรรณ สิริเวชกุล สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์
ข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน  จิตติมา ผลเสวก ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบท
เมล็ดพันธุ์สัญจร  การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน กรณีศึกษานายประสงค์ สีสะอาด ; จิราวรรณ ชุมศรี
จากยอดห้วยถึงบุญบึง สิทธิอำนาจและระบบการจัดการทรัพยากรพื้นบ้านของชุมชนชาวนาลุ่มน้ำชี ; สุริยา สมุทคุปติ์
วัฒนธรรมข้าวและพลังอำนาจชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ; รศ.วิมล ดำศรี
ข้าวกับวิถีชีวิตไทย เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องวัฒนธรรมข้าวในสังคมไทย ; สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น