5/26/2555

อิกคิวซัง


อิกคิวซัง
โดย นพวรรณสิริเวชกุล
 เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.manager.co.th / multimedia / 2552 



.....คนเรามีกิเลสไม่รู้จบสิ้น ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง และชีวิต ทำให้คนเราเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ได้มากขึ้น แต่คนที่ไม่รู้จักความพอเพียงนี่แหละเป็นคนที่มีความทุกข์ยิ่งกว่าใคร ไม่ว่าจะแต่งกายประดับประดาหรูหราสักแค่ไหน กินอาหารอร่อยจนอิ่มท้องสักเพียงใด จิตใจก็เป็นเพียง คนตาบอดผู้กระหาย เท่านั้น...
นี่เป็นความตอนหนึ่งจากหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริง ที่เขียนโดยมาซาโอะ โคเงรุ และแปลเป็นภาษาไทยโดยพรอนงค์ นิยมค้า ค่ะ

หลายคนคงเคยชมภาพยนตร์การ์ตูนอิกคิวซังกันมาบ้างนะคะ ซ้ำปัจจุบันนี้ยังนำกลับมาฉายใหม่ให้ได้ดูกันอีกด้วย หลายคนที่ชมอิกคิวซัง คงติดใจในความน่ารักและชาญฉลาดของตัวการ์ตูนตัวนี้ และเชื่อว่าหลายคนคงทราบว่า อิกคิวซังนั้น มีตัวตนจริง เผลอๆ อาจเคยไปเยือนวัดที่อิกคิวซังเคยจำวัดอยู่แล้วด้วยนะคะ

ดิฉันหยิบหนังสืออิกคิวซัง ตัวจริงขึ้นมาอ่านหลังจากเก็บไว้หลายปี หนังสือที่ว่านี้เป็นหนังสือภายใต้โครงการคันฉ่องส่องญี่ปุ่นค่ะ (Japanese Mirrors)  หนังสือในโครงการนี้มีหลายเล่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องราวของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอนักสู้ โนกุจิ ฮิเดโยะ หรือ หนังสือชีวประวัติของนักเขียนอย่าง มิยาซาวะ เคนจิ ค่ะ

สำหรับหนังสืออิกคิวซังเล่มนี้ เป็นชีวประวัติของพระเถระในนิกายเซนที่มีชื่อเสียงที่สุด ส่วนใหญ่เรามักจะเรียกท่านว่า เณรน้อยเจ้าปัญญา อิกคิวซัง  สมญานามที่แท้จริงของท่านก็คือ อิกคิวโซจุนหรือ
อิกคิวเซนจิ ค่ะ

ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าอิกคิวซังเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1394 โดยนามแรกเกิดว่า เซนงิกุมารุ  มารดาของเซนงิกุมารุคือ เจ้าหญิงเทรุโกะ ธิดาของฟุจิวาระ โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าจอมอิโยะแห่งจักรพรรดิโกะโคะมัตษุ  แต่ด้วยความเข้าใจผิด ทำให้พระนางต้องหนีออกจากวังเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกในครรถ์

หลังจากคลอดโอรสอย่างปลอดภัยและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้ว เมื่อเซนงิกุมารุอายุได้ 6 ปี ท่านแม่ก็ปรารถนาจะให้ท่านชายน้อยได้ไปเล่าเรียนที่วัดและบวชเป็นพระในที่สุด นับแต่นั้นชีวิตของท่านชายน้อยก็เปลี่ยนไปทันที
                                                  

วัดแรกที่เซนงิกุมารุเข้าไปอาศัยอยู่คือ วัดยามาชิโระอังโคะกุ แห่งเมืองเกียวโต หลังจากนั้น ก็ได้รับสมญาแรกว่า ชูเคน  ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในความฉลาดปราดเปรื่องในฐานะ เณรน้อยเจ้าปัญญา
เมื่ออายุได้ 12 ปี ชูเคนก็ต้องไปศึกษาธรรมต่อที่วัดเทนริว ที่สร้างขึ้นโดยโชกุนอาชิคางะ ทาคาอุจิและโชกุนอาชิคางะ ทาดะโยชิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของจักรพรรดิโกะไดโกะ  แต่ชูเคนอยู่ที่นี่ได้เพียงครึ่งปี  ก็เกิดสิ้นศรัทธาเจ้าอาวาสองค์นี้ ชูเคนจึงตัดสินใจออกทางเดินทาง กระทั่งไปพบหลวงพ่อที่เขาศรัทธาและศึกษาร่ำเรียนธรรมะกับหลวงพ่อท่านนี้ กระทั่งเกิดความลึกซึ้งกับเซน

ด้วยหลวงพ่อที่ชูเคนเลื่อมใสนั้น มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายและอยู่อย่างสมถะ  หลวงพ่อสั่งสอนเรื่องหัวใจของเซนแก่ชูเคนอยู่เสมอ ด้วยพระในนิกายเซนนั้นต้องปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวดเพื่อให้ บรรลุ เมื่อบรรลุแล้วก็จะไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ ไม่มีโลภ โกรธ หลง เหมือนท้องฟ้าไร้เมมฆหมอก มีจิตใจที่สะอาดสดใสตลอดไป...

จากชูเคน  เณรน้อยที่บัดนี้เติบโตเป็นหนุ่มก็ได้รับสมญานามใหม่ว่า โซจุน ซึ่งจุนคือหัวใจบริสุทธิ์ของเซน เป็นหัวใจที่ไม่ยึดติดกับอะไรและไม่หลงอะไร...  หลวงพ่อได้จากโซจุนไป ทำให้พระหนุ่มเศร้าหมองอย่างหนักขนาดจะปลิดชีพตัวตาม

แต่แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป และได้เข้าเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเซนอีกองค์หนึ่ง กระทั่งเขาสามารถบรรลุหัวใจแห่งเซน.... ด้วยไม่ว่าเราจะเกิดมาจากไหน คนเราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปเพียงคนเดียว ... นับแต่นั้นพระหนุ่มโซจุน จึงได้รับสมญา ว่า อิกคิว...

                                  
เมื่อหลวงพ่อถามความหมายของชื่ออิกคิว พระหนุ่มกลับตอบเป็นกวีว่า..
ขอพักสักครู่หนึ่ง
ระหว่างทางจากโลกียะ สู่โลกุตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด
หากลมจะพัดก็พัดเถิด....

อิกคิวมีลูกศิษย์มากมายและไม่เลือกฐานะของลูกศิษย์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรขจายและถือเป็นพระเซนที่เข้าใจแก่นของเซนอย่างแท้จริง ท่านละสังขารไปเมื่ออายุ 88 ปี ในปี ค.ศ.1481 ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งเสียลูกศิษย์ให้ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามปกติเท่านั้น และขอให้สร้างรูปของตัวอิกคิวและบันทึกสิ่งที่ท่านได้ทำไว้เท่านั้น

กล่าวกันว่ารูปแกะสลักไม้อิกคิวนั้น มีหนวดและผมของท่านบรรจุไว้จริงๆ  ทุกๆ ปีที่วัดแห่งนี้จะมีพิธีดื่มน้ำชาจากถ้วยใบใหญ่ เพื่อระลึกถึงอิกคิวซังอีกด้วย.....

5/09/2555

เพราะซีรีย์เกาหลี ทำให้รู้จัก...ราชินนีมินแห่งโชซอน


เพราะซีรีย์เกาหลีทำให้ฉันรู้จัก ราชินีมินแห่งโชซอน
เผยแพร่ครั้งแรก  / Manager multimedia Art & Culture ; กันยายน 2552

ยอมรับค่ะว่าหลายเดือนที่ผ่านมานี้ดิฉันติดซีรีย์ภาพยนตร์เกาหลีอยู่หลายเรื่องทีเดียว เริ่มต้นจากแดจังกึม และล่าสุดก็เห็นจะเป็นเรื่องลีซาน จอมบัลลังค์กู้แผ่นดิน และเรื่องฮง กิว ดอง จอมโจรโดนใจ ก่อนจะถลำตัวให้ติดซีรีย์เกาหลีมากไปกว่านี้...ดิฉันก็ตัดสินใจ ลองมองหาเรื่องราวประวัติศาสตร์เกาหลีมาอ่านดูบ้าง เพื่อคลายความสงสัยของตัวเอง ในเรื่องของตัวละครต่างๆ ในแต่ละเรื่อง...
อ่านไปอ่านมา ดิฉันก็มาสะดุดที่เรื่องของ ราชินีมินค่ะ..ถือได้ว่าพระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดินีองค์แรกของราชวงศ์โชซอนเลยทีเดียว

เหตุการณ์ในช่วงรัชสมัยของพระนางนั้นน่าสนใจมากค่ะ  พระนางเป็นมเหสีของกษัตริย์โกจง ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โชซอน ผู้ทำให้แผ่นดินเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของเกาหลีเลยก็ว่าได้

                                                               รูปถ่ายราชินีมิน 

ตำแหน่งจักรพรรดิของกษัตริย์โกจงนั้น ได้รับการสถาปนาเพื่อเป็นเงื่อนไขในการสร้างจุดเปลี่ยนและการคานอำนาจของมหาอำนาจที่ครอบครองคาบสมุทรเกาหลีในยุคของพระองค์ แต่นั่นแทบจะไม่มีความสำคัญใดๆเลย เพราะกษัตริย์โกจงก็ยังถูกบีบคั้น กดดัน นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองบัลลังก์
ด้วยความอ่อนแอของกษัตริย์โกจงที่อำนาจทุกอย่างตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระบิดาของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 11 พรรษาเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อกษัตริย์โกจงมีชันษาได้  15 ปี พระบิดาก็ทรงเลือกมเหสีที่ดูคล้ายกับจะไม่มีพลังอำนาจใดๆ มาต่อรองได้ให้กับพระองค์ มินจายองเด็กสาววัย 16 ปีกำพร้าบิดาและมารดา บุคลลิกคล้ายจะหัวอ่อน รูปร่างงดงาม ถูกนำตัวเข้าวังหลวงเพื่อเป็นคู่อภิเษกสมรสในปี 1866

กษัตริย์โกจงด้วยวัยหนุ่มยังคงเพลิดเพลินกับการสมาคมและงานรื่นเริง ขณะที่ราชินีมินกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือจำนวนมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์ แง่มุมต่างๆในการบริหารและปกครองประเทศ  แน่นอนคลังความรู้เหล่านี้ถูกสงวนไว้สำหรับขุนนางระดับสูงเท่านั้น

ไม่ใช่แต่จะคร่ำเคร่งกับหนังสือเท่านั้น พระนางยังแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยการสนทนากับผู้มีความรู้ความสามารถ กระทั่งถือเป็นสตรีคนแรกของเกาหลีที่มีความรอบรู้หลายด้าน
เรื่องมันคงไม่มีอะไรน่าสนใจหรอกค่ะ หากเหตุการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นในเวลาปกติ การแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความรัก ย่อมเกิดช่องว่างเสมอ แต่...เป็นเพราะทั้งคู่คือผู้ปกครองอาณาจักรโชซอนในสมัยนั้น สมัยที่ซีกโลกตะวันตกกำลังล่าอาณานิคม และญี่ปุ่นก็เริ่มต้นคุกคามแผ่นดินอื่น

ราชินีมินค่อยๆ ก้าวเข้ามาช่วยกษัตริย์โกจงบริหารประเทศ กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากขุนนางว่าพระนางทำตัวเสมือนบุรุษ แนวคิดเก่าอย่างพระบิดาของกษัตริย์โกจงย่อมขุ่นเคืองเรื่องทำนองนี้ไม่น้อย และยิ่งเพิ่มรอยร้าวมากขึ้นเมื่อ พระบิดาของโกจงไม่เห็นด้วยกับราชินีมินที่พยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทันสมัยเพื่อรองรับกับวิทยาการของโลกภายนอก

และยิ่งมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นที่จ้องจะเอาเปรียบทางการค้า ด้วยสนธิสัญญาคังฮวา แล้ว ทำให้ราชินีมินทราบดีว่าโชซอนนั้นเสียเปรียบญี่ปุ่นอยู่หลายขุมทีเดียว พระนางจึงส่งคนไปเรียนรู้ศึกษาความเจริญจากญี่ปุ่นเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศที่ไม่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ  แน่นอนเรื่องเหล่านี้นำความไม่พอใจมาสู่ขุนนางหัวเก่าที่ค่อยๆ บ่มเพาะความเกลียดชังอย่างช้าๆ

ราชินีมินพระองค์นี้ ทรงแก้ไขสถานการณ์คับขันของบ้านเมืองได้หลายต่อหลายครั้ง พยายามช่วยเหลือไม่ให้โชซอนเสียเปรียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เมื่อญี่ปุ่นมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ราชินีมินจึงหันไปผูกสมัครรักใคร่กับจีน อีกทั้งจีนยังส่งกำลังมาช่วยปราบกบฏในโชซอนอีกด้วย

ด้วยเหตุการณ์คับขันหลายครั้งหลายครา ราชินีมินได้ใช้สติปัญญาของตัวเองช่วยเหลือกษัตริย์โกจงแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ตลอด และด้วยความเฉลียวฉลาดของพระนางที่ต้องการบริหารประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเชิงรุกและรับ ทำให้พระเจ้าโกจงหลงใหลและชื่นชมในมเหสีของตัวเองยิ่งนัก

                                               แต่แล้วพระนางก็ถูกสังหาร....

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะจากสงครามจีน ญี่ปุ่นครั้งที่1 ราวต้นปี 1895 ราชินีมินเริ่มวิตกต่อความมั่นคงของประเทศตัวเอง พระนางพยายามติดต่อกับรัสเซียเพื่อให้ช่วยหาทางสกัดอำนาจของญี่ปุ่นที่มีท่าทีจะกลืนประเทศเกาหลี

ไม่ว่าที่ใด ย่อมมีหนอนบ่อนไส้แฝงตัวอยู่ด้วยเสมอในการณ์นี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือพระบิดาของกษัตริย์โกจงนั่นเอง เจ้าชายแดวอนทรงแค้นที่ราชินีมินถอดพระองค์ออกจากผู้สำเร็จราชการและทอนอำนาจลงอย่างแทบไม่มีเหลือ จึงหันมาร่วมมือกับญี่ปุ่น จ้องจะล้มอำนาจราชินีมิน!!

รุ่งอรุณของวันที่ 8 ตุลาคม 1895 หน่วยสังหารภายใต้คำสั่งของมิอูระ โกโร่ ผู้สำเร็จราชการจากญี่ปุ่น ได้บุกเข้าไปยังพระราชวังเคียงบุก และตรงเข้าสังหารราชีนีมิน ขณะมีพระชนม์ได้ 43 พรรษา
แน่นอนการสังหารไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรวมพลระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีแปรพักตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะฝ่าทหารอารักขาไปได้ พร้อมเข้าไปสังหารราชินีมินอย่างอุกอาจ และเมื่อแน่ใจว่าพระนางสิ้นแล้ว เหล่าผู้สังหารยังนำพระศพของพระนางไปที่ป่าสนในบริเวณด้านหน้าของตำหนักโอคลูลู และเผาเพื่อทำลายหลักฐาน กล่าวกันว่า เมื่อทำการเสร็จสิ้นกลุ่มสังหารจำนวน 56 คนถูกนำตัวไปไต่สวนที่ศาลเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะถูกปล่อยตัวเมื่อพิพากษาว่าไม่มีความผิด เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน
นับจากนั้นโชซอนหรือเกาหลีก็ประสบกับชะตาอีกมากมาย ในปี 1904 ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับรัสเซียและรบชนะ นั่นจึงทำให้รัสเซียไม่อาจอยู่ในดินแดนเกาหลีได้อีกต่อไป และญีปุ่นก็ประกาศให้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขาของตนเองในปี 1905

อีกสองปีต่อมาพระเจ้าโกจงพยายามส่งตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมสันติภาพโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ แน่นอนญี่ปุ่นพยายามขัดขวางแต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ชาวเกาหลีจึงมีโอกาสแถลงเรื่องของพวกเขาต่อชาวโลกผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้พระเจ้าโกจงถูกบีบให้ลงจากบังลังก์ด้วยน้ำมือของญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นถือสิทธิ์ในการปกครองเกาหลียาวนานต่อมากระทั่งแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง.