3/31/2555

“เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

สมัชชาคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
“เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”
นพวรรณ สิริเวชกุล : ข่าวเพื่อชุมชนสำนักข่าวอิศรา  1 เมษายน 2555




ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งต้องประกอบไปด้วยหลักสามประการคือ ความมั่นคง การรวมตัวทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ที่ณ วันนี้ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยเรายังไม่ได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดี

มติคณะรัฐมนตรีเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล เมื่อปี 2553 ที่มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในคณะกรรมการการทำงาน ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจนถึงวันนี้กลับใช้ไม่ได้จริง

                ======== เสียงปรีดา คงแป้น / 01.51 นาที ==========

 "เราพยายามเสนอ แนวนโยบายเรื่องสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ตามการศึกษาของดร.นฤมล  ว่ากลุ่มชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะว่าอยู่มานานแต่ไม่มีสิทธิหลายด้าน ทีนี้ในนโยบายเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ มันครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ประกอบพิธีกรรม สุสาน รวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรมหรือสิทธิอื่นๆ  ทั้งเรื่องสัญชาติและคุณภาพชีวิต สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิพื้นฐานที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าอยู่มานานแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมายอะไรอย่างนี้นะ และช่วงหลังๆ นี่ถูกละเมิดสิทธิเยอะมาก
ความคิดของพวกเราในฐานะที่ทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มชาติพันธุ์ ประชุมกันหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้และประชุมกับแกนนำหลายชาติพันธุ์ว่ามันต้องหาวิธีแก้ปัญหา เพราะพักหลังๆ เราจะเห็นว่ามันมีปัญหา ข่าวนายทุนจ้างกะเหรี่ยงฆ่าช้าง นายทุนจ้างชาวเลจับปลาสวยงาม ชาวม้งถูกบีบให้ออกมาจากพื้นที่ ที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมทั้งสนธิกำลังกันแล้วเผายุ้งข้าวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งกระแสข่าวนี้มันมาเรื่อยๆ แล้วเหมือนคนกลุ่มนี้ก็ตกเป็นเหยื่อ หรือไม่สิทธิที่จะแก้ต่าง ไม่ว่ากับสื่อมวลชนหรือกับใครเลย ไม่มีสิทธิที่จะพูดเลยว่า ข้อเท็จจริงมันคืออะไร เราก็พยายามสืบสาวหาเรื่องปะติดปะต่อ หาเรื่องจากกรรมการสิทธิบ้าง จากสื่อมวลชนบางคนบ้าง จากผู้นำของชนเผ่าบางคนบ้างที่เขาเล่าให้ฟังว่าข้อเท็จจริงบางทีไม่เป็นเหมือนที่ข่าวออกไป มันมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่บางทีก็ เขาก็ถูกเบียดขับออกจากพื้นที่แล้วก็ถูกยัดเยียดด้วยข้อหาหรือข้อกล่าวหาอื่น นี่มันเป็นปัญหามาก เป็นปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิ”
                                =================
        ปรีดา คงแป้น  กรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยกล่าวถึงที่มาของการเดินทางเข้าเมืองกรุงครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของพี่น้องชนเผ่ากว่าพันชีวิต

        ********** เสียงทำพิธีกรรมของอาข่า ในเวทีข้างทำเนียบ  **********

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่ตามภูมิภาคต่างๆตามฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรถึง 69 ชาติพันธุ์  หนึ่งในข้อเสนอของพี่น้องชนเผ่าครั้งนี้คือต้องการเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษซึ่งการจัดตั้งเขตพื้นที่นี้ขึ้นมาก็เพื่อตอบโต้กระแสการพัฒนาที่เข้ามาบุกรุกวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไปจนเกิดเป็นปัญหาดังที่ปรีดาได้กล่าวไปแล้ว

แม้วันนี้จะมีตัวแทนรัฐบาลรับเรื่องร้องเรียนของพวกเขาไปเพื่อดำเนินต่อตามที่ได้รับปาก แต่นี่คือเสียงสะท้อนจากตัวแทนอุรักลาโว้ย เกาะลันตา เดี่ยว ทะเลลึกที่เปิดใจต่อสาธาณะ
                ******(เดี่ยว ทะเลลึก/ อุรักลาโว้ย)  ***********
หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแล เพราะเรามีสิทธิเท่าเทียมกันกับมนุษย์ทุกท่าน ไม่ใช่เลือกกระทำแค่บางส่วน เพื่อให้บางส่วนได้อยู่ดีกินดี แต่พวกเราล่ะ เป็นคนไทยคนหนึ่งในประเทศไทย แต่ถูกละเลยอย่างนี้หรือมันไม่ใช่ ผมคิดว่า รัฐจะต้องดูแลพวกเราในเรื่องที่อยู่อาศัย รัฐมีมติครม.เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่าให้พวกเราได้อยู่ดีกินดี แต่นั่นแค่ประกาศ แค่หนังสือเพียงฉบับเดียว แล้วก็มันไม่มีผลอะไรเลย มันก็แค่กระดาษเปล่าที่ส่งไปส่งมาแล้วก็ทิ้งถังขยะ
                        ***************************
ปกากญอจากแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่อย่างสมจิตร ดั้นด้นมาถึงกรุงเทพฯ เธอทำสิ่งนี้ก็คือเพื่ออนาคตของลูก
                ******(สมจิตร /ปกากญอบ้านแม่แตงเชียงใหม่) ******
ฉือขื่อ..คืออยากให้ ทุกวันนี้เราทำก็ทำเพื่อลูก ว่าเออแม่นี่ต่อสู้เจอปัญหาอะไรบ้างเพื่อที่ลูกจะได้อยู่ได้ไง ในอนาคต อยู่พื้นที่สูงอย่างนี้ เพราะว่าที่ทำกินเรามันไม่มี ใบอะไรรับรองอยู่แล้วไง เราอยากทำอะไรให้แบบมันถูกต้องน่ะ
                        ************************
ขณะที่ไพโรจน์ ปกากญอลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านของเขาอาจจมหายไปกับสายน้ำหากโครงการสร้างเขื่อนสาละวินถูกนำมากลับดำเนินการอีกครั้งได้เปิดใจถึงความสำคัญของสัญชาติที่พวกเขาอยากจะได้เช่นผู้อื่น
                ******(ไพโรจน์/ ปกากญอ น้ำสาละวิน)*********
 ที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องสัญชาติ ซึ่งสัญชาติก็คือเราก็อยู่บนเขา ส่วนที่สองนี่ลูกหลานที่จะเรียนต่อ บางส่วนพ่อแม่ยังไม่ได้สัญชาติ ลูกเรียนต่อก็มีปัญหาแต่ว่า ในพรบ. ฉบับต่างๆที่ว่า สามารถผลักดันให้ใช้แล้วแต่ว่าปฏิบัติตอนนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง อันนี้ก็อยากเรียกร้องให้การแก้ปัญหาให้ตรงจุดและให้รวดเร็วเท่าที่จะทำได้นะครับ       
                *********************************
วาสนา หญิงชาวอาข่าเล่าให้ฟังถึงความลำบากเมื่อมีชีวิตอยู่อย่างพลเมืองชั้นสองว่า
                *******(วาสนา/ อาข่า)  ***********
อย่างเช่นทำไร่ทำสวนอยู่ในป่าอยู่ในเขตของพวกเราอยู่แล้ว แล้วก็มาประกาศทับเป็นอุทยาน เสร็จแล้วอยู่ดีคืนดีก็เหมือนกับพวกเราอยู่ทำไร่ทำสวนของเราอยู่แล้วก็มาไล่จับ เป็นอย่างนี้เป็นประจำ พอไล่จับพวกเราไม่มีที่ทำกิน พวกเราก็ลงมาทำงานในเมือง ก็ไม่มีบัตรประชาชน ตำรวจก็มาไล่จับตรงนั้นอีก เหมือนกับว่าพวกเราก็ไม่รู้จะทำอะไรกินแล้วอยู่บนดอยก็ไม่มีที่ทำกิน มาอยู่ในเมืองก็เหมือนกับมาตรวจบัตรทุกวัน ทุกวันอย่างนี้ ก็เหมือนกับว่าพวกเราไม่มีทางเลือกอ่ะ
                        *************
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันกับเรามาช้านาน  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเนิ่นนานนี้ให้คลี่คลายและเราต่างก็ต้องยอมรับในศักดิ์และสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน.


ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ

ปากะญอ...ผืนดินนี้ไม่มีเจ้าของ/ ข่าวชุมชนอิศรา ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
นพวรรณ สิริเวชกุล ขอบคุณภาพบางส่วนเอื้อเฟื้อโดย อุกฤษ จอมยิ้ม


กระสอบข้าวดอยกว่า ๔๐ ตันค่อยๆ ถูกลำเลียงลงจากรถที่พากันดั้นด้นมาจากจังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งมอบให้แก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ร่วมกันหาแนวทางครั้งนี้ หนึ่งในแกนนำของชาวกะเหรี่ยงหรือปากะญอภาคเหนือคือ พฤ โอเดชาที่เคยเข้าไปรับรู้สถานการณ์ของผู้คนที่นั่นมาก่อนและเขาจึงนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้แก่พี่น้องกะเหรี่ยงทางภาคเหนือฟัง
                                                -------- เสียง พฤ โอเดชา ----------
“ ผมก็ประทับใจชนเผ่าปากะญอของผมอยู่แล้ว เวลาผมเป็นปากะญอแล้วผมโผล่หน้าเข้าไป แล้วเล่าเรื่องว่า ที่โน่นปากะญอเหมือนกันเดือดร้อนขอข้าวไปช่วยทางโน้นหน่อย เขาก็คุยกันตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ประกาศไมค์ออกเสียงแล้วก็ตื่นเช้ามาหรือว่าเย็นวันนั้นก็แบกข้าวลงมาตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ บางคนก็วิ่งขึ้นไปบ้านตอนนี้แล้วก็แบกลงมา สิ่งที่ผมได้มากกว่าข้าวคือผมมีกำลังใจและมีความหวังว่าพี่น้องที่แก่งกระจานจะได้ข้าว จะรอดจากการอดข้าว”
                                    -------------------------------------------------------

สืบเนื่องจากปีพ.ศ. ๒๕๒๔ ที่กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของกะเหรี่ยงกลุ่มนี้  ต่อมาจึงมีโครงการอพยพผลักดันในปี ๒๕๓๙ โดยให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณใจแผ่นดิน พุระกำ ต้องลงมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ ๕๗ ครอบครัว และนับจากปี ๒๕๕๒ ถึงปลายปี ๒๕๕๔ ได้มีการย้ายคนลงมายังพื้นที่นี้อีกหลายครั้งแต่ไม่มีการจัดสรรที่ดินรองรับกลุ่มผู้อพยพใหม่  และพื้นที่อาศัยทำกินเดิมของพวกเขาก็ถูกรื้อถอนเผาทำลายไปจนสิ้น พร้อมข้อกล่าวหาคนกลุ่มนี้ว่าไม่ใช่คนไทย  ทั้งที่บางคนมีหลักฐานเหรียญชาวเขาที่ได้จากการสำรวจชาวเขาเมื่อปี ๒๕๑๒แม้บางคนไม่มีแต่ก็สามารถหาพยานบุคคลยืนยันได้ว่าพวกเขาอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้ก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยาน

 ในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ จะมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอในหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักการไปปฏิบัติซึ่งมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว แต่โครงการอพยพและผลักดันชาวกะเหรี่ยงของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี ๒๕๕๔
สุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้ อธิบายถึงแนวนโยบายของมติของคณะรัฐมนตรีต่อกรณีนี้

                                    -------- เสียง สุรพงษ์ กองจันทึก ----------
ผ่านครม.หมายถึงว่า ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะทางกรมป่าไม้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ถ้าชาวบ้านอยู่มานานแล้วให้ยุติการจับกุม การยุติการจับกุมไม่ได้หมายความว่าให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การยุติการจับกุมหมายความว่าคุณไปตรวจสอบก่อน ถ้าชาวบ้านผิดก็ยังผิดอยู่ จะจับก็จับอยู่แล้วไม่ได้ละเว้นเข้ามาตรวจสอบ แล้วตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งและกรรมการชุดนี้ต้องมีชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นกรรมการด้วย ไม่ใช่รัฐเข้ามาเป็นกรรมการฝ่ายเดียว นักสิทธิมนุษยชน นักมานุษยวิทยา นักวิชาการ ต้องเข้ามาร่วมกัน มาช่วยดูว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วเอาข้อเท็จจริงออกมาว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน ก็ต้องนำไปสู่การเพิกถอน การที่ไปทับที่ชาวบ้าน
                                    ------------------------------------------------------

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลายเชื้อชาติและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการสำรวจประชากรชาวกะเหรี่ยงในช่วงปี ๒๕๔๔ พบว่ามีกว่าสี่แสนคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่พวกเขาเหล่านั้นมีสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ ๔๐  และหลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกถูกประกาศออกมา ชนกลุ่มน้อยอย่างกะเหรี่ยงก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ล้าหลังและรัฐต้องเข้าไปพัฒนา แต่การเข้าไปของคนนอกเช่นนี้กลับทำลายระบบความเชื่อดั้งเดิมที่เน้นการพึ่งพาระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และชาวกะเหรี่ยงที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนก็ตกเป็นจำเลยทางสังคมตามที่ปรากฎตามสื่อต่างๆเสมอมา

จุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือจากกระเหรี่ยงทางภาคเหนือและศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ ยังไม่จบลงเพียงแค่นำข้าวที่ถือเป็นอาหารหลักของพวกเขามาแบ่งปันกันเท่านั้น พวกเขายังคงดำเนินการช่วยเหลือด้านการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆและเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้ต่อไป.