6/14/2557

เสียงหัวใจกระซิบที่เมืองงอย


 
เขียน นพวรรณ สิริเวชกุล
ภาพโดย มงคล เปลี่ยนบางช้าง





 


 


สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งแรกเชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายกับพระนครเวียงจันทน์ มีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๒๐ ปีไปเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนปีนี้  บริเวณหาดทรายจอมมณี ถือเป็นสะพานที่เชื่อมมิตรภาพไทยลาวให้กลับมาแน่นแฟ้นดังเดิมหลังห่างเหินกันไปนับตั้งแต่ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในประเทศของตัวครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยการสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยยึดหลักการปกครองแบบสังคมนิยม
กระทั่งปี ๒๕๓๕ ประธานประเทศลาว นายไกสอน พรมวิหารเสียชีวิต นายหนูฮัก พูมสะหวันขึ้นดำรงตำแหน่งแทน การจำกัดเสรีภาพในลาวค่อยๆ ถูกยกเลิก ชาวลาวที่ลี้ภัยหรืออพยพไปอยู่ต่างแดนได้รับการเชื้อเชิญให้กลับบ้าน ลาวเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น รวมทั้งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศไทยด้วย นับแต่นั้นเราจะเห็นข่าวการเข้าไปทำธุรกิจต่างๆของคนไทยในเมืองลาวอยู่เสมอ รวมทั้งการท่องเที่ยวลาวที่เปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ลาวยังมีธรรมชาติที่สวยงามมากมาย อีกทั้งเสน่ห์ที่พาให้ใครต่อใครหลงใหลและพากันไปสัมผัสความสวยงามและความเป็นพื้นถิ่นเหล่านั้นของลาว เช่นที่นี่ เมืองงอย เมืองเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในแขวงหลวงพระบาง เมืองที่กระแสไฟฟ้าและการสัญจรทางบกเพิ่งเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้หนทางเดียวที่ใช้ติดต่อกับผู้คนคือเส้นทางน้ำอูที่ล่องขึ้นไปจนสุดแดนลาว ซึ่งแท้แล้ว สายน้ำอูนี้ถือเป็นเส้นทางการค้ามาแต่อดีตทีเดียว ด้วยว่าต้นกำเนิดของมันอยู่ในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
แม่น้ำอูเคยถูกนักมานุษยวิทยาชื่อดังอย่างแอนดรู วอร์คเกอร์ เมื่อครั้งที่เขาทำวิจัยระดับปริญญาเอกในเรื่องเส้นทางการค้าระหว่างไทยตอนเหนือ ลาวตอนเหนือและจีนตอนใต้เมื่อ ๑๒ ปีก่อน ได้บันทึกไว้ว่า...”แม่น้ำอูและแม่น้ำดำในเวียดนามเป็นเส้นทางคมนาคมเส้นทางหนึ่งที่มีความสำคัญในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างลาวเหนือกับฮานอยมาตั้งแต่ครั้งที่ฝรั่งเศสยังเรืองอำนาจในอินโดจีน ราวทศวรรษ ๑๘๙๐ พ่อค้าชาวฝรั่งเศสได้ใช้เส้นทางน้ำสายนี้ส่งสินค้าจากเวียดนามไปยังเมืองหลวงพระบาง....”

เมืองงอยจึงถือเป็นทางผ่านและที่พักแรมของนักเดินเรือสินค้ามาตั้งแต่อดีต เหตุก็เพราะเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองขัว แขวงพงสาลีชายแดนลาว - เวียดนามและไหลลงไปสุดทางที่เมืองปากอูแขวงหลวงพระบางบริเวณถ้ำติ่งจุดบรรจบระหว่างน้ำอูกับน้ำโขง

ในหมู่นักท่องเที่ยวที่นิยมการเที่ยวเชิงนิเวศน์  เมืองงอยจัดเป็นเมืองที่มีผู้คนกล่าวถึงมากที่สุดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเดินทางชาวตะวันตกที่ตื่นตาตื่นใจกับเมืองที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เพราะนอกจากความเงียบสงบแล้ว ที่นี่ยังหาคลื่นโทรศัพท์ได้ยากเต็มที อินเตอร์เนทไม่ต้องพูดถึงเพราะโทรทัศน์ก็แทบจะมีนับบ้านกันได้ ไฟฟ้าใช้ระบบปั่นไฟและทั้งเมืองจะเงียบสนิทเมื่อเวลาสามทุ่ม! ใครอยากสัมผัสความเป็นอยู่ของคนลาวแท้ๆ ต้องมาเยือนที่นี่...แต่ทุกวันนี้ เมืองงอย ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เสาไฟฟ้าที่นำพาความสว่างไสวเข้ามาในหมู่บ้านเมื่อแปดเดือนก่อนสะพานเชื่อมระหว่างเมืองหนองเขียวกับเมืองงอยเก่าหรือเมืองงอยเหนือ พาให้รถยนต์เข้าไปถึงหมู่บ้านได้แล้ว แต่เสน่ห์ของการล่องน้ำอูเพื่อไปถึงเมืองงอยก็ยังตรึงใจนักท่องเที่ยวอยู่เช่นเดิม
จากเมืองหลวงพระบางวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวคือซื้อตั๋วโดยสารจากที่พัก และตื่นแต่เช้าเพื่อออกเดินทางไปยังเมืองหนองเขียวใช้เวลาเดินทางประมาณสามชั่วโมงเศษ  ส่วนการเดินทางไปเมืองงอยด้วยวิธีล่องเรือตามสายน้ำอูจะดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะเราจะได้ชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติและบรรยากาศของแม่น้ำอูใช้เวลาล่องไปถึงเมืองงอยเก่าอีกร่วมสองชั่วโมง
ราวกับเจ้าของเฮือนพักจะรู้เวลา ต่างมายืนรอเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนเข้าพักในเฮือนของตน ที่นี่มีเฮือนพักหลากหลายรูปแบบ เราสามารถเลือกได้ตามอัธยาศัยและกำลังทรัพย์ มีทั้งแบบบ้านพักเป็นหลัง แบบห้องพักอยู่รวมกับคนในบ้าน หรือบางที่ ปลูกเฮือนพักไว้ติดริมน้ำ ทางเข้าออกที่พักอยู่รวมกับชาวบ้านให้บรรยากาศเหมือนเราได้อยู่ร่วมหมู่บ้านกับชาวเมืองงอย
เราเดินตามคำเชื้อเชิญของสาวนางหนึ่งไปยังเฮือนพักของเธอซึ่งอยู่ติดริมน้ำอู มีน้ำงอยสายเล็กๆ คั่นขนานไปกับที่พัก เจ้าของที่พักเล่าว่าฤดูน้ำหลาก น้ำงอยกับน้ำอูจะสูงท่วมกันกระทั่งถึงบริเวณเฮือนพักของเธอทีเดียว จากหน้าบ้านพักเรามองเห็นตะวันลับเหลี่ยมเขาพอดี เมื่อได้ที่พักแล้วเราก็เริ่มออกสำรวจรอบๆ หมู่บ้าน เหตุที่เรียกเมืองงอยเก่าเพราะมีการย้ายเมืองออกไปสร้างใหม่ในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงเรียกบ้านเก่าและบ้านใหม่เพื่อกันการสับสน
แรกที่ตัดสินใจมาเมืองงอย ฉันแทบไม่รู้อะไรเลย ข้อมูลพื้นฐานเพียงแค่เป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ คล้ายเมืองปาย แม่ฮ่องสอนของบ้านเราเมื่อยี่สิบปีก่อน เมื่อมาถึงก็ไม่ผิดหวังเมืองงอยยังคงบรรยากาศใสๆ ให้ได้สัมผัสจริงๆ
เสียงพระสวดทำวัตรเย็นดังแว่วทั่วหมู่บ้าน เราเดินไปตามเสียงจึงเห็นสามเณรน้อยนั่งสวดมนต์ทำวัตรเย็นกันอย่างพร้อมเพรียงอยู่ในวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดอากาด มารู้ทีหลังว่าเป็นที่ประดิษฐานของพระคำ ที่ชาวเมืองงอยศรัทธามากและเชื่อว่าองค์พระนั้นศักดิ์สิทธิ์ใครขอพรสิ่งใดมักได้ดังหวัง
ทุกเช้าตรงสี่แยกหัวมุมของหมู่บ้านนอกจากเป็นเฮือนพักนักเดินทางแล้ว ยังมีอาหารเช้าบุฟเฟต์สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้บริการสำหรับทุกคน ที่นี่นอกจากอาหารเช้าแล้วยังมีอาหารเย็นเปิดให้บริการด้วยเพียงแต่เวลาอาหารเย็นจะเป็นเวลาของตะวันตกไปสักนิดคือเริ่มตั้งแต่หนึ่งทุ่มไปจนถึงสามทุ่มของทุกวัน
หลายคนคงเคยไปเยือนวังเวียงของลาวกันมาบ้าง ถามว่าที่นี่มีอะไรที่คล้ายไหม ตอบได้เลยว่าไม่ อาจเป็นเพราะชุมชนที่นี่เข้มแข็ง มีป้ายปิดประกาศเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะถึงกฎของการมาเยือน ถ้อยความในใบประกาศนั้นสื่อให้รู้ว่า โปรดให้เกียรติชาวเมืองงอย คนที่นี่เป็นชาวนาและชาวประมง เข้านอนกันแต่หัวค่ำและตื่นกันก่อนตะวันขึ้น พวกเขาต้องการความสงบในยามค่ำคืน แม้กระทั่งในเฮือนพักก็จะติดประกาศให้ผู้อาศัยรู้ว่า ทุกคนต้องกลับเข้าที่พักของตัวก่อนเวลาสามทุ่ม
 ใครเคยไปเมืองปายบ้านเราเมื่อยี่สิบปีก่อนคงพอนึกภาพออก หากคุณเกิดหิวในเวลาใกล้สามทุ่มอย่าหวังว่าจะมีร้านไหนเปิดบริการ ที่นี่ก็เช่นกันนักท่องเที่ยวก็ดูจะเคารพกติกาของการมาเยือนอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเราจึงไม่เห็นร้านไหนเปิดเพลงดังหรือเสียงเฮฮาของคนแปลกถิ่น ต่างอยู่กันอย่างเงียบๆ แม้กระทั่งในที่พักของตนเอง
......เมืองงอยในยามค่ำคืนจึงเงียบ..เงียบกระทั่งยินเสียงลมหายใจของตัวเอง.....
 
มาลัยทองเจ้าของเฮือนพักที่ฉันเลือกอาศัยเป็นคนเมืองงอย ชีวิตของเธอน่าสนใจมาก เธอเกิดในถ้ำกางของเมืองงอยเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ ระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองลาว...พ่อของมาลัยทองเป็นพ่อค้าชาวเมืองหลวงพระบางฐานะดี มาตกหลุมรักแม่ของเธอที่เป็นสาวเมืองงอย จึงตัดสินใจมาลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ก่อนจะเกิดสงคราม  เมืองงอยเหนือหรือเมืองงอยเก่าตามชาวบ้านเรียกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่ประมาณ ๗๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นลาวลุ่ม
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมืองงอยนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้างุ้มปกครองอาณาจักรล้านช้าง ชื่อของเมืองนั้นว่ากันว่าเพี้ยนมาจากชื่อ ท้าวกาดวอยเจ้าเมืองในยุคต้นๆ แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านก็เรียกเมืองนี้ว่า เมืองท้าวกาดวอย ต่อมาก็เหลือเพียงเมืองวอยและค่อยเพี้ยนมาเป็นเมืองงอย คำว่างอยแปลว่า ใกล้จะตก
เมืองนี้ถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางทหารมาแต่โบราณสมัยสมัยเจ้าอินต๊ะสม โอรสปฐมกษัตริย์แห่งหลวงพระบาง เมื่อพ.ศ. ๒๒๕๖ ได้มาตั้งทัพของพระองค์ที่เมืองงอยเพื่อรอการโจมตีจากหลานชายตัวเองเจ้าองค์คำผู้ต่อมาภายหลังได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ และเมืองงอยยังเป็นที่ๆ ทั้งสององค์ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการครองบัลลังก์ร่วมกันอีกด้วย ถือได้ว่าเมืองงอยนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญและเป็นเส้นทางลำเลียงพลและยุทธปัจจัยที่สะดวกที่สุดเมื่อเทียบกับทางบก แต่ละฝ่ายจึงพยายามยึดเมืองงอยเป็นฐานที่มั่นให้ได้ หากยึดไม่ได้ก็มักจะทำลายทิ้ง เหมือนเมื่อครั้งเกิดสงครามกลางเมืองในลาวหรือที่เรียกกันว่าสงครามลับ Secret war ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ และจบลงในช่วงปี ๑๙๗๕ (๒๕๑๘) ฝั่งตะวันตกเรียกสงครามเวียดนาม ฝ่ายเวียดนามเรียก สงครามอเมริกา เหตุที่มีลาวเข้าไปพ้องเกี่ยวในช่วงนั้นด้วยก็เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นนอกจากการรบกันในเวียดนามแล้ว ยังเกิดการรบกันที่กัมพูชาเรียกสงครามกลางเมืองกัมพูชาและที่ลาวซึ่งเป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างลาว ๓ ฝ่าย
ย้อนไปอีกสักนิดช่วงที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในระหว่างปีค.ศ.๑๘๙๓ – ๑๙๕๓ (๒๔๓๖-๒๔๙๖) รวมแล้ว ๖๐ ปี ก่อนที่ลาวจะเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสและคาบเกี่ยวกับช่วงแผ่อิทธิพลทางการเมืองของญี่ปุ่น จึงทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนในการเมืองของลาวอยู่ระยะหนึ่งด้วยการยึดอำนาจมาจากฝรั่งเศสและแต่งตั้งให้มีผู้สำเร็จราชการลาวรวมทั้งสนับสนุนให้เจ้าเพชรราชขึ้นปกครอง ลาวในขณะนั้นแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายของเจ้าเพชรราช มีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้ช่วยเหลือ , ฝ่ายพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ได้รับความช่วยเหลือจากเวียดมินห์ และฝ่ายเจ้าสุภานุวงศ์
 หลังจากนั้นในปี ๑๙๕๔(๒๔๙๗) มีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นในลาว หลังจากประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี ๑๙๔๗(๒๔๙๐) แต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของลาวก็ยังไม่สิ้นสุด เมืองหลวงพระบางเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตและเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง เกิดการแย่งชิงอำนาจมีความแตกแยกทางการเมืองระหว่างขบวนการปเทดลาวที่นิยมคอมมิวนิสต์กับฝ่ายรัฐบาล
 สงครามกลางเมืองในลาวทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในลาว ได้พยายามให้มีการเปิดเจรจาหลายครั้ง สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยสนับสนุนในนามของการพิทักษ์ลาวให้รอดพ้นจากลัทธิสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์  ซึ่งมีฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านคือเวียดนาม ในช่วงเวลานั้นเองที่คนลาวบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและแตกแยกในแผ่นดิน
คนเมืองงอยก็พลอยได้รับผลกระทบกับสงครามนี้ไปด้วย เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแห่งนี้กลายเป็นจุดที่กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดหนักที่สุด กล่าวกันว่าในสงครามลับหรือ Secret war ครั้งนี้มีการทิ้งระเบิดลงกว่าล้านลูกทีเดียว และเหมือนจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ชาวบ้านในเวลานั้นสามารถเอาตัวรอด ยังชีพอยู่ได้ด้วยการหนีไปหลบในถ้ำอยู่เป็นเวลาเกือบสิบปีทีเดียว
มาลัยทองเล่าว่าเธอและพี่สาวรวมทั้งน้องสาวเกิดและเติบโตมีวัยเด็กในถ้ำกาง ระหว่างสงครามทุกคนในหมู่บ้านต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในถ้ำ ที่เมืองงอยมีถ้ำอยู่สองแห่งคือถ้ำกางและถ้ำพระแก้ว  กลางวันพวกเขาต้องใช้ชีวิตให้เงียบที่สุดเสมือนไม่มีตัวตนเพื่อไม่ให้ใครจับได้ เสียงทิ้งระเบิดตลอดเวลานับตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงตะวันลับฟ้าเป็นเช่นนี้นานนับเดือน...นับปี...
ชาวบ้านอยู่ด้วยความหวาดผวา ไร้อนาคต พวกเขามองไม่เห็นหนทางข้างหน้า มีชีวิตหลบซ่อนในถ้ำหาอยู่หากินอย่างแร้นแค้น ตกกลางคืนลอบออกมาทำนาหาอาหารในป่า เพื่อสะสมเสบียงไว้กินกันตาย หลายคนรู้สึกอับจนหนทางจึงหาทางออกด้วยการดื่มสุรา เพื่อคลายความเครียด ใครที่พอมีทรัพย์สินก็ต้องเร่ออกมาแลกกับอาหารที่หาได้น้อยเหลือเกินในยามนั้น
ชีวิตที่ยากเข็ญนี้ได้รับการปลดปล่อยเมื่อปี ๑๙๗๕ (๒๕๑๘) เมื่อขบวนการปเทดลาวมีอำนาจเข้มแข็งเต็มที่ และเข้ายึดอำนาจการปกครองและเรียกชื่อประเทศใหม่อย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
ชาวเมืองงอยจึงกลับเข้าหมู่บ้าน ได้มองเห็นแสงตะวันเต็มตา ได้ใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติในเวลากลางวัน พวกเขาเริ่มต้นซ่อมแซมบ้านและฟื้นฟูไร่นาของตัวเองครั้งใหญ่ มาลัยทองเองออกจากถ้ำมาอยู่ที่บ้านเมื่อเธอมีอายุ ๗ ปี พ่อของเธอส่งให้ไปอยู่กับญาติที่เมืองหลวงพระบางเพื่อให้เรียนหนังสือ หลังจากนั้นเธอสำเร็จวิชาชีพพยาบาลและได้เป็นนางพยาบาลอยู่ที่นครเวียงจันทน์และพบรักกับนายแพทย์หนุ่มก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน มีลูกชายด้วยกันสองคน หลายปีที่ใช้ชีวิตอยู่เวียงจันทน์ มาลัยทองคิดอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ที่ชราลงทุกวัน เธอจึงลาออกจากอาชีพพยาบาลกลับมาดูแลพ่อแม่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะจากโลกนี้ไปหลังจากที่เธอกลับมาดูแลได้ไม่กี่ปี
หลังจากนั้นมาลัยทองและน้องสาวจึงเริ่มเปิดเฮือนพักเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งทุกวันนี้เธอมีความสุขกับการได้ต้อนรับคนแปลกหน้าที่เข้ามาเยี่ยมยามเมืองงอยไม่ได้ขาด ทั้งชาวตะวันตก ทั้งชาวเอเชีย
.....จากการเดินทางที่ปราศจากความหมาย อะไรบางอย่างทำให้ฉันได้มาพบกับเธอ มาลัยทอง....
.....เมืองงอย เมืองเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ แต่กลับให้อะไรฉันมากมาย…..
บางครั้งการเดินทางโดยปราศจากจุดหมาย ก็ทำให้ได้เรื่องราวดีๆ เพื่อเติมพลังให้แก่ชีวิตเราได้เหมือนกัน....

ทุกวันนี้เมืองงอย ยังเป็นเมืองเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติและผู้คน ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากแดนไกลให้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของพวกเขา หากใครคิดจะหาที่เงียบๆ นั่งฟังเสียงลมหายใจของตัวเอง อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ  เรียนรู้และเฝ้ามองผู้คนทั้งคนพื้นถิ่นและอาคันตุกะแปลกหน้าที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเข้ามามิได้ขาด ที่นี่เหมาะยิ่งนัก

นอกจากถ้ำกาง  ถ้ำพระแก้วที่อยู่ในเขาหินปูน สถานที่อันเต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่าของคนเมืองงอยแล้ว ทริปเดินเท้าจากหมู่บ้านไปยังถ้ำกางนั้น ยังสามารถเดินต่อไปยังบ้านนา และหมู่บ้านอีกสองกลุ่มที่เป็นลาวลุ่มและขมุได้อีกด้วย
หากใครนึกสนุกอย่างผจญภัยทางน้ำ ที่นี่มีทั้งพายเรือคายัค และทริปนั่งเรือประมงของชาวบ้านออกไปจับปลา เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงน้ำจืด มองเห็นภาพชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำอู เพียงแค่นี้ เมืองงอยก็เต็มไปด้วยสีสันชีวิตอย่างล้นเหลือแล้ว
ก่อนกลับมาลัยทองชวนฉันดื่มกาแฟ พร้อมชวนให้กลับมาเมืองงอยอีกครั้งในช่วงเดือนแปด เธอบอกว่าที่นี่มีกุ้งเลี้ยงธรรมชาติที่แสนอร่อย อร่อยถึงขนาดคนลาวจากที่อื่นๆ ยังต้องดั้นด้นมากินกุ้งเมืองงอยกันเลยทีเดียว  ฉันรับคำชวนนั้นของเธอก่อนจากมา...ฉันนึกถึงเธอ มาลัยทอง ผู้หญิงที่ผ่านความทุกข์ยาก ผ่านความหวาดกลัว ผ่านความอดอยาก เธอผ่านมันมาหมดแล้ว ทุกวันนี้ เธอมีชีวิตที่อบอุ่นกับสามีและลูก มีกิจการเฮือนพักคอยต้อนรับผู้คน อันเป็นเหตุให้ ‘เรา’ ได้รู้จักกัน.....
 
แม่น้ำอูไหลเอื่อยๆ เบื้องหน้า ทำให้ความรุ่มร้อนภายในใจคลายตัวลงได้อย่างประหลาด แม้ตะวันจะแผดแสงจ้าแต่เรายังมีสายน้ำที่ให้ความฉ่ำเย็น สองสิ่งนี้เหมือนดังชีวิตคนเรา ที่มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ เคล้ากันไป..ดั่งสายน้ำอูในยามเที่ยงวันเช่นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น